จากดราม่า ‘พิมรี่พาย’ สะท้อนชีวิต ชุมชนไม่มีไฟฟ้า สู่ความจริงที่ยังไร้คำตอบจากรัฐบาล / บทความในประเทศ (ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

ในประเทศ

จากดราม่า ‘พิมรี่พาย’
สะท้อนชีวิต ชุมชนไม่มีไฟฟ้า
สู่ความจริงที่ยังไร้คำตอบจากรัฐบาล

จากกรณีประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์ที่พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือพิมรี่พาย แม่ค้าออนไลน์ ยูทูบเบอร์ บิวตี้บล๊อกเกอร์ชื่อดัง ได้เผยแพร่คลิป ‘สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง’ ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก Pimrypie-พิมรี่พาย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
ภายในคลิปได้เล่าเรื่องราวที่เธอเดินทางไปช่วยเหลือชาวบ้านที่หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 300 กิโลเมตร
และเรื่องราวของเด็กในพื้นที่กว่า 40 คน ที่ไม่มีความฝันเพราะพวกเขามองภาพอะไรไม่ออก
ซึ่งเธอได้ใช้เงินส่วนตัวกว่า 500,000 บาท เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้ใช้ผลิตไฟฟ้า ซื้อโทรทัศน์จอยักษ์มาติดตั้งที่ลานหมู่บ้าน สร้างแปลงผักสอนชาวบ้านปลูกผักไว้กินและขายเป็นการต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้
หลังจากที่คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปมีคนกดไลก์และกดแชร์มากกว่า 1 ล้านครั้ง สิ่งที่ตามมาคือมีทั้งเสียงชื่นชมในสิ่งที่เธอทำ หลายคนแปลกใจไม่เชื่อว่ายังมีสถานที่ที่ทุรกันดารแบบนี้ในประเทศไทย
จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดแฮชแท็ก #พิมรี่พาย ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ประเทศไทย
แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์ถึงการกระทำของพิมรี่พายจากบุคคลที่เห็นต่าง บางฝ่ายลามไปสู่การโหนกระทบสถาบัน โยงเปรียบเทียบการเรี่ยไรเงินเปิดรับบริจาคของคนบันเทิง
บ้างก็บอกว่าเธอตั้งใจบิดเบือนสังคมให้เกิดความเข้าใจผิด

การออกประกาศของ กศน.อมก๋อย หลังเกิดดราม่าเกี่ยวกับการงดรับของบริจาค เนื่องจากต้องการรักษาความเรียบร้อย ให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการศูนย์ กศน.อมก๋อย ทำให้ดราม่าดุเดือดขึ้นมาอีกครั้ง
จนลามไปสู่การเปิดงบประมาณในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของหน่วยงานรัฐ
เกิดการตั้งคำถามถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยในหลายเรื่อง
สะท้อนให้เห็นปัญหาความล้มเหลวของรัฐไทยในหลายมิติ ทั้งมิติของกฎหมาย การจัดสรรทรัพยากร
เอาเข้าจริงปัญหาชุมชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ส.ส.มานพ คีรีภูวดล ตัวแทนชาติพันธุ์ จากพรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีในสภามาแล้วหลายครั้งหลายคราว แต่ทุกอย่างก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ส.ส.ตัวแทนชาติพันธุ์เล่าว่า มีหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าที่ร้องเรียนมายังตนหลายร้อยแห่งจากหลายจังหวัด เช่น น่าน, พิษณุโลก, กาญจนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ตาก, จันทบุรี, สตูล, ตรัง โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ มีหมู่บ้านกว่า 109 หมู่บ้านที่ร้องขอไฟฟ้า เช่นเดียวกับที่แม่ฮ่องสอน ร้องขอไฟฟ้า 103 หมู่บ้าน
ก่อนหน้านี้ ส.ส.มานพ คีรีภูวดล พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2563 ตอนหนึ่งว่า ไฟฟ้าคือส่วนหนึ่งในชีวิตของพี่น้องประชาชน แต่ในขณะเดียวกันยังมีประชาชนในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือกว่า 300 หมู่บ้าน ยังคงขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในหลายเรื่อง ทั้งถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา
ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์ยังมีโรงเรียนตามพื้นที่ห่างไกลมากมาย อย่างน้อย 400 กว่าโรงเรียนที่ขาดแคลนไฟฟ้า ขาดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ขาดปัจจัยในการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรงที่ต้องจัดสรรปัจจัยพื้นฐานให้ประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

ส.ส.มานพได้ชี้ให้เห็นปัญหาโดยภาพรวมว่า ได้คุยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมีงบประมาณในการจัดการคือค่าหัวดำเนินการต่อครัวเรือนประมาณ 75,000 บาท
แต่ปัญหาคือว่า ไม่สามารถที่จะเข้าไปดำเนินการปักเสาและดำเนินการวางสายได้ เพราะติดข้อกฎหมายเรื่องของเขตป่า ทั้งๆ ที่ในพื้นที่นั้นมีชุมชนดำรงอยู่ก่อนที่กฎหมายประกาศ
บางกรณีมีการปักเสาไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่ถูกระงับการดำเนินการ ซึ่งหมู่บ้านที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้มักจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อยู่พื้นที่ห่างไกลการบริการของรัฐ ไฟฟ้าจึงไม่ทั่วถึง
และอีกหนึ่งสิ่งที่พี่น้องชาติพันธุ์ประสบปัญหานอกจากบริการสาธารณะแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ รวมทั้งทัศนคติของสังคมที่มองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้ร้ายในหลายเรื่อง จึงอยากจะตั้งคำถามไปถึงรัฐบาลว่า มีแนวทางอย่างไรที่จะให้ประชาชนในชุมชนเหล่านั้นเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐาน ได้ใช้ไฟฟ้าอย่างคนไทยทั่วไปให้สำเร็จได้ในเชิงนโยบาย
ครั้งนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ของ ส.ส.ชาติพันธุ์ว่า กรณีของการขยายเขตบริการไฟฟ้าให้กับพี่น้องประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทั้งในเขตของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายตามรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลที่จะให้พี่น้องประชาชนได้รับบริการไฟฟ้า
ขณะนี้มีประชาชนที่มีความต้องการขยายเขตเรื่องไฟฟ้าครัวเรือนประมาณ 47,000 ครัวเรือน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ
แต่อีกครึ่งหนึ่งยอมรับว่ามีปัญหาในพื้นที่หวงห้าม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว ด้วยการแก้ไขกฎหมายในบางส่วนที่จะยินยอมให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปักเสาและเดินสายเข้าไปในพื้นที่เขตหวงห้ามได้ ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวนฯ หรืออุทยานฯ
ซึ่งก็มีขั้นตอนที่ต้องทำ EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) เพราะบางชนิดของเสาไฟฟ้าต้องผ่านการทำ EIA หรือ IEE (รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น) ซึ่งต้องมีขั้นตอนเพื่อรักษาป่าไม้ไว้ ในขั้นตอนของการทำ EIA, IEE รัฐบาลได้เร่งรัดให้เสร็จสิ้นไม่เกิน 6 เดือนที่จะร้องขอ แล้วสามารถปักเสาพาดสายได้
ในบางกรณีทางรัฐบาลก็ได้ไปทำไฟฟ้าทางเลือก เช่น โซลาร์เซลล์ เพื่อให้บริการพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง
นี่คือสิ่งที่อนุพงษ์ยอมรับว่า การขยายเขตไฟฟ้าเข้าชุมชน มีเงื่อนไข ข้อจำกัดทางกฎหมาย

แต่ดราม่ายังไม่จบ เพราะต่อมามีการเผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ของ กอ.รมน.ภาค 3 ซึ่งมีวงเงินจำนวน 45 ล้านบาท หลังจากเรื่องนี้ถูกขยายประเด็นจากเรื่องที่พิมรี่พาย ยูทูบเบอร์ชื่อดังที่บริจาคเงินส่วนตัวเพียง 500,000 บาทติดโซลาร์เซลล์ให้หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
จนทำให้ พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ออกมายอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับจริง มูลค่า 45 ล้านก็จริงตามนั้น
แต่ที่มูลค่าสูงกว่าพิมรี่พายหลายเท่า เพราะของ กอ.รมน.เป็นการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 210 กิโลวัตต์ และเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จำนวน 120 ต้น พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่ลิเธียม) จำนวน 998.40 กิโลวัตต์ และได้ดำเนินการจัดทำโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน โดยมีการลากสายไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่หมู่บ้าน จำนวน 5,409 เมตร และติดตั้งเสาไฟฟ้า
วันรุ่งขึ้น นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบการจัดซื้อแผงโซลาร์เซลล์จำนวนกว่า 45 ล้านบาทของ กอ.รมน. ว่าทำไมจึงมีราคาแพงกว่าของ “พิมรี่พาย” หลายเท่า
นี่คือดราม่าพิมรี่พาย ที่ลามไปเปิดโปงรัฐราชการที่ไร้ประสิทธิภาพและรั่วไหลแบบเต็มๆ