ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 มกราคม 2564 |
---|---|
เผยแพร่ |
ในประเทศ
รัฐพลิกเกมต่อรองอัคราไมนิ่ง
ชงอาชญาบัตรพิเศษ
สำรวจแร่ทองคำริชภูมิ ไมนิ่ง
การกลับมาอีกครั้งของ ‘คิงส์เกตฯ’
ความหวังของเครือข่ายคนจันท์ต้านเหมืองทองในการยับยั้งการออกอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง บริษัทในเครือของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส เจ้าของเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด แห่งออสเตรเลีย ดูจะเลือนรางเต็มที
เมื่อนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ทำหนังสือลงวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ เพื่อแจ้งผลการพิจารณาหนังสือคัดค้านการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง
โดยหนังสือของอธิบดี กพร.ให้ความเห็นว่า การสำรวจแร่ทองคำของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง รวม 2 คำขอพื้นที่ 14,650 ไร่ ที่ตำบลพวา กับตำบลสามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่จะเข้าไปทำการสำรวจแร่ และการยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษนั้นเป็นการ “ขอสิทธิ” ในการสำรวจแร่ในพื้นที่ที่กำหนด
ดังนั้น การอนุญาตให้อาชญาบัตรพิเศษกับบริษัทริชภูมิฯ จึงไม่ใช่เป็นการอนุญาตหรือการให้สิทธิในการครอบครองพื้นที่แต่อย่างใด
และที่สำคัญก็คือ ตอนท้ายของหนังสือฉบับดังกล่าวได้อ้างถึง “นโยบาย” ของกระทรวงอุตสาหกรรมให้ กพร.ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทริชภูมิฯ ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำครั้งนี้ด้วย
ด้านเครือข่ายคนจันท์ต้านเหมืองทอง โดยนายธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี กับนางอินทิรา มานะสกุล รองประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจันทบุรี กล่าวถึงสาเหตุที่เครือข่ายต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการออกอาชญาบัตรพิเศษ “เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม”
เพราะการออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ถือเป็นต้นทางในกระบวนการที่จะได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ทองคำต่อไป
และถ้ายอมให้บริษัทริชภูมิฯ ได้รับอาชญาบัตรพิเศษย่อมนำไปสู่การออกประทานบัตรเหมืองแร่ในหลายๆ จังหวัดที่ได้รับอนุญาตสำรวจแร่ไปแล้วด้วย
“คำชี้แจงของอธิบดี กพร.แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานราชการไม่รับฟังคำคัดค้านของประชาชนในพื้นที่เลย ทั้งๆ ที่ในเดือนตุลาคมมีรายชื่อผู้คัดค้านที่เรารวบรวมได้ถึง 58,000 รายชื่อ เมื่อ กพร.มีความเห็นว่าการสำรวจแร่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทางเครือข่ายคนจันท์ก็จะขอใช้สิทธิบุคคลและชุมชนตามมาตรา 43(2) (3) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องยืนยันมติคัดค้านการออกอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง ต่อไป และหากรัฐบาลยังเพิกเฉยต่อไปอีก ทางเครือข่ายจะไม่ยอมให้บริษัทเข้ามาดำเนินการสำรวจแร่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีโดยเด็ดขาด”
เป็นข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องในการอุตสาหกรรมทำเหมืองแร่ไทยตั้งข้อสังเกตกรณีของการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง บริษัทในเครือของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ว่า เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันกับที่บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด บริษัทแม่ของอัคราฯ กำลังเปิดการเจรจากับรัฐบาลไทยภายใต้คณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัทคิงส์เกตฯ เพื่อยุติการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมูลค่าไม่ต่ำกว่า 41,004 ล้านบาท (ประเมินจากค่าเสียโอกาสในการทำเหมือง 8-10 ปีข้างหน้า)
จากกรณีที่หัวหน้าคณะ คสช.ออกคำสั่ง “ยุติ” การทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่ จ.พิจิตร ของบริษัทอัคราฯ รวมถึงระงับการต่อประทานบัตรและระงับการออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำของบริษัททั้งหมด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 มาจนถึงปัจจุบัน
การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ที่ตั้งขึ้นภายใต้ข้อตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลียมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งดูเหมือน “ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก”
แต่ทั้ง 2 ฝ่ายมีการหารือเพื่อยุติข้อพิพาทกันนอกคณะอนุญาโตตุลาการ แน่นอนว่าความต้องการของฝ่ายไทยก็คือ ทำอย่างไรบริษัทคิงส์เกตฯ ถึงจะยอมถอนฟ้องและยุติการเรียกร้องค่าเสียหายที่บ่งชี้ไปถึง “ความผิดพลาด” ในการออกคำสั่งของหัวหน้าคณะ คสช.เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยปราศจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพประชาชนรอบๆ เหมืองชาตรีเกิดขึ้นหลังจากการทำเหมืองทองของบริษัทอัคราฯ โดยตรง
ซึ่งในประเด็นนี้ฝ่ายไทยยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด
ในขณะที่ความต้องการของบริษัทคิงส์เกตฯ หากไม่ได้รับการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นก็สามารถคาดการณ์ได้ว่า บริษัทต้องการกลับมาดำเนินกิจการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกลับไปทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่จังหวัดพิจิตร-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์ ที่มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า เหมืองแห่งนี้ยังมีปริมาณสำรองแร่ทองคำและแร่เงินในเชิงพาณิชย์เหลืออยู่คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 41,004 ล้านบาท
ซึ่งคุ้มค่ากับการทำเหมืองทองคำต่อไป
“ทางเดียวที่เป็นไปได้ในตอนนี้ก็คือ ทำอย่างไรให้บริษัทคิงส์เกตฯ กลับมาดำเนินการทำเหมืองในประเทศไทยต่อไป ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นสัญญาณจากรัฐบาลไทยที่ทอดไมตรีไปยังคิงส์เกตฯ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดทางให้บริษัทอัคราฯ เข้ามายื่นขอต่ออายุโรงโลหกรรมหรือโรงแต่งแร่ที่ถูกยุติการดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ไปจนถึงความพยายามของ กพร.ที่จะออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำที่จันทบุรีให้กับบริษัทริชภูมิฯ ในเครืออัคราฯ โดยทั้งหมดนี้ทาง กพร.อ้างว่า บริษัทอัคราฯ สามารถดำเนินการได้ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ (2560) เสมือนหนึ่งตัดตอนปัญหาที่เกิดขึ้นในคณะอนุญาโตตุลาการนั้นถูกกระทำภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับเก่าที่สิ้นอายุไปแล้ว”
สอดคล้องกับท่าทีของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่แสดงออกมาในระยะหลังว่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทคิงส์เกตฯ นั้น “มีท่าทีที่ดีขึ้น” จากการที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้เปิดการเจรจากันมาตั้งแต่ต้นเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกันให้ได้
ดังนั้น การกลับมาทำเหมืองทองคำของบริษัทคิงส์เกตฯ ในเร็วๆ นี้จึงไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายและเป็นเรื่อง “ใหญ่โต” เกินกว่าที่พลังของเครือข่ายคนจันท์จะระงับบันไดขั้นแรกที่ทอดไปให้บริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง นับหนึ่งการทำเหมืองแร่ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ได้นั่นเอง