วิเคราะห์ : ‘เขื่อนภูงอย’ เราต้องกังวลต่อผลกระทบหลายสิ่งมากแค่ไหน?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังรุนแรงไม่จบ คนติดเชื้อพุ่งเกิน 85 ล้านคน และเสียชีวิตไปแล้ว 1.84 ล้านคน ส่วนสถานการณ์ในบ้านเราก็ย่ำแย่ไม่น้อย แต่ละวันคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นพรวดพราด ลุกลามไปค่อนประเทศ ยอดรวมกว่า 8,400 คน และมีผู้เสียชีวิตด้วย

ถ้าคุมการแพร่ระบาดไม่อยู่ สถานการณ์อาจจะหนักหนาสาหัสเหมือนๆ ประเทศอื่นที่เจอระบาดระลอก 2 ระลอก 3 จนต้องประกาศล็อกดาวน์ซ้ำ

ประเทศไทยเจอล็อกดาวน์อีกหน รับรองได้เลยว่าเศรษฐกิจหัวทิ่มพังกระจายแน่ๆ

ก็ขอภาวนาอย่าเป็นเช่นนั้นเลย เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะสาหัสสากรรจ์จนแม่ค้าพ่อค้าร้องจ๊ากขายของฝืดเคือง ส่วนชาวบ้านกระเป๋าแห้ง รายได้หดกันทั่วหน้า

 

หันไปดูข่าวที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านของเราดีกว่า มีรายงานจากสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย หรืออาร์เอฟเอ (Radio Free Asia) บอกว่า ลาวเตรียมแผนสร้างเขื่อน “ภูงอย” กั้นแม่น้ำโขงแห่งที่ 7 มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 75,000 ล้านบาท

เขื่อนภูงอยตั้งอยู่ทางใต้เมืองปากเซ เมืองหลวงของแขวงจำปาสัก ฝั่งตรงข้ามกับ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีกำลังผลิตไฟฟ้า 728 เมกะวัตต์ ตามกำหนดก่อสร้างเสร็จในปี 2572 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า

เมื่อสร้างเสร็จ เขื่อนภูงอยจะร่วมผลิตไฟฟ้ากับเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง ที่เดินเครื่องอยู่ในปัจจุบัน และเขื่อนปากแบง เขื่อนปากเลย์ เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนสานะคาม ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนก่อสร้าง

จากนั้นลาวจะเตรียมแผนก่อสร้างเขื่อนบานชมและเขื่อนบานกุมอีก 2 แห่ง

รวมเบ็ดเสร็จลาวจะมีเขื่อนทั้งหมด 9 แห่ง เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ “แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าเอามาขายให้ไทยเป็นหลัก

 

ในผลการศึกษาพบว่าการก่อสร้างเขื่อนภูงอยจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่มากกว่า 1,250 ไร่ หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ 88 แห่งครอบคลุมใน 7 เมือง

อย่างไรก็ตาม การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมของโครงการสร้างเขื่อนภูงอยจะต้องส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเพื่อเข้ากระบวนการแจ้งปรึกษาหารือล่วงหน้าและหาข้อตกลง หรือ PNPCA (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement) แต่ในขณะนี้ผลการศึกษายังไม่เสร็จสิ้น

ลาวเพิ่งส่งผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมของโครงการสร้างเขื่อนสานะคาม กั้นแม่น้ำโขงระหว่างเมืองไซยะบุรีกับกรุงเวียงจันทน์ เข้าสู่กระบวนการ PNPCA เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 เขื่อนสานะคามมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 684 เมกะวัตต์

อาร์เอฟเอแจ้งว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านขอนแก่น แขวงจำปาสัก ซึ่งเป็น 1 ในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนภูงอย ได้รับแบบสอบถามจากทางการลาวเกี่ยวกับร้านค้า ต้นไม้พืชผลและทรัพย์สิน

แม้ยังไม่มีคำถามเกี่ยวกับการโยกย้ายอพยพถิ่นฐาน

กระนั้นชาวบ้านก็รู้สึกเป็นกังวลเพราะมีฐานะยากจนอยู่แล้ว

หากทิ้งบ้านไปก็ไม่รู้จะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่

ผู้คนหมู่บ้านขอนแก่นส่วนใหญ่เป็นชาวนาและเกษตรกรปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ บางส่วนเปิดร้านอาหาร ทำที่พักต้อนรับนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย

ชาวบ้านแห่งนี้หวั่นวิตกอีกว่าเขื่อนจะทำให้เกิดน้ำท่วมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในท้องถิ่น คือแก่งต่างๆ ในแม่น้ำโขง และทำให้น้ำท่วมชายหาดบริเวณฝั่งแม่น้ำ

 

อาร์เอฟเอไปสอบถามความเห็นกับคุณสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ในประเด็นเขื่อนภูงอยได้คำตอบว่า สทนช.กำลังจับตามองโครงการนี้อย่างใกล้ชิด ทางผู้ก่อสร้างโครงการยังไม่ได้ส่งข้อมูลทั้งหมดมาให้ ส่วนโครงการเขื่อนสานะคามนั้น ทาง สทนช.พิจารณาตามกระบวนการ PNPCA หากเสร็จสิ้นแล้ว ทาง สทนช.จะพิจารณาโครงการเขื่อนภูงอยต่อไป เนื่องจากเขื่อนนี้อาจทำให้น้ำท่วมฝั่งไทย

คุณสมเกียรติยังบอกอีกว่า เขื่อนภูงอยอยู่ห่างจากเมืองปากเซเพียง 18 กิโลเมตร มีประชาชนในเมืองปากเซกว่า 100,000 คน เขื่อนนี้อยู่ห่างจากจุดที่แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงเชื่อมต่อกันในจังหวัดศรีสะเกษเพียง 50 กิโลเมตรด้วย

ถ้าเราเอาแผนที่มากางดูจะเห็นว่าแม่น้ำโขงมีจุดกำเนิดจากที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่านจีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ ความยาว 4,350 กิโลเมตร

แม่น้ำโขงตอนบนมีเขื่อนใหญ่ทั้งที่สร้างแล้วและกำลังก่อสร้างทั้งหมด 28 เขื่อน เริ่มจากเขื่อนที่รัฐบาลจีนสร้างในมณฑลชิงไห่ เขตปกครองตนเองทิเบตและมณฑลยูนนาน ในจำนวนนี้สร้างเสร็จแล้วไป 8 แห่ง

ส่วนแม่น้ำโขงตอนล่าง จะก่อสร้างเขื่อนทั้งหมด 11 แห่ง อยู่ในพื้นที่ของลาว 9 แห่ง ในกัมพูชา 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสตึงแตรง และเขื่อนซัมเบอร์ อยู่ระหว่างเตรียมแผนและศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

นักสิ่งแวดล้อมมองว่า การก่อสร้างเขื่อนตลอดแนวแม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำจืดใหญ่ที่สุดในโลก หล่อเลี้ยงชีวิตมากกว่า 60 ล้านคน จะเกิดผลกระทบทางระบบนิเวศน์อย่างมาก อีกทั้งยังมีผลต่อความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ

ในเวลานี้ได้เห็นเป็นประจักษ์ถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเหนือแม่น้ำโขง นั่นคือระดับน้ำที่ผันผวนเนื่องจากมีการกักเก็บน้ำในหน้าแล้งและการระบายน้ำในหน้าฝนทำให้พื้นที่ตอนล่างเกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงของธรรมชาติ

 

รัฐบาลเวียดนามแสดงความกังวลอย่างมากกับการสร้างเขื่อนในลาวและกัมพูชา ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลาวและกัมพูชาทบทวนโครงการเพราะหวั่นว่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมน้ำแล้งในเวียดนาม รวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ตามมาอีกมาก

นักวิชาการเวียดนามคำนวณว่า ถ้ารัฐบาลลาวสร้างเขื่อนปากแบง บ้านปากเงย เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเกิดความเสี่ยงด้านแผ่นดินไหว วัดความแรงได้ 5-6 ริกเตอร์สเกล และในอีก 50 ปี ความแรงของแผ่นดินไหวเพิ่มระดับขึ้นถึง 7 ริกเตอร์สเกล

รัฐบาลเวียดนามยังเป็นกังวลขนาดนี้ รัฐบาลไทยจึงไม่ควรนิ่งเฉยกับเขื่อนลาวอย่างเด็ดขาด