พัฒนาการของไทย สู่ ‘ฮับ’ ยานยนต์ไฟฟ้าอาเซียน / เทศมองไทย

เทศมองไทย

พัฒนาการของไทย
สู่ ‘ฮับ’ ยานยนต์ไฟฟ้าอาเซียน

ยานยนต์ไฟฟ้า ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอย่างจริงจังในประเทศไทยเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ทั้งในฐานะ “อุตสาหกรรมใหม่” และในฐานะ “หนทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ของประเทศ
หลายปีที่ผ่านมานี้ มองผิวเผินแล้วดูเหมือนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในบ้านเรายังคงไม่ได้ขยับตัวไปไหนมากมายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองไปตามท้องถนน ที่รถราส่วนใหญ่ยังคงเป็นรถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เหมือนเช่นที่ผ่านมา
ในแง่นี้ รายงานขนาดยาวมากเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ของแจ๊ก บอร์ด ผู้สื่อข่าวแชนแนลนิวส์เอเชีย แห่งสิงคโปร์ ที่เข้ามาตรวจสอบพัฒนาการของยานยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างละเอียดยิบ จนสามารถฉายให้เห็นภาพของการเติบใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ในไทยอย่างมากมายในช่วงเวลาสั้นๆ ดังกล่าว
ถึงขนาดทำให้ผู้เขียนอย่างแจ๊ก บอร์ด เชื่อว่า ขอแค่มีอะไรมา “จุดประกาย” เท่านั้น ไทยก็สามารถก้าวขึ้นสู่การเป็น “ฮับ” ยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนได้เลยทีเดียว

ข้อเขียนชิ้นนี้ ไม่ได้พูดถึงเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย แตกแขนงออกไปในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นรถบัสโดยสาร รถตุ๊กตุ๊ก รถขนาดเล็ก 4 ที่นั่งสำหรับใช้งานในเมือง บริการเช่ารถไฟฟ้า แอพพลิเคชั่นสำหรับเช่ารถไฟฟ้า เรื่อยไปจนถึงเรือใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยว
ทั้งหมดนั่นเริ่มต้นจากพื้นฐานของการเป็น “ฐานการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย เป็นรองเพียงแค่จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เท่านั้น” ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ในเวลานี้ และกำลังเผชิญกับการ “กวาดล้าง” จาก “กระแส (รถ) ไฟฟ้า” ที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้
แต่ทักษะ และทรัพย์สินที่เป็นโรงงานผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์เหล่านี้ยังสามารถกลายเป็นมรดกตกทอดต่อไปในอนาคตได้ หลังจากที่รัฐบาลไทยตัดสินใจเปลี่ยนประเทศให้เป็น “ฮับ” ของสิ่งใหม่อย่างยานยนต์ไฟฟ้าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

“โรดแม็ป” ของไทยในการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ราว 30 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศในปีหนึ่งๆ หรือราว 750,000 คัน ต้องเป็นรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าภายในสิ้นทศวรรษนี้ จัดสรร “แรงจูงใจ” เชิงภาษีให้เพื่อดึงดูดบรรดาค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ให้เข้ามาร่วมอยู่ในโครงการนี้
แจ๊ก บอร์ด บอกว่า ในเวลาเดียวกันรัฐบาลก็ผลักดันให้รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไฟฟ้าในเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันนี้ เริ่มต้นด้วยการจัดทำสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าและจุด “สว็อป แบตเตอรี่” ขึ้นในประเทศ
เขาชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว หลายๆ องคาพยพของรัฐก็ถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันนี้ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เริ่มต้นเช่าซื้อ “เทสลา โมเดล 3” มาใช้ในการลาดตระเวน, กรุงเทพมหานครเปลี่ยนเรือโดยสารเจ้าพระยาจากเรือพลังงานดีเซลให้กลายเป็นเรือไฟฟ้า รถโดยสารประจำทางกำลังถูกเปลี่ยนมาใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังจากแบตเตอรี่ไฟฟ้า ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบการใช้งานอยู่ในเวลานี้
เป้าหมายก็คือ ภายในปี 2037 ไทยเราจะมียานยนต์ไฟฟ้าใช้งานอยู่ราวๆ 2.5 ล้านคัน

ในรายงานชิ้นนี้ แจ๊ก บอร์ด บอกเล่าถึงการเปิดตัวปล่อยเรือพลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้าลงน้ำเป็นการทดลองเรือนำเที่ยวไฟฟ้าของ “บ้านปู เน็กซ์” บริษัทลูกของบริษัทบ้านปู ที่ธุรกิจหลักแต่เดิมคือเหมืองถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ
พูดถึง “สกุลฎ์ซี” ที่เดิมเคยแต่ผลิตรถน้ำมันป้อนให้กับโตโยต้า, นิสสัน, ฮอนด้า มาตลอด กำลังหันกลับมาผลิตรถบัสอะลูมินั่มใช้ไฟฟ้า ด้วยยอดผลิตประกอบปีละหลายพันคัน
และคาดฝันถึงการพัฒนารถไฟใช้ไฟฟ้าและเรือไฟฟ้า ภายใต้การร่วมทุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), พูดถึง “เพาเวอร์ อัพ ตุ๊กตุ๊ก” ใช้ไฟฟ้า, บริษัท “เอดิสัน มอเตอร์” สตาร์ตอัพไทยสำหรับผลิตรถจักรยานยนต์ใช้ไฟฟ้า ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเทสลาและอีลอน มัสก์ ที่ไม่เพียงตั้งเป้าจะกุมตลาดในไทยเท่านั้น แต่ยังมองไกลไปถึงตลาดอาเซียนทั้งหมดอีกด้วย
นอกจากนั้น ยังพูดถึงฟอมม์ รถไฟฟ้าขนาดเล็กที่ทำสัญญากับแอพพลิเคชั่นมูฟมี และฮ็อป คาร์ ให้บริการรถเช่าไฟฟ้าไว้อย่างน่าสนใจ
ผู้เขียนสรุปปิดท้ายเอาไว้ว่า แม้การขับรถไฟฟ้าในไทยจะยังไม่สะดวกสบายอย่างยิ่งในเวลานี้ แต่ก็คงเป็นเช่นนี้ไปแค่อีกไม่นาน “ความร่วมมือและการประสานงาน” ซึ่งกันและกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน ทำให้ “ชิ้นส่วนเพื่ออนาคตสะอาดถูกประกอบเข้าที่เข้าทางได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว” ที่เหลือก็คือ
“รอเพียงแค่วันเปิดสวิตช์เท่านั้นเอง”