เครื่องเคียงข้างจอ : วันเด็กปี 2564 / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

วันเด็กปี 2564

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปี 2564 นี้เด็กไทยจะได้ฉลองงานวันเด็กช้ากว่าปกติ ที่จะต้องเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม

อันสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังต้องคุมเข้มเขม็งเกรียวกันอยู่ยามนี้ เพื่อความปลอดภัยภาครัฐเลยต้องประกาศเลื่อนการจัดงานวันเด็กออกไป

แต่จริงๆ งานวันเด็กเป็นแต่เพียงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว “ทุกวันคือวันเด็ก” เราคงต้องให้ความสำคัญกับเด็ก ไม่ใช่ในทุกวัน แต่ทุกนาทีเลยละ

ทุกวันนี้มีข่าวคราวที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับเด็กอยู่ตลอดเวลา

วันก่อนก็เพิ่งมีข่าวเด็กชาย ม.5 รมแก๊สฆ่าตัวตาย

เด็กคนนี้เป็นเด็กเรียนดี ได้เกรด 4 เกือบทุกวิชา แต่สภาพครอบครัวคือ พ่อ-แม่แยกทางกัน เด็กเลยมาอยู่ในการดูแลของลุงและย่า แน่นอนที่ใครอื่นก็ไม่เหมือนพ่อ-แม่ แต่พ่อ-แม่ที่ไม่อาจดูแลลูกได้ นั่นคือการโยนความเสี่ยงในชีวิตให้กับเด็กเลยละ

ข่าวว่าเด็กบ่นน้อยใจที่โดนย่าดุด่าเรื่องเล่นมือถือทั้งวัน จนเกิดน้อยใจปลิดชีวิตตัวเองลง

เหล่านี้คือช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก

ก่อนสิ้นปีผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ “เสก-สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์” แห่งเพจ Toolmorrow เพจที่มุ่งเนื้อหาไปที่ความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะคนต่างวัยกันที่มีช่องว่างกันอยู่

ในความหนักแน่นของเนื้อหา เสกมีวิธีที่นำเสนอได้น่าสนใจ โดนใจดำ และได้ผล นั่นคือความฉลาดในการสื่อสาร

อย่างที่เขาทำข้อมูลพบว่า เด็กไม่กล้าพูดคุยเรื่องเพศกับพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง

สำหรับปัญหาใหญ่ของเด็กชายที่กำลังย่างเข้าวัยรุ่นคือ “จู๋ผมเล็ก?”

เรื่องอย่างนี้ขนาดกับเพื่อนยังไม่กล้าคุยด้วยเลย กลัวโดนล้อ

แล้วกับคนเป็นพ่อ-แม่ยิ่งไม่กล้าไปใหญ่ กลัวโดนว่าสารพัด

วิธีการที่เสกใช้คือ คัดเลือกเด็กที่ครอบครัวมีแนวโน้มของการ “เปิดใจ” และแอบตั้งกล้องเพื่อถ่ายทำแบบแคนดิด คาเมร่า

ที่มุมนั่งเล่นดูทีวี ลูกชายวัย 13 ปี ปรึกษาปัญหากับพ่อว่า “จู๋ผมเล็กจะเป็นปัญหาไหม”

พ่อถามกลับว่า “ปัญหาอะไร”

“ผู้หญิงจะชอบไหม”

พ่อตอบกลับทันทีว่า “ไม่เกี่ยว” แล้วก็ตามด้วยคำปลอบใจว่า “ของพ่อก็เล็ก”

คิดดูสิว่า ลูกชายที่กลัวๆ กล้าๆ ว่าจะโดนพ่อดุด่าจากคำถามไหม กลับกลายเป็นว่าพ่อเป็นพวกเดียวกับตนเสียนี่ ช่องว่างแคบลงทันใด จากนั้นสองพ่อ-ลูกก็คุยกันเรื่องนี้แบบเพื่อนปรึกษาเพื่อน

นั่นก็คือ “การเปิดใจ” เข้าหากัน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นฝ่ายเข้าหาเด็ก เพราะเด็กมักไม่กล้าเข้าหาผู้ใหญ่ก่อน

ยิ่งผู้ใหญ่ที่วางท่าว่าเอาแต่มุมมองตัวเอง ไม่สนในความคิดของเด็ก เด็กก็ย่อมจะปิดประตูหนีท่าเดียว

อีกการทดลองหนึ่งที่เสกทำคือ สัมภาษณ์แม่ๆ ของลูกวัยเรียนชั้นมัธยมปลายว่าต้องการให้ลูกเป็นอย่างไร คำตอบก็จะออกมาว่า

“ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ สอบได้คะแนนดี”

“ทำการบ้านส่งครูเสมอ”

“เรียนเก่งๆ ไม่ขี้เกียจ”

เป็นความต้องการจากมุมมองของผู้ปกครองส่วนใหญ่ แต่จะตรงกับความเป็นจริงในชีวิตของเด็กรึเปล่าไม่ทราบ

ต่อมาก็ได้นำผู้ปกครองกลุ่มนี้มาเข้าห้องเรียน เหมือนกับตัวเองกลับเป็นนักเรียนอีกครั้งยังงั้น ครูผู้สอนที่ทำหน้าดุ เสียงเข้ม แจกงานให้แม่ๆ เรียน นั่นคือข้อมูลเกี่ยวกับแร่ธาตุต่างๆ เป็นสิ่งที่ลูกๆ ของพวกเขาได้เรียนในห้องเรียนจริง

ครูให้เวลาแม่ๆ อ่านทำความเข้าใจข้อมูลสักครู่ จากนั้นจะถามทีละคน ปรากฏว่าแม่ๆ ตอบไม่ได้ เกิดความเครียดขึ้นมาทันที บางคนก็ออกแนวท้อบ่นว่าใครจะไปรู้เรื่อง น่าเบื่อจะตาย ครูก็รุกหนักให้อ่านอีกที และถามอีก คราวนี้ยิ่งกดดันมากกว่าเก่าอีก

สุดท้ายครูเฉลยว่า “นี่คือสิ่งที่ลูกๆ พวกคุณเจอในห้องเรียน ไม่ได้เจอแค่วิชาเดียว แต่เจออย่างนี้ทั้งวัน แล้วยังการบ้านอีก”

และครูก็ทิ้งท้ายว่า

“คุณแม่ยังทำไม่ได้ แล้วไปคาดหวังให้ลูกทำได้อย่างไร”

อีกคลิปหนึ่ง น่าจะใกล้เคียงกับที่เป็นข่าวตามที่เล่าไปต้นเรื่อง

เด็กหญิงวัย 11 ปี ติดเล่นเกมมาก โดยเฉพาะเล่นกับเพื่อนๆ เล่นวันละหลายชั่วโมง สิ่งที่แม่เห็นคือพอกลับมาบ้านก็เอาแต่เล่นเกมกับเพื่อน งานการไม่ช่วยทำ บางทีเรียกกินข้าวก็ไม่ยอมกิน

แม่ก็บ่นๆๆๆ ว่าๆๆๆๆ จนลูกสาวรู้สึกอึดอัด ขนาดเคยอยากหนีออกจากบ้านเลย ไม่อยากพูดกับแม่เพราะเห็นแม่เป็นศัตรู

ทีมงานได้พูดคุยกับผู้เป็นแม่ แนะนำให้ลองเปลี่ยนวิธีเข้าหาลูกดีไหม เริ่มต้นจากน้ำเสียงเวลาพูดกับลูก อย่าเกรี้ยวกราดโมโห แต่ใช้น้ำเสียงอ่อนโยนเป็นห่วง

แม่ได้ลองเอาไปใช้ ปรากฏว่าลูกที่กำลังจะตั้งกำแพงขวางเหมือนทุกครั้งก็ชะงัก เริ่มฟังมากขึ้น จากนั้นแม่ก็เข้ามานั่งใกล้ มองดูลูกเล่นเกม ลูกสาวที่เดิมพร้อมจะผลักแม่ออกไปจากชีวิต ก็รู้สึกดีใจ และชักชวนให้แม่ลองเล่นเกมง่ายๆ ดู

สุดท้ายสองคนแม่-ลูกก็แฮปปี้เอนดิ้ง ได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งสองตกลงกันว่าจะให้เวลาเล่นเกมตามที่ลูกต้องการได้กี่ชั่วโมง และจะพักมาช่วยแม่ทำโน่นนี่กี่ชั่วโมง

นั่นคือการถมช่องว่างจากการเปิดใจ พูดคุยและมองกันและกันแบบครอบครัวจริงๆ โดยมีผู้ใหญ่เป็นฝ่ายเข้าหาเด็กก่อน

สําหรับวันคริสต์มาสที่ผ่านไปเมื่อปลายปี จิตวิญญาณของคริสต์มาสที่สำคัญคือ “การให้” นั่นคือ การรู้จักเรียนรู้ผู้อื่นและเป็นคนให้ในสิ่งที่เขาต้องการ

ซานตาคลอสขวัญใจเด็กๆ ที่มอบของขวัญให้เด็กตามที่เด็กปรารถนาก็ด้วยจิตวิญญาณนี้

คริสต์มาสให้ความสำคัญกับเด็ก เพราะเด็กคือฐานของอนาคต หากเด็กมีความศรัทธา มีความเชื่อในการทำความดีและการให้ เขาก็จะเติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่ดีของโลก

ศาสนาพุทธสอนไม่ให้เรายึดติด โดยเฉพาะยึดติด “ตัวตน” ของเรา อย่าเอาความคิดของตนเป็นใหญ่ แม้แต่การให้ธรรมะของพระพุทธองค์ ยังต้องปรับให้เข้ากับผู้รับแต่ละคนแต่ละความคิดอีกด้วย

นั่นคือการเรียนรู้ผู้อื่น และหยิบยื่นสิ่งที่เขาต้องการให้ไป

วันเด็กจะเป็นวันเด็กทุกวัน ไม่เฉพาะวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมเท่านั้น หากผู้ใหญ่ใส่ใจกับเด็ก เปิดใจใกล้ชิดเขา ฟังเขาก่อนแล้วเขาจะได้ฟังเราบ้าง

คำขวัญวันเด็กประจำปี 2564 ที่ลุงตู่มอบให้กับหลานๆ คือ

“เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม”

อืม…ช่างเป็นคำขวัญจากมุมผู้ใหญ่จริงๆ ถ้าไปถามเด็กๆ เขาคงต้องการคำขวัญที่จับต้องได้มากกว่านี้ และมาจากความคิดความต้องการของเขา

ลองดูใหม่ไหมในปี 2565 ลองให้เด็กๆ เขาตั้งคำขวัญกันเองไหม อาจจะได้อะไรดีๆ ก็ได้นะลุงตู่

วงเล็บว่า ถ้าลุงยังอยู่ไปได้อีกปีนะ

อ้อลืมไป คงอยู่ได้อีกยาวแหละ เพราะเป็น “ตู่ไม่รู้ล้ม” นั่นเอง