พูดอย่างสร้างสรรค์ พูดอย่างหมอทวีศิลป์ | มนัส สัตยารักษ์

พูดอย่างสร้างสรรค์ พูดอย่างหมอทวีศิลป์

สวัสดีปีใหม่ด้วยคำพูดของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. หลังจากไทยพบ “โควิด-19 แพร่ระบาดรอบใหม่” ที่จังหวัดสมุทรสาคร ถือว่าเป็นคำ “สวัสดีปีใหม่” ที่ดีที่สุด ดีกว่าคำอวยพรและไปรษณียบัตรใดๆ ทั้งสิ้น

“คนเมียนมาที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ขอให้พี่น้องชาวไทยมองเขานะครับว่า เขาเป็นคนที่มาร่วมชะตากันกับเรา ในฐานะที่เข้ามาใช้แรงงาน เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา เนื่องจากเราต้องใช้พึ่งแรงงานจากพวกเขา คนไทยไม่ทำงานที่พวกเขาทำ เขามาช่วยเราอยู่ เขามาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับเรา”

เพียงแค่นี้คนเมียนมาทั้งชายและหญิงก็เริ่มน้ำตาคลอเบ้าแล้ว

“มากันเป็นหมื่นเป็นแสนอะไรก็แล้วแต่ จะถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมายก็แล้วแต่ แต่ ณ วันนี้เราเป็นญาติกัน เป็นพี่น้องกัน ในเมื่อเขาเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วเขาเกิดเหตุนี้ขึ้นมา ขอความเข้าใจพี่น้องประชาชนของเรา ได้ดูแลซึ่งกันและกัน ยามป่วยไข้เราดูแลเขา เราจะได้ใจ และได้คนมาทำงานในส่วนที่เราหายไป”

มาถึงตรงนี้คนเมียนมาน้ำตาไหลพรากและประนมมือขอบคุณ

“เขากับเราจะอยู่เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ฝากความรู้สึกดีๆ อย่างนี้ เผื่อแผ่ไปถึงทุกคน”

ชาวเมียนมาหลั่งน้ำตา ประนมมือไหว้ เมื่อได้ฟังคำพูด นพ.ทวีศิลป์ให้กำลังใจ

“เราเป็นญาติพี่น้องกัน” เป็นคำกล่าวอย่างจริงใจของหมอทวีศิลป์

ระลึกถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปราชญ์ไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ท่านปล่อยผรุสวาทออกมาด่าคนที่เขียนว่า “พม่า ศัตรูคู่อาฆาตของไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์” อันเป็น hate speech

ผมพอจะจำได้คร่าวๆ ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ออกอาการ “ของขึ้น” ที่นักเขียนคนหนึ่งมีทัศนคติเลวร้ายต่อประเทศเพื่อนบ้าน ยึดติดกับอคติเชิงลบ ท่านจึงด่าอย่างสาดเสียเทเสียตามแบบฉบับของท่าน

ส่วนคำพูดของหมอทวีศิลป์ที่ผมถอดจากคลิปมาถ่ายทอดข้างต้น ตรงกันข้ามกับ hate speech เป็นคำพูดที่ทำให้แรงงานชาวเมียนมาในไทยถึงกับหลั่งน้ำตา และมีข่าวว่าชาวเมียนมาในพม่ารักหมอทวีศิลป์เทียบเท่ากับรักมาดามซูจีเลยทีเดียว มีเพจหนึ่งทำเป็นแบนเนอร์ใน FB

“มาแรงแซงซูจี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

เป็นคนดังในเมียนมาเรียบร้อย น่าชื่นใจครับ”

ไทยเราไม่ได้เป็นศัตรูคู่กัดกับพม่า ข้อนี้น่าจะเป็นความจริง เพราะเท่าที่มีประสบการณ์ 4-5 วันของผมในย่างกุ้ง (ในห้วงเวลาที่ซูจียังถูกควบคุมตัว) ผมพบว่าชาวพม่าที่ผมพบปะด้วยนั้น พวกเขาต่างรักและไว้ใจคนไทยมากกว่ากลัวนายทหารเผด็จการพม่า สังเกตได้จากที่เขาพาเราไปดูบ้านที่ใช้เป็นที่ควบคุมโดยที่เราไม่ต้องร้องขอ

และเมื่อกลุ่มของเราจะไปกินอาหารที่ภัตตาคารโก้หรูกลางทะเลสาบ แท็กซี่บอกเราว่าเป็นภัตตาคารของพวกนายพลทหารและราคาแพง แล้วแท็กซี่ก็พาเราไปที่ร้านธรรมดาใกล้กันที่อร่อยและราคาไม่แพง

คนพม่านับคนไทยเป็นพวกเดียวกับซูจี ผมตีค่าว่าเขาเอ็นดูกระเป๋าตังค์เราไม่ให้ตกเป็นเหยื่อทหารเผด็จการ ก็เท่ากับพวกเขาเอ็นดูเราคนไทยนั่นเอง

ขอแทรกเรื่องซูจีไว้ตรงนี้หน่อยหนึ่ง

เราคงเคยได้ยินประโยค “ซูจีเปลี่ยนไป” หลังจากเมียนมาได้ปฏิรูปการปกครองของประเทศ นายพลปล่อยมือ ซูจีนั่งเป็นอันดับ 2 ของผู้นำประเทศที่ทำหน้าที่สำคัญเป็นอันดับ 1

กรณีที่เมียนมาถูกประเทศแกมเบียฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ด้วยข้อหา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา” ซูจีได้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งทนายจำเลย แก้ต่างให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารที่ฆ่าชาวโรฮิงญา เป็นการป้องกันชาวโรฮิงญาที่ก่อวิกฤต “ฆ่าและเผา” ในดินแดนเมียนมา ข้อกล่าวหาของแกมเบียเป็นเรื่องบิดเบือน

การทำหน้าที่ด้วยจิตสำนึกของความเป็นเมียนมา ทำให้ชาวโลกที่เป็นอิสลามิกประณามว่า “ซูจีเปลี่ยนไป” คือเปลี่ยนไปจากนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอดเวลาหลายสิบปี จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ มาเป็นทนายให้ฆาตกรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ซูจียินดีคืนรางวัลโนเบลโดยไม่ยี่หระ เพื่อรักษาอธิปไตยของเมียนมามากกว่าจะยอมให้โรฮิงญามีเสรีภาพเหนืออธิปไตยของชาติ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการรางวัลโนเบลประกาศว่า ไม่สามารถยึดรางวัลโนเบลคืนจากซูจีได้ คณะกรรมการไม่มีกฎระเบียบที่จะยึดรางวัลคืนกลับจากผู้ที่ได้รับ

เปิดทีวีพบภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จังหวัดระยองหรือชลบุรี ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ไหนแน่เพราะรีบเปลี่ยนช่องเสียก่อนจะได้ติดตามเนื้อข่าว

สาเหตุที่รีบเปลี่ยนช่องเพราะภาพที่เห็นทันทีที่เปิดทีวี ก็คือภาพนายกรัฐมนตรีกำลังชูมือจีบนิ้วทำ “มินิฮาร์ต” กับประชาชนและข้าราชการที่มาต้อนรับ ราวกับเป็นดาราเกาหลีหรือ ส.ส.ที่กำลังหาเสียง

ผมไม่ได้เกลียดชัง พล.อ.ประยุทธ์ถึงขนาดต้องรีบเปลี่ยนช่อง แต่ไม่อยากเห็นนายกรัฐมนตรีในสภาพที่ไม่เหมาะสมกับความเป็นนายกรัฐมนตรี!

แล้วผมก็ไปติดตามข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 เอาจากการสื่อสารช่องทางอื่น นั่นก็คือทางสื่อโซเชียล แล้วก็พบประเด็นข่าวที่น่าสนใจ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก ชื่อข่าวราวกับกวีนิพนธ์… “ป้าระยอง กับ ไมค์ ระยำ”

ได้ฟังและอ่านที่คุณป้าแม่ค้า 2 คนด่า “ไมค์” หรือภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำชู 3 นิ้ว รวมทั้งตามไปอ่านกองเชียร์ของทั้ง 2 ฝ่ายตอบโต้กัน ก็พอจะได้ “ฮา” เป็นที่ครึ้มอกครึ้มใจ ในช่วงเวลาหยุดพักการชุมนุมประท้วงของม็อบ “คณะราษฎร”

อีกประเด็นเป็นข่าวสำคัญ คือข่าว “บ่อนระยอง” ที่เชื่อว่าเป็นเหตุหนึ่งของการแพร่ระบาดโควิด-19 สื่อเจ้าหนึ่งถอดเทปคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน

“โพสต์กันในโซเชียลเยอะแยะ ว่ามีบ่อนที่โน่น ที่นี่ โพสต์โดยข้าราชการเองบ้าง”

“คนที่เป็นข้าราชการผมขอเตือน มีความผิดหรือเปล่า รู้ข้อมูล รู้การทุจริตทำผิดกฎหมายแล้วไม่แจ้งความดำเนินคดี ไม่แจ้งหน่วยงานทราบ”

เจ้าของสื่อตบท้ายว่า “แทนที่จะปราบบ่อน กลับขู่คนแฉบ่อน???”

สื่อชิ้นหนึ่ง ถอดเทปโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ในแง่มุมที่ออกนอกเรื่องโควิด-19

“ไหนบอกมาซิ จะต้องให้ทำยังไง…เก่งนัก ทำได้มั้ย ได้มั้ย ได้มั้ย ปัดโธ่!”

ไม่มีใครพูดกระชากได้อย่างนี้หรอก

ย้อนกลับเข้าเรื่อง “โควิด-19 ระบาดรอบใหม่” อีกที มีเรื่องที่น่าขบคิดและน่าวิเคราะห์

เหตุใดหมอทวีศิลป์พูดเรื่องร้ายให้กลายเป็นเรื่องดีได้?

แต่ใครบางคนพูดเรื่องไม่ร้ายให้กลายเป็นเรื่องร้ายจนได้?

อาจจะมีคนแย้งว่า เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ประชาชนย่อมเชื่อและฟังหมอมากกว่านายพล แต่ในกรณีนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องของจิตใจหรือเรื่องของ “มโนคติ” มากกว่า คนที่เอาแต่ควานหาความผิดของคนอื่น กล่าวโทษคนอื่น โทษกระทั่งประชาชนผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถพูดได้ดีอย่างหมอทวีศิลป์

วูบหนึ่งอดฝันไม่ได้ว่า ต้องเอาคนที่มีจิตใจและมโนคติอย่างหมอทวีศิลป์มาเป็นกรรมการสมานฉันท์ เพื่อปรองดองสังคมที่แตกกระจาย แต่แล้วก็เลิกฝัน

ยากที่ใครจะแนะนำนายกรัฐมนตรีให้พูดสร้างสรรค์อย่างหมอทวีศิลป์ ได้แต่ขอร้องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องออกมาพูดเพื่อแสดงความรับผิดชอบหรอกครับ เอาไว้ค่อยพูดรับชอบอย่างเดียวเวลายูเอ็นชมเชยก็พอ