คำ ผกา | ใครกันแน่ ? คือภาระทางภาษีของประชาชน

คำ ผกา

ถ้อยแถลงล่าสุดจากโฆษก ศบค. คือการชี้แจงเกี่ยวกับการไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ แต่เลี่ยงไปใช้คำว่า พื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด จากนั้นก็ให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการออกมาตรการที่ไม่ต่างอะไรจากล็อกดาวน์ ทั้งหมดนี้ ทวีศิลป์อธิบายว่า

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ ศบค.ต้องประกาศว่าเป็นการล็อกดาวน์ หมายถึงว่าคำสั่งนี้จะทำให้กระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ กระทบต่อการหารายได้ของทุกท่าน ก็ต้องมีการเยียวยาซึ่งเป็นภาระของภาษีเงินทั้งประเทศ”

https://voicetv.co.th/read/fBgnS0xfL

ในฐานะผู้เสียภาษีอ่านแล้วก็ปรี๊ดแตกของขึ้นอย่างที่สุด

โกรธจนไม่รู้จะสอนข้าราชการที่ไม่เคยสำนึกในบุญคุณภาษีประชาชนเหล่านี้อย่างไร

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คำว่า “ภาระภาษี” ถูกนำมาใช้

รัฐไทยนั้นเป็นรัฐของมนุษย์ถ้ำไม่ยอมปลดปล่อยตัวเองออกจากความป่าเถื่อน โบราณ ล้าหลังของการเป็นอาณาจักรโบราณก่อนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของการเป็นรัฐโลกวิสัยที่ต้องใช้หลักการสิทธิมนุษยชนเหนือ “ศีลธรรม/ศรัทธา ที่มากับศาสนาและความเชื่อ”

รัฐไทย และราชการไทยมีแนวโน้มปัดความรับผิดชอบของตนเองไปเป็นความผิดเชิงศีลธรรมของปัจเจกบุคคล

เช่น

– บริหารเศรษฐกิจประเทศล้มเหลว แทนที่จะบอกว่าเป็นเพราะรัฐบาล ก็บอกว่า เพราะประชาชนขี้เกียจ

– มีสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนติดอันดับโลก แทนที่จะบอกว่า รัฐบาลไม่สามารถสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยแก่ประชาชน และไม่มีปัญญาปรับปรุง ออกแบบ ก่อสร้าง วิศวกรรมการจราจรให้ปลอดภัยแก่มนุษย์ได้ แต่ดันบอกว่า เป็นเพราะประชาชนห่วย ประชาชนไม่มีวินัย คนไทยเมาแล้วขับ ไอ้พวกขี้เหล้า ไอ้สวะสังคม เมาแล้วขับ เป็นภาระแก่ภาษี เป็นภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์ คนดีๆ มีความรับผิดชอบต้องมานั่งช่วยชีวิตไอ้พวกแว้น ไอ้คนเลว ไอ้คนไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

– เกิดปัญหาน้ำท่วม แทนที่รัฐบาลจะพูดเรื่องการวางผังเมือง การระบายน้ำ การจัดการน้ำ รัฐบาลของประเทศนี้ก็จะบอกว่า น้ำท่วมเพราะคนไทยไม่มีวินัย มักง่าย ทิ้งขยะในคลอง

– เกิดปัญหา pm 2.5 แทนที่รัฐบาลจะหาทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้ดีให้น่าใช้ สะดวกสบายราคาถูก แก้ปัญหาการเผาในภาคเกษตรด้วยการให้การกำจัดซากพืชเป็นภาระทางต้นทุนของนายทุน ไม่ใช่เกษตรกร หรือรัฐบาลไปช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องนี้ ไป subsidized เขา คิดเสียว่าเป็นต้นทุนทางอากาศที่บริสุทธิ์ของประชาชน ไปวางแผนเรื่องการบริหารจัดการไฟป่า

แต่นอกจากจะไม่ทำอะไรแล้ว รัฐบาลก็จะออกมาบอกว่า ปัญหา pm 2.5 เกิดจากความเห็นแก่ตัวของคนไทย ชอบใช้แต่รถส่วนตัว เกษตรกรก็เห็นแก่ตัว มักง่ายชอบเผา ไฟป่าก็เกิดจากความมักง่าย ความโลภของชาวบ้าน อยากเก็บผักหวาน เก็บเห็ด

แล้วเราคนไทยก็นั่งฟังรัฐบาลพวกนี้ชี้หน้าด่ามาที่ประชาชนอย่างเราๆ ทุกเมื่อเชื่อวัน

หนักกว่านั้นยังมีสลิ่มเชื่อและเชียร์รัฐบาลแบบนี้อยู่ได้

อะไรทำให้เราคิดไม่ออกว่า เฮ้ย การขึ้นมาเป็นรัฐบาล แปลว่า อยากมาทำงานบริหารประเทศ อยากเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ ไม่ใช่การขึ้นสู่อำนาจแล้วมาเสวยสุข กินเงินเดือน อยู่บ้านหลวง น้ำ ไฟ ฟรี มีรถประจำตำแหน่ง มีข้าทาสบริวารที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนไปอีก

ยังไม่นับว่าอำนาจทางการเมืองที่ได้มานั้นนำไปสู่ผลประโยชน์ทางตรงทางอ้อมคิดเป็นมูลค่าแห่งการเป็นปรสิตสังคมนับหมื่นๆ ล้าน จากนั้นพอเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาก็สำรอกออกมาแต่เพียงว่า

“ประชาชนต้องช่วยกัน ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ประชาชนอย่าเที่ยวไปแรด อย่าเห็นแก่ตัว อย่ากินเหล้า อย่าเล่นการพนัน เนี่ยะ ประชาชนหน้าโง่ พวกนี้พูดอะไรไปก็ไม่ฟัง พอเกิดปัญหาก็ร่ำร้องให้รัฐบาลช่วย ปั๊ดโธ่ ฉันเหนื่อยนะ”

เฮ้ย มันใช่หรือ?

เรื่องโควิดก็เช่นกัน – ใช่ – โควิด เป็นภาระโรคระบาด ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ไม่มีใครอยากติด ไม่มีใครอยากตาย

แต่อันดับแรก เราต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า การแพร่ระบาดของโรคระบาดเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราไม่ควรมานั่งเสียเวลากับการเถียงกันว่า ภาวะการระบาดนี้เป็นความผิดของใคร

แต่อันดับแรก รัฐบาลมีหน้าที่ “บริหารจัดการ” ให้เกิดความบอบช้ำแก่ประชาชนน้อยที่สุด

ความสำเร็จของโควิดไม่ได้วัดกันที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีน้อยที่สุด

แต่ความสำเร็จของการบริหารจัดการโควิดอยู่ที่ มีคนตายน้อย ไม่มีความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน และเกิดควมเสียหายทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

ณเวลานี้ ที่ชุดตรวจ rapid test เพื่อการคัดกรองเบื้องต้นสามารถผลิตได้อย่างเป็นสามัญธรรมดา และราคาถูกลงมาก และหากรัฐเป็นผู้จัดซื้อคราวละมากๆ ราคาอาจจะไม่ถึงสามร้อยบาทต่อชุดด้วยซ้ำ ส่วนการตรวจแบบ PCR ก็ราคาถูกลงมาก รู้ผลเร็ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่รัฐต้องทำคือ

1. ให้ความรู้กับประชาชนว่า การเป็นโควิด ไม่ต่างอะไรกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ดังนั้น ถ้าร่างกายเราแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันดีเยี่ยม โควิดก็ทำอะไรเราไม่ได้

2. แต่เพื่อไม่ให้เราเป็นผู้แพร่เชื้อ จงเข้ารับการตรวจ และรัฐบาลบริการการตรวจฟรีให้ทุกคน ตรวจบ่อยเท่าไหร่ก็ได้

3. เมื่อตรวจพบว่าติด ไม่ต้องตกใจเพราะร้อยละ 90 ไม่เป็นอะไร จะไม่มีการรังเกียจรังงอน ไม่มีการประณาม ไม่มี social sanction ไม่มีการไล่ออกจากงาน แต่ผู้ที่พบว่าติด ต้องกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน ระหว่าง 14 วันนั้น รัฐชดเชยรายได้ และจ่ายเงินเพิ่มให้เป็นขวัญและกำลังใจในการรักษาตนเอง และหากมีอาการมากในระดับต้องเข้าโรงพยาบาล จะได้รับการรักษาฟรี

4. สถานบริการที่ “ผิด” กฎหมาย เช่น บ่อน ซ่อง ฯลฯ ช่วงนี้รัฐยังไม่สนใจเรื่องผิดกฎหมาย จะหลับตาข้างหนึ่งให้ แต่ขอเพียงแค่ให้ทางสาธารณสุขได้เข้าไปตรวจหาเชื้อ เจ้าของบ่อน และซ่องต่างๆ กรุณามาปรึกษาเจ้าหน้าที่เรื่องการจัดการสถานที่ให้ปลอดภัย ไม่เป็นแหล่งแพร่ระบาด เช่น บ่อนการพนันอาจต้องเพิ่มมาตรการการตรวจ rapid test แก่ลูกค้าทุกคน – มั่นใจว่า ลูกค้าบ่อนการพนันไม่รังเกียจจะจ่ายเงินเพื่อความปลอดภัยทางสุขภาพของตนเอง

5. หากมีคนติดเชื้อเยอะ อาจต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ แต่ต้องล็อกดาวน์แบบมีเป้าหมาย เช่น ตั้งกรอบเวลาไว้ 3 สัปดาห์ ในระหว่าง 3 สัปดาห์นั้น รัฐบาลทำให้คนได้ตรวจหาเชื้อมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จากนั้นชี้แจงไทม์ไลน์ สถานที่เสี่ยงให้ประชาชนได้รับรู้ และเพื่อได้รับการตรวจ โดยไม่มีการ “ต่อว่า” รักษาความลับทางข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ตรวจหาเชื้อโควิดอย่างละเอียดในทุกแหล่งที่อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อ

6. ระหว่างที่ล็อกดาวน์ ออกมาตรการชดเชยรายได้อย่างไม่มีเงื่อนไขแก่ประชาชน อย่าทำให้การล็อกดาวน์นำไปสู่ความล่มสลายทางเศรษฐกิจครัวเรือนของประชาชน

7. มีมาตรการแบ่งเบาภาระของครอบครัวที่เปราะบางทางรายได้ ความพร้อมในการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ในช่วงเวลาล็อกดาวน์

8. จบที่ทำให้ทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด เพื่อสร้างความมั่นใจ และเพื่อให้เศรษฐกิจและชีวิตสามัญปกติของประชาชนกลับคืนมาโดยเร็ว

นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ ไม่ใช่ออกมาขู่ประชาชนไปวันๆ แล้วมานั่งเถียงกันด้วยเรื่องปัญญาอ่อนว่ามีบ่อนหรือเปล่า แล้ววกกลับมาที่ด่าประชาชนว่า ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่สวมหน้ากาก การ์ดตก ไม่รู้จักอยู่บ้าน ทำไมออกไปกินเหล้า ทำไมออกไปเล่นการพนัน

โว้ย หน้าที่ของรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลกู-ประชาชน-ผู้เสียภาษี

ประชาชนคนนั้นจะเป็นคนดี คนไม่ดี คนทำถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย ไม่ใช่ประเด็นที่จะใช้เป็นข้ออ้างของความผิดพลาดที่ตนเองบริหารจัดการสถานการณ์โควิดล้มเหลว

และด้วยเหตุดังนี้ รัฐบาลไม่มีสิทธิ ไม่สามารถจะพูดออกมาได้เลยว่า มาตรการเยียวยาชดเชยจากการล็อกดาวน์จะเป็นภาระทางภาษีของประชาชน

เพราะหากใช้ตรรกะนี้ ฉันก็จะบอกได้เหมือนกันว่า ฉันไม่ได้เลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ ดังนั้น ฉันจะไม่ให้ใช้ภาษีของฉันไปจ่ายเงินเดือนให้ประยุทธ์ และทุกองคาพยพที่มาจากการแต่งตั้งของประยุทธ์ก็ห้ามใช้ภาษีของฉันไปจ่ายเงินเดือนให้คนเหล่านั้นด้วย

ประเด็นเกี่ยวกับ “ภาระทางภาษี” พูดให้เป็นผู้เป็นคนกว่านั้นก็คือ โควิดเป็นเรื่องของทุกคน ผลกระทบเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผลทางสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุดท้าย ไม่มีใครเลยที่ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ยกเว้นบรรดาผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เสวยสุขอยู่ตอนนี้และนายทุนที่ห้อมล้อมพวกเขา

เมื่อผลกระทบมันจะเกิดกับเราทุกคน สิ่งที่เรากลัวไม่ใช่ภาระทางภาษีในการรับมือกับโควิด แต่เรากลัวว่าภาษีของเราจะถูกนำไปใช้อย่างผิด นำไปใช้ในเรื่องที่ไม่ควรใช้ และสุดท้าย ปัญหาโควิดและผลพวงของมันจะไม่ได้รับการแก้ไข

และคนที่จะตายลงไปจริงๆ คือประชาชน

ดังนั้น ขอสรุปให้เคลียร์ๆ ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีว่า เราต้องการให้รัฐบาลนำภาษีของเราไปใช้กับ 3 เรื่องดังต่อไปนี้

1. เยียวยา ชดเชยรายได้ให้กับแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

2. อัดฉีดเงินไปที่ smes เพื่อรักษาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเดียวที่เหลืออยู่

3. ทุ่มเงินไปกับการทำ active finding case และทำให้การติดเชื้อโควิดไม่ใช่เรื่องน่าสะพรึง

4. จัดสรรงบประมาณสำหรับจัดหาวัคซีนสำหรับประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 50 ของจำนวนประชากร

ถ้ารัฐบาลไม่สามารถทำอะไรแบบนี้ได้ ก็จงลาออกไปเถอะ เพราะคุณคือภาระทางภาษีที่แท้จริง ทุกวันนี้อยู่บ้านฟรี น้ำ ไฟ ฟรี ก็หัดอายให้เป็นบ้าง