การศึกษา | สารพัดรูปแบบ ‘เรียนวิถีใหม่’ รับมือวิกฤตโควิด-19 ระลอก 2

การศึกษา

สารพัดรูปแบบ ‘เรียนวิถีใหม่’

รับมือวิกฤตโควิด-19 ระลอก 2

ผ่านการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่แบบวิถีใหม่ หรือนิวนอร์มอลกันไปแล้ว แต่ดูเหมือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย จะสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนคนไทยมากกว่าการระบาดรอบแรกหลายเท่าตัวนัก โดยเฉพาะตัวเลขของผู้ติดเชื้อในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุ 1 หมื่นรายไปเรียบร้อยแล้ว

ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นทั่วประเทศ แม้จะยังไม่ถึงขั้นล็อกดาวน์ประเทศก็ตาม โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดที่มีการระบาดอย่างรุนแรง การเดินทางเข้า-ออกในแต่ละจังหวัด จะต้องได้รับการอนุญาต

ส่วนการจัดงาน หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ต้องยกเลิก หรือเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด หรือหากไม่ยกเลิก ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบมาจัดงานผ่านออนไลน์แทน

สำหรับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ต้องหันปรับรูปแบบการทำงานกันใหม่ โดยต้องกลับมา “เวิร์ก ฟรอม โฮม” กันอีกครั้ง

รวมถึงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของนักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษาต่างๆ ทั้งโรงเรียน สถานศึกษาอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา ก็ได้ปรับรูปแบบจากการเรียนในห้องเรียน ไปเป็นรูปแบบเรียนผ่านระบบ “ออนแอร์” และ “ออนไลน์” แทน เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทำให้สถานศึกษาต้องทยอยปิดชั่วคราว

โดยโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดใน 28 จังหวัด ได้ประกาศปิดเรียนไปแล้วกว่า 1 หมื่นแห่ง มีครูได้รับผลกระทบ 206,217 คน

ขณะที่มีนักเรียน-นักศึกษาได้รับผลกระทบมากถึง 3,661,805 คน!!

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วน ศธ. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ประชุมผู้บริหารระดับสูง เพื่อวางแผนรับมือภายหลังสั่งปิดสถานศึกษาใน 28 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง หรือจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดง เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด อาทิ การปรับการเรียนการสอน โดยจะหารือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อสนับสนุนอินเตอร์เน็ตให้ครู

ส่วนการปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ยังไม่เลื่อน เพราะมองว่ายังไม่กระทบต่อภาพรวม แต่ในอนาคต ศธ.เตรียมนำชั่วโมงเรียน และเวลาเรียนมาเป็นตัวกำหนด

ขณะที่การสอบคัดเลือกเข้าเรียนชั้น ม.1 และชั้น ม.4 รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เห็นว่ายังบริหารจัดการได้ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และอาจจัดสอบคนละเวลา เพื่อลดความเสี่ยง

โดยภาพรวมยังอยู่ในสถานการณ์ที่ ศธ.เอาอยู่

สำหรับรูปแบบการเรียนการสอน ที่เดิม ศธ.เคยใช้สื่อการสอนของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระราชูปถัมภ์ (ดีแอลทีวี) ผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ล่าสุดสัญญาหมดแล้ว โดยเสมา 1 ระบุว่า ที่ผ่านมามีเพียง 3 ช่องที่นักเรียนใช้อย่างเข้มข้น ถ้า ศธ.ยังใช้ช่องดีแอลทีวีเหมือนเดิม จะมีค่าใช้จ่ายมากถึง 3.5 ล้านบาทต่อช่องต่อเดือน

ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะคุ้มค่า ทำให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตัดสินใจไม่ต่อสัญญา โดยจะนำงบประมาณไปใช้ในการแก้ไขปัญหาส่วนอื่นๆ แทน

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำในที่ประชุม ครม.ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ประกาศเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด โดยสั่งการให้ ศธ.แยกแยะความต้องการของโรงเรียน ทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดกลาง โรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนนานาชาติ เพื่อช่วยเหลือ รวมทั้ง จัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ผสมผสานการเรียนออนไลน์ และการมอบใบงานให้นักเรียนทำ

ทั้งหมดนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาต้องทำความเข้าใจกับครู เพื่อให้ครูจัดการเรียนการสอน และมอบการบ้านอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้นักเรียนเครียดจนเกินไป!!

 

ทั้งนี้ รูปแบบการจัดการเรียนการสอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ สพฐ.มีรูปแบบการเรียนให้โรงเรียนเลือกสอนตามบริบทของตน 5 รูปแบบ

ได้แก่

  1. 1. การเรียนการสอนในห้องเรียน
  2. 2. การเรียนออนแอร์
  3. 3. การเรียนออนไลน์
  4. 4. ออนดีมานด์ โดยจัดการเรียนการสอนผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ

และ 5. หากโรงเรียนไม่สามารถสวนได้ ให้ครูจัดใบงานให้นักเรียนไปเรียนที่บ้าน โดยให้ผู้ปกครองช่วยดูแล และครูออกเยี่ยมเป็นครั้งคราว

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ครูและโรงเรียนมีการปรับตัว โดยไม่ได้ใช้ช่องทางเดียวในการสอน แต่มีทั้งระบบออนแอร์ ออนไลน์ และการมอบการบ้านนักเรียนให้ไปศึกษาทางยูทูบ รวมทั้งให้ส่งการบ้านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ หรืออีเมล สำหรับนักเรียนที่มีความพร้อม

ส่วนนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมเรียนผ่านระบบออนไลน์ ทางโรงเรียนจะมีแนวทางซ่อมเสริม และมีงานเท่าเทียมกับเพื่อน อาทิ ใช้วิธีออนดีมานด์ อัดคลิปการสอนผ่านยูทูบ หรือช่องทางอื่นๆ แต่หากไม่มีช่องทางจริงๆ ให้ใช้ออนแฮนด์ ทำเปเปอร์ และให้การบ้านนักเรียนกลับไปทำ เสมือนได้เรียนปกติ

สำหรับการบริหารจัดการเรื่องอื่นๆ เช่น นมโรงเรียน ทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะนำนมไปส่งตามบ้าน ส่วนอาหารกลางวันให้ผู้ปกครองรับผิดชอบจัดหาให้นักเรียน โดยโรงเรียนจะจ่ายเงินค่าอาหารกลางวันให้ผู้ปกครอง 20 บาทต่อหัว

โดย สพฐ.ยืนยันว่าจะไม่เลื่อนการปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 และไม่เลื่อนการสอบ แต่จะปรับรูปแบบเพื่อไม่ให้กระทบต่อความปลอดภัยของนักเรียน เพราะหากขยายเวลาเรียน จะกระทบต่อการเรียน และการสอบของนักเรียนชั้น ม.6 ที่จะเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย

 

อย่างไรก็ตาม การปรับรูปแบบโดยเรียนผ่านออนไลน์ ในความเป็นจริงพบว่า มีโรงเรียนที่มีความพร้อมจริงๆ ไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง ซึ่งทั่วประเทศมีไม่กี่ร้อยแห่ง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษา

ซึ่ง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า การจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ ควรเป็นเพียงวิธีการชั่วคราว ส่วนการทำใบงานที่บ้าน จะทำให้เด็กไม่ค่อยมีวินัย และไม่มีสมาธิกับการเรียน ดังนั้น ศธ.ต้องหาวิธีส่งเสริมการเรียนให้เด็กแทน โดย ศธ.ต้องกำหนดนโยบายให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ให้ผู้บริหาร และครู ออกแบบและระดมแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ของตนเอง

ก็เชื่อว่าโรงเรียนจะจัดการเรียนรู้ได้ดีกว่าปัจจุบัน แทนการกำหนดนโยบายจากส่วนกลางเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน…

ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน ได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนนิสิต-นักศึกษาผ่านระบบออนไลน์เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ไร้ปัญหา เนื่องจากมีความพร้อมในทุกๆ ด้านมากกว่าการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

นับเป็นการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนใหม่กันอีกครั้ง เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย!!