มองอนาคตการท่องเที่ยวเอเชีย หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 / บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: A worker walks beneath electronic flight schedules boards at Cape Town International Airport, run by state-controlled airports company ACSA, during the coronavirus disease (COVID-19) outbreak in Cape Town, South Africa, July 7, 2020. Picture taken July 7, 2020. REUTERS/Mike Hutchings/File Photo

บทความต่างประเทศ

มองอนาคตการท่องเที่ยวเอเชีย
หลังการแพร่ระบาดโควิด-19

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก หนึ่งในนั้นก็คือการเดินทางท่องเที่ยว
นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2020 ที่ผ่านมา ทุกๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มประกาศห้ามเที่ยวบินจากประเทศจีนเข้าประเทศ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน
การแพร่ระบาดที่ขยายตัวไปทั่วโลกก็ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักลงนับตั้งแต่นั้น
นับจนถึงเวลานี้ก็เป็นเวลา 12 เดือนแล้ว สถานการณ์ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมเท่าไรนัก
หลายๆ ประเทศประกาศห้ามเที่ยวบินจากอังกฤษและแอฟริกาใต้เดินทางเข้าโดยเด็ดขาดหลังจากพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ขึ้น

เวลานี้หลายๆ ประเทศพยายามที่จะเปิดช่องทางการในการเดินทางระหว่างกันโดยมีการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น
เช่น ประเทศไทยเรา ที่ผ่อนผันให้นักท่องเที่ยวจาก 56 ประเทศทั่วโลกเข้าประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้าประเทศได้ แต่ต้องมีใบรับรองสุขภาพที่ยืนยันว่าไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 และต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วันก่อน
ด้านเวียดนาม เริ่มเปิดเที่ยวบินเดินทางออกจากประเทศไปยัง 7 ชาติในเอเชีย ขณะที่ทุกสายการบินยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินในประเทศ
ด้านสิงคโปร์ นักท่องเที่ยวจากบรูไน เวียดนาม และนิวซีแลนด์ ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้ แต่ยังไม่มีการเปิดเที่ยวบินออกจากสิงคโปร์ไปยังประเทศเหล่านี้
ขณะที่การเปิด “ทราเวล บับเบิล” ระหว่างสิงคโปร์และฮ่องกง ก็เพิ่งจะล่มไปไม่นานมานี้หลังจากฮ่องกงเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ขึ้น

องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ) เปิดเผยว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวต่างประเทศลดต่ำลงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2020 กลับไปเทียบเท่ากับการท่องเที่ยวในระดับเมื่อ 30 ปีก่อน นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2020 นั้นโลกสูญเสียรายได้จากการส่งออกการท่องเที่ยวจำนวนมากถึง 935,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่เมื่อปี 2009 ถึง 10 เท่า
ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอระบุว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศลดลงมากที่สุดในระดับ 82 เปอร์เซ็นต์
ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอคาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวจะกลับมามีแนวโน้มสูงขึ้นอีกครั้งอย่างเร็วที่สุดก็ในปี 2023 นับเป็นความเสียหายที่หนักหนาสาหัสสำหรับประเทศในภูมิภาคนี้ที่รายได้ส่วนใหญ่พึ่งพาจากการท่องเที่ยว
ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นถึง 17 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ไทยคิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ส่วนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียนั้นประชากรสัดส่วนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว

“นานู เกเรโร” ผู้อำนายการภูมิภาคของ Booking.com คาดการณ์การท่องเที่ยวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เอาไว้ว่า โลกและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะแตกต่างออกไปอย่างไม่ต้องสงสัย และว่า ในอนาคตลูกค้าจะคาดหวังบริการที่ยืดหยุ่นและน่าไว้วางใจมากขึ้น เช่น สามารถยกเลิก เปลี่ยนแปลงวันได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ด้าน Frost & Sullivan บริษัทฐานข้อมูลการศึกษาวิจัย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคตจะต้องมีสินค้าหรือบริการ และตลาดที่หลากหลายให้ผู้บริโภคเลือกมากขึ้น และหลังจากนี้จะมีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การท่องเที่ยวระยะยาว การท่องเที่ยวเพื่อรับวัคซีนในประเทศต่างๆ หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจิต เกิดขึ้น
Lux Group บริษัทท่องเที่ยวหรูของประเทศเวียดนาม ที่รับนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์จากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เวลานี้ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ลดครึ่งราคาสำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวในประเทศแล้ว
รวมไปถึงมีโปรโมชั่นไม่เสียค่าบริการสำหรับเด็กเพิ่มเติมขึ้นมาก

“ฟาม ฮา” ผู้ก่อตั้งบริษัท Lux Group ระบุว่า ตนรู้สึกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เหมือนกับ “สงครามโลกครั้งที่ 3” และคาดว่ากว่าที่จะสามารถมีลูกค้าในระดับ 10,000 คนต่อปีได้อีกครั้งอาจต้องใช้เวลาถึง 4 ปี
ด้าน Booking.com ปรับตัวด้วยการเพิ่มทางเลือกในการให้บริการเช่นในญี่ปุ่น เริ่มเปิดบริการจองห้องพักแบบ “เรียวกัง” เพิ่มขึ้น Booking.com ปรับตัวด้วยการร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในโครงการ “Go To Travel” ที่รัฐบาลช่วยออกค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศให้ 50 เปอร์เซ็นต์ แบบเดียวกับนโยบาย “เราเที่ยวด้วยกัน” ของบ้านเราด้วย
ที่แน่นอนก็คือธุรกิจการท่องเที่ยวทั่วโลกจะต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวในประเทศต่อไป
โดยในจีน การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศดูจะกระเตื้องขึ้นเมื่อพบว่าเที่ยวบินในประเทศฟื้นคืนมาอยู่ในระดับ 95 เปอร์เซ็นต์ก่อนการแพร่ระบาดแล้ว และมีสายการบินถึง 13 สายการบินที่เปิดเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้นหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะที่ Booking.com เองก็มียอดจองห้องพักในประเทศคิดเป็นสัดส่วนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และยอดจองห้องพักในประเทศในไตรมาสที่ 3 ในปี 2020 ก็มากกว่ายอดจองห้องพักในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 ด้วย
อย่างไรก็ตาม การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถทดแทนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้ทั้งในแง่จำนวนนักท่องเที่ยว และยอดการใช้จ่ายเงิน

หว่อง คิง ยิน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ของประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า การเดินทางต่างประเทศในอนาคต อาจจะต้องมี “หนังสือเดินทางสุขภาพ” ที่แสดงรายการการรับวัคซีนของผู้เดินทางเพิ่มขึ้น เป็นความ “ปกติใหม่” ที่จะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับการเพิ่มระดับความปลอดภัยในสนามบินทั่วโลกหลังเหตุการณ์โจมตีอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือเหตุการณ์ 9/11
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาได้ก็ต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงสุขอนามัยในการเดินทางท่องเที่ยวจะต้องยกระดับสูงขึ้น รวมไปถึงระบบการติดตามสอบสวนโรคที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในปัจจุบัน
นั่นยังไม่ต้องพูดถึงความไม่มั่นใจถึงความปลอดภัยและผลข้างเคียงจากวัคซีนของประชาชนจำนวนมากทั่วโลก ที่แม้จะมีวัคซีนพร้อมฉีดแล้วก็ยังไม่ตัดสินใจฉีดในทันที
และสุดท้ายนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปต่างประเทศจะตัดสินใจเดินทางยากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนสำหรับผู้ให้บริการการเดินทางท่องเที่ยวก็จะสูงขึ้นด้วย
การที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาขยายตัวในระดับก่อนการแพร่ระบาดจึงยิ่งยากและอาจใช้เวลาอีกนานพอสมควร