ก่อสร้างที่ดิน / แบงก์คุมเข้มสินเชื่อบ้าน

ก่อสร้างที่ดิน/นาย ต.

แบงก์คุมเข้มสินเชื่อบ้าน

 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เผชิญกับวิกฤตแพร่ระบาดโควิด-19 มาแล้วในรอบแรกตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังเจอกับการแพร่ระบาดใหม่ในรอบที่ 2

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าผู้ประกอบธุรกิจอสังหาฯ ส่วนใหญ่ได้มีการปรับตัวกันไปแล้ว เพื่อให้ขนาดธุรกิจ ภาระหนี้สิน ต้นทุน เงินทุนหมุนเวียน พอเหมาะพอดีกับยอดขายจำนวนรายได้ที่จะได้เข้ามาในแต่ละเดือนหรือตลอดทั้งปี

เช่น การลดจำนวนโครงการเปิดใหม่ การทำโครงการขนาดเล็กลงเพื่อให้ปิดโครงการได้เร็ว การปรับรูปแบบดีไซน์ที่อยู่อาศัยเพื่อให้ราคาและฟังก์ชั่นตรงกับความต้องการและกำลังซื้อของลูกค้า ปรับขนาดทีมงานให้กระชับเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายโอเวอร์เฮด

ดังนั้น การโต้คลื่นแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 เชื่อว่าผู้ประกอบการอสังหาฯ รับมือได้ ในด้านการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการตลาด ในด้านการรณณงค์การตลาดและการขาย เพื่อให้ขายได้

 

แต่ปัญหาที่นักพัฒนาอสังหาฯ ควบคุมไม่ได้ เป็นปัญหามีมาแต่เดิม แต่จะเป็นปัญหาใหญ่ขึ้น คือปัญหาที่ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มจะปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น

นั่นก็คือ ถึงแม้จะขายได้มากตามเป้า แต่เมื่อถึงเวลาโอนให้ลูกค้า ลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อกู้ไม่ได้ ก็โอนไม่ได้ ซึ่งก็คือขายไม่ได้ ต้องนำกลับไปขายใหม่นั่นเอง

ที่จริงก็เข้าใจได้ว่า ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ประสบกับปัญหาหนี้เสียมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงขนาดนี้ มีการเลิกจ้างงานจำนวนมาก ไม่มีการจ้างนอกเวลา ไม่มีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงโอที พ่อค้าแม่ค้าหาเช้ากินค่ำ ธุรกิจขนาดเล็กเอสเอ็มอีทำมาหากินไม่ได้ ขาดเงินทุนหมุนเวียน

แบงก์ก็เลยหันมาเข้มงวดการปล่อยกู้ต่างๆ มากขึ้น ป้องกันไม่ให้อัตราหนี้เสียของแบงก์สูงไปมากกว่านี้

 

ตรงนี้เข้าใจและเห็นใจแบงก์ว่า ต้องดำเนินการแบบนี้

แต่ในส่วนของนโยบายรัฐบาลนี่สิ สามารถทำได้ แต่ไม่ได้คิด และไม่ได้ทำ

นโยบายของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ ด้านการทำโครงการเมกะโปรเจ็กต์จำนวนเงินมหาศาลก็จริง แต่ล่าช้าแทบทุกโครงการ การพักการชำระหนี้ 6 เดือนที่ทำมาแล้วก็ช่วยบรรเทาความลำบากของธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กได้พอสมควร

นโยบายคนละครึ่งกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ก็ได้ผลดีมาก

ดังนั้น นโยบายช่วยสนับสนุนให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง พร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าตัวทวี (multiplier) สูง โดยการค้ำประกันเครดิตการกู้ให้กับประชาชนที่ซื้อที่อยู่อาศัยแล้วแต่เครดิตก้ำกึ่งแบงก์ไม่กล้าปล่อย

คนอยากมีที่อยู่อาศัยมีรายได้ แต่อนาคตมีความเสี่ยงกับภาวะเศรษฐกิจแบบนี้มีเป็นจำนวนมากหลักหมื่นหลักแสนต่อปี ถ้ารัฐเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ทั้งนโยบายช่วยประชาชนให้มีที่อยู่อาศัย ได้ทั้งนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งเป็น “ท่าไม้ตาย” รัฐบาลส่วนใหญ่ในโลกนี้มักจะทำ

ไม่ต้องไปคิดนโยบายอื่นๆ ที่ยังจับต้องไม่ได้ หรือไม่บรรลุผล เช่น ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้มาผ่านแบงก์พาณิชย์ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี ปล่อยได้ไม่ถึงครึ่งของเงินที่ให้มา เพราะแบงก์พาณิชย์ก็ไม่กล้าปล่อยอยู่ดี

เรื่องพวกนี้ จะมีคนในรัฐบาลนี้เข้าใจบ้างไหม