E-DUANG : การสูญเสีย ของ ประชาธิปัตย์ กรณี ผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง

ยิ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เขยิบเข้ามาใกล้มากเพียงใด ความร้อนแรงในการตัดสินใจทางการเมือง ยิ่งเพิ่มความละเอียดอ่อนมาก ยิ่งขึ้นเพียงนั้น

ในกาลอดีต การเลือกตั้งนี้มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวยืน และก็ปรากฏผู้แสดงตนเข้าชิงเข้ามาประกาศตนไม่ขาดสาย

นานมาแล้วก็ต้องเป็นพรรคประชากรไทยของ นายสมัคร สุนทร เวช ต่อมาก็เป็นกลุ่มรวมพลังของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และต่อมาก็มีผู้กล้าอย่าง นายพิจิตต รัตตกุล

แม้ว่าระยะหลังๆในยุคของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ถือได้ว่าคนของพรรคประชาธิปัตย์ยึดครองพื้นที่กทม.อย่างต่อเนื่อง กระนั้น เมื่อเข้าสู่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 สถานการณ์ก็เปลี่ยน

พลันที่มีการใช้อำนาจของมาตรา 44 จัดการ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ออกไป ก็มีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เข้ามาแทนที่

การเข้ามาของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มีความน่าสนใจและความแหลมคมอย่างเป็นพิเศษทางการเมือง

 

แม้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จะมาเพราะอำนาจของมาตรา 44 แต่ก็สะท้อนความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับการรัฐประหาร

สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับมวลมหาประชาชนกปปส.

เห็นได้จากเมื่อส่วนหนึ่งของกปปส.ที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ แยกตัวออกไป นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ก็ได้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐ มนตรีและต่อมาก็เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน นายสกลธี ภัททิยะกุล ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำ แหน่งเป็นรองผู้ว่าฯกทม. ทำงานใกล้ชิดกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อันเท่ากับสะท้อนปัจจัยทางการเมือง

การเมืองที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มิใช่พรรคประชาธิปัตย์

การตัดสินใจลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จึงสะเทือนพรรคประชาธิปัตย์อย่างลึกซึ้ง

 

ถามว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงพ่ายแพ้ในพื้นที่กทม. คำตอบเด่นชัดว่าเพราะ นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายสกลธี ภัททิยะกุล แยกตัวออกไปจากพรรคประชาธิปัตย์

การตัดสินใจของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จึงสะท้อนภาวะปั่นป่วนรวนเรภายในพรรคประชาธิปัตย์อย่างมีนัยสำคัญ