วิบากกรรม ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ช่วงสุดท้ายก่อนลงจากตำแหน่ง / บทความต่างประเทศ

เครดิตภาพ AFP

บทความต่างประเทศ

วิบากกรรม ‘โดนัลด์ ทรัมป์’
ช่วงสุดท้ายก่อนลงจากตำแหน่ง

กลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ยังคงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ที่ “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต ได้รับชัยชนะไป แต่ทรัมป์ก็ยังคงพยายามหาหนทางที่จะพลิกผลการเลือกตั้งให้ได้
จนมีข่าวจากสื่อใหญ่ของอเมริกา ออกมารายงานว่า ทรัมป์ได้พยายามกดดันนายแบรด ราฟเฟนสเปอร์เกอร์ มุขมนตรีแห่งรัฐจอร์เจีย ให้ไปหาคะแนนมาเพิ่ม เพื่อพลิกผลเลือกตั้งในรัฐจอร์เจียให้ทรัมป์ชนะ เนื่องจากที่รัฐจอร์เจีย ซึ่งถือเป็นสวิงสเตตนั้น ไบเดนมีคะแนนอิเล็กทรอรัลโหวต ชนะทรัมป์อยู่
ถือเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของทรัมป์ ที่ยังไงก็ไม่ยอมที่จะ “พ่ายแพ้” ต่อการแข่งขันครั้งนี้อย่างเด็ดขาด
นอกเหนือจากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว พรรครีพับลิกันยังพ่ายแพ้ต่อเดโมแครตในการเลือกตั้งซ่อมวุฒิสมาชิกรัฐจอร์เจีย 2 ที่นั่ง ที่ส่งผลให้พรรคเดโมแครตครองเสียงส่วนใหญ่ ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและในวุฒิสภา
ด้วยเหตุนี้ ทรัมป์ผู้ไม่ยอมแพ้ จึงเดินหน้าออกมาใช้สื่อโซเชียลอย่าง “ทวิตเตอร์” เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนตน ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการลงมติรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 มกราคม เพื่อเป็นการปกป้องประเทศ
พร้อมประกาศจะ “ไม่ขอยอมแพ้เป็นอันขาด” และว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการปล้น และไม่ใช่เวลาที่จะแสดงความอ่อนแอ

จะด้วยการเรียกร้องของทรัมป์หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้คนในวันที่ 6 มกราคม ผู้คนจำนวนมากพากัน “บุก” เข้าไปในอาคารรัฐสภา ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ผู้คนต่างอยู่ในความโกรธแค้น และตะโกนเรียกร้องว่า ต้องการ “ทรัมป์”
เหตุการณ์บานปลายกลายเป็นการ “จลาจล” ผู้คนบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา ปีนป่ายตามตึก บุกเข้าไปภายในห้องประชุม จนต้องมีการอพยพบรรดา ส.ส.ที่อยู่ในอาคารออกอย่างเร่งด่วน รวมถึงนายไมก์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ
ขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้สเปรย์พริกไทย และแก๊สน้ำตา เพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้อาวุธปืนเพื่อข่มขู่ผู้บุกรุก
สถานการณ์บานปลาย จนนายมูเรียล โบว์เซอร์ นายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตัน ต้องประกาศเคอร์ฟิวในเย็นวันนั้น ถึงเช้าวันรุ่งขึ้น
ถือเป็นเหตุบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ.1814 ที่อังกฤษเคยบุกโจมตีและเผาอาคารรัฐสภาสหรัฐมาแล้ว
หลังผ่านไปราว 4 ชั่วโมง เหตุการณ์ได้สงบลง สภาคองเกรสก็ประกาศรับรองชัยชนะของโจ ไบเดน และจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 ต่อไป โดยจะมีพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้

เหตุจลาจลที่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ราย ถูกจับกุมตัวไปอีกกว่าครึ่งร้อย
และผลที่ตามมาคือ เสียงก่นด่าที่มีต่อโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ปลุกปั่นทำให้เกิดจลาจลครั้งนี้ขึ้น จนกลายเป็นที่มาของการเดินหน้ากระบวนการถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่ง
แม้จะเหลือเวลาในการดำรงตำแหน่งอีกไม่มากนัก สำหรับทรัมป์ แต่ ส.ส.จากเดโมแครตก็ยืนยันที่จะเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนทรัมป์ให้เร็วที่สุด ภายใต้ข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดการจลาจลขึ้น จนนำไปสู่การบุกยึดสภา และทำให้มีผู้เสียชีวิต
นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต ยืนยันว่า สภาจะเดินหน้ากระบวนการถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่ง หรืออิมพีชเมนต์ให้เร็วที่สุด ในฐานะเป็นผู้ยุยงให้ผู้สนับสนุนโจมตีอาคารรัฐสภา โดยจะยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายไมก์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศว่า ทรัมป์ไม่มีความเหมาะสมสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการตามรัฐบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 25 อาศัยเสียงข้างมากเด็ดขาด 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อถอดถอนพ้นจากตำแหน่งต่อไป

แต่หากไม่มีการตอบสนองใดจากรองประธานาธิบดีเพนซ์ ก็จะเริ่มกระบวนการอิมพีชเมนต์ของสภาในทันที ซึ่งจะส่งผลให้ทรัมป์กลายเป็นผู้นำอเมริกาคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ถูกถอดถอนด้วยกระบวนการอิมพีชเมนต์ถึง 2 ครั้งในช่วงเวลา 4 ปี
นอกเหนือไปจากความพยายามถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งแล้ว ทวิตเตอร์ที่ถือเป็นเครื่องมือบนโลกออนไลน์ที่สำคัญของทรัมป์ ได้ประกาศระงับบัญชีของทรัมป์เป็นการถาวร ส่วนเฟซบุ๊กกับไอจี ก็แบนแบบไม่มีกำหนด อันเป็นผลจากการใช้สื่อโซเชียลในการยุยงให้เกิดความรุนแรงนั่นเอง
ดูเหมือนการลงจากตำแหน่งของทรัมป์ในครั้งนี้ ดูจะไม่ค่อยสวยหรูเสียแล้ว