ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 มกราคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
เผยแพร่ |
นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ภราดรภาพ
เท่าที่ผมพอจับได้จากสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่ของกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่เป็นหัวหอกประท้วงระบบการศึกษาอยู่ในเวลานี้ ล้วนเป็นนักเรียนของโรงเรียนดังๆ โรงเรียนเหล่านี้มีครูอาจารย์วุฒิสูง มีอุปกรณ์การสอนพร้อม หลายแห่งรับนักเรียนด้วยการสอบแข่งขัน จึงทำให้ชั้นเรียนมีนักเรียนที่เรียน “เก่ง” เป็นส่วนใหญ่
แต่หนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่ม “นักเรียนเลว” คือปฏิรูปคุณภาพการศึกษา พวกเขาหยิบยกเอาหัวใจสำคัญของการศึกษาที่มีคุณภาพคือเสรีภาพ นับตั้งแต่เสรีภาพที่จะคิดต่างจากครู เสรีภาพที่จะจัดการร่างกายของตนเอง เสรีภาพที่จะค้นหาคำตอบ (และคำถาม) ในการเรียนเอง เรียกร้องให้ครูเปลี่ยนบทบาทจากการ “บอก” ความรู้ให้จำ มาเป็นผู้จัดการการเรียนรู้แทน และด้วยเหตุดังนั้น จึงเรียกร้องเสรีภาพของครูและโรงเรียนจากการกำกับควบคุมของอำนาจที่ไร้เหตุผลด้วย
ข้อเรียกร้องที่ประทับใจผมที่สุด และนับเป็นข้อเรียกร้องที่ชัดเจนพอสมควรในการเคลื่อนไหวของพวกเขาคือ โอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสลัมหรือชนบทห่างไกล ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร
นี่คือสำนึกของภราดรภาพ อันเป็นสำนึกที่สำคัญของความเป็นชาติ แต่เรากลับไม่ค่อยเคยได้ยินจากปากของชนชั้นปกครองไทย นั่นคือสิ่งที่เราคิดว่าดีมีคุณค่าอันเราปรารถนานั้น ไม่ใช่เพื่อตัวเราเพียงคนเดียวหรือฝ่ายเดียว แต่เพื่อคนอื่นๆ ซึ่งเราไม่เคยเห็นหน้าค่าตา แต่รู้ว่ามีอยู่จริงด้วย
ว่ากันให้ถึงที่สุด เสรีภาพและเสมอภาคที่ขาดรากฐานของภราดรภาพ ก็จะเป็นเสรีภาพของอภิสิทธิชน และมีบางคนที่เสมอภาคมากกว่าหลายคน
แน่นอน สำนึกเช่นนี้มิได้จำกัดอยู่กับความเคลื่อนไหวของ “นักเรียนเลว” เท่านั้น ในการประท้วงของมวลชน “ปลดแอก” หลากหลายกลุ่ม เราได้เห็นการเรียกร้อง “ภราดรภาพ” อย่างเด่นชัด นับตั้งแต่การเรียกร้องให้ปรับปรุงบริการระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยสะดวก ไปจนถึงการต่อต้านการผูกขาดทางเศรษฐกิจ และแน่นอนว่าสัญลักษณ์ของอภิสิทธิ์ย่อมเป็นที่ระคายเคืองอย่างยิ่ง เพราะล้วนกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของคนจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการประท้วง
ภราดรภาพของชาติถูกนักปราชญ์ไทยจำนวนมากทอนลงให้เหลือเพียงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกันในหมู่บ้าน แน่นอนว่าสำนึกเอื้ออาทรกันในหมู่บ้านไทยในอดีต (ซึ่งก็เหมือนหมู่บ้านของคนอีกหลายเผ่าพันธุ์) ย่อมเป็นคุณลักษณะอันหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ มีคำให้การประจักษ์ชัดทั้งในหมู่คนไทยเองและนักสำรวจชาวต่างชาติ แต่สำนึกเช่นนั้นจำกัดอยู่เฉพาะในหมู่บ้านและเครือข่ายของเครือญาติ ทั้งจริงและเสมือน
จะเรียกว่าเป็นภราดรภาพก็ได้ แต่เป็นภราดรภาพของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นลักษณะร่วมที่เห็นได้ในหมู่บ้านเกือบทั่วโลก เพราะมีเงื่อนไขทั้งด้านการผลิต, แรงงาน, สังคม และวัฒนธรรม บังคับให้ต้องเป็นเช่นนั้น
แต่ภราดรภาพของชาติต่างจากภราดรภาพของหมู่บ้าน เพราะชาติเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจากจินตกรรมเท่านั้น เราไปคิดว่ามีชุมชนเช่นนั้นอยู่จริง ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเห็นหน้าคนส่วนใหญ่ในชุมชนนั้น และไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ โดยตรงและเป็นพิเศษต่อกันเลย แต่เขาก็ยังเป็นสมาชิกร่วมชุมชนเดียวกับเรา สำนึกภราดรภาพของชาติจึงเกิดขึ้นโดยสมัครใจ ไม่มีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคมบังคับ
มองภราดรภาพของชาติจากแง่มุมนี้ ทำให้ผมคิดว่าการประท้วงของมวลชนคนเสื้อแดงในปี 2553 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่น่าสนใจ “เสื้อแดง” ที่ไม่ได้มาร่วมประท้วงในกรุงเทพฯ คงมีอีกมากกว่ามาก พวกเขาหนุนช่วยการประท้วงด้วยการส่งข้าวปลาอาหารเท่าที่จะทำได้ลงมาอย่างต่อเนื่องพอสมควร เพื่อช่วยให้พ่อแม่พี่น้องของเขาสามารถทนอยู่ประท้วงในกรุงเทพฯ ได้
แม้ในสถานที่ชุมนุมเอง การจัดบริการข้าวปลาอาหารก็ทำกันโดยแบ่งเป็นเต็นท์ของจังหวัด ผู้ชุมนุมจาก “บ้าน” ใด ก็ไปกินข้าวที่ “บ้าน” นั้น (แม้ว่าแต่ละเต็นท์จะเปิดกว้างให้ “แขก” เข้ามากินอาหารได้ทุกคน)
เป็นการประกันสวัสดิการพื้นฐานที่มีรากมาจากความเอื้ออาทรของหมู่บ้าน เพียงแต่ขยายจาก “ชุมชน” ที่รู้จักหน้าค่าตากันมาสู่อัตลักษณ์ใหม่คือ “จังหวัด” เท่านั้น
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคนกรุงเทพฯ อีกมาก ทั้งจากแรงงานระดับล่างไปจนถึงระดับกลาง ที่ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือและเข้าร่วมการชุมนุม เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, เจ้าของร้านชำขนาดเล็ก และพนักงานกินเงินเดือน จำนวนหนึ่งของคนเหล่านี้มองเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างตนเองกับคนเสื้อแดงจากชนบท แม้อาจไม่รู้จักเขามาก่อนเลย หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง คนเหล่านี้มีสำนึกภราดรภาพของชาติ
ไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างผู้เข้าร่วมการประท้วง ไม่ว่าในครั้งเสื้อแดงหรือในปัจจุบัน ย่อมเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะถึงไม่รู้จักมักจี่กันมาก่อน แต่เพราะมีความคิดทางการเมืองร่วมกัน และที่สำคัญกว่านั้นเผชิญภยันตรายจากรัฐร่วมกัน ย่อมเอื้อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันมาแต่แรกแล้ว
เพียงเท่านี้ ผมยังไม่ถือว่าเป็นภราดรภาพของชาติเท่ากับข้อเรียกร้อง ข้อห่วงใย และความใฝ่ฝันซึ่งแสดงออกในรูปต่างๆ นั้นต่างหาก ที่ชี้ให้เห็นว่าสำนึกที่มีต่อ “พี่น้อง” (สมมุติ) ในชุมชน (สมมุติ) ว่าเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญสักเพียงไร
นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, บดินทรเดชา, สวนกุหลาบ ฯลฯ ซึ่งมีโอกาสจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้เกิน 80% กลับแสดงความห่วงใยและใฝ่ฝันที่จะให้ “เพื่อน” (สมมุติ) ในโรงเรียนบ้านนอกได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเดียวกับที่ตนอยากได้ นี่ต่างหากที่แสดงถึงสำนึกที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
ถ้าจะพูดว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในครั้งนี้ได้เปลี่ยนประเทศไทยไปอย่างที่ไม่มีทางหวนกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว (ไม่ว่าจะจบลงอย่างไร) ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือการเติบโตของสำนึกภราดรภาพที่กลายเป็นภราดรภาพของชาติอย่างแท้จริง
ภราดรภาพทำให้เสรีภาพที่เรียกร้อง ไม่ใช่เพียงเสรีภาพของกู เสมอภาคไม่ใช่ความต้องการของกูที่จะเท่าเทียมกับคนที่สูงกว่า แต่เป็นเสรีภาพของทุกคนที่มีสิทธิและโอกาสอันเท่าเทียมกัน
ท่ามกลางสำนึกภราดรภาพ, เสรีภาพ, เสมอภาคที่ฟื้นกลับมาอย่างเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่งหลัง 2475 เช่นนี้ ความน่าเกลียดของสังคมไทยที่เราถูกสอนให้หลับตามองไม่เห็นมานานกลับโดดเด่นขึ้นอย่างแจ่มชัด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์เชิงอำนาจนิยม, นโยบายรัฐที่หนุนช่วยคนแข็งแรงให้เอาเปรียบคนอ่อนแอจนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่น่าขยะแขยง, การยึดเอาสมบัติสาธารณะทุกอย่างไปรับใช้ประโยชน์ของคนจำนวนน้อย (แม้แต่ลานสเก๊ตที่เปิดให้ทุกคนใช้ฟรีก็ไม่มี), สาธารณูปโภคที่กีดกันคนพิการออกไป, เสรีภาพในการเลือกนับตั้งแต่เพศสภาพ, การตั้งครรภ์ และรสนิยมทุกอย่าง แม้แต่ทางศิลปะ ไม่เคยได้รับการยอมรับจริง อย่าพูดถึงให้ความเคารพเลย ฯลฯ
ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ไม่ใช่ว่าสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ไม่มีอยู่ในสังคมไทยมาก่อน ที่จริงแล้วมีอยู่มาโดยตลอดแต่เราไม่ยอมมองเอง เป็นเพราะสำนึกภราดรภาพที่แข็งแกร่งขึ้นในช่วงนี้ต่างหากที่เปิดตาคนไทยให้เห็น และเห็นด้วยความตระหนกต่อความอับจนของชาติบ้านเมือง อันเป็นสมบัติของเราทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ในบรรยากาศเช่นนี้ เป็นธรรมดาที่อภิสิทธิ์ทั้งหลายซึ่งอาจเคยดำรงอยู่มาอย่างปลอดภัยและความสบายใจของทุกฝ่าย ย่อมก่อความระคายเคืองอย่างสูง งบประมาณแผ่นดินถูกวิเคราะห์ในภาพกว้างกว่าว่างบฯ ส่วนนั้นส่วนนี้จะถูกทุจริตคดโกงไปหรือไม่ แต่ในท่ามกลางปัญหาความเลวร้ายของสังคมไทยถึงเพียงนี้ งบประมาณถูกใช้ไปในกิจอันสมควรหรือไม่ งบฯ ทหาร, งบฯ ราชสำนัก, งบฯ กลาง, งบฯ ส.ว., งบฯ องค์กรอิสระ ทั้งตามรัฐธรรมนูญและไม่ใช่ ฯลฯ ล้วนถูกตั้งคำถามที่ไม่มีคำตอบทั้งสิ้น
การผูกขาดทางธุรกิจที่กำไรล้นฟ้าอยู่แล้วทุกประเภท, อภิสิทธิ์เหนือกฎหมายของคนบางกลุ่ม และความฟุ่มเฟือยที่เห็นประจักษ์โดยทั่วไป ฯลฯ ซึ่งครั้งหนึ่งคนไทยเคยเห็นว่าเป็นธรรมดา, ธรรมชาติ หรือเป็นความชอบธรรมด้วยซ้ำ กลายเป็นเรื่องบาดตาบาดใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
และตราบเท่าที่ภราดรภาพ, เสรีภาพ, เสมอภาคยังอยู่ในสำนึกของคนไทยจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้มีแต่จะบาดตาบาดใจคนไทยมากยิ่งขึ้นเรื่อยไป จนวันหนึ่งก็จะระเบิดออกมาอย่างรุนแรง
ยิ่งกดไว้นานก็ยิ่งระเบิดแรง ยิ่งระเบิดแรง ไม่เฉพาะแต่สิ่งเลวร้ายต่างๆ เท่านั้นที่จะถูกทำลายไป แต่สิ่งดีๆ อีกส่วนหนึ่งก็อาจถูกทำลายหรือเสียหายไปด้วย
ซ้ำจะยุติการระเบิดก็ไม่ง่าย จะระเบิดต่อเนื่องไปอีกนานเท่าไรก็ยากจะทำนาย