จากแขกที่ไม่ได้รับเชิญ ถึงขโมยผ้าอ้อม 20 บทกวีเด่นในมติชนสุดสัปดาห์ / รายงานพิเศษ – ภาณุพงษ์ คงจันทร์

รายงานพิเศษ
ภาณุพงษ์ คงจันทร์

จากแขกที่ไม่ได้รับเชิญ
ถึงขโมยผ้าอ้อม
20 บทกวีเด่นในมติชนสุดสัปดาห์

ในขณะไล่อ่านติชนสุดสัปดาห์หลังสิ้นปี 2563 มาทบทวนบทกวีอยู่ในความประทับใจเด่นๆ ทั้งเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ ทั้งหมดจำนวน 20 ชิ้น จากจำนวนที่ตีพิมพ์เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 ชิ้น ทั้งหมด 87 ชิ้น
ผู้มีผลงานมากที่สุด จำนวน 6 ชิ้นคือ สุธีร์ พุ่มกุมาร
รองลงมา 5 ชิ้นคือ จิตฯ คัมภีรภาพ และ 4 ชิ้น คือ ธารเมฆ และสมพงษ์ ทวี’
ประกอบไปด้วยเนื้อหาทั้งการต่อต้านเผด็จการ สัจธรรมชีวิต ความงามของธรรมชาติ เพ่งพินิจความตาย การสูญเสียและความไม่เป็นธรรมในสังคม ฯลฯ
จึงเลือกบทกวีเด่นมีประเด็นที่น่าสนใจ ผ่านสายตา ‘คนนอก’ ดังนี้

อ่านกวีกระวาด มติชนสุดสัปดาห์ https://www.matichonweekly.com/poem

เริ่มจาก “แขกที่ไม่ได้รับเชิญ” ของ เสี้ยวจันทร์ แรมไพร กล่าวถึงใครสักคนที่มีอำนาจใหญ่โตชอบเข้าไปมีส่วนร่วมในงานโดยไม่ได้เชื้อเชิญ เสมือนหนึ่งว่า “แขกที่ไม่ได้รับเชิญ ชอบไปงานแต่งงาน ในกระท่อมซอมซ่อปลายนา ชาวนาแต่งงานกับงูเห่า” หลังจากนี้คงไปคิดต่อกันว่า ใครคือคนที่ไม่ได้รับเชิญเข้ามาในบ้านเมืองเรา
ตามมาด้วยบทกวีชื่อ “อิทธิปาฏิหาริย์” ของ เวิ้งหมาบ้า ที่ตั้งคำถามว่าผ่านเรื่องเล่า ฝูงนกแร้งไปเจาะกินซากท้องช้างเน่า พลันลูกมะพร้าวหล่นลงมา ฝูงแร้งตกใจพาซากช้างขึ้นไปบนท้องฟ้า จึงเกิดปรากฏการณ์ “ทวยทึ่มเห็นช้างฟ้า เรียดหน้ากราบเฉยฯ” เล่นเอาถึงสะดุ้งตกใจไปกับวรรคสุดท้าย
ใน “ฝนฉ่ำบนภูสูง” ของ จิตฯ คัมภีรภาพ ถ่ายทอดด้วยสำนวนไหวหวานเมื่อสายฝนอาบภูเขาราวกับเสียงดนตรี ก่อให้เกิดผลิบานแตกใบของเมล็ดอ่อน เพราะ

“จึงได้รู้ สิ่งนี้ ในสิ่งนั้น และสิ่งนั้น ร่วมขยับ ขับดีดสี
สิ่งนี้เกิด สิ่งนั้น นั่นจึงมี มโหรีในเอกภาพ…แห่งเอกภพฯ”

ส่วน “หลับ” ของ พิเชษฐ์ แสงทอง เสียดเย้ยถึงการใช้ชีวิตในประเทศอาเพศกำสรวลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ สู้หลบหลีกไปด้วยวิธีการที่ว่า

“หลับเถิด หลับไป หลับให้ลึก โลกเราคึก ช่างเขา เราอิ่มหมี
ใครตื่นสิ เบื่อบ้า ไม่มาดี ครอกฟี้ …ใครกรน เราคนไทย
ครอกฟี้…ใครกรน เราคนไทย”

ขณะที่ “เพื่อนเอ๋ย, เราคือผู้พิทักษ์” ของ นรพัลลภ ประณุทนราพาล ตั้งคำถามว่า เราเกิดมาเพื่อตักตวงผลประโยชน์ของตนเอง ทำร้ายโลกให้ทรุดโทรมแล้วย้ายไปอยู่บนดาวอังคารกัน ทำไมเราไม่เลือกเป็น “ผู้พิทักษ์หาใช่ผู้ทำลาย โลกที่เราทั้งหลายได้หายใจ”
“ญาติโก โหติกา” ของ มะเนาะ ยูเด็น ประทับใจกับฉากศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรี ได้มาเยือนเพราะโครงการชิม ช้อป ใช้ของรัฐบาล เล่าย้อนว่าตามทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน ว่าพวกลิงเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์เรา แต่ยุคสมัยปัจจุบันรัฐบาลคล้ายกับฝูงลิงยึดศาลที่ว่า
“แต่ญาติเก่าเราอำอ้างตำนาน ยึดสถานเทพสถานให้ฝูงลิง”
“เงียบ” ของ อรุณรุ่ง สัตย์สวี เปิดประเด็นว่า เมื่อบทกวีที่นักเขียนได้กลั่นออกมาถูกผู้มีอำนาจให้กลายเป็นแค่ Fake New หากใครเอ่ยถึงจะถูกลงโทษสถานหนัก แม้ว่าจริงๆ แล้วบทกวีเป็นความงดงามของจินตนาการ แต่ทุกวันนี้ตกอยู่ใน “บทกวีกลายเป็นความเงียบ”
ซึ่งค้านกับแนวคิดใน “นั่นมิใช่เรา” ของ ชาคริต โภชะเรือง มาเล่าถึงบทบาทของกวีในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เคยเสียน้ำตาให้กับความเศร้า อุทิศแรงใจถ่ายทอดความปวดร้าวนั้นให้คลายทุกข์ตรม แม้จะ “ดำรงเสรีภาพอันเจ็บปวด เหวี่ยงซ้ายขวา มิให้หยัดยืนได้ท่ามกลางความเศร้า …มิใช่เรา”
ส่วน “รอเช้า” ของ สุธีร์ พุ่มกุมาร เลือกถ้อยคำน้อยแต่ให้พลังของคำหนักแน่นสะท้อนให้เห็นภาพและแสงแห่งความหวังของการต่อสู้ เราจะผ่านปัญหายามค่ำคืนนี้ไป เพราะ

“หากกดหัวแล้วหัวไม่ติดพื้น จะหยัดยืนทรงร่างได้อย่างเก่า
เมื่อไร้ตัวยังเชื่อว่าเหลือเงา และเพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณ”

“ในคลื่นฝน” ของ เรียม เข้าใจสัจธรรมจึงฉายภาพคลื่นฝนกลางทะเลโรมรันปั่นป่วน เหมือนใจของเราที่มัวแต่ยึดติดกับอดีตที่ผ่านทำให้ใจว้าวุ่น เราจะชนะได้ก็ต่อเมื่อ
“เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ เจียนจบ หอบชีวิตโยน
กลางหนคลื่นฝนโรมรัน”
โดยมี “อยู่และจากไป” ของ ธารเมฆ แม้จะใช้ถ้อยคำไม่มากนักแต่กระแทกใจเมื่อขับเน้นถึงอำนาจมืดเสกให้เพื่อนบางคนถูกอุ้มหายไปราวกับไม่มีตัวตน ไร้ร่องรอยหงอยเงียบที่ว่า “ท้องฟ้าค่ำแล้ว รุ่งเช้าไม่มีห่านป่าตัวเดิมบินอยู่อีก”
“ซึ่งไม่มีใครอยากนิยาม” ของ โรสนี ชี้ชัดลงไปถึงผู้มีอำนาจพยายามปกปิดสิ่งชั่วร้ายที่เกิดขึ้น เปรียบไปเหมือนกับร่างกายเน่าเหม็นแม้ไม่มีรอยบาดแผล ขนาดล้มตายผุพังไปเป็นปุ๋ยก็จะทำให้ “หากล่วงรู้ว่าดอกใบจะหงิกงอ เพราะสัมผัสซากสิ่งซึ่งไม่มีใครอยากนิยาม”

ด้วยเหตุความสับสนทางการเมือง จึงเสมือน “ใบไม้หมดแรงหล่นค้างบนหลังคา” ของ ลัดดา สงกระสินธ์ เล่าถึงความเป็นปัจเจกที่มีชีวิตบาดเจ็บ สับสนในการก้าวเดินต่อไปอย่างไร้หนทาง ถึงขนาดย้ำว่า “ยามนี้ ตามแต่ชีวิตที่เหลือจะเป็นไป”
“ฝันที่เป็นจริง” ของ ธัญญา ธัญญามาศ สะกิดเตือนใจถึงการทุ่มเทการทำงานเพื่อเกียรติยศและเงินตรา สุดท้ายได้รับเพียงว่า

“เงินชื่อเสียงชั้นยศปรากฏค่า แลชีวิตกลับมาห่อผ้าขาว
ปิดตำนานบ้านเมืองหลายเรื่องราว ร่างทอดยาวเหยียดตรงมีธงคลุม”

ในยุคของ” โรคระบาด” ของ จันทร์ รำไร สะท้อนภาพสังคมแบ่งแยกทางความคิดจนเกิดการปะทะกันนั้นทำให้เกิดความรู้สึกของผู้คนว่า
“ฉันหวาดกลัว คุณก็หวาดกลัว
โลกแห่งความหวาดกลัวระบาดไปทั่วเหมือนเชื้อร้าย”
ใน “ระหว่างเรา” ของ ผการัมย์ งามธันวา ยังย้ำถึงปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ทำให้สังคมวุ่นวาย ห่างเหินกันและแม้จะอยู่ใกล้ชิดกัน ช่างปวดร้าวในหัวใจ เพราะ “เราเริ่มต้น…บนทาง ที่ตัดขาดออกจากกัน…นานแล้ว”
นอกจากนี้ “เอารอยเท้าของหนูคืนมา” ของ บรรจง บุรินประโคน เล่าด้วยสัญลักษณ์ถึงสนามเด็กเล่นที่มีรอยรองเท้าบู๊ตกระจายบนผืนทราย รอวันจางหายไปเมื่อไหร่บ้านเมืองคงเป็นปกติสุข ดังว่า
“เด็กชาย-หญิง ต่างพากันดีใจ วิ่งไล่กันกันทั่วสนาม”
ในขณะที่ “บางหนแห่ง” ของ พจนาถ พจนาพิทักษ์ เสนอประเด็นที่ว่าเรื่องเล่าต่างๆ ที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ยังไม่มีเรื่องไหนที่สมบูรณ์แบบในตัวมันเลยเพราะ
“บางหนแห่ง ความทรงจำ
คือประภาคารที่ไม่มีวันสร้างเสร็จ”
ในบท “อยากได้ลูกต้องขโมยผ้าอ้อม” ของ สมใจ สมคิด ที่เล่าถึงความเชื่อของชาวบ้านในแถบอีสานว่า หากคู่สมรสอยากมีลูกให้ขอผ้าอ้อมของเด็กไปไว้ที่บ้าน แล้วอีกไม่นานจะมีลูก ความเชื่อจึงมีอิทธิพลต่อคน ดังที่ว่า

“ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเมื่อได้ผล ผ้าอ้อมผลิตคนใช่ข้าวของ
ขโมยไปเก็บในบ้านไม่นานก็ท้อง วิทยาศาสตร์จำต้องทดลองตาม”

และขอปิดท้ายด้วย “คำตอบในคำตอบ” ของ ธาร ธรรมโฆษ เสนอสัจธรรมของชีวิตที่รายล้อมรอบตัวเรามีทั้งความดีงาม ความโหดร้าย ทั้งนักบุญและคนบาป ผ่านวิถีชีวิตแม่ไก่คุ้ยหาอาหารกับลูกเจี๊ยบ ดังว่า

“หยุดมองดูชีวิตสักนิดหนึ่ง อาจรู้ซึ้งความจริงสิ่งทั้งหลาย
เกิดมาเพื่ออะไรในบั้นปลาย คำตอบสุดคล้ายมีทั่วรอบตัวเรา”

แม้จะเลือกบทกวีมาเพียง 20 บท จัดว่ายังน้อยนิดและเล่าเพียงประเด็นที่กวีนำเสนอ
ส่วนความงดงามของถ้อยคำและรูปแบบต้องให้นักอ่านพินิจเอง
ยิ่งถ้าได้อ่านออกเสียงจะได้รับถึงพลังที่แฝงมาด้วยความรื่นรมย์
เลิกบ่นกันเสียทีว่า “บทกวีตายแล้ว” ต้องลองมาอ่านในมติชนสุดสัปดาห์ ความคิดนี้จะมลายไปสิ้น เมื่อเห็นปรากฏการณ์กวี สนามนี้ยังคึกคัก มีผลงานระดับเทพมากมาย
งดงามราวทุ่งดอกไม้ในยามเช้าแบบนั้นเชียว

 

อ่านกวีกระวาด มติชนสุดสัปดาห์ https://www.matichonweekly.com/poem