วางบิล/ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/พนันกันไหมล่ะ-กฎเขามีให้แหก

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

พนันกันไหมล่ะ-กฎเขามีให้แหก

 

ด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่มีใครทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศไม่ชอบเล่นการพนัน (ใครไม่เชื่อ พนันกันไหมล่ะ) ทั้งไม่มีใครไม่ทำผิดกฎหมาย และฝ่าฝืนกฎระเบียบ ด้วยเหตุว่า “กฎเขามีไว้ให้แหก”

ดังนั้น การที่ผู้รับผิดชอบระดับรองรัฐมนตรีบอกว่า “(กรุงเทพฯ) ไม่มีบ่อน” จึงไม่มีใครเชื่อ แถมยังหัวเราะ คนที่ไม่แสดงออกยังอมยิ้ม

ทุกครั้งที่มีข่าวการจับบ่อนน้อยใหญ่ มักได้นักการพนันไม่กี่คน หลายครั้งเป็นรายเล็กรายน้อย เล่นกันเอง หรือไม่ก็เล่นกันข้างถนนนั่นแหละ แม้แต่ในทำเนียบรัฐบาลเอง นานๆ ยังมีการจับคนขับรถเล่นการพนันออกทุกบ่อย วันนี้ยังมีเล่นกันอยู่ แต่มีคนดูต้นทางประจำเท่านั้น ทั้งสถานที่เล่นประเภทไฮโล ส่วนใหญ่จะลึกลับพอสมควร เพียงคนดูต้นทางแสดงสัญลักษณ์ที่รู้กันว่า “ตำรวจมา” วงก็กลับกลายเป็นยืนบ้าง นั่งบ้าง สูบบุหรี่พูดคุยกัน เท่านั้นเอง

เห็นไหมล่ะ ไปตรวจบ่อนใหญ่คราวนี้ เป็นห้องโถงใหญ่ เขียนหน้าห้องไว้ว่า “ห้องจัดเลี้ยง”

 

การพนันที่เริ่มเล่นตั้งแต่ยังเด็กเล็ก จากละแวกบ้าน หรือในบ้านเองเล่นกันเอง หรือเป็นบ่อนเสียเอง

ขอรับรองว่า “ไพ่” ชนิดสำรับละ 52 ใบ มีทุกบ้าน บางบ้านใช้ไพ่เป็นอุปกรณ์หมอดูไพ่ป๊อกสำรับหนึ่ง ส่วนอีกสองสามสำรับเป็นไพ่เล่นการพนัน ไม่เกี่ยวกัน แต่บางบ้านใช้สำรับเดียวกันนั่นแหละ

การพนันเล่นกันได้ทุกที่ทุกทาง เด็กตั้งแต่ชั้นประถม พอรู้เรื่อง คิดเลขได้ คิดเลขเป็น ก็เล่นเป็น

ตั้งแต่ละแวกบ้านใน “ชุมชนแออัด” ในบ้านญาติพี่-น้อง ที่มีการพบกันวันเสาร์-อาทิตย์ บางบ้านนัดเพื่อนมาเล่นการพนันเป็นปกติวิสัย มีอุปกรณ์เฉพาะ เช่น โต๊ะเล่นรัมมี่ของพ่อกับเพื่อน ห้ามใครมายุ่ง มีไพ่เตรียมไว้ในลิ้นชักสองสามสำรับเป็นประจำ ผ้าปูโต๊ะสักหลาดชั้นหนึ่ง ทับด้วยผ้าลินินขาวป้องกันฝุ่นอีกชั้นหนึ่ง วันไหนจะเล่น พ่อบ้านมักเรียกคนรับใช้ให้จัดการเตรียมโต๊ะ น้ำท่า เก้าอี้ 4 ตัว สี่มุมให้พร้อม

“อย่าลืมแช่เบียร์แช่โซดาไว้ด้วยล่ะ ไวน์ไม่ต้อง เดี๋ยวฉันจัดการเอง”

แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ลูกหลานเล่นไพ่ เล่นการพนันกันเองได้หรือ

ทั้งไม่ต้องห่วง เมื่อเข้าโรงเรียน เรียนชั้นสูงขึ้น เช่น ชั้นมัธยม ลูก-หลานหลายบ้านชอบเล่นไพ่กับเพื่อน ยิ่งสมัยนี้มีการพนันให้เล่นได้หลายประเภท เช่น พนันฟุตบอล ลูก-หลานบางบ้านถึงกับติดพนันฟุตบอล เป็นหนี้บ่อนฟุตบอลเป็นเรื่องเป็นราว “ขาใหญ่” มาทวงหนี้ เป็นเรื่องถึงโรงพักบ่อย ยังไม่เข็ด

ครั้นสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย หรือเข้ารามฯ ได้ ทีนี้ไม่ต้องห่วง หลายคนเล่นตั้งแต่ปีหนึ่งยันปีสี่ จบแล้วยังไปเล่นต่อในที่ทำงานอีก บางคนเป็นนายอำเภอ ไม่เป็นเจ้ามือเสียเอง ก็ต้องมีขามาเล่นด้วยเป็นประจำ ถึงขนาดว่าจะได้เลื่อนขึ้นเป็นปลัดจังหวัด เป็นรองผู้ว่าฯ ยังไม่เอา เพื่อนขึ้นเป็นผู้ว่าฯ แล้ว ตัวยังเป็นนายอำเภออยู่เลย

หลายคนเล่นไพ่ตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อย กว่าจะเลิกได้ก็โน่น นายเขาจะให้ไปเป็นนายเวร ไม่ไปไม่ได้ขึ้นสูงแน่ จึงพยายามตัดใจเลิก เล่นรัมมี่เอาสนุกวันหยุดก็ยังดี

ขึ้นเป็นถึงผู้กำกับจึงยอมหยุด ยอมเลิก ไม่ยังงั้นออกไปจับ “บ่อน” ไม่ได้ จริงไหมผู้การ

 

ส่วนที่ว่า “กฎเขามีให้แหก” เคยฟังจากนักเรียนหญิงชั้นประถมปลาย สอบถามได้ความว่า จำมาจากรุ่นพี่อีกทีหนึ่ง แต่งกายผิดระเบียบ แล้วครูไม่ให้เข้าห้องเรียน ถูกลงโทษยืนหน้าชั้นในชั่วโมงนั้น

ใช่เพียงแต่งกายผิดระเบียบ ยังทรงผม แล้วอะไรกับอีกอะไรหลายอย่าง

นักเรียนทั้งประถม-มัธยมนั้นชอบทำผิดระเบียบ ยิ่งเป็นนักเรียนประจำ นักเรียนโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าเข้มงวด ชอบทำผิดระเบียบครั้งสองครั้งก็พอ มากกว่านั้นประเดี๋ยวโรงเรียนจะเรียกผู้ปกครองมาพบ เป็นเรื่องใหญ่โตเกินเหตุ ไม่เพียงผู้ปกครองมาพบอาจารย์ใหญ่ ยังถูกแม่ลงโทษอีก

ถึงวันนี้ นักเรียนจึงอยาก “แหกกฎ” ดังเห็นกันอยู่แล้วกับกลุ่ม “นักเรียนเลว”

เอาไว้หมดสถานการณ์โควิด-19 ค่อยมาดูกันว่า กระทรวงศึกษาธิการจะว่าอย่างไรกับข้อเรียกร้องของ “นักเรียนเลว” ที่เชื้อยังระอุรอปะทุอยู่ทุกวัน

 

เรื่องของระบอบประชาธิปไตยที่สอนกันในโรงเรียน กับที่ปฏิบัติอยู่ในเวลานี้ ระหว่างการปฏิบัติของผู้ใหญ่ ของแหล่งประชาธิปไตย คือในรัฐสภา โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร มีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชน มีการถ่ายทอดสดระหว่างการประชุม แม้นักเรียนจะไม่ได้ดูได้ชมทุกนัด แต่หลายนัดยังมีการนำออกมาเสนอซ้ำในข่าวภาคค่ำ หรือภาคอื่น นักเรียนที่สนใจการบ้านการเมืองจะให้ความสนใจ แล้วนำไปวิจารณ์กันเอง

อย่างนี้ เป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียนประชาธิปไตย ให้เขาเห็นทุกบ่อย ทั้งครูยังไม่เคยอธิบายให้เห็นคุณเห็นโทษ เห็นส่วนดีส่วนเสียของความเป็นประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มต้นมาได้ 88 ปีเอง

ขณะที่ผู้ทำงานวิจัย เขียนและพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยหลายแง่มุม เป็นเหตุให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการอ้างอิงไม่เป็นไปตามระบบระเบียบของการวิจัย

ซึ่งต้องให้ผู้รู้และบรรดานักวิชาการเขาวิพากษ์ผิดถูกไปก่อน

 

วันนี้ ในสถานการณ์ “ไวรัสโควิด-19” ปรากฏมีผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นผู้แพร่กระจายไวรัสที่ติดจากต่างประเทศคือเมียนมาลักลอบเข้ามาในเมืองไทยทางช่องทางธรรมชาติ กับผู้ที่เข้าไปเล่นการพนันในบ่อนซึ่งมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ปะปนอยู่ด้วย เป็นเหตุให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายไม่สามารถควบคุมได้

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แหล่งผิดกฎหมายที่เคยรู้กันเฉพาะเจ้าหน้าที่หรือผู้ติดตามข่าวสารประจำ “ปูด” ออกมาสู่สาธารณชนจากสื่อหลากหลายกระจายไปทั่ว สร้างความเดือดร้อนให้รัฐบาลต้องสั่งการให้จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายขึ้นอีก

แล้วจะไม่ให้มีการทำผิดกฎหมายได้นานกี่มากน้อย ในเมื่อ “ไม่มีใครไม่ชอบเล่นการพนัน” และ “กฎเขามีไว้ให้แหก” เพราะรัฐบาลที่รองนายกรัฐมนตรีดูแลความมั่นคงของรัฐกำชับว่า “ไม่ให้มีบ่อนการพนัน” และ “กวดขันไม่ให้มีการทำผิดกฎหมาย” อยู่ไม่นานก็ต้องปรับเปลี่ยนรัฐบาลใหม่อีกครั้งและอีกครั้ง

อย่างนี้ เห็นทีจะต้องประคับประคองสถานการณ์โควิด-19 ให้อยู่กับประเทศไทยนานออกไปจนกว่าเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายจะปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายสักอย่างน้อย 3 ปี 5 ปี รอคนรุ่นใหม่ที่เคยชินกับการกวดขันบังคับใช้กฎหมายเติบโตจนเชื่อฟังกฎหมาย และผู้บังคับใช้กฎหมายปฏิบัติตามกฎหมายแท้จริง

เฮ้อ…เสียงถอนหายใจแว่วดังขึ้นจากอนาคตอันไม่ไกล พร้อมเสียงบ่นแว่วมาจากใครในอนาคตว่า

“ถึงวันนั้น อดีตเดินหน้ามาผ่านอนาคตถึงปัจจุบันอีกนั่นแหละ ว่า ‘กฎเขามีให้แหก’ จริงไหม”