ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 มกราคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
เผยแพร่ |
พุทรามีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน คนจีนปลูกมานานกว่า 4,000 ปีมาแล้ว และชาวจีนยังนิยมนำพุทรามาใช้ในงานมงคลต่างๆ เพราะชื่อเรียกมีความหมายดีสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และความรุ่งเรือง
ต้นพุทราจากจีนได้แพร่ไปปลูกในรัสเซีย ตอนเหนือของแอฟริกา ตะวันออกกลาง ไปที่ตอนใต้ของยุโรปซึ่งคาดว่าเข้าไปตั้งแต่ตอนเริ่มต้นคริสต์ศักราช และตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1837
พุทรามีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Jujube (อ่านว่า จู-จูบ) หรือ Chinese Date เป็นพืชที่อยู่ในสกุล Ziziphus วงศ์พุทรา (Rhamnaceae) ปัจจุบันมีการคัดสายพันธุ์ได้ไม่น้อยกว่า 400 สายพันธุ์ และส่งเสริมการปลูกจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ พุทราอินเดีย มีชื่อสามัญว่า Indian Jujube มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ziziphus mauritiana Lam.
และพุทราจีน มีชื่อสามัญว่า Jujube หรือ Chinese Date มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ziziphus jujube Mill. พุทราทั้ง 2 ชนิดมีเนื้อแตกต่างกันเห็นได้ชัดเจนคือ พุทราจีนมีเนื้อแห้งและฟ่าม ส่วนพุทราอินเดียมีเนื้อที่ฉ่ำน้ำกว่า
พุทราอินเดีย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบ ใบรูปทรงไข่แกมกลมขนาดประมาณ 1 นิ้ว บริเวณลำต้นและกิ่งจะมีหนามแหลม ดอกจะออกเป็นช่อเล็กๆ สีเหลือง มีกลิ่นเหม็น ผลมีเปลือกสีเขียว รูปทรงมีทั้งที่เป็นแบบทรงกลมถึงรูปรี ปลายผลรูปร่างกลมถึงแหลม มีหลายขนาด ผลแก่จะมีสีเหลือง แก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล รสชาติมีทั้งแบบที่หวานสนิท เปรี้ยวอมหวานหรือฝาด มีเมล็ดเดียวอยู่กลางลูก
โดยทั่วไป ต้นพุทรามักจะเกิดขึ้นเองในที่ราบสภาพดินทั่วไปในป่า ซึ่งการขยายพันธุ์ สามารถทำได้ทั้งเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง
พุทรามีสรรพคุณทางยาคือ ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ และเป็นยาระบาย
ส่วนที่นำมาใช้ เช่น เปลือกลำต้น ใช้ต้มกินแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องเสีย ท้องร่วง แก้อาเจียน ใบนำมาตำสดๆ ใช้สุมศีรษะแก้อาการเป็นหวัดคัดจมูก ผลดิบมีรสฝาด ใช้รักษาอาการไข้ ผลสุกกินเป็นผลไม้สดหรือแปรรูปด้วยการกวนหรือดองก็ได้
ในตลาดขายเครื่องยาจีนจะเรียกพุทราอินเดียว่า “มี่จ่าว” ซึ่งมีขายในรูปพุทราเชื่อมแห้ง คนจีนไม่ได้กินแต่พุทราจีน กินพุทราอินเดียด้วย โดยเชื่อว่าช่วยในเรื่องการบำรุงตับ
พุทราจีน เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก (เล็กกว่าพุทราอินเดีย) ผลัดใบ มีหนามมักมีเป็นคู่ หนามตรงทั้งสองอันหรือตรงอันหนึ่งโค้งอันหนึ่ง ในผลมีเมล็ดเดียว ผิวเรียบ เมื่อผลสุกจะเป็นสีเหลืองหรือบางสายพันธุ์จะเป็นสีแดงเข้ม มีทั้งพันธุ์ผลเล็กและผลใหญ่ ในภาษาจีนเรียกว่า “อั่งจือ” หรือ “อั่งจ๊อ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หมุยจ้อ”
ชาวจีนในสมัยโบราณเชื่อว่าพุทราจีนเป็นหนึ่งในห้าผลไม้ที่ดีที่สุด สามารถกินได้ทั้งผลสดและผลแห้ง ในการทำพุทราจีนแห้งง่ายมาก ให้นำผลสุกแก่ของพุทราจีนมาอบจนผิวนุ่ม หรือไม่ก็นำไปต้มในน้ำจนเดือด แล้วนำไปตากแห้ง ก็จะได้พุทราจีนแห้งที่มีรสหวานกว่าพุทราจีนสด
พุทราจีนมีสรรพคุณทางยา กล่าวว่าเป็นสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์อุ่น รสหวาน นิยมนำมาปรุงประกอบในตำรับยาจีนเพื่อช่วยลดฤทธิ์ความรุนแรงของเครื่องยาจีน ช่วยให้ร่างกายดูดซึมยาได้ดีขึ้น และยังช่วยลดอาการแพ้ยาได้อีกด้วย
ผลสดและแห้ง มีส่วนช่วยบำรุงร่างกายโดยเฉพาะม้าม ตับ และสมอง ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยเพิ่มปริมาณเลือด บรรเทาอาการโลหิตจาง แก้เบาหวาน แก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดไขมันในเลือด และยังใช้กับอาการตับแข็งในผู้ดื่มสุราด้วย นอกจากนี้ ชาวจีนยังนิยมกินพุทราจีนแห้งช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งและใช้แก้อาการท้องเสียได้
รากพุทราจีนใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเปื่อย โรคทางเดินอาหาร และแก้ไข้ได้
ในพุทราจีนมีสารเพ็กติน (Pectin) ซึ่งจะช่วยจับโลหะหนักที่ตกค้างในร่างกาย และช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ ใบของพุทราจีนจะมีรสฝาดเพราะมีสารแทนนิน (Tannin) ในปริมาณที่สูง ซึ่งสามารถใช้เป็นยาลดไข้ได้
ส่วนเนื้อในเมล็ดของพุทราจีนกินแล้วช่วยผ่อนคลายประสาท ทำให้นอนหลับสบาย พุทราจีนจึงเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ดีต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีปัญหาปวดประจำเดือนให้ลองกินพุทราเพื่อช่วยลดอาการปวดประจำเดือน และใครที่มักมีอาการขี้หนาว อาการมือเท้าเย็นเป็นประจำ พุทราจีนช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ลดอาการขี้หนาวได้ด้วย
ใครที่คิดปลูกพุทรารู้ไว้ว่าสายพันธุ์ของพุทราจีนสามารถทนต่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงได้ดี ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนหรือหนาวก็ทนได้ เคยพบพุทราจีนทนได้กับอุณหภูมิ -32 องศาเซลเซียส แต่พุทราอินเดียทนต่ออากาศหนาวเย็นได้น้อยกว่า อากาศร้อนๆ แบบบ้านเราปลูกได้สบาย แต่ไม่ว่าจะเป็นพุทราชนิดใดก็ให้ผลผลิตได้ดีขอให้เอาใจใส่บำรุงดูแล
ขอหักมุมสักนิด อ่านมาทั้งหมดในปัจจุบันนักพฤกษศาสตร์กลับพบว่าได้ใช้หลักฐานทางพันธุกรรมพิสูจน์ให้เห็นว่าพุทราอินเดียและพุทราจีนเป็นพืชชนิดเดียวกัน จึงมีการยุบรวมชื่อวิทยาศาสตร์ Ziziphus mauritiana Lam. ให้มาเป็นชื่อพ้องของ Ziziphus jujube Mill. แต่เราชาวบ้านๆ ยังเรียกพุทรา 2 สายพันธุ์ก็ไม่ผิดอาญาใดๆ เรียกให้รู้แยกให้ออก เพื่อกินให้อร่อยตามรสปาก