บริหาร แบบ ทราบแล้วเปลี่ยน / บทความในประเทศ (ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

ในประเทศ

บริหาร
แบบ
ทราบแล้วเปลี่ยน

แม้จะอยู่ในภาวะหวั่นวิตก
ทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ตอนนี้ กระจายไปแล้วใน 59 จังหวัด
ทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ
แต่กระนั้น คนโลกในโซเชียลมีเดียก็ยังมีอารมณ์ขัน
คิดมุขขำๆ ขื่นๆ ออกมาประชดประเทียด ให้หายเครียดกันต่อเนื่อง
โดยส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลเป็นหลัก
ที่ฮิตติดอันดับในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คงเป็นวลี
“ทราบแล้วเปลี่ยน”

ฟังเผินๆ เหมือนไม่มีอะไรในกอไผ่
แต่ “บาดลึก” เชียวนักแล
โดยเฉพาะคำว่า “ทราบ” แล้ว “เปลี่ยน”
ทราบ ก็คือ ประชาชนรับทราบคำสั่ง ข้อห้าม แนวทางปฏิบัติ ฯลฯ จากรัฐบาลมากมาย และตลอดเวลา
แต่ก็มักจะเจอการ “เปลี่ยน” ข้อห้าม แนวทางปฏิบัติ ฯลฯ จากรัฐบาลมากมายดังกล่าวตลอดเวลาเช่นกัน
เลยมีการประชดประชันวิธีการทำงานของฝ่ายรัฐ
คือ แจ้งให้ทราบ แล้วเปลี่ยนตลอด
สะท้อนถึงภาวะสับสนอลหม่านในการบริหารงานในห้วงวิกฤตอย่างชัดเจน

มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 7 มกราคม ได้รวบรวมเรื่องที่ “ทราบ” แล้ว “เปลี่ยน”
มาเป็นตัวอย่างเช่น
1) เมื่อวันที่ 4 มกราคม หลังมีประกาศยกระดับควบคุม 28 จังหวัดมีผลบังคับใช้
กทม.ก็ขานรับ มีมติให้รับประทานอาหารที่ร้านตั้งแต่ 06.00-19.00 น.
สร้างความตื่นตกใจให้กับผู้ค้าและผู้ประกอบการจำนวนมาก
ที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้ยกเลิกมติดังกล่าว โดยให้เปิดได้ถึง 21.00 น. อ้างว่าได้รับเสียงร้องเรียนจากสมาคมภัตตาคาร
ถือเป็นการ “ทราบ” แล้ว “เปลี่ยน” อันแรกของภาครัฐ
2) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ออกประกาศเมื่อวันที่ 5 มกราคม ลดจำนวนการเดินรถลดลงเหลือร้อยละ 60 เป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้บริการที่ลดลง ทว่าหลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างเรื่องการลดจำนวนรถที่จะทำให้ผู้ใช้บริการรอรถนาน และต้องโดยสารเบียดเสียดกัน เสี่ยงกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ขสมก.กลับลำ ตัดสินใจยกเลิกนโยบายดังกล่าวแล้ว โดยจะเดินรถในจำนวนและเที่ยววิ่งตามปกติเช่นเดิม
3) “บ่อนพนัน” ที่กลายเป็นแหล่งทำโควิดลามใหญ่ โดยเฉพาะที่จังหวัดระยอง ปรากฏ บิ๊กตำรวจออกมาปฏิเสธว่าไม่มีบ่อน แม้แต่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็มาปฏิเสธด้วย
แต่สุดท้ายผู้ป่วยและการแพร่ระบาดที่มาจากบ่อน ก็เป็นหลักฐานยืนยัน จนทำให้ต้องมาเปลี่ยน ด้วยการยอมรับว่ามีบ่อนจริง
และต้องมีการเด้งนายตำรวจในหลายจังหวัดของภาคตะวันออก
ส่วน พล.อ.ประวิตรต้องแก้เกี้ยวเรื่องนี้โดยบอกว่า “ผมไม่ได้หมายความว่าไม่มี เรื่องบ่อนเราก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามี แต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องทำให้บ่อนไม่มี” ทำสังคมวิจารณ์ขรม และไม่ยอมให้เรื่องจบ มีการเรียกร้องให้รัฐบาลกวาดล้างบ่อน และเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปหาประโยชน์
4) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 4 มกราคม ระบุว่า นายกรัฐมนตรีและที่ประชุม ศบค. มีมติอนุมัติให้ “ล็อกดาวน์” 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด พร้อมกับวลีเด็ด “เจ็บสั้นๆ ดีกว่าปวดนานๆ”
สร้างความตระหนกตกใจในหมู่ประชาชนทั้ง 5 จังหวัด ที่ “ทราบ” เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดทั้งมาตรการที่จะดำเนินการ และกรอบเวลาใดๆ เปิดเผยออกมา
สุดท้ายประชาชนก็ได้ข้อสรุปว่าไม่ใช่ “ล็อกดาวน์” แต่ “เปลี่ยน” พื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าวเป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” แทน
5) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ออกมาแถลงข่าว หากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีการติดตั้งแอพพ์ “หมอชนะ” จะถือว่าละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีโทษถึงจำคุก
สร้างความกังวลกับประชาชน หลายคนวิจารณ์ ศบค.ใช้วิธีการขู่อีกแล้ว แล้วคนโหลดไม่ได้ รวมถึงไม่มีสมาร์ตโฟนจะทำอย่างไร
จนที่สุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ออกมาโพสต์ข้อความว่า ไปบอกนายกฯ แล้ว ยืนยันไม่โหลดหมอชนะ ก็ไม่ผิด
และต่อมา น.พ.ทวีศิลป์ต้องออกมาขอโทษประชาชน โดยเปลี่ยนถ้อยคำ ว่าขอความร่วมมือโหลดแอพพ์ “หมอชนะ” เพื่อติดตามการแพร่ระบาดของไวรัสเท่านั้น

ทราบแล้วก็ต้องเปลี่ยน กันอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ กรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอแนวคิดจะคิดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ลักลอบเข้าประเทศและกระทำผิดกฎหมายเช่นเข้าบ่อน
ปรากฏว่า ถูกวิจารณ์ขรมเช่นกันว่า จะเข้าข่ายเลือกปฏิบัติอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังจะขัดหลักสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติด้วย
ทำให้นายอนุทินต้องมาเปลี่ยน ว่าที่เสนอนั้น ยังไม่ได้ให้ปฏิบัติ
แต่ให้มาช่วยกันคิดในการบริหารค่าใช้จ่ายว่าจะเอาเงินมาจากไหน ซึ่งต้องไปดูว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นอย่างไร และทำให้คนไม่ไปคิดกันว่าถ้าเข้ามาเมืองไทยแล้วจะทำอย่างไรก็ได้
“เราไม่ได้พูดว่าจะไม่รักษาพยาบาล เพียงแต่ว่าหลังจากรักษาแล้วจะดำเนินการอย่างไร ต้องบริหารให้ได้ประสิทธิภาพ ตอนนี้มีผู้ลักลอบเข้ามา โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย ผู้ที่ลักลอบเข้ามาซึ่งไม่มีเจ้าภาพหรือนายจ้างเข้ามา เราจะรักษาเท่าไหร่ก็ได้เลยหรือ มันไม่ถูกต้อง จึงต้องบริหารจัดการให้ดี ส่วนคนไทยที่ลักลอบเข้ามาและทำผิดกฎหมาย รัฐธรรมนูญระบุว่า คนไทยต้องได้รับสิทธิการรักษา แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญใหญ่กว่า พ.ร.บ.อื่นๆ จึงจบประเด็น ไม่ต้องถามกันอีกแล้ว แต่ต้องไปดำเนินคดีในความผิดอื่นๆ ในฐานะลักลอบเข้าเมือง หากมีค่าปรับถือว่าบ้านเมืองจะได้ค่าปรับตรงนี้แทนค่ายา ผมคิดง่ายๆ อย่างนี้ก่อน แต่ไม่รู้ว่าหลุดออกไปแล้วถูกตีความกันไปมากมายได้อย่างไร”
นายอนุทินกล่าว

ภาวะทำให้ชาวบ้าน “ทราบ” แล้วก็เปลี่ยนนี้
ทำให้ฝ่ายค้านอย่างนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เตือนรัฐบาลว่าประชาชนกำลังหมดความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อรัฐบาลอย่างถึงที่สุดแล้ว
และแสดงความกังวลต่อแนวทางการรับมือสถานการณ์โควิดของรัฐบาลในเวลานี้ โดยระบุว่ามีปัญหา 3 ด้านสำคัญ คือ
1. รัฐบาลต้องการมีอำนาจแต่ไม่ต้องการรับผิดชอบใดๆ เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งการซึ่งสามารถทำมากกว่าคำสั่ง ศบค.ก็ได้ ทำให้แต่ละจังหวัดมีรายละเอียดมาตรการไม่เหมือนกันจนประชาชนเกิดความสับสน
หรือกระทั่งบางจังหวัดออกมาตรการเข้มจนไม่แตกต่างจากการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ ซึ่งการปิดเมืองของผู้ว่าฯ ด้วยการอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะแตกต่างจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค เพราะอย่างหลังต้องมีการชดเชยเยียวยาประชาชนอย่างเป็นระบบ
ขณะที่การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ
2. รัฐบาลแก้ปัญหาแบบผิดทิศผิดทาง หลายอย่างที่ทำตอนนี้คือการเลี่ยงบาลี นั่นคือ การล็อกดาวน์ต้องบอกว่าเกิดขึ้นแล้วในภาคปฏิบัติ แม้ไม่เรียกว่าอย่างนั้นก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันภาครัฐกลับไม่มีมาตรการรองรับที่ตามมา
นอกจากนี้ การใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทมีความคืบหน้าน้อยมาก ไม่ตรงจุดประสงค์อย่างแท้จริงและไร้ประสิทธิภาพ
3. รัฐบาลแก้ปัญหาผิดซ้ำซาก ไม่มีการถอดบทเรียนจากอดีต รัฐบาลควรต้องมีมาตรการรองรับ และสื่อสารอย่างชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ไม่ใช่ปล่อยให้พวกเขาอยู่กับความกังวล สิ้นหวัง หรือกระทั่งกลายเป็นการตอบโต้กลับโดยการไม่ปฏิบัติตาม
ขณะที่พรรคเพื่อไทย โดย น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) บอกว่า ขณะนี้คนไทยมองไม่เห็นอนาคตผ่านวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศแต่อย่างใด เพราะเป็นผู้นำที่มาจากเผด็จการ ใช้ความกลัวเป็นเครื่องควบคุมคน การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 จึงดูน่ากลัว ตรงข้ามกับข้อมูลของการระบาดในครั้งนี้ แม้เชื้อโรคมีการแพร่ระบาดเร็ว แต่อัตราการตายต่ำเมื่อเทียบกับครั้งก่อน
แต่รัฐกลับไม่พยายามสื่อสารให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องเหล่านี้

ประเด็นปัญหา “การบริหาร” และ “การสื่อสาร” ที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล และโฆษกพรรคเพื่อไทยหยิบขึ้นวิพากษ์วิจารณ์ตรงกันนี้
แน่นอน ย่อมเป็นเรื่องเดียวกับประเด็น “ทราบ” แล้ว “เปลี่ยน”
การไม่คงเส้นคงวากับแก้ปัญหา ย่อมรังแต่จะสร้างวิกฤตศรัทธาแก่ประชาชน
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลสื่อสารกับประชาชนจะต้องผ่านการไตร่ตรองอย่างรัดกุม เป็นเอกภาพ อยู่ในทิศทางเดียว
ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
ตอนนี้ นอกจากการควบคุมการระบาดของไวรัสแล้ว
เรากำลังเริ่มเข้าสู่การขั้นตอนการนำวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มาใช้ และการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน
ทั้ง 2 เรื่องนี้ ยุ่งยาก สลับซับซ้อน และมีขั้นตอนปฏิบัติที่ต้องชัดเจน ไม่ต่างไปจากการควบคุมการระบาดของไวรัส
การสื่อสารจึงจะต้องชัดเจน ไม่เปลี่ยนไปมา
ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลจะต้องสูงยิ่ง
สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศ เช่น
“รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับการดูแลเศรษฐกิจ ทั้งเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเดิม และงบกลางของงบประมาณปี 2564 รวมกันแล้ว 6 แสนล้านบาท เรื่องเงินจึงไม่มีปัญหา จะใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และทันการณ์
รวมทั้งขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเรารับมือโควิดได้แน่
รอบแรกนั้น เราไม่มีประสบการณ์ความรู้ แต่เราก็รับมือได้จนเป็นต้นแบบของโลกมาแล้ว
ครั้งนี้ด้วยประสบการณ์บวกกับความเชี่ยวชาญของทีมสาธารณสุข และที่สำคัญที่สุดคือ เราทุกคนต้องร่วมมือกัน เราจะผ่านมันไปได้อีกครั้ง”
จะต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ มิใช่เพียงคำพูด
และยิ่งต้องไม่ใช่การบริหารแบบทำให้ “ทราบ” แล้วก็ “เปลี่ยน” อย่างที่ผ่านมาเด็ดขาด
เพราะจากเรื่องขำ-ขำ
อาจจะกลายเป็นเรื่องซีเรียส
คือเรียกร้องให้เปลี่ยนผู้นำและรัฐบาล หนักหน่วงขึ้นก็ได้