คนของโลก : จูเลียน อาสซานจ์ “เจ้าพ่อวิกิลีกส์” 1 ทศวรรษ การต่อสู้คดีที่ยังไม่สิ้นสุด

จูเลียน อาสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ เว็บไซต์จอมแฉข้อมูลจากเอกสารลับ ยังคงต้องต่อสู้คดีที่เวลานี้กินเวลาถึง 10 ปีเข้าไปแล้ว

อาสซานจ์ในวัย 49 ปี มีทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้วิพากษ์วิจารณ์ที่มีจำนวนมากพอๆ กัน โดยฝ่ายที่สนับสนุนมองว่าอาสซานจ์เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพของสื่อที่ยกระดับไปอีกขั้น ขณะที่อาสซานจ์เองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเปิดเผยข้อมูลที่ทำให้บุคคลในเอกสารลับเหล่านั้นตกอยู่ในอันตราย

โดยเฉพาะข้อมูลจากเอกสารลับที่สร้างชื่อให้เว็บไซต์ “วิกิลีกส์” มากที่สุด นั่นก็คือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสงครามอิรักและอัฟกานิสถานของรัฐบาลสหรัฐ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาสซานจ์ปรากฏตัวในสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ด้วยสิทธิผู้ลี้ภัยเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยัง “สวีเดน” รวมถึง “สหรัฐอเมริกา”

 

อาสซานจ์เกิดในเมืองทาวน์สวิลล์ รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ในปี 1971 โดยอาสซานจ์เล่าถึงชีวิตวัยเรียนว่าต้องเปลี่ยนที่เรียนมากถึง 37 โรงเรียน ก่อนจะได้ลงหลักปักฐานในเมืองเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย

อาสซานจ์ในช่วงวัยรุ่นค้นพบความสามารถพิเศษด้านการเป็นแฮ็กเกอร์ จนทำให้ต้องถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจออสเตรเลีย และต้องโดนโทษปรับหลายข้อหาด้วยกัน

อาสซานจ์ก่อตั้งเว็บไซต์ “วิกิลีกส์” ในปี 2006 โดยมีผู้ร่วมขบวนการเป็นนักเคลื่อนไหวและผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีจำนวนหนึ่ง โดยอาสซานจ์เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีถึงเหตุผลในการก่อตั้งวิกิลีกส์ ปี 2010 เอาไว้ด้วยว่า

“เรากำลังสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับสื่อเสรี”

 

มหากาพย์การต่อสู้คดีความอันยาวนานของอาสซานจ์ เริ่มต้นขึ้นในปี 2010 ไม่นานนักหลังจากเว็บไซต์วิกิลีกส์ตีแผ่เอกสารลับที่เกี่ยวข้องกับสงครามอิรักและอัฟกานิสถานของสหรัฐอเมริกา แต่คดีที่ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเอกสารของสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด แต่กลับเป็นคดีข้อกล่าวหาข่มขืนในประเทศ “สวีเดน”

“สวีเดน” ยื่นคำขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนมายังทางการอังกฤษ โดยอาสซานจ์มองว่าสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังคดีความดังกล่าว รอดพ้นจากการส่งตัวให้สวีเดน โดยได้รับสิทธิจากทางการเอกวาดอร์ ให้ลี้ภัยในสถานเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอน

อาสซานจ์ใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ในสถานทูต เป็นการใช้ชีวิตที่อาสซานจ์อธิบายว่าเหมือนกับอยู่ “สถานีอวกาศ” ไม่มีผิด

ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการเปิดเผยด้วยว่า อาสซานจ์ได้ให้กำเนิดลูก 2 คนกับสเตลลา มอริส ทนายความเชื้อสายแอฟริกาใต้ที่ช่วยทำคดีให้กับอาสซานจ์ขณะอยู่ในสถานทูตด้วย

การลี้ภัยของอาสซานจ์สิ้นสุดลงในปี 2019 เมื่อรัฐบาลเอกวาดอร์ชุดใหม่ตัดสินใจส่งตัวอาสซานจ์ให้กับทางการอังกฤษในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

โดยอาสซานจ์ถูกจับกุมในข้อหาละเมิดเงื่อนไขการประกันตัวและถูกจำคุกในที่สุด

 

แม้อัยการสวีเดนจะสั่งไม่ฟ้องคดีข่มขืนของอาสซานจ์ โดยระบุว่าหลักฐานไม่เพียงพอ แต่อาสซานจ์ก็พบว่าทางการสหรัฐได้ยื่นฟ้องดำเนินคดีในข้อหาละเมิดกฎหมายจารกรรมจำนวนมากถึง 18 กระทงความผิด เข้าจนได้

คดีดังกล่าวมีคนดังอย่าง อ้ายเว่ยเว่ย ศิลปินผู้ต่อต้านรัฐบาลจีน รวมถึงดีไซเนอร์ชื่อดังอย่างวิเวียน เวสต์วู้ด ที่ออกมาโจมตีรัฐบาลสหรัฐว่าดำเนินคดีโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง และชี้ให้เห็นถึงสภาพจิตใจของอาสซานจ์ที่ต้องได้รับผลกระทบจากการไร้อิสรภาพเป็นเวลานาน

ล่าสุดศาลอังกฤษมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมาแล้วว่า อาสซานจ์ไม่ควรถูกส่งตัวให้กับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากอาสซานจ์มีปัญหาด้านสุขภาพจิต และมีความเสี่ยงที่จะ “ฆ่าตัวตาย” ได้ โดยยังคงปฏิเสธข้อโต้แย้งของฝั่งอาสซานจ์ที่อ้างว่าคดีดังกล่าวมีแรงจูงในทางการเมือง รวมถึงกระทบกับเสรีภาพในการแสดงออก

คำตัดสินดังกล่าวได้รับการตอบรับจากทั้งมอริส ภรรยาของอาสซานจ์ รวมถึงกลุ่มองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน รวมถึงคนดังในแวดวงการเมืองที่แสดงความยินดีที่ศาลเห็นว่าชะตากรรมที่ “อาสซานจ์” ต้องเผชิญนั้นมากเกินพอแล้ว และกล่าวได้ว่าเป็น “ชัยชนะของเสรีภาพสื่อ” เลยทีเดียว

ด้านสหรัฐอเมริกาเตรียมที่จะยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน เพื่อนำตัวอาสซานจ์มารับโทษในสหรัฐอเมริกาให้ได้ ทำให้การต่อสู้คดีของอาสซานจ์คงต้องยืดเยื้อออกไปอีก