รายงานพิเศษ : เราคือกรรมกร สร้างพื้นที่ทางความคิด / สุภาวดี กลั่นความดี

รายงานพิเศษ
สุภาวดี กลั่นความดี

เราคือกรรมกร

สร้างพื้นที่ทางความคิด

…น่านนะสิ…น่านนะสิ…มากี่ทีกี่ทีอยากอยู่นานๆ…
ท่อนฮุกขี้เล่นท่อนนี้อยู่ในเพลง “น่านนะสิ” ที่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ได้ขับร้องไว้อย่างไพเราะเรียบง่าย กลายเป็นวลีติดปากชาวน่านและนักท่องเที่ยวไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะพูดเล่นหรือร้องกันจริงจัง

เราได้ฟังจุ้ยร้องเพลงนี้ที่น่านเมื่อปลายปีก่อน (22 ธันวาที่ผ่านมา) ที่งานวันเกิดครบรอบ 25 ปีคูณสองของวรพจน์ พันธุ์พงศ์ และเป็นความตั้งใจของเขาที่จะเปิดตัวหนังสือ 2 เล่มพร้อมกันคือ “Portrait Worapoj” หนังสือรวมงานวาดพอร์ตเทรตวรพจน์ พันธุ์พงศ์ โดยสุมาลี เอกชนนิยม และหนังสือรวมงานเขียน “ตอบแสงตะวัน” โดยเจ้าของวันเกิด ที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกสาว และการเดินทางบนถนนสายหนึ่งตลอดระยะเวลา 15 ปี สถานที่จัดงานคือบ้านๆ น่านๆ ห้องสมุดและเกสต์โฮมของเพื่อนรัก

สุมาลี เอกชนนิยม ผู้วาดงาน Portrait Worapoj

ในสวนเล็กๆ ระโยงไฟระย้าพาดผ่านกลางสวน วันนั้นอากาศหนาวเหมาะกับการนั่งล้อมวงสนทนาเนื่องด้วยวาระพิเศษ มิตรรักแฟนคลับใกล้ไกลมารวมตัวพบปะ บางคนนั่งเสื่อใกล้ชิดติดขอบ บางคนนั่งเก้าอี้ถัดออกไปอีกนิด ไกลไปอีกหน่อยคือใต้ถุนห้องสมุด

(ซ้าย) วรพจน์ พันธุ์พงศ์ (กลาง) จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง (ขวา) ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย (พิธีกร)

จุ้ยเล่าให้ฟังว่า เมื่อราวๆ 20 ปีก่อน วรพจน์มาสัมภาษณ์แล้วถามว่า อ่านงานเขียนของใครแล้วรู้สึกชอบหรือต้องติดตามตลอด จุ้ยตอบไปว่าเสกสรรค์ ประเสริฐกุล วันนั้นจุ้ยเปรียบเสกสรรค์เป็นดั่งขุนเขาใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถข้ามได้… และในวันนี้จุ้ยบอกกับวรพจน์ว่า “สำหรับผม คิดว่าวรพจน์ทำสำเร็จ หนังสือของวรพจน์ทุกเล่มผมตามอ่าน อ่านด้วยความรู้สึกเอร็ดอร่อย หิวโหย อยากอ่านไปเรื่อยๆ”

วรพจน์ไม่ได้พูดอะไร เพียงแต่ยิ้มกริ่มตามสไตล์

หลังจากจุ้ยมาร่วมร้องเล่นบนเวทีแล้ว อีกหนึ่งคนสำคัญที่มาร่วมงานไม่ได้ เพราะระยะทางและสุขภาพ แต่ก็ยังฝากถ้อยคำผ่านจดหมายมาเยี่ยมเยือน คือบินหลา สันกาลาคีรี ใจความบางส่วนจากจดหมายว่าไว้แบบนี้

วรพจน์ที่รัก

…ราวกว่าสัปดาห์แล้ว สายวันหนึ่ง เราคุยกันทางโทรศัพท์ คุยสัพเพเหระ ถามไถ่สุขภาพผมตามปกติ แล้วคุณก็พูดเรื่องงานวันนี้ งานหนังสือของคุณและพี่เจง อยากให้มีงานของผมสักชิ้นหนึ่งร่วมอยู่ด้วย
ผมตอบตกลงทันที

…ผมไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น อาจเพราะความเรื้อเวทีที่ไม่ได้เขียนหนังสือนาน หรือเพราะความขี้เกียจ หรืออะไร แต่ผลรวมๆ ของมันคือผมไม่สนุกกับงานที่เขียนเหมือนเก่า เขียนๆ ไปพออ่านทวนก็ไม่ชอบมัน เหมือนเดินเล่นเรื่อยเปื่อย ดูสวนสนุกเล็กๆ แคบๆ ที่ประดับประดาด้วยตุ๊กตาโง่ๆ รุงรัง น่าเบื่อ ชนิดนกกระยางปูนปลาสเตอร์ หรือตุ๊กตาตลกโบโซ่ทำนองนั้น ผลคือเขียนต่อไปไม่ลง เขียนไม่เสร็จแม้แต่ชิ้นเดียว
นานมากแล้วที่ผมเป็นอย่างนี้ แต่ผมไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรและเพราะอะไร จะปรึกษาใครใกล้ตัวก็คงไม่ได้รับคำตอบ ไม่ก็อาจเป็นอาการโรคใจเสาะทำนองนั้น ผลคือทางเลือกปิดปากเงียบน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า แต่ในความเป็นจริง ผมรู้อยู่ลึกๆ ว่าชีวิตกำลังแย่ลง

วรพจน์ครับ ผมไม่ได้เขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อโอดครวญร้องทุกข์กับคุณหรือกับใคร ผมเขียนมันเพื่อสารภาพว่า ในที่สุดผมก็ทำในสิ่งที่คุณหวังและผมก็เห็นดีด้วยนี้ไม่สำเร็จ หลายวันแล้วครับที่ผมพยายามเขียนมันให้ได้ แต่กลับได้แค่ 2 ย่อหน้า จนถึงวันนัดหมาย…หวังว่าอีกไม่นานนัก ผมจะฟื้นคืนพลังพอจะยินเสียงหัวเราะของเราๆ กันเหมือนเดิม…

จบการอ่านจดหมายจากบินหลา เสียงพูดคุยเคยคลาคล่ำกลับเงียบงัน ในห้วงเวลาไร้อากาศหายใจนั้น เราคิดถึง เราหวัง ว่าจะได้พบกันอีก

วรพจน์เล่าถึงประสบการณ์เขียนงานมาทั้งชีวิต ตั้งแต่เป็นนักสื่อสารมวลชนจนถึงคราวแรกเริ่มเดินทางสายนักเขียน แรงบันดาลใจแรงผลักดันมาจากไหน? วรพจน์มองมาที่ลูกสาว

ส่วนเรื่องความสม่ำเสมอ ความมีวินัย แม้จะมีหนังสือออกใหม่เกือบทุกปี รวมถึงวันนี้ก็ 26 เล่ม เขาบอกว่ายังไม่พอใจ อยากทำงานให้มากขึ้น หนักขึ้น และพยายามมากกว่านี้

“เราชอบอาชีพนี้ เราเอาใจคนทุกคนไม่ได้ เบื้องต้นเอาที่เราชอบ…

คนอ่านจะเป็นผู้เลือกและอนุญาตให้เราเป็นนักเขียนเอง”

เมื่อถูกถามว่า ความยากของการเขียนหนังสือคืออะไร วรพจน์นั่งนึกอยู่ชั่วอึดใจ แล้วตอบว่า “ไม่ใช่เรื่องที่จะเขียนอย่างไรถึงจะขายดี แต่เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรถึงจะเขียนเรื่องที่ดีออกมาได้ พยายามเอาหัวใจและเวลาไปวางไปกับงาน…การเขียนงานไม่ได้ คิดไม่ออก เป็นเรื่องปกติ!”

วรพจน์ได้รับการยอมรับจากการเป็นนักสัมภาษณ์ ตั้งแต่วันที่แวดวงสื่อยังไม่มีคำว่านักสัมภาษณ์ด้วยซ้ำ “การสัมภาษณ์พาเราออกไปรู้จักผู้คนอื่น ออกไปรู้จักลายนิ้วมืออื่น ฟังลายนิ้วมืออื่น ศึกษาทั้งตัวเองและคนอื่น ใครบริโภคความหลากหลายได้มากกว่าจะเข้าใจโลกมากขึ้น ค้นพบตัวตนและมีโอกาสมีชีวิตที่ดีกว่า”

ร้าน The Writer’s Secret

เมื่อประมาณปี 2015 วรพจน์ได้ร่วมเป็นบรรณาธิการนิตยสารไรท์เตอร์รุ่นที่ 3 และเปิดร้าน The Writer’s Secret กับบินหลา สันกาลาครี และจ้อย นรา เขาเล่าว่า “เหมือนได้กลับไปปาร์ตี้ ได้ทำงานกับเพื่อน ตอบรับคำเชื้อเชิญเพราะเห็นด้วยในหลักการและนโยบาย ในส่วนของร้านหนังสือเราจัดกิจกรรมเสวนาเยอะ หลากหลายหัวข้อ เป็นช่วงวันเวลาที่เข้มข้นทั้งเนื้อหาและเรื่องความสัมพันธ์ของคน มีหลายคนที่รู้จักกันที่นั่นแล้วเกิดการผลิตสิ่งใหม่ขึ้นอีกมากมาย เป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่มากหลายเรื่องราว มันคือการสร้างชุมชน การทำให้มนุษย์ตัวเป็นๆ มาเจอกัน เมื่อปิดตัวนิตยสารและร้านไป ก็ลามมาจัดถึงน่าน คือ เทศกาลบทกวี น่านโปเอซี (Nan Poésie) ครั้งแรกเมื่อปี 2019 และครั้งที่ 2 เมื่อต้นปี 2020”

เทศกาลบทกวี น่านโปเอซี ครั้งที่ 1 (Nan Poésie)

ด้วยความที่เขามีส่วนร่วมบุกเบิกพื้นที่ใหม่ๆ ในแวดวงศิลปะ การขีดการเขียน หลายคนถึงกับตั้งสมญาว่าเขาเป็นเจ้าพ่อโปรเจ็กต์

“ไม่ได้อยากเป็นเจ้าพ่อโปรเจ็กต์ แต่สิ่งเหล่านี้ยังมีน้อยในบ้านเรา หากเราพอจะทำได้ ก็จะพยายามผลักดันเรื่องพวกนี้ให้เกิดขึ้น เปิดพื้นที่ใหม่ๆ มนุษย์ควรได้พบเจอกัน และดื่มด่ำกันและกันให้ครบทุกมิติในความเป็นมนุษย์… สังคมเราเป็นสังคมที่ยังขาดพื้นที่ ทั้งทางกายภาพและความคิด การเป็นผู้เปิดพื้นที่ใหม่ เป็นงานที่มีเกียรติและสำคัญ นักบอลไม่มีสนามจะเล่นได้ไง มนุษยสัมพันธ์กับพื้นที่ สังคมไทยยังมีพื้นที่น้อย”

“เราเป็นนักเขียน ก็อยากเข้าใจถึงความหมายสูงสุดของการเป็นนักเขียน มีรุ่นพี่รุ่นพ่อเป็นแบบอย่าง เราเห็นว่าดีเห็นว่าเก่ง เราก็อยากเป็นแบบนั้น นักเขียนนักหนังสือพิมพ์บางท่านที่เก่งๆ ก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ เราจึงพยายามสนับสนุนทุกทางเพื่อให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโต้แย้ง มีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น”

จบการสนทนา อากาศเย็นลงกว่าตอนหัวค่ำ เราใส่หมวกไหมพรม สวมเสื้อกันหนาวอีกชั้น วงดนตรีคนกันเองจัดเซ็ตอุปกรณ์น้อยชิ้นขับร้องประโลมแขกเหรื่อและเชื้อเชิญให้มาร่วมร้องบรรเลง

วรพจน์สร้างพื้นที่อีกครั้ง…

เขาพูดทำนองนี้อยู่บ่อยๆ ว่า เขาเป็นคนธรรมดา ที่อยากจะใช้ชีวิตปกติธรรมดา อยากพูดได้ตามสิ่งที่คิด อยากโต้แย้งกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หลายครั้งที่เรากลัวการใช้ชีวิตแบบปกติในประเทศนี้ เราเห็นความกล้าหาญที่จะเล่าเรื่องไม่ปกตินี้จากงานของวรพจน์เสมอ เขาเป็นนักเขียนตัวเล็กที่เจียมตัวถ่อมตน แต่ใจใหญ่รักเพื่อนผอง คอยชื่นชมและเฝ้ามองพัฒนาการของพี่น้องในวงการ

เป็นกรรมกรสร้างพื้นที่ และในบางครายังเป็นเข็มทิศชีวิตให้ใครบางคน

หมายเหตุ :
สั่งซื้อหนังสือ 2 เล่มล่าสุดจากสำนักพิมพ์บางลำพู ได้ที่ เพจ No.1 banglumpoo
ชวนชมต้นฉบับลายเส้นชุด Portrait Worapoj จัดแสดงอยู่ที่ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ จังหวัดน่าน ได้เรื่อยๆ ยังไม่มีกำหนดปิดการแสดง