มะกันเคยคิดจะช่วย เหมาเจ๋อตุงในป่าแต่… / กาแฟดำ – สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

มะกันเคยคิดจะช่วย
เหมาเจ๋อตุงในป่าแต่…

หากจะเข้าใจว่าทำไมสหรัฐกับจีนจึงกลายเป็น “คู่กรณี” ระดับโลกวันนี้ ต้องย้อนไปดูที่มาที่ไปในประวัติศาสตร์ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ไปด้วยปัจจัยหลายด้านที่ต้องมองให้ครบทุกมิติ
ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงจังหวะที่สหรัฐตัดสินใจรับรองรัฐบาลก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก
แม้อเมริกาพยายามไกล่เกลี่ยระหว่างเจียงไคเช็กกับเหมาเจ๋อตุง หัวหน้าใหญ่ของคอมมิวนิสต์จีนเพื่อให้เป็นสหายร่วมรบกับญี่ปุ่น แต่ก็ไร้ผล
เพราะลึกๆ แล้วเจียงกับเหมามีความระแวงกันอย่างหนัก และต่างคนต่างต้องการเป็นเบอร์หนึ่งเท่านั้น
แม้จะมีภาพว่าพยายามจะพูดจาหารือกันแต่ก็เป็นเพียงการสร้างภาพชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น
ท้ายสุดก็ต้องรบกันให้รู้ดำรู้แดงไปข้างหนึ่ง

ปี1941 ขณะที่โลกกำลังพัลวันอยู่กลางสงครามโลกครั้งที่สอง และก่อนที่ญี่ปุ่นถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ สหรัฐ ก็เพิ่มความช่วยเหลือทางทหารให้จีนภายใต้โครงการ Lend-Lease programme
เป็นโครงการที่ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ใช้เป็นตัวอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงการซักถามของสภาคองเกรสว่าเป็นการนำประเทศสหรัฐเข้าสู่สงครามหรือไม่
สภาคองเกรสและประชาชนคนอเมริกันส่วนใหญ่ในขณะนั้นไม่ต้องการให้สหรัฐเข้าสงคราม มีกฎหมายความเป็นกลาง (Neutrality Act) ที่กำหนดให้อเมริกาเอาตัวออกห่างจากการทำสงคราม
เพราะถือว่าสหรัฐอยู่ไกลจากสมรภูมิ ไม่ควรจะไปยุ่งกับการรบราฆ่าฟันของคนอื่น
จนกระทั่งญี่ปุ่นถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์วันที่ 7 ธันวาคม 1941 นั่นแหละจึงทำให้อเมริกาตกอยู่ในฐานะไม่มีทางเลือก ต้องประกาศสงครามกับญี่ปุ่น
ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน สหรัฐให้เงินกู้แก่จีนภายใต้การ “ให้ยืมและเช่า” เพื่อให้จีนเอาไปซื้ออาวุธต่อกับญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันสหรัฐก็ประกาศคว่ำบาตรญี่ปุ่น ไม่ส่งสินค้าและห้ามการส่งออกพลังงานและน้ำมันให้ญี่ปุ่นเพื่อกดดันไม่ให้โตเกียวทำสงครามกับจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เป็นเหตุให้นายพล Claire Lee Chennault ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของเจียงไคเช็กมาตั้งแต่ปี 1937 ก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครอเมริกาที่เรียกว่า Flying Tigers เพื่อปฏิบัติการทางอากาศช่วยเจียงไคเช็ก
ประธานาธิบดีสหรัฐรับรู้และให้อนุญาตนายพล Chennault นำนักบินอาสาและฝูงบินหนึ่งฝูงไปช่วยจีนตั้งรับการถล่มทางอากาศของญี่ปุ่น

เมื่อสหรัฐประกาศสงครามกับญี่ปุ่นหลังการถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ อเมริกาก็ส่งนายพล Joseph Stilwell ไปฉงชิ่งของจีน
ในฐานะที่ปรึกษาทางทหารของรัฐบาลจีน
และเป็น “ผู้บัญชาการกองกำลังทหารอเมริกันประจำจีน”
นี่คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน
จะเห็นว่าสองประเทศนี้ไม่ได้เริ่มต้นเป็นศัตรูกัน หากแต่เป็นเพราะจีนอ่อนแอ อเมริกามีศักยภาพสูงกว่า จึงกลายเป็น “พี่เลี้ยง”
เพราะสหรัฐไม่ต้องการให้จีนเข้าไปอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตแม้ว่า ณ จุดนั้นวอชิงตันกับมอสโกยังไม่ได้ตั้งตัวเป็นศัตรูกันเพราะต้องพึ่งพากันในการทำสงครามกับเยอรมนีภายใต้ฮิตเลอร์
นายพล Stilwell กับเจียงไคเช็กมีความเห็นต่างกันในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องยุทธศาสตร์, กลยุทธ์การสู้รบและการใช้จ่ายงบประมาณทหาร
การส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐมาที่ฉงชิ่งของจีนมีข้อจำกัดไม่น้อยโดยเฉพาะหลังจากที่ญี่ปุ่นยึดพม่า (ส่วนหนึ่งผ่านไทย) จากอังกฤษ
ญี่ปุ่นตัดเส้นทางในพม่าที่เคยเป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธที่สำคัญของจีน
นักบินอเมริกันจึงใช้วิธีลำเลียงอาวุธทางอากาศจากอินเดีย…ผ่านเทือกเขาที่ค่อนข้างอันตราย
เรียกกันในขณะนั้นว่า Hump เพราะเทือกเขาธรรมชาติระหว่างอินเดียกับพม่านั้นมีความสูงต่ำไม่ราบเรียบ เหมือน “โคกอูฐ”

ที่เป็นสีสันการเมืองอย่างยิ่งคือการที่เจียงไคเช็กต้องส่งภรรยาคนดังไปล็อบบี้ขอความช่วยเหลือจากสหรัฐในยามที่เขาต้องการจะสื่อสารโดยตรงกับประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 1943
มาดามซ้งเหม่ยหลิงกลายเป็น “ตัวแทนของท่านผู้นำจีน” ที่เป็นข่าวคราวคึกคักเพราะการแต่งตัวที่โดดเด่น พูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่วเพราะเคยเรียนจบที่มหาวิทยาลัยสตรีชื่อดัง Wellesley College
เธอสร้างความประทับใจให้กับนักการเมืองสหรัฐและคนอเมริกันทั่วไปพอสมควร
เธอได้รับเชิญให้กล่าวปราศรัยต่อหน้าสภาคองเกรสเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากสหรัฐในการทำสงครามของจีน
และมาดามซ้งก็ประสบความสำเร็จในการทำให้ทำเนียบขาวและสภาคองเกรสให้การสนับสนุนรัฐบาลจีนของเจียงไคเช็ก
ถึงขั้นที่สหรัฐพยายามจะต่อรองกับพันธมิตรให้จีนได้สถานะ “ประเทศมีอำนาจ” (major power) ในการทำข้อตกลงหลังสงครามยุติ
อเมริการับปากกับมาดามซ้งด้วยว่าจะสนับสนุนให้จีนมีอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองไปก่อนหน้านั้น
โดยเฉพาะแมนจูเรียและไต้หวัน

ที่ต้องถือว่าเป็นก้าวสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนในช่วงนี้คือการลงนามยกเลิก “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ในจีน
อีกทั้งสภาคองเกรสก็ผ่านกฎหมายอนุญาตให้คนจีนอพยพไปอยู่สหรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้เป็นครั้งแรก…แม้จะเป็นโควต้าจำนวนจำกัดก็ตาม
ที่เป็นช่วงประวัติศาสตร์หัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในปี 1944 คือการที่สหรัฐขอส่งทีม “นักสังเกตการณ์ทหารบก” ที่เรียกว่า US Army Observation Group ไปพบกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในป่าที่ค่าย “เหยียนอัน” (ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการของเหมาเจ๋อตุงขณะ “เดินทางไกล”)
เจียงไคเช็กไม่อาจจะทัดทานสหรัฐในยามนั้นได้เพราะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากสหรัฐไม่น้อย
อเมริกาพยายามจะวางตัวเป็นกลางเพื่อให้เจียงกับเหมายอมจับมือสู้กับญี่ปุ่นและสร้างรัฐบาลบริหารประเทศร่วมกัน
ทีมจากอเมริกากลุ่มนี้ไปพบปะกับนักรบของเหมาระหว่างเดือนกรกฎาคม 1944 ถึงมีนาคม 1947 และมีความประทับใจกับ “วินัย” และ “การบริหารจัดการ” ของคอมมิวนิสต์ในป่าไม่น้อย
จึงเตรียมจะเสนอให้รัฐบาลสหรัฐส่งความช่วยเหลือให้กับทหารป่าของเหมาโดยตรง
แต่เจียงไคเช็กคัดค้านเต็มที่เพราะรู้ว่าหากทหารป่าของเหมาได้รับน้ำเลี้ยงเสริมกำลังจะเป็นภัยคุกคามต่อตัวเอง
สหรัฐส่งทูตพิเศษของสหรัฐ Patrick Hurley ไปจีนในปีนั้นพอดี และไปเยี่ยมเยือนฐานของทหารป่าของเหมาที่เหยียนอันเหมือนกัน
ทูตคนนี้เห็นพ้องกับเจียงไคเช็กว่ารัฐบาลสหรัฐยังไม่ควรส่งความช่วยเหลือให้คอมมิวนิสต์ของเหมา
นายพล Albert Wedemeyer ซึ่งมาแทนนายพล Stilwell ในฐานะผู้บัญชาการทหารอเมริกันในจีนก็เห็นด้วยกับเจียงไคเช็ก
นี่คือจุดเริ่มต้นของการถกแถลงนโยบายของรัฐบาลสหรัฐต่อจีนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น
พูดง่ายๆ คือเสียงแตกภายในของระดับปฏิบัติการและนโยบายของสหรัฐ เพราะมีความโน้มเอียงไปข้างเจียงไคเช็กมากกว่าจะเห็นศักยภาพของเหมาเจ๋อตุง
เป็นการประเมินที่ผิดพลาดที่มีผลจนถึงทุกวันนี้

พอญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองปี 1945 ทหารของเจียงกับเหมาก็กลับมาสู้กันเองอีก
เดือนธันวาคมของปีนั้น ประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน ส่งนายพล George Marshall เป็น “ทูตพิเศษ” ไปช่วยเจรจาให้เจียงกับเหมายอมสงบศึกและตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ”
ภารกิจของอเมริกันล้มเหลวไม่เป็นท่า
สงครามกลางเมืองของจีนระเบิดขึ้นอย่างหนักหน่วงในต้นปี 1946
ปีต่อมาประธานาธิบดีทรูแมนส่งนายพล Wedemeyer กลับไปจีนเพื่อประเมินสถานการณ์สงครามกลางเมืองของจีน
นายพลคนนี้กลับวอชิงตันพร้อมข้อเสนอให้ช่วยเหลือฝ่ายเจียงไคเช็กเต็มที่
แต่ที่ปรึกษาอีกฝ่ายหนึ่งของประธานาธิบดีเห็นต่าง มองว่าเจียงไคเช็กไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศแน่นอน ยังไงๆ ล้มเหลว
อีกครั้งที่เสียงในรัฐบาลสหรัฐแตกเป็นสองฝ่ายเรื่องจีน
ประธานาธิบดีทรูแมนยอมลงนามเพิ่มความช่วยเหลือให้ฝ่ายเจียง แต่เหตุผลที่แท้จริงก็เพื่อให้รัฐสภายอมยกมือให้ผ่านแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของยุโรปที่ชื่อ Marshall Plan
เอาเข้าจริงๆ สหรัฐก็พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปแทรกแซงสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์ ปล่อยให้รบกันเอง
จนเหมาเจ๋อตุงนำทัพเข้ายึดปักกิ่ง เจียงไคเช็กต้องหนีตายไปเกาะไต้หวัน
เหมาประกาศสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” วันที่ 1 ตุลาคม 1949
จีนกับสหรัฐก็ยืนอยู่คนละข้าง…กลายเป็น “สงครามเย็น” ระหว่างค่ายโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมา