ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 มกราคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | อัญเจียแขฺมร์ |
ผู้เขียน | อภิญญา ตะวันออก |
เผยแพร่ |
เป็นดาวค้างฟ้าที่เหลือแต่คำว่า “มวยหมื่นอาลัย” ในชีวิต เพราะเป็นดาวค้างฟ้าดวงเดียวที่เหลืออยู่
และนี่คือ ความทรงจำของฉันที่มีต่อซูเปอร์สตาร์ ดี เสวต นางเอกเขมรคนแรกที่นำพาให้ฉันรู้จักภาพยนตร์กัมพูชา “งูเกงกอง” (2513) และยังอยู่ในความทรงจำเป็นมวยหมื่นอาลัยเมื่อมองย้อนไป
และว่า ทำไมนางเอกคนแรกๆ ของวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์กัมพูชา ไฉนจึงต้องเผชิญกับกับดักของความโชคร้ายและในความโชคดีถึงเพียงนั้น
ดี เสวต เธอจะคิดอย่างไรนะที่เหลือรอดชีวิตเพียงลำพังจากสงครามกลางเมืองฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
แน่นอนมีดารานักแสดงบางคนที่เหลือรอดครั้งนั้น แต่สำหรับซูเปอร์สตาร์แถวหน้าแล้ว ทุกคนตายหมดยกวงการเพราะถูกหมายมาดว่าเป็นศัตรูกับระบอบสุดโต่งเขมรแดงคอมมิวนิสต์
พระ-นางเพื่อนพ้องดี เสวต ทุกคนจึงตายกันเป็นเบือ พวกเขายังทิ้งมรดกแห่งยุคทองวงการภาพยนตร์เขมรช่วงปี “70 ไว้เป็นอนุสรณ์แก่ดี เสวต โดยไม่ว่าเธอจะยินดีหรือไม่ก็ตาม
มันจึงเป็นความขันขื่นเหมือนกันที่จะกล่าวว่า จะมีชื่อเสียงไปไยกับชีวิตที่เหลืออยู่
ท่ามกลางทุกฝ่ายที่จากไป และปล่อยให้เธอฐานะเป็นดาวค้างฟ้า-ซูเปอร์สตาร์ตลอดไป
มันจะมีประโยชน์อันใดเล่า? สำหรับชื่อเสียงพวกนั้นเมื่อผู้คนเพื่อนพ้องที่รักได้จากเธอไป ราวกับสมมุติเธอไว้กับความโด่งดังที่เหลือทนและโหดร้าย
ฟ้าดับ โลกดับ ดาวทุกดวงรอบตัวเธอร่วงหล่น พวกเขาปล่อยเธอให้เป็นดาวค้างฟ้าแต่เดียวดายเพียงลำพัง
โดยร่องรอยของความล่มสลายที่กลายเป็นเหมือนอุบัติเหตุถล่มใส่ชีวิตในภาคหนึ่งของเธอแต่ครั้งนั้น แม้ท่ามกลางปัจจุบันเธอได้รับเยียวยา ไม่ว่าจะในฐานะของศิลปินแห่งชาติและจากผลงานใหม่ๆ ที่เธอยังได้รับการจดจำ
ดูเหมือนความสำเร็จในอดีตจะกลายเป็นบาดแผลเล็กๆ ที่บดบังความเจ็บปวดที่ฝังอยู่ในผู้คนและวงการภาพยนตร์เขมรที่ผ่านมา
สํามะหาอะไร ชีวิตก็เป็นไปอย่างนี้ ทั้งด้านดีและร้าย ต่อชื่อเสียงเงินตราและสมบัตินับล้านเหรียญสหรัฐที่เธอถูกเขมรแดงยึดไป
เมื่อย้อนอดีตในปี พ.ศ.2504 ที่เธอถูกแมวมองติดตามและขอตัวพ่อ-แม่เป็นนางเอกภาพยนตร์ยุคขาว-ดำครั้งแรก ดี เสวต ผู้เหลือรอดจากยุคอะนาล็อกคนนั้น ช่างโชคดีเสียกระไรที่เธอได้พบกับความสำเร็จมากมายในอดีตและยังมีโอกาส ถ่ายผ่านตนเองสู่วิถีสหัสวรรษของดิจิตอลที่ค่อยๆ กวาดล้างและทิ้งอดีตยุคของเธอไว้ข้างหลัง
และโลกใบนี้ก็มอบความยุติธรรมแก่ดี เสวต ก็มีตรงนั้น ตรงที่เธอมีเวลามากมายกับอดีตและกว่ากึ่งศตวรรษที่เธออยู่กับวงการนี้
ชดเชยความโหดร้ายในอดีตที่เธอประสบนั่น
ดี เสวต วันนี้ในวัย 77 ปีนั้น ราวกับถูก “แช่แข็ง” ไว้ด้วยความงามอย่างธรรมชาติสมกับสมญาเป็นดาวค้างฟ้า จากยุคภาพยนตร์ขาว-ดำจนฟิล์มสี 35 ม.ม. เซ็นเซอร์ราวด์เสียงพากย์ในฟิล์ม
ดี เสวต ดาวดวงนั้น คือส่วนความสำคัญของวงการภาพยนตร์เขมรที่ประสบความสำเร็จจนผลิตจำหน่ายทั่วภูมิภาค ทั้งฝรั่งเศส ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ไม่เท่านั้น ยังร่วมทุนสร้างถ่ายทำนำดาราชั้นนำมาแสดงร่วมกัน
และนั่นเองที่ภาพยนตร์เรื่อง “รักข้ามขอบฟ้า” หรือ “Chivit Psong Preng” (2515) ภาพยนตร์ลูกครึ่งไทย-เขมร มีดี เสวต และสมบัติ เมทะนี แสดงนำ ประสบความสำเร็จอย่างมากโดยเฉพาะเพลงรักข้ามขอบฟ้าที่ดี เสวต ขับร้องเอง วันนี้ยังเป็นที่จดจำของแฟนๆ
ดี เสวต เล่าว่า บทพูดภาพยนตร์ภาษาไทยที่เธอพยายามพูดลงไปนั้น แม้นักแสดงนำหญิง-ชาย 2 ชาติจะพูดภาษาซึ่งกันไม่ได้ แต่เธอ-เขากลับทำงานกันอย่างเข้าใจไปโดยอัตโนมัติของความเป็นมืออาชีพ
และว่า เมื่อกลับมาพบกับพระเอกซูเปอร์สตาร์ไทยหลังเหตุการณ์เขมรแดงผ่านไปหลายปีแล้ว ดี เสวต ถึงกับหลั่งน้ำตาอย่างสุดกลั้น เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นแม้จะผ่านไปนานสักเพียงใด แต่เมื่อใดก็ตามที่เธอได้พบกับมิตรสหายร่วมสายอาชีพ น้ำตาแห่งความเจ็บตื้นตันก็เอ่อท้นอย่างไม่อาจสะกดกลั้น
เป็นความเจ็บปวดเล็กๆ ที่สุมอยู่ในความรู้สึกลึกๆ ที่เธอก็ไม่รู้
กระทั่งเมื่อ 4 ปีก่อนตอนที่กลับมากรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อรับรางวัลเกียรติยศทางอาชีพครั้งสำคัญร่วมกับอดีตคู่ขวัญพระเอกตลอดกาล-สมบัติ เมทะนี
การปรากฏตัวของดี เสวต ในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ ครั้งนั้น ได้สร้างความตรึงตราประทับใจให้แก่ตนเองและต่อชาวเขมรรุ่นหลังทั้งนอกและในวงการบันเทิง
ดี เสวต ใช่แต่เป็นตัวแทนวงการภาพยนตร์เขมรที่เคยรุ่งเรืองและล่มสลายที่ยังมีชีวิตเท่านั้น
แต่เธอยังเป็นซูเปอร์สตาร์ตลอดกาลของกัมพูชาที่แม้แต่โลกโซเชียลก็ยังนิยมค้นหาเป็นเบอร์ต้นๆ ของกูเกิล!
โอ จากเด็กสาวตากลมโตที่แวะไปถ่ายรูปในห้างแห่งหนึ่งของกรุงพนมเปญ ราวปี พ.ศ.2504 ที่ดี เสวต ถูกติดตามขอตัวจากครอบครัวไปถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรก “กระบวนชีวิต” ที่ออกฉายในปีถัดมา
ในจำนวนภาพยนตร์กว่าร้อยเรื่อง ดี เสวต กำลังฉลองครบรอบ 6 ทศวรรษการแสดงในปีนี้ เริ่มจาก “กระบวนชีวิต” ภาพยนตร์ขาว-ดำ (2504) ที่เธอรับบทนำที่ประสบความสำเร็จและอีกหลายเรื่อง
ในปี พ.ศ.2508 เธอและนักแสดงนำแถวหน้าหลายคนได้กลายเป็นดาราสมทบในภาพยนตร์อภิมหาโปรดักชั่นของฝรั่งเศสที่ส่งผลต่อวงการหนังเขมรต่อมา นั่นคือเรื่อง “ปักษาสวรรค์” จากนั้นการถ่ายทำด้วยฟิล์มสี่สี ตามมาด้วยภาพยนตร์พื้นบ้าน โรงถ่ายทำ โรงละครและโรงภาพยนตร์ที่เกิดปลูกสร้างแทบจะเป็นรายวัน
รวมทั้งดี เสวต นางเอกหนังนิทานพื้นบ้านเรื่องแก้วหน้าม้าที่ทำให้เธอโด่งดัง
ดี เสวต ยังรับบทภรรยาดาบชวน มจุลเพชร ภาพยนตร์ที่กำกับฯ โดยประมุขแห่งรัฐ-นโรดม สีหนุ เรื่อง “แสงฉาน ณ องกอร์” (2510) และปี พ.ศ.2512 ในเรื่อง Twilight ก่อนจะมาโด่งดังระดับสากลด้วยหนังความเชื่อพื้นบ้านอีกครั้งใน “งูเกงกอง” (2513) ที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วภูมิภาค
5 ปีต่อมา วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์กัมพูชาที่กำลังเฟื่องฟูอย่างสูงสุดก็ถึงจุดล่มสลาย
เช่นเดียวกับดาวค้างฟ้าดวงอื่นๆ ดี เสวต หายไปในกาลนั้น มีเสียงร่ำลือมากมายว่าเธอเสียชีวิตไปในระบอบพล พต
ดี เสวต ไม่เคยหายเลือนไป ตลอด 6 ทศวรรษของอุตสาหกรรมภาพยนตร์กัมพูชา นับเป็นอนุสาวรีย์คู่ขนานในความทรงจำของชาวเขมรที่มีต่อยุคทองภาพยนตร์ของเธอ
โลกมายาแห่งนั้น ยังมอบพรวิเศษบางอย่างแก่นางเอกตลอดกาลคนนี้ โดยเฉพาะสิ่งที่ผู้คนปรารถนา คือความงดงามเยาว์วัยที่ยังคงเฉิดฉายในเธอ ท่ามกลางนักแสดงรุ่นหลังคนแล้วคนเล่า ที่ต่างร่วงลงจากฟ้าบันเทิงกัมพูชาไปตามกาลเวลา แต่ดี เสวต-ไม่!
ดังนี้ สมญานาม “ดาวค้างฟ้า” แห่งวงการของภาพยนตร์กัมพูชาจึงมอบแก่ดี เสวต ตลอดมา
โดยไม่เคยถามเธอว่า ปรารถนาจะเป็นเช่นนั้นด้วยหรือไม่?
มากกว่าจะเป็นสัญลักษณ์ของวงการภาพยนตร์เขมรแล้ว บรมครูนักแสดงกัมพูชาคนนี้ยังได้ชื่อว่า เป็นที่รู้จักและชื่นชอบในหมู่คนไทยอีกด้วย และจะด้วยความที่เธอพูดภาษาไทยได้หรือไม่ ที่ทำให้มีการทึกทักว่า ดี เสวต มีบรรพบุรุษเป็นชาวไทย (?)
ดังข้อมูลในวิกิพีเดียที่ระบุว่า คุณย่าของเธอคือนางรำที่ติดตามในหลวงรัชกาลที่ 6 ตอนเสด็จประพาสกัมพูชา นอกจากนี้ เพจเฟซบุ๊กไทยบางรายยังทึกทักไปว่า นามสกุลของเธอคือ “เสวต” ทั้งที่จริงนั้น “เสวต” เป็นชื่อของนางเอกเขมรท่านนี้ ส่วน “ดี” คือนามสกุลที่ตั้งมาจากชื่อของบิดา
อนึ่ง ที่กล่าวกันว่าเธอมีเชื้อสายนางรำทางคุณย่าที่ติดตามในหลวง ร.6 ตอนเสด็จเขมรนั้น ไม่พบว่ามีอยู่จริง ด้วยมีแต่สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชินี-ร.7 เท่านั้นที่เสด็จประพาสอินโดจีน (เวียดนาม-กัมพูชา) ตามจดหมายเหตุรายวันเสด็จประพาสอินโดจีน ตอนหนึ่งยังพบว่า
มีแต่การแข่งฟุตบอลมิตรภาพที่ไซ่ง่อนเท่านั้น เพราะเมื่อเข้าแคว้นกัมพูชาแล้ว ก็เสด็จประทับที่เสียมเรียบเป็นการหลัก หาได้มีคณะละครที่ว่าติดตามไปด้วยเลยไม่ ข้อที่ว่านี้ จึงน่าจะตกไป
เถิด ดี เสวต เป็นผลพวงประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งซึ่งอยู่ในความเจ็บปวดร่วมกันของชาวกัมพูชาและวงการภาพยนตร์
โปรดปล่อยเธอไว้ที่กัมพูชา และเป็นดาวค้างฟ้าของทุกคน