ปี 2564 ก้าวสู่วาระ 2 ทศวรรษ จรัลลา / บทความพิเศษ – ธเนศวร์ เจริญเมือง

บทความพิเศษ
ธเนศวร์ เจริญเมือง

ปี 2564 ก้าวสู่วาระ 2 ทศวรรษ จรัลลา

ถอยหลังกลับไป 20 ปี และอีก 24 ปีก่อนหน้านั้น
(พ.ศ.2564-2544, 2544-2520)

สายของวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2544 ข่าวแพร่สะพัดไปทั่วสังคมไทย จรัล มโนเพ็ชร ได้จากโลกไปตั้งแต่ช่วงเช้ามืด
จรัลเป็นศิลปินชาวเชียงใหม่ที่ร้องเพลงโฟล์กซองคำเมืองจนโด่งดังและเป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมาก ทั้งมีผลงานละครและเล่นหนังหลายเรื่อง เป็นศิลปินที่มากความสามารถ
เขาจากไปในวัยเพียง 50 ปี
เพลงทั้งที่เป็นคำเมืองและเพลงไทยตลอดจนความสามารถของจรัลปรากฏและเป็นที่ยอมรับเพิ่ม ขึ้นๆ เป็นลำดับในห้วง 24 ปีนับจากเพลง “โฟล์คซองคำเมือง” ชุดอมตะ ชุดแรกในปี พ.ศ.2520 เทปเพลงหลายสิบชุดที่ทยอยออกมา รายการแสดงสดที่จรัลพูดคุยหยอกล้อกับคนฟังเป็นภาษาคำเมือง ละครและภาพยนตร์หลายเรื่องที่เขาแสดงและกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ที่จรัลเข้าร่วม คือตัวตนของจรัล มโนเพ็ชร และเมื่อเขาจากไปก่อนวัยอันควร
ในวาระที่อ้ายจรัล มโนเพ็ชร มีอายุครบ 70 ปีในวันที่ 1 มกราคมปี 2564 และในวันที่ 3 กันยายนปีนี้ อ้ายจรัลก็จะจากไปครบรอบ 20 ปี
ก็ถึงวาระสำคัญแล้วที่เราจะได้มองย้อนกลับไป และประเมินชีวิตและผลงานของศิลปินท่านนี้อย่างจริงจัง

ชีวิตของอ้ายจรัล
สังคมล้านนาและสังคมไทย
ก่อนปี พ.ศ.2520

การมีครอบครัวใหญ่ มีลูกถึง 7 คน แต่รายได้มีไม่มากนัก การศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับลูกๆ ก็คือการให้เข้าโรงเรียนวัดที่ดีใกล้บ้าน จากนั้นก็เข้าวิทยาลัยสายอาชีพเพื่อที่จบออกมาจะได้มีงานทำโดยเร็ว
อ้ายจรัลเป็นลูกคนที่ 2 เขาจบจากโรงเรียนเมตตาศึกษา และเข้าเรียนวิชาบัญชีที่วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ เป็นคนเรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 แทบทุกครั้ง และได้งานทำไม่นานหลังเรียนจบ
แต่ด้วยความสามารถเฉพาะตัวและสิ่งแวดล้อมที่ยอดเยี่ยมด้านดนตรีและศิลปะ พ่อเป็นนักดนตรีฝีมือดี เป็นคนเก่งด้านภาษาทั้งกาพย์กลอนและการแต่งเพลงร้องเพลง เป็นช่างศิลปะยอดฝีมือ จึงเล่นดนตรีและสอนดนตรีให้ลูกๆ ตั้งแต่เล็ก
จรัลได้รับมาเต็มๆ และในกระแสดนตรีร็อกและโฟล์กซองแพร่เข้ามาจากตะวันตกในช่วงทศวรรษ 2500s ท่ามกลางการไหลบ่าของวัฒนธรรมทุนนิยมตะวันตก และภัยสงครามอินโดจีนที่แรงขึ้นๆ
ขณะที่วงดนตรีวัยรุ่นอื่นๆ ในบ้านเราพัฒนาโดยไม่มีพ่อ เช่น พ่อน้อยสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร ไม่มีระบบการศึกษาและวัดที่ใส่ใจด้านดนตรีและศิลปะของท้องถิ่น จึงเล่นเพลงตะวันตกล้วนๆ ตามกระแส
แต่จรัลได้รับมรดกสำคัญจากครอบครัวและเขาสามารถหลอมรวมอิทธิพลของสังคมไทยและตะวันตกในขณะนั้นเข้าไปด้วย
บวกกับความสามารถเฉพาะตัวด้านดนตรี ภาษา หน้าตาและบุคลิกที่โดดเด่นของเขา และด้วยสายตาของนักธุรกิจนาม “มานิด อัชวงศ์” เพลงโฟล์กซองคำเมืองของเขาที่ไม่เหมือนใครผสมผสานกับเพลงแนวลูกกรุงที่เขาแต่ง
ก็คือแนวเพลงของจรัล มโนเพ็ชร ที่โด่งดังในช่วง 24 ปีที่เขาทำงานด้านดนตรี (พ.ศ.2520-2544)

ศิลปินนามจรัล มโนเพ็ชร
ชีวิตและผลงาน : 20 ปีที่ผ่านไป

24 ปีของการทำงาน และ 20 ปีที่อ้ายจรัลจากไป อ้ายจรัลได้สร้างผลงานและทิ้งมรดกความเป็นจรัลไว้ รวมทั้งหมด 22 ข้อ ดังนี้
ข้อที่ 1 อ้ายจรัลเป็นศิลปินที่ร้องเพลง, แต่งเพลง และเล่นดนตรีได้ดี ลักษณะที่ดีทั้ง 3 อย่างเมื่อมารวมอยู่ในตัวศิลปินคนเดียว จึงทำให้ความเป็นศิลปินนั้นจึงยิ่งโดดเด่นและยืนยาวเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่น
ข้อที่ 2 อ้ายจรัลเป็นศิลปินที่มีลักษณะพิเศษ เพราะเขาเติบโตในตระกูลศิลปินท้องถิ่น ท่ามกลางการขยายตัวของอิทธิพลโลกตะวันตก บวกกับพรสวรรค์ด้านดนตรี-เพลง-และภาษา เขาได้สร้างผลงานที่สะท้อนทั้งจากกระแสท้องถิ่น กระแสของระดับประเทศ และวัฒนธรรมตะวันตก
ข้อที่ 3 อ้ายจรัลเป็นศิลปินคนเมืองคนแรกที่นำภาษากำเมืองให้เป็นรู้จักอย่างเป็นทางการตั้งแต่โลกสมัยใหม่เชื่อมร้อยกันด้วยวิทยุ-ทีวี-เทปเพลง-และภาพยนตร์ จากอดีตที่เพลงไพเราะที่ทำให้คนไทยทั่วประเทศได้รู้จักความงดงามของภาคเหนือผ่านเสียงเพลง เช่น มนต์เมืองเหนือ สักขีแม่ปิง ฯลฯ เพลงเหล่านั้นแต่งโดยนักแต่งชาวกรุง และร้องเป็นภาษาไทยเมืองหลวง เมื่อจรัลขับขานเพลงภาษากำเมือง เขาก็ได้สร้างความตื่นตะลึงให้แก่คนเมืองชาวเหนือและคนไทยทั้งประเทศ เพลงชุด “โฟล์กซองคำเมือง” 2 ชุดแรก กลายเป็นเทปเพลงฮิตตลอดกาลของเขา ได้แก่ อุ๊ยคำ สาวมอเตอร์ไซค์ ผักกาดจอ น้อยไจยา พี่สาวครับ ล่องแม่ปิง สาวเชียงใหม่ ของกิ๋นคนเมือง มะเมียะ มิดะ
ข้อที่ 4 การยืนหยัดประกาศความเป็นคนเมือง การพูดภาษาคำเมืองตลอดเวลากับผู้ฟังผู้ชมทำให้คนเมืองเกิดความภาคภูมิใจในภาษาคำเมือง และบ้านเกิดเมืองนอนของตน และนำเรื่องราวต่างๆ มาเล่าในเพลงต่างๆ ให้คนเมืองและคนในท้องถิ่นได้ตระหนักและทั่วทั้งประเทศได้รับความรู้และตระหนักในคุณค่าของท้องถิ่น ทำให้ผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ให้ความเคารพ และสนใจอยากเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ภาษา และปัญหาด้านอื่นๆ ของท้องถิ่น ปลุกเร้าความรักและความสนใจในเรื่องบ้านเกิดเมืองนอน
ข้อที่ 5 เพลงของอ้ายจรัลมี 2 ลักษณะคือ เป็นเพลงที่ฟังสนุกสนาน ประโลมใจ และส่วนใหญ่เป็นเพลงที่มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่มีเพลงใดที่เพ้อเจ้อและตลกไร้รสนิยม หรือให้ค่านิยมผิดๆ
ข้อที่ 6 สาระประโยชน์ของเพลงที่อ้ายจรัลแต่ง มีหลายข้อ
สาระข้อแรก เนื้อหาของเพลงอยู่เคียงข้างผู้เสียเปรียบในสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเพรียกหาระบบสังคมที่เป็นธรรม สังคมที่รัฐควรเอาใจใส่คนยากไร้ คนชรา คนพิการ คนงาน เด็ก
ข้อที่ 7 สาระที่สอง การชื่นชมชีวิต การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ดอกบัวตองบานบนดอย ดอกเอื้องสามปอยอยู่บนกิ่งไม้สูง สตรีต้องมีศักดิ์ศรี ต้องทระนง สุขุม จริงใจและมั่นคงในความรัก ต้องไม่เห็นแก่วัตถุ หรือหลงคิดว่ามอเตอร์ไซค์ดีกว่ารถจักรยาน และคนเราควรมีน้ำใจต่อกัน
ข้อที่ 8 สาระที่สาม การให้ความเคารพต่อผู้คนไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติใด-เผ่าพันธุ์ใด เช่น เพลงของคนไต เคารพประเพณีของเผ่าอีก้อในอดีต เวลาผ่านไป ค่านิยมและประเพณีบางอย่างก็อาจเปลี่ยนแปรไป
ข้อที่ 9 สาระที่สี่ การให้ความสำคัญต่อธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย “ป่าจึงควรเป็นศิลปินแห่งชีวิต ที่มีแต่น้ำมิตร ผลิตงานชวนให้มอง…” ควรช่วยกันดูแลรักษาป่าให้เป็นป่าตลอดไป ช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำ ต้องส่งเสียงอย่าให้ใครมาทำลายสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต
ข้อที่ 10 สาระที่ห้า ชื่นชมบ้านในป่าเขาที่งดงาม เรียบง่าย ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากมาย โหยหาชีวิตและครอบครัวอันอบอุ่น พ่อ-แม่แก่ชราอยู่กัน 2 คน ส่วนลูกๆ ไปทำงานและตั้งครอบครัวในเมืองกรุง
ข้อที่ 11 สาระที่หก ชีวิตต้องไม่ลืมอดีต ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อที่จะอยู่กับปัจจุบัน และแสวงหาอนาคต
ข้อที่ 12 สาระที่เจ็ด ชีวิตต้องมีแนวคิด มีปรัชญาในการดำเนินชีวิต ชีวิตต้องมีอุดมการณ์ มีจุดหมาย มีความมุ่งมั่น ชีวิตคือการต่อสู้ เมื่อ “เดินทางไกล อย่าหวั่นไหว ใครขวางกั้น”
ข้อที่ 13 สาระที่แปด ชีวิตต้องมีความหวัง “ทุกครั้งที่ความมืดคลาย หมายถึงวันที่ดีกว่า คือโอกาสชีวิต ให้เราฟันฝ่า ขอบฟ้ามีตะวัน” บนเส้นทางการเดินทางไกล ฉันยังมีเธอ… ฉันยังพร้อมช่วยเธอเสมอ เพียงตัวเธอไม่หนีไปเสียก่อน จะปลอบดวงใจให้เธอหายร้าวราญ จะเป็นสะพานให้เธอเดินไปแน่นอน…”
ข้อที่ 14 อ้ายจรัลเห็นความสำคัญของการศึกษาและการแสดงออกของเยาวชน อ้ายจัดตั้งกลุ่มเยาวชนไว้หลายแห่ง สอนการแต่งบทละคร ฝึกซ้อมบทละครเพื่อนำออกแสดง ส่งเสริมให้เยาวชนใช้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นเนื้อเรื่องในละคร ฝึกเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ และกล้าแสดงออก อ้ายได้มอบเงินเป็นทุนให้เยาวชนจำนวนหนึ่งเพื่อไปเรียนต่อด้านดนตรี และงานศิลปะ
ข้อที่ 15 อ้ายจรัลอยากเห็นงานสืบสานศิลปินล้านนาได้รับการสนับสนุน ในการจัดรายการแสดงดนตรีหน้าพระที่นั่ง และการแสดงที่กรุงเทพฯ อ้ายได้เชิญศิลปินยอดฝีมือจากจังหวัดต่างๆ ไปร่วมแสดง ผลักดันให้หน่วยราชการมอบรางวัลและจัดรายการให้ศิลปินเหล่านั้นได้แสดงฝีมือ และได้รับการสนับสนุน
ข้อที่ 16 อ้ายจรัลเห็นความสำคัญของการให้ความรู้แก่สังคมในระยะยาว อ้ายจัดรายการ เพื่อระดมทุนมาสร้าง “หอศิลป์สล่าเลาเลือง” ที่ลำพูน เพื่อสร้างให้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงความรู้และอุปกรณ์การดนตรีและศิลปวัฒนธรรมให้แก่สาธารณะได้เรียนรู้ แสดงภาพถ่ายและผลงานของศิลปินในจังหวัดต่างๆ ของล้านนา และเป็นศูนย์แสดงด้านศิลปะ ดนตรี และวัฒนธรรม
ข้อที่ 17 อ้ายจรัลเข้าร่วมงานหารายได้สนับสนุนองค์กรที่ทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ ตลอดจนจัดงานเองเพื่อระดมทุนสนับสนุนโครงการขององค์กรเหล่านั้น
ข้อที่ 18 อ้ายจรัลมองหาหนทางในการปรับปรุงดนตรีของล้านนาให้มีความทันสมัย และหวังยกระดับดนตรีล้านนาขึ้นสู่วงการดนตรีในระดับสากล นอกจากการอนุรักษ์เครื่องดนตรีล้านนา อ้ายได้ริเริ่มการสร้างระบบคอร์ตกับการเล่นซึง และการสร้างซึงเบส อันเป็นแบบเครื่องดนตรีของตะวันตก นอกจากนั้น อ้ายยังได้แต่งเพลง “ล้านนาซิมโฟนี” เพื่อหวังยกระดับเพลงของล้านนาให้ขึ้นสู่ระดับสากล
ข้อที่ 19 อ้ายจรัลมิใช่สักแต่เล่นดนตรีและร้องเพลง เพื่อความบันเทิง แต่อ้ายจรัลเป็นศิลปินปัญญาชน และศิลปินนักทำกิจกรรมเพื่อสังคม ดังเราจะได้ผลงานเพลงและกิจกรรมของเขาที่มีเนื้อหาปรัชญา ประวัติศาสตร์ การศึกษาและแนวทางการพัฒนาท้องถิ่น
ปลายปี พ.ศ.2527 อ้ายจรัลแต่งเพลง “รางวัลแด่คนช่างฝัน” ขึ้นต้นด้วยคำว่า “อย่ากลับคืนคำเมื่อเธอย้ำสัญญา อย่าเปลี่ยนวาจาเมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป เมื่อเธอหมายมั่นคง แล้วอย่าหลงไปเชื่อใคร เดินทางไกล อย่าหวั่นไหวใครขวางกั้น” อ้ายไม่ได้แต่งเพลงนี้เพื่อคนหนุ่มสาวทั่วๆ ไป แต่อ้ายแต่งเพื่อพูดจากับหนุ่มสาวที่หนีเข้าป่าตั้งแต่ พ.ศ.2519-2520 และทยอยกันออกมาจากป่าในช่วงปี พ.ศ.2526-2527 พร้อมกับปลุกเร้าให้กำลังใจเพื่อที่จะสู้ต่อไป ในแง่นี้ อ้ายจรัลจึงเป็นศิลปินที่เป็นนักปฏิวัติสังคมแบบละมุน (Soft revolutionary) อ้ายเลือกวิธีต่อสู้ด้วยเสียงเพลงและเสียงดนตรี ใช้เนื้อเพลงเพื่อเปิดประเด็นปัญหา และสนับสนุนการทำงานกับเยาวชน ศิลปินและชุมชน
ข้อที่ 20 อ้ายจรัลมีความเป็นตัวตนที่สำคัญอย่างน้อย 4 ด้าน 1.อ้ายเป็นนักศึกษาค้นคว้า อ้ายเอาข้อเท็จจริงรอบๆ ตัวมาเขียนเป็นเพลง 2.อ้ายมีความคิดสร้างสรรค์ วัยรุ่นคนอื่นเล่นกีตาร์ และร้องเพลงสากล อ้ายสร้างเพลงใหม่ๆ ขึ้นมาอันเป็นเพลงที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่น ปกป้องท้องถิ่น 3.อ้ายสร้างเพลง และลงมือปฏิบัติการต่างๆ เพื่อรื้อฟื้นและสร้างอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และมุ่งสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมล้านนาที่บรรพชนทิ้งไว้ให้ งานดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นงานจรรโลงจิตใจและให้ความรู้และจิตสำนึกต่อสังคมพร้อมๆ กัน และ 4.อ้ายจรัลมองสังคมแบบองค์รวม อ้ายไม่แยกดนตรีออกจากสังคม และไม่แยกสังคมออกจากดนตรีและศิลปวัฒนธรรม
ข้อที่ 21 โดยลักษณะนิสัย อ้ายจรัลเป็นคนเรียบร้อย พูดจาสุภาพ ยิ้มง่าย เป็นกันเอง สมถะ ไม่โอ้อวด ไม่เคยแสดงตนว่าเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ และไม่ถือตัว อ้ายแต่งตัวเรียบง่ายและไม่มีพิธีรีตอง ที่สำคัญ มีความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ และจนถึงขณะนี้ 19 ปีเศษผ่านไป แผ่นดินล้านนาก็ยังไม่มีศิลปินคนใดที่สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่เทียบเท่า และเราก็ยังไม่พบศิลปินที่เพียบพร้อมทั้งฝีมือ สมอง หัวใจ และอุปนิสัยดังที่ได้กล่าวมา
ข้อที่ 22 24 ปีของการบุกเบิกงานด้านดนตรีและศิลปวัฒนธรรมล้านนาของจรัล มโนเพ็ชร อย่างต่อเนื่องได้สร้างผลสะเทือนอย่างสำคัญยิ่ง สำนึกท้องถิ่น และการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาในห้วง 40 กว่าปีมานี้ได้รับมรดกจากผลงานของอ้ายจรัลมาไม่น้อย
ในแง่นี้ จึงกล่าวได้ว่า จรัล มโนเพ็ชร ควรได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแผ่นดินล้านนาในห้วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา
เราไม่มีระบบการศึกษาที่สร้างคนในสังคมนี้ให้คิดจะทำอะไรสักอย่าง ด้วยความมุ่งมั่นและจริงจัง อยากจะทำอะไรสักอย่างก็ควรเจาะให้ลึก ลึกมากขึ้นๆ ให้รู้จริง และได้ความรู้อะไรดีๆ ใหม่ๆ ออกมา ให้องค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ เพิ่มมากขึ้นๆ ส่งเสริมการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่ ไม่กลัวข้อขัดแย้งและข้อสงสัยใดๆ เพราะมีแต่การวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกัน ความรู้ใหม่ๆ และคำถามใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้น เป็นการยกระดับความรับรู้และการเรียนรู้ของสังคมนั้น ให้ได้บทเรียนและความเข้าใจขึ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้นๆ
และสร้างบรรทัดฐานการทำงานเป็นแบบอย่างให้แก่คนรุ่นหลัง

จากวาระอ้ายจรัล 70 ปี
ถึงวาระ 2 ทศวรรษจรัลลา

ถ้าอ้ายจรัลยังอยู่ ปีนี้ อ้ายก็จะมีอายุครบ 70 ปี 20 ปีที่ผ่านมา อ้ายคงสร้างสรรค์เพลงน้อยลงเพราะได้แต่งไปมากแล้ว ผมเชื่อว่างานละครของกลุ่มเยาวชน งานหาทุนสร้าง “หอศิลป์สล่าเลาเลือง” ที่ลำพูน งานส่งเสริมศิลปินล้านนาในจังหวัดต่างๆ และงานยกระดับดนตรีและเพลงล้านนาสู่สากลจะเป็นงานหลักของอ้าย และส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จ เพราะอ้ายได้วางรากฐานไว้มากมายในห้วง 24 ปีของการทำงานอย่างหนัก
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเชื่อว่าอ้ายจะทำคือ การออกมาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมที่แสดงตัวเป็นผู้รู้ดีเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ แทนที่จะปล่อยให้แต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์กรปกครองท้องถิ่น และชมรมดนตรีหรือการแสดงต่างๆ บริหารตามที่พวกเขาถนัด โดยกระทรวงวัฒนธรรมจัดสรรงบประมาณให้เป็นหลัก น่าเชื่อว่ากลุ่มศิลปินยอดฝีมือที่เคยแสดงต่อหน้าพระที่นั่งจะมารวมกันอีกหลายๆ ครั้ง สร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมของล้านนาต่อหน้าประชาชน ให้เยาวชนและประชาชนที่รักและเก่งการแสดงเป็นผู้แสดง และให้ประชาชนและเยาวชนในล้านนาได้ชื่นชม-ส่งเสริม
สังคมของคนเราไม่ได้ผลิตคนเก่งๆ และคนที่ทำงานทุ่มเทได้ทุกๆ ปี การจากพรากของอ้ายจรัลก็ไม่ได้แตกต่างจากการจากไปของนักรบที่ยิ่งใหญ่คนก่อนๆ ในประวัติศาสตร์
มีบทเรียน 3 ข้อสำหรับการจากพรากในครั้งนี้
ข้อหนึ่ง เราจะจดจำบทเรียนดีๆ ของผู้วายชนม์และเผยแพร่ออกไปให้มากที่สุดได้อย่างไร
ข้อสอง เราจะสืบสานสิ่งดีๆ เหล่านั้นต่อไปอย่างไร และอาจต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างอย่างไรในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
และ ข้อสุดท้าย มนุษย์เราไม่ได้เกิดจากความว่างเปล่าและมีชีวิตอยู่ในความว่างเปล่า แต่มนุษย์เป็นผลลัพธ์ของสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และยังเป็นผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นด้วย
ภารกิจสำคัญในข้อที่ 3 ของเราในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ก็คือ แม้เราจะมิใช่นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ แต่เราจะนำเอาความสามารถอันน้อยนิดที่เรามีมารวมพลังกันอย่างไร เพื่อแก้ไขปรับปรุงสังคมเบื้องหน้าเรา และสร้างสิ่งแวดล้อมให้สังคมนี้เพื่อว่าสิ่งแวดล้อมที่ดีจะช่วยหนุนส่งให้สมาชิกได้รับอานิสงส์ที่ดีงาม