ยานยนต์ สุดสัปดาห์ / สันติ จิรพรพนิต/’มาสด้า บีที-50′ ปิกอัพสุดหล่อ ภายนอก-ภายใน ‘เอสยูวี’ ดีๆนี่เอง

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

‘มาสด้า บีที-50’ ปิกอัพสุดหล่อ

ภายนอก-ภายใน ‘เอสยูวี’ ดีๆนี่เอง

 

รถใหม่รุ่นแรกของปีนี้ที่เปิดตัวคือ “มาสด้า บีที-50” ปิกอัพสุดหล่อ ที่มองจากด้านหน้าตรงต้องคิดว่าเป็นเอสยูวีอย่าง “มาสด้า ซีเอ็กซ์-5”

“มาสด้า บีที-50” อวดโฉมแบบ “Sneak Preview” หรือรอบพิเศษเฉพาะสื่อมวลชนไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา พร้อมให้ทดสอบในสนามแบบเล็กๆ พอหอมปากหอมคอ

ปิกอัพรุ่นล่าสุดนี้ออกจะแปลกกว่าทุกรุ่นที่ผ่านมา เพราะมาสด้าไม่ได้ผลิตเอง แต่จับมือกับ “อีซูซุ” ให้ช่วยขึ้นไลน์การผลิต เนื่องจากโรงงานมาสด้าในไทยจะเน้นผลิตรถเอสยูวีและเก๋ง ที่ขายดิบขายดีเหลือเกิน

“มาสด้า บีที-50” ใหม่จึงใช้พื้นฐานและชิ้นส่วนบางอย่างเหมือนกับ “ดีแมคซ์” ปิกอัพของอีซูซุ

รวมไปถึงเครื่องยนต์ก็ยังเป็นบล๊อกเดียวกันที่มี 2 แบบคือเครื่องยนต์ความจุ 1.9 ลิตร และ 3.0 ลิตร

แต่รูปลักษณ์ภายนอกและการตกแต่งภายใน แน่นอนว่าต้องยึดตามโมเดลของ “มาสด้า”

 

ออกแบบภายใต้ “โคโดะ ดีไซน์” หรือจิตวิญญาณแห่งการเคลื่อนไหวอันงดงาม แนวคิดของมาสด้าที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

กระจังหน้าขนาดใหญ่ทรงเหลี่ยม เอกลักษณ์ที่คุ้นตา คาดด้วยเส้นโครเมียม แปะโลโก้ขนาดใหญ่ตรงกลาง

ไฟหน้าแบบ LED เป็นทรงกระบอกโปรเจ็กเตอร์เลนส์ มองคล้ายดวงตา ที่เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์เช่นกันของมาสด้า พร้อมระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ

ต่ำลงมาเป็นไฟหรี่และไฟตัดหมอก

กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว

มือจับประตูสีโครเมียมพร้อมปุ่มเปิด-ปิด โดยไม่ต้องใช้รีโมต

ไฟท้ายก็เป็นรูปทรงกระบอกเช่นเดียวกับไฟหน้า

ฝากระบะท้ายเปิดแบบวันทัช พร้อมกล้องมองหลังติดอยู่ใกล้ๆ

รุ่นยกสูงสามารถลุยน้ำได้ลึกสุด 800 ม.ม.

ภาพรวมภายนอกเป็นไปอย่างที่วิศวกรระบุ คือออกแบบให้สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงหน้าตาที่ไม่ต่างจากเอสยูวี จึงได้ทั้งความหรูหราและบึกบึนในตัว

 

ภายในเน้นโทนดำ-น้ำตาล พวงมาลัย 3 ก้านทรงคุ้นตากับรถรุ่นหลังๆ พร้อมระบบมัลติฟังก์ชั่น ด้านซ้ายควบคุมเครื่องเสียง ส่วนด้านขวาควบคุมความเร็วอัตโนมัติ

มาตรวัด 2 ชุด แผงหน้าปัดด้านหลังสีดำสนิท ตัวอักษรสีขาวกับขอบสีเงิน มีหน้าจอTFT ขนาด 4.2 นิ้ว แสดงข้อมูลการขับขี่อยู่ตรงกลาง

ขยับมาตรงกลางพบหน้าจอแสดงผลความละเอียดสูง WXGA ขนาด 7 นิ้ว หรือ 9 นิ้ว (แล้วแต่รุ่น) แบบสัมผัส มีระบบเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน Apple CarPlay และ Android Auto

แอร์ออโต้แยกโซน มีปุ่มควบคุมต่างๆ สีเงินเรียงเป็นพืดอยู่ต่ำลงมา

คอนโซลตกแต่งด้วยวัสดุแบบนิ่มและแข็ง แทรกด้วยลายโครเมียมกับลายไม้ในบางจุด เบาะนั่งหนังพีวีซีอย่างดีนุ่มสบาย

เบาะคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง ออกแบบมาเพื่อช่วยลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บที่คอเมื่อเกิดการชนท้าย

รุ่นดับเบิลแค็บ เจาะช่องแอร์ด้านหลัง และช่องเสียบ USB

เบาะหลังดึงพนักตรงกลางมาเป็นที่เท้าแขนและวางแก้วน้ำได้ ขณะที่เบาะสามารถพับขึ้นเพิ่มพื้นที่บรรทุก

โครงแชสซีรีย์ติดตั้งโฟมเข้าไปภายในเสาแต่ละต้น ช่วยดูดซับเสียงจากแผงประตูด้านข้างรวมไปถึงพรมปูพื้นและฉนวนผลิตขึ้นเป็นชิ้นเดียวกัน ดูดซับเสียงได้ดีไม่ต่างจากรถเอสยูวี

มีมือจับช่วยขึ้น-ลงรถสะดวกมากขึ้น

ภายในมองรวมๆ ดูหรูหรากว่าปิกอัพทุกรุ่นในตลาดยามนี้ เป็นไปตามที่มาสด้าต้องการใช้เป็นเอกลักษณ์การทำตลาด

 

บอกไปแล้วว่ารถรุ่นนี้ใช้พื้นฐานเดียวกับอีซูซุ ดีแมคซ์ เครื่องยนต์เป็นบล๊อกเดียวกัน

ประกอบด้วยเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 3.0 ลิตรแบบ 4 สูบเทอร์โบแปรผัน VGS กำลังสูงสุด 190 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตรที่ 1,600-2,600 รอบ/นาที ตามสเป๊กบริโภคน้ำมัน 14.1 กิโลเมตร/ลิตร

อีกบล๊อกเป็นดีเซลขนาด 1.9 ลิตรแบบ 4 สูบเทอร์โบแปรผันกำลังสูงสุด 150 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตรที่ 1,800-2,600 รอบ/นาที อัตราการบริโภคน้ำมัน 16.1 กิโลเมตร/ลิตร

มีให้เลือกทั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด

ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ใช้เพลาขับทำจากอะลูมิเนียมน้ำหนักเบาขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเกียร์ ส่งกำลังโดยช่วยให้สามารถสลับโหมดการขับเคลื่อน จาก 4 ล้อความเร็วสูง และ 4 ล้อความเร็วต่ำได้ง่าย มีปุ่มปรับบริเวณคอนโซลภายในรถ

มาพร้อมกับระบบล็อกเฟืองท้ายแบบไฟฟ้า ช่วยเพิ่มพลังขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่บนถนนขรุขระ

ช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระปีกนกคู่ และด้านหลังเป็นชุดแหนบ

เทคโนโลยีความปลอดภัย อาทิ ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง ระบบช่วยจอด

ระบบช่วยควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน ระบบช่วยออกตัวรถขณะอยู่บนทางลาดชัน

ถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับและฝั่งผู้โดยสาร มาพร้อมม่านถุงลมนิรภัยและถุงลมนิรภัยด้านข้าง สูงสุด 6 ตำแหน่ง ระบบเซ็นเซอร์หน้า-หลัง ฯลฯ

 

 

การทดลองขับแบบเล็กๆ ในสนาม เริ่มจากรุ่นเครื่องยนต์ 1.9 ลิตร จังหวะออกไม่มีอืดตามประสาเครื่องยนต์เทอร์โบ แต่พอไปถึงระดับ 120-130 กิโลเมตร/ชั่วโมง เริ่มมีอาการตื้อนิดๆ กว่าจะเพิ่มกำลังขึ้นไปถึง 150-160 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ขณะที่เครื่องยนต์ 3.0 ลิตร ออกตัวช้ากว่านิด แต่ได้เปรียบเมื่อเข้าสู่ความเร็วกลาง-สูง

พวงมาลัยคมพอตัว การขับแบบสลาลมท้ายโยนตัวนิดๆ ตามประสารถปิกอัพ แต่ได้ตัวช่วยมาประคองเอาไว้ผ่านสบายๆ

ช่วงล่างนิ่มนวลกว่าปิกอัพทั่วไป เช่นเดียวกับเบาะนั่งที่สบายไม่ต่างจากเอสยูวี

อุปกรณ์ควบคุมต่างๆ อยู่ใกล้มือ

ภาพรวมแล้วการขับขี่แทบไม่รู้สึกว่ากำลังขับปิกอัพอยู่ ไม่แปลกใจที่มาสด้ามุ่งทำตลาดกับกลุ่มครอบครัว ที่ต้องการใช้รถในชีวิตประจำวันหรือใช้งานก็ได้ ได้รถปิกอัพที่หรูหราพอประมาณ

ต่อให้เป็นผู้หญิงก็ขับได้ไม่ประดักประเดิด