วิเคราะห์ | บทบาท “ฝ่ายค้าน” งัดทุกกลยุทธ์ ยื่นซักฟอก รัฐบาลท่ามกลางวิกฤตโควิด

“ฝ่ายค้าน” ขึ้นมโหรีปี่พาทย์ ร่ายรำ เปิดวงเตรียมซักฟอกรัฐบาลมาได้เป็นเดือนแล้ว

เริ่มจากการกำหนดไทม์ไลน์ในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไล่มาจนขั้นเตรียมประเด็น เอาตัวแทนจากทุกพรรคฝ่ายค้านมานั่งถกกันหลายครั้งต่อหลายครั้ง เพื่อวางกลยุทธ์ ทั้งตัวคนอภิปรายและเนื้อหาที่จะอภิปรายร่วมกันในนามฝ่ายค้าน

แย้มประเด็นกันออกมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว

เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาดของรัฐบาลจนทำให้เศรษฐกิจพังยับ

การแก้ปัญหาปากท้องให้กับพี่น้องประชาชน

การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

ไปจนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ส่งผลกระทบลามไปจนทำให้เกิดสถานการณ์สดๆ ร้อนๆ นั่นคือ ทำให้สถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดระลอก 2

และฝ่ายค้านไม่ยอมจบง่ายๆ คือประเด็นบ้านพักหลวงที่ยังมีระเบียบข้อบังคับขัดกับรัฐธรรมนูญอยู่

พร้อมเผยชื่อรัฐมนตรีที่อาจถูกจับขึ้นเขียงเชือดแล้วกว่า 4 คน อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

และเห็นว่าจะมีอีกหลายคนตามมา

แต่ยังไม่ทันได้เข้าพระเข้านาง สภาก็มีคำสั่งงดการประชุมสภาออกไป 2 สัปดาห์ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่กลับมาระบาดรุนแรงรอบใหม่

จากประสบการณ์ทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือในการงดประชุมตามที่กำหนด เพราะเป็นเรื่องของสุขภาพและโรคติดต่อ

แต่ก็มี ส.ส.บางคน อย่าง “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่เห็นว่าน่าจะมีทางออกสำหรับการทำงานในฐานะ ส.ส. ที่ต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชนด้วย

โดยเสนอแนวคิดว่า ถ้ามี ส.ส. 500 คน สามารถทำ “Rapid Test” กันไปก่อนได้หรือไม่ รอผลแล้วประชุมกันก็ได้ และในห้องประชุมสุริยันที่ใหญ่โตในปัจจุบัน มีการป้องกันนั่งเว้นระยะกันอยู่แล้ว

สิ่งที่ขาดคงเป็นการกำชับทุกคนให้ใส่หน้ากากป้องกันตัวเองอยู่เสมอ จึงอยากให้มีประชุมสภาเพื่อที่ ส.ส.จะได้ทำหน้าที่ให้สมกับการที่พี่น้องประชาชนไว้ใจเลือกเรามา

แต่เมื่อสุดท้ายทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ “ฝ่ายค้าน” นำโดยพี่ใหญ่อย่างเพื่อไทย (พท.) จึงต้องเรียกประชุมแก้เกมกันด่วน

เพราะการงดการประชุมถึง 2 สัปดาห์นี้ ส่งผลกระทบในไทม์มิ่งในการยื่นซักฟอกรัฐบาลของฝ่ายค้านด้วย

“นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคาม และประธานคณะทำงานเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทยระบุว่า จะสามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในกลางเดือนมกราคมนี้อย่างแน่นอน อย่างช้าที่สุดก็อยู่ภายในปลายเดือนมกราคมนี้ และจะไม่รอยื่นในช่วงใกล้ปิดสมัยประชุม เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความพร้อมในการอภิปรายอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

ขณะที่ “นายสุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันจะยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงก่อนสิ้นเดือนมกราคมด้วยเช่นกัน แต่ยื่นแล้วจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระได้เมื่อใด และจะได้เปิดอภิปรายได้เมื่อใด ทันก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

หากไม่สามารถเปิดอภิปรายได้ทันก่อนปิดสมัยประชุม ก็ต้องมีวิธีการชดเชยเวลาให้ เช่น การขยายเวลาประชุมสภาออกไป จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ออกไป

หรืออาจให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งเป็นเรื่องของประธานสภาผู้แทนราษฎรกำหนดว่าจะใช้วิธีใด

ด้าน “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เผยข้อสรุปของฝ่ายค้านว่า ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนี้ไว้ โดยจะยื่นประมาณปลายเดือนมกราคม น่าจะยื่นประมาณวันที่ 27-28 มกราคมนี้ โดยจะเป็นการยื่นญัตติตามรัฐธรรมนูญ เพราะดูแล้วเงื่อนเวลายังมีอยู่

แต่หากสถานการณ์โควิดรอบนี้ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมสภาออกไปนานกว่า 1 เดือน เข้าใจในสถานการณ์ ขอเพียงมีเหตุผลเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลก็เป็นกลไกของระบอบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น หากมีกรณีนี้ขึ้น สภาอาจจะต้องเปิดประชุมวิสามัญ แต่วันนี้ฝ่ายค้านยังไม่ได้คุยกันถึงขั้นเปิดประชุมวิสามัญ เพราะดูจากช่วงเวลาแล้ว น่าจะสามารถเปิดอภิปรายได้อยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

แล้วถ้าสถานการณ์ไปถึงขั้นต้องปิดประชุมยาวก็ค่อยหารือกันอีกครั้งหนึ่ง

และอาจต้องมีการปรับเนื้อหาในการอภิปรายให้เป็นปัจจุบันที่สุดด้วย

ถึงแม้การอภิปรายเดินหน้าไปได้ในกระบวนการสภา แต่เรื่องของ “เพื่อไทย” ไม่ได้เดินหน้าไปได้อย่างราบเรียบ ยังมีความเป็นเอกภาพในพรรคที่เป็นปัญหาคาราคาซังในการทำศึกทุกรอบ และศึกซักฟอกครั้งนี้

ปัญหาเดิมปรากฏให้เห็นอยู่ ทำให้หลายฝ่ายพากันกังวลใจว่า ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคของพี่ใหญ่ฝ่ายค้านนี้จะส่งผลมาถึงเอกภาพของเนื้อหาและเอกภาพของทิศทางในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ด้วยหรือไม่

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรค ซึ่งเปรียบเสมือนแม่บ้านของพรรคเพื่อไทยต้องคอยจัดการและเก็บทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง จะต้องไม่ให้ปัญหาภายในพรรคมากระทบกับงานสภา

ซึ่งแม่บ้านเพื่อไทยยืนยันหนักแน่นว่า เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เพราะพรรคเพื่อไทยได้เตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจในระดับที่สามารถอภิปรายได้แล้ว ทั้งเรื่องข้อมูลและการแบ่งงาน แบ่งหน้าที่ ได้แบ่งกันเรียบร้อยหมดแล้ว พรรคเพื่อไทยยังเป็นเอกภาพดี ได้คุยกับทุกส่วนในพรรคเพื่อไทยแล้ว ทุกส่วนยืนยันมาว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ดี หรืองานอื่นๆ ทุกคนมองว่าเป็นภารกิจสำคัญของพรรค ทุกคนในพรรคยินดีให้ความร่วมมือเป็นอย่างยิ่ง และเป็นอย่างดี ได้พูดคุยกันแล้ว ทุกคนไม่มีใครเห็นเป็นอย่างอื่น

เอาเป็นว่า สรุปแล้ว ฝ่ายค้านยังไงก็ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ถ้าอภิปรายตามกำหนดคืออภิปรายก่อนปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ไม่ได้ ก็ยื่นญัตติจองเอาไว้ก่อน โดยให้เรื่องคาไว้ในสภาก่อนปิดสมัยประชุม

ดีร้ายอย่างไรหากสภาเปิดประชุมไม่ได้เพราะสถานการณ์โควิด ยังมีญัตตินี้ค้างไว้ ดีกว่าเสียสิทธิในการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งสมัยประชุมหนึ่งยื่นได้เพียงครั้งเดียวไป แล้วค่อยหาทางปรึกษากับ “นายชวน หลีกภัย” ประธานสภา ว่าจะทำอย่างไรกันต่อ

ดูระเบียบ ข้อบังคับการประชุมสภาแล้ว จะสามารถเอาญัตติที่ยื่นไว้แล้วนี้ไปพูดในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้หรือไม่

เป็นภาระหน้าที่ของ “นายหัวชวน” ในฐานะประธานสภา ที่จะต้องบริหารจัดการให้ญัตติและการประชุมเกิดขึ้นอย่างลงตัวให้ได้