ธงทอง จันทรางศุ | การเข้ามาทำมาหากินของคนต่างชาติ

ธงทอง จันทรางศุ

ในวันเวลาที่ผมนั่งเขียนหนังสือเรื่องนี้อยู่ ข่าวคราวเรื่องการระบาดอีกรอบหนึ่งของโรคโควิด กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วไปในบ้านเรา

การระบาดรอบนี้ดูเหมือนจุดเริ่มต้นที่สำคัญเกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เหตุเกิดที่ตลาดกลางกุ้งซึ่งมีคนทำงานเป็นชาวพม่าจำนวนมาก

และเป็นที่เข้าใจกันว่าต้นทางของการระบาดคราวนี้มาจากเมืองพม่าแล้วเข้ามาสู่เมืองไทยโดยผ่านแรงงานเหล่านี้นี่เอง

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้ยินข่าวคราวบางเรื่องที่เป็นการตั้งข้อรังเกียจแรงงานชาวพม่าอย่างมีนัยสำคัญ แม้แต่จะไปซื้อของตามร้านรวงต่างๆ ก็ถูกปฏิเสธ

ชีวิตของแรงงานเหล่านี้ซึ่งปกติก็มิได้สะดวกสบายอยู่แล้ว ยิ่งทวีตรีคูณความทุกข์ยากเข้าไปอีก รวมทั้งสายตาดูถูกดูแคลนที่ต้องพบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในช่วงเวลานี้ด้วย

ผมเป็นมนุษย์โบราณ ใกล้จะเป็นมนุษย์โครมันยองอยู่แล้ว

อดไม่ได้ที่จะคิดถึงเรื่องการเข้ามาทำมาหากินของคนต่างชาติต่างภาษาที่มีมาหลายยุคหลายสมัยอย่างต่อเนื่องในเมืองไทยและต่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เรามาพูดเฉพาะเรื่องของบ้านเราก่อนก็แล้วกัน

ไม่ว่าในยุคสมัยใด แรงงานหรือกำลังคนของมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญในการที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

การทำสงครามรบพุ่งกันในสมัยก่อนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ผู้ชนะย่อมกวาดต้อนผู้คนจากฝ่ายที่แพ้สงครามไปตั้งรกรากในบ้านเมืองของฝ่ายชนะ

การดำเนินการดังกล่าวเหมือนกระสุนนัดเดียวที่ได้นกหลายตัว

แน่นอนว่าข้อแรกคือทำให้ฝ่ายที่แพ้นั้นอ่อนกำลังลง จนไม่สามารถลุกขึ้นต้านทานอำนาจของผู้ครอบครองได้

แต่ข้อที่สองซึ่งสำคัญมากกว่า คือ แรงงานใหม่ที่ได้จากฝ่ายแพ้สงครามนั้นจะมาเป็นกำลังเพิ่มพูนขึ้นของบ้านเมืองฝ่ายชนะ

และไม่ใช่แต่แรงงานเท่านั้นครับ แรงงานเหล่านั้นย่อมมาพร้อมด้วยความรู้ติดตัว ฝีมือช่าง ฝีมือฟ้อนรำ หรือแม้แต่ความรู้ความสามารถในการทำไร่ไถนาด้วย

โบราณท่านเรียกการนำเชลยกลับมาเป็นกำลังของบ้านเมืองแบบนี้ว่า เทครัว อันมีความหมายว่ากวาดต้อนมาหมดทั้งครัวเรือน สมาชิกในครอบครัวมีกี่คนก็มาพร้อมกันหมด

เทครัวแบบนี้ไม่เกี่ยวกับพระยาเทครัว ที่ได้ทั้งพี่และน้องมาเป็นเมียนะครับ ฮา!

ความประพฤติที่เรียกว่า “เทครัว” ตามความหมายดั้งเดิมที่ว่ามาข้างต้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในภูมิภาคของเรา

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแพ้สงครามในพุทธศักราช 2310 ครัวไทยก็ถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่เมืองพม่าเป็นจำนวนมาก

เมื่อเวลาผ่านไป 250 ปีเศษ คนที่เดินทางไปครั้งโน้นผสมปนเปกับคนพม่าบ้าง คนอื่นบ้าง เวลานี้ก็บอกได้ยากเสียแล้วว่าใครมีเชื้อสายเมืองอยุธยาที่ไปตกอยู่ในเมืองพม่าบ้าง

ยกเว้นบางครอบครัวที่ช่างจดช่างจำมากกว่าคนอื่น

นอกจากเราได้คนต่างชาติต่างภาษาเข้ามาเป็น “พลเมือง” คือเป็นกำลังของบ้านเมืองด้วยการรบชนะศึกแล้ว การที่มีคนต่างชาติต่างภาษาอพยพด้วยความสมัครใจเข้ามาอยู่ในบ้านเราก็ถือเป็นเกียรติยศของแผ่นดินประการหนึ่ง

เพราะนั่นหมายความว่าบ้านเมืองของเรามีความสงบร่มเย็น มีโอกาสช่องทางทำมาหากิน ในขณะเดียวกันกับที่บ้านเมืองของเราก็ได้สมาชิกใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาเป็นเรี่ยวเป็นแรงด้วย

เคยได้ยินสำนวนที่ว่า “เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร” กันมาแล้วไม่ใช่หรือ

ย่านที่อยู่อาศัยที่เรียกว่า บ้านญวน บ้านเขมร บ้านทวาย ล้วนเกิดขึ้นเพราะความคิดความเชื่อและน้ำใจของคนไทยในครั้งเก่าตามแนวทางที่ว่ามานี้ทั้งสิ้น

คนต่างชาติต่างภาษาที่เข้ามาในบ้านเราเป็นจำนวนมากที่สุดเห็นจะเป็นคนที่มาจากเมืองจีน ชาวจีนนี้เองที่ได้เข้ามาเสริมกำลังในด้านการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมของเมืองไทยให้เข้มแข็งขึ้น เพิ่มเติมจากพื้นฐานเดิมที่คนไทยมีความสันทัดเฉพาะแต่ในเรื่องเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว

คนไทยเซ็งลี้ไม่ฮ้อครับ

ชาวจีนอพยพซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ทิ้งเมียเมืองจีนไว้อยู่เบื้องหลัง หรือมิเช่นนั้นก็เป็นหนุ่มวัยเผชิญโชคยังไม่มีครอบครัว เมื่อมาอยู่เมืองไทยนานปีเข้า ลงท้ายก็ต้องมีเมียไทย มีลูกหลานงอกเงยเพิ่มเติมขึ้น จนเดินเกลื่อนเมืองกันอยู่ในเวลานี้

บางคนไม่ได้ขยันเดิน แต่เลือกที่จะมานั่งเขียนหนังสืออยู่ให้คนอ่านแบบผมนี้ไงครับ

ว่าโดยรวมแล้ว การเดินทางไปมาหาสู่และอพยพตั้งถิ่นฐานของคนจากเมืองหนึ่งไปอยู่อีกเมืองหนึ่งจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของมนุษยชาติ

คนไทยเราบางช่วงเวลาก็ไปทำมาหากินอยู่ที่ต่างประเทศ เช่น ไปเป็นหมอเป็นพยาบาลอยู่ที่อเมริกาในยุคสมัยหนึ่ง หรือไปเป็นแรงงานก่อสร้างและทำงานอื่นอีกสารพัดในตะวันออกกลางเมื่อหลายสิบปีก่อนและยังยาวยืดมาถึงปัจจุบัน

การจัดการกับแรงงานที่มาจากต่างชาติจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และต้องฉลาดในการจัดการ

พูดแบบคนที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเช่นผมก็ต้องบอกว่า สถานการณ์ปัจจุบันจะตึงไปมากนัก เช่น ไม่ยอมให้ใครเข้ามาเสียเลย บ้านเราเองก็ขาดแคลนแรงงานในบางสาขา

เช่น สาขาแกะกุ้ง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกมูลค่านับพันนับหมื่นล้านบาทต่อปี เป็นต้น

แบบนี้ก็เจ๊งเอาง่ายๆ

ครั้นจะหย่อนเกินไป คือเปิดเสรี ใครเข้าใครออกบ้านเราจำนวนเท่าไหร่ เมื่อไหร่ก็ได้ ไปไหนก็ไม่รู้ กลับหรือยังก็ไม่ทราบ แบบนี้ก็นำปัญหาอีกชนิดหนึ่งเข้ามาเป็นพัลวัน

ตกลงเป็นอันว่าต้องเดินสายกลาง คือ ยอมรับให้มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในบ้านเรา ภายใต้กฎกติกาที่พอสมควรแก่เหตุ ทำใจให้ยอมรับว่าคนจำนวนล้านที่เข้ามาในบ้านเรา จะเข้ามาพร้อมด้วยข้อเท็จจริงที่เราต้องพบต้องจัดการอีกหลายอย่าง

เอาตั้งแต่หนุ่มพม่าสบตากับสาวไทย หรือสาวพม่าถูกใจกับหนุ่มไทยที่ทำงานอยู่โรงงานข้างๆ แล้วเขาจะตกร่องปล่องชิ้นกัน

พระอินทร์เหาะมาเขียวๆ ก็ห้ามไม่อยู่

หรืออีกมุมหนึ่ง ไม่ต้องมาสมัครรักใคร่ชอบพอกับคนไทยก็ได้ครับ ลำพังแค่เขารักกันเอง แล้วมีลูกน้อยตาดำๆ เกิดขึ้น เจ็บไข้ได้ป่วยจะรักษาพยาบาลกันอย่างไร เด็กจะได้เรียนหนังสือหรือไม่ ไปโรงเรียนของใคร เรียนอะไรบ้าง อีกสิบปีข้างหน้าเด็กเหล่านี้จะอยู่ที่ไหน

คิดแล้วสมองบวมแน่ๆ

คำถามคือเราจะวางระบบเพื่อรับมือกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร

ไม่มีใครรู้ครับว่าความต้องการแรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานในอุตสาหกรรมการประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของบ้านเราจะยาวนานไปอีกกี่สิบปี

สถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบนี้ต้องมีความชัดเจนทางนโยบาย

รูรั่วที่เกิดขึ้นเช่นการลักลอบนำแรงงานเข้าประเทศ เพราะกฎกติกามารยาทที่ทางราชการไทยกำหนดขึ้นก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคบางอย่าง (หรือไม่?) ได้กลายเป็นต้นทางของการค้ามนุษย์ และช่องทางทำมาหากินของผู้คนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการ ซึ่งเล่าลือกันว่า บางเรื่องมีคนของทางราชการเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย เพราะได้เงินทองเป็นลาภผลมากมาย

ข่าวอกุศลใส่ไคล้กันทั้งเพ จริงไหมครับ

ปู่-ย่า ตา-ยายของเราเคยชาญฉลาดพอที่จะจัดการกับปัญหาเรื่องคนต่างด้าวที่เข้ามาเป็นแรงงานใหม่ในประเทศ โดยใช้กุศโลบายและมาตรการทางกฎหมายต่างๆ อันเหมาะสม ประกอบกับความสามารถในการกลมกลืนสมาชิกผู้มาใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้อย่างแนบเนียนมาแล้วไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น

ถ้ามองไปข้างหน้าแล้ว มองไม่เห็นอะไรถนัดชัดเจน

ลองมองย้อนหลังดูบ้างก็อาจจะดีนะครับ

แต่ทว่าหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการจะมีเรื่องเหล่านี้หรือเปล่าก็ไม่รู้สิ

เพราะอ่านทีไรก็ไทยรบพม่าทุกที

เลือดรักชาติสูบฉีดไปทั่วร่างแล้วว้อย