รู้จัก ‘ สยามไบโอไซเอนซ์ ‘ ให้มากขึ้น ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ : สยามไบโอไซเอนซ์

สยามไบโอไซเอนซ์ จากนี้ไปชื่อนี้จะเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น

เชื่อมโยงกับข่าวที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจมากๆ เปิดฉากขึ้นเพื่อต้อนรับปีใหม่ 2564

“กระทรวงสาธารณสุขเผยไทยเริ่มผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศแล้ว โดยเป็นวัคซีนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัทแอสตราเซเนก้า กำลังการผลิตได้ปีละ 200 ล้านโด๊ส จะทยอยส่งมอบล็อตแรกในเดือนพฤษภาคม 2564…” (อ้างจากสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 มกราคม 2564)

สาระตอนหนึ่งในถ้อยแถลงทางราชการ ได้กล่าวถึงธุรกิจเอกชนรายหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากและกำลังทำงานอย่างแข็งขัน “บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563…”

หากพิจารณาข้อมูลเบื้องต้น พบว่าบริษัทดังกล่าวก่อตั้งเมื่อทศวรรษที่แล้ว หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว สยามไบโอไซเอนซ์ได้มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับต้องครั้งหนึ่ง

สะท้อนความสำคัญ ความสัมพันธ์กับรัฐ

“วันที่ 5 พฤษภาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางไปที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี …โรงงานผลิตไบโอฟาร์ม่าอย่างครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย” ข่าวสารซึ่งปรากฏในสื่อต่างๆ รวมทั้งข่าวทางการทำเนียบรัฐบาล (http://www.thaigov.go.th/news/)

จุดโฟกัสขณะนั้น กล่าวถึงบุคคลคนหนึ่ง–ดร.เสนาะ อูนากูล ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ถือกันว่าเป็นบุคคลสำคัญในการบุกเบิกธุรกิจใหม่ ในช่วงที่ต่อเนื่องที่เขาเป็นกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (2535-2558) และกรรมการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (2536-2560)

และตบท้ายด้วยข้อมูลพื้นฐานว่า “บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ก่อตั้งโดยบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด (กิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์)” (รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ดร.เสนาะ อูนากูล และทุนลดาวัลย์ โปรดอ่านข้อเขียนเก่าของผม หัวข้อ “ทุนลดาวัลย์ กับสยามไบโอไซเอนซ์” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12-18 พฤษภาคม 2560)

อันที่จริงในช่วงเวลานั้น website ทางการของสยามไบโอไซเอนซ์ (ผ่าน https://www.siambioscience.com/) มีข้อมูลสะท้อนความสัมพันธ์กับเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี เมื่อพิจารณาคณะกรรมการบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ น่าสังเกตว่าเป็นบุคคลสำคัญมาจากเอสซีจีหลายคน

นอกจาก อภิพร ภาษวัธน์ อดีตผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารสยามไบโอไซเอนซ์ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ยังมี อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทเทเวศร์ประกันภัย (เครือสำนักงานทรัพย์สินฯ) และชลณัฐ ญาณารณพ อดีตรองผู้จัดการใหญ่ และผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ ปัจจุบันเป็นกรรมการเอสซีจี

ขณะนี้ใน https://www.siambioscience.com ไม่มีข้อมูลนั้นแล้ว

เป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้ง เมื่อสื่อมวลชนกลุ่มใหญ่ได้รับการเชื้อเชิญไปเยี่ยมชมสยามไบโอไซเอนซ์เมื่อต้นปีที่แล้ว (18 กุมภาพันธ์ 2563)

สยามไบโอไซเอนซ์นำเสนอให้เห็นภาพ “ผู้ผลิตยาชีววัตถุรายแรกของอาเซียน” ก่อตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนถึง 5,000 ล้านบาท โดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100% ทั้งนี้ อาจตั้งใจเน้นให้มีความชัดเจน อันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างการบริหาร แก้ไขพระราชบัญญัติในปี 2561

ขณะสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 37 ไร่ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เป็นทั้งศูนย์การวิจัยและโรงงานผลิตยาในที่เดียวกัน หลังจากดำเนินกิจการมา 10 ปี ผู้คนบางส่วนตั้งข้อสังเกต อาจไม่มีข้อมูลหรือเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ที่ผลิต เป็นครั้งแรกๆ สื่อหลายสำนักได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุ 2 ชนิด คือ ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง และยาเพิ่มเม็ดเลือดขาว รวมทั้งเวชสำอางแบรนด์ Ardermis

เรื่องราวอันครึกโครมเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีดีลใหญ่ อาจเป็นความตื่นเต้นครั้งใหญ่ ตั้งแต่สยามไบโอไซเอนซ์ก่อตั้งขึ้นก็ว่าได้ “กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซเนก้า ผนึกกำลังผลิตวัคซีนโควิด-19 สำหรับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าพร้อมใช้กลางปีหน้า” (12 ตุลาคม 2563 อ้างจาก https://scgnewschannel.com/)

มีสาระโดยสรุป กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี และแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ระดับโลกแห่งอังกฤษ-สวีเดน ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 AZD1222 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University)

เรื่องราวและภาพนั้นมีความหมายพอควร

ศูนย์กลางของภาพ ปรากฏบุคคล 3 คน-อนุทิน ชาญวีรกูล (ซ้ายมือ) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล (กลาง) ระบุตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (ตามภาพข่าว) ผู้เข้ามาแทน ดร.เสนาะ อูนากูล ที่จริงแล้ว พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล มีอีกหลายตำแหน่งที่ต่อเนื่อง เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประธานกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (ตั้งแต่ปี 2560) และประธานกรรมการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือเอสซีจี (ตั้งแต่ปี 2561)

ที่น่าสังเกตคนขวามือเป็นรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ทั้งนี้ ในถ้อยแถลงตัวเขาเองมีบางตอนสะท้อนที่ไปที่มาไว้ให้เห็นความเชื่อมโยง

“มีความยินดีที่ได้เป็นผู้ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมงานด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับเอสซีจีมายาวนาน”

ขณะที่ตัวแทนแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) กล่าวถึงเป้าหมายที่มีความหมายกว้าง ด้วยความร่วมมือหลายฝ่ายโดยมีเอสซีจีอยู่ในภาพนั้นด้วย

“การเปิดกว้างให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและทันเวลา เป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 วันนี้จึงเป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายดังกล่าว ความเป็นผู้นำและการสนับสนุนของรัฐบาลไทย ความร่วมมือของเอสซีจี และความเชี่ยวชาญด้านการผลิตระดับโลกของสยามไบโอไซเอนซ์ สร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตวัคซีน AZD1222 รองรับทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

AstraZeneca บริษัทยาและชีวเภสัชภัณฑ์ของอังกฤษ-สวีเดน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) ประเทศอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 ด้วยการควบรวมกิจการระหว่าง Astra แห่งสวีเดน และ Zeneca แห่งสหราชอาณาจักร

AstraZeneca นอกจากจะจดทะเบียนในตลาดหุ้นลอนดอน (London Stock Exchange) แล้ว ยังจดทะเบียนในตลาดหุ้นอื่นๆ อีกหลายแห่ง คือ Nasdaq OMX Stockholm แห่งสวีเดน Nasdaq New York แห่งสหรัฐอเมริกา Bombay Stock Exchange และ National Stock Exchange แห่งอินเดีย ในเดือนกรกฎาคม 2563 AstraZeneca ได้ประกาศความร่วมมือผลิตวัคซีนจากการค้นคว้าวิจัยโดย Oxford University

กรณีกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ตามข้อตกลงนั้น AstraZeneca จะถ่ายทอดเทคโนโลยีและร่วมมือในการติดตั้งกระบวนการผลิตให้รองรับการผลิตวัคซีนจำนวนมาก โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร ตามแผนจะสามารถผลิตเพื่อใช้ได้ก่อนกลางปี 2564 เชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตวัคซีนใหญ่ ที่คนไทยจะได้ใช้

ดูไปแล้วก็น่าเชื่อจะเป็นเช่นนั้น “ปัจจุบันอยู่ในขั้นการทดสอบการผลิตเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานกลาง ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตทั่วโลก ภายใต้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า มีกำลังผลิตประมาณ 200 ล้านโด๊สต่อปี หรือเดือนละ 15 ถึง 20 ล้านโด๊ส”” ผู้บริหารสยามไบโอไซเอนซ์แถลงไว้ในงานที่กล่าวถึงตอนต้น

สยามไบโอไซเอนซ์ไม่เพียงมีบทบาททางสังคม ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 หากจะเป็น “พลังขับเคลื่อนใหม่” ในเครือข่ายธุรกิจเก่าแก่