เขื่อนบางลาง กับคำถามเรื่องน้ำท่วมจังหวัดชายแดนภาคใต้ / รายงานพิเศษ(ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

รายงานพิเศษ
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
[email protected]

เขื่อนบางลาง

กับคำถามเรื่องน้ำท่วมจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
ข่าวน้ำท่วมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ปีนี้หนักมากๆ หลังจากเขื่อนบางลางระบายน้ำจนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า น่าจะมีการจัดการน้ำดีกว่านี้ไหม? และสมควรใครจะออกมารับผิดชอบไหม?
หากเราติดตามข่าวพบว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แจ้งเมื่อเวลา 06.30 น. ของวันที่ 6 มกราคม 2564 ระดับน้ำในเขื่อนบางลางอยู่ในระดับที่ 115.5 ล้าน ลบ.ม. เจ้าหน้าที่ได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำล้นสปิลเวย์ (spillway) เพื่อระบายน้ำในเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา โดยมีนายสมชาย จันทร์เย็น หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 17 นายชูศักดิ์ สุทธิ ชลประทานยะลา นายธราวุธ ช่วยเกิด นายอำเภอบันนังสตา ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี และหน่วยงานบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดยะลา และปัตตานี ได้เปิดวอร์รูม เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในพื้นที่เป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนบางลาง (อ้างอิงจาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_5680241)


จริงอยู่น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้เด็กๆ ออกมาเล่นน้ำสนุกสนานในวันเด็ก และชาวบ้านในพื้นที่ อ.บันนังสตา และอำเภอใกล้เคียงใน จ.ยะลา แห่เดินทางมาจับปลากันอย่างคึกคัก (โดยเฉพาะการจับปลาบึกด้วยมือเปล่าจนมีคลิปดังเอาไปเผยแผ่ทั่วไทย) หลังทราบว่า เขื่อนบางลางได้มีการปล่อยน้ำซึ่งชาวบ้านที่มาจับปลา จะดักรออยู่ที่สะพาน มีทั้งการใช้เรือ เจ๊ตสกี พร้อมทั้งใส่ชูชีพ เมื่อปลาหลุดผ่านประตูระบายน้ำมา ปลาจะอยู่ในสภาพน็อกน้ำ เนื่องจากมีแรงดันน้ำที่สูงมาก และเชี่ยวกราก นักจับปลาจะกระโดดลงไปในน้ำ ท่ามกลางน้ำที่เชี่ยวตรงเข้าไปจับปลา ท่ามกลางกองเชียร์ และบรรดาผู้คนที่เดินทางมาชม บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
สำหรับปลาที่จับได้ที่เขื่อนบางลาง ส่วนใหญ่เป็นปลาบึก และปลากดเหลือง ซึ่งขนาดของปลาที่จับได้ ปลาบึกมีขนาด 10-30 กิโลกรัมขึ้นไป ไม่ใหญ่มาก เนื่องจากมีการเปิดประตูระบายน้ำเพียง 1.2-1.6 เมตร ราคาปลาบึกที่ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-100 บาท ซึ่งแตกต่างจากเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา เขื่อนบางลางมีการเปิดประตูระบายน้ำล้นสปิลเวย์เช่นกัน ปลาบึกที่ชาวบ้านจับได้ ส่วนใหญ่น้ำหนักประมาณ 200-300 กิโลกรัม เลยทีเดียว (อ้างอิงจาก https://www.thairath.co.th/news/local/south/2007720และสามารถดูคลิปการจับปลาใน https://fb.watch/2StbDjt-U7/)

นํ้าท่วมครั้งนี้ชาวบ้านบางท่าน (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) ให้ทัศนะว่า
“ขอพื้นที่ระบาย…จากวิกฤตที่เกิดขึ้นในพื้นที่สุดท้ายแล้ว ชาวบ้าน/ประชาชนต้องช่วยกันเอง? ครั้งนี้ รัฐเตือนภัยประชาชนว่าจะปล่อยน้ำเขื่อน แต่รัฐไม่มีมาตรการป้องกัน/เยียวยาให้กับประชาชน ทั้งก่อนและหลังความเสียหาย”
บางท่านสะท้อนว่า “เขื่อนบางลางเขาบอกไหมว่าจะปล่อยน้ำกี่วัน ปริมาณเท่าไร และส่งต่อข้อมูลในแต่ละอำเภอพื้นที่รับน้ำเตรียมการในการระบายน้ำและแจ้งเตือนประชาชนให้พร้อมอย่างไร ดูแล้วมันขาดๆ กระบวนการอย่างไรไม่รู้?”
บางท่านถามหาหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงเช่นสะท้อนว่า “เวลาน้ำท่วม คนมักจะตามหานักการเมือง เพื่อถามถึงถุงยังชีพ”
แต่เราไม่เคยมีคำถาม ไม่ตามหา ข้าราชการประจำในนาม #กรมชลประทาน, #การไฟฟ้า ซึ่งเป็นคนมีหน้าที่ดูแลการจัดการน้ำโดยตรง หรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่รัฐบาลจัดตั้งโดยตรง คือ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานซึ่งมีส่วนร่วมการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ด้านทรัพยากรน้ำ 38 หน่วยงาน
(ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคยออกมาสัมภาษณ์ชื่นชม https://www.prachachat.net/economy/news-168935)

ผศ.มัสลาน มาหามะ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ให้ทัศนะว่า “จริงอยู่ สังคมมุสลิมเราถูกสอนให้ยอมรับกับตักดีร (การกำหนดสภาวการณ์จากพระเจ้า) แต่มิได้หมายความว่าไม่ให้ฝึกฝนให้หาวิธีแก้ปัญหาเพื่อสู่ตักดีรที่ดีกว่า?”
“หรือใช่ว่า จะพึงพอใจรับสภาพที่เกิดขึ้นโดยอ้างตักดีรอย่างเดียว โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นเพราะการบริหารจัดการที่หย่อนยาน ไม่ใช้ข้อมูลเชิงสถิติที่สะสมมากว่า 40 ปี เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตัดสินใจ ขาดการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขาดการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ค่อยตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่กระทบในวงกว้าง ไม่ค่อยพูดถึงการคืนความสุขและให้สวัสดิการแก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบ”
อาจารย์รอมฎอน ปัญจอร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ทัศนะว่า “เหตุผลที่แจกแจงมาว่าจำเป็นต้องปล่อยน้ำทะลักบ้านและสวนของชาวบ้านก็เพื่อรักษาความมั่นคงของเขื่อน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือป้องกัน #เขื่อนแตก ที่อาจส่งผลเสียหายมากกว่า ทำไมเราต้องจมอยู่กับคำถามกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้วย ไม่ใช่เพียงแค่การบริหารจัดการไม่ดีเท่านั้น แต่นี่คือข้อจำกัดของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในอดีต เป็นมรดกตกทอดของการจัดการทรัพยากรแบบรวมศูนย์ข้ามหัวผู้คนและเป็นความอัปลักษณ์ของรัฐราชการไทยและทุนก่อสร้างที่ฮั้วกับราชการมาเนิ่นนาน ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาจึงต้องมีทางเลือกให้พิจารณาครับ ไม่ใช่เชื่อๆ กันว่ามันมีอยู่เพียงหนทางเดียว”
ข้อสังเกตเหล่านี้สะท้อนข้อสังเกตเดิมในการบริหารจัดการน้ำที่อื่นๆ ของประเทศ กล่าวคือ “ตราบใดที่ กฟผ.บริหารน้ำด้วยหลักการว่าหน้าที่หลักของน้ำคือเป็นปัจจัยผลิตไฟฟ้า และตราบใดที่วิศวกรชลประทานไม่มีส่วนร่วมบริหารเขื่อนก็ยากที่จะป้องกันน้ำท่วมได้” (อ่านเพิ่มเติมใน https://www.isranews.org/community/comm-scoop-documentary/3961-เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก-น้ำท่วม-เขื่อน-และประกันอุทกภัย.html) ซึ่งสอดคล้องกับทัศนะของผู้เชี่ยวชาญที่สะท้อนว่า “น้ำท่วมเพราะบริหารจัดการน้ำไม่เป็น” (ฟังบทเรียนอดีต #น้ำท่วม…บริหารจัดการไม่เป็น https://www.posttoday.com #น้ำท่วม : มาจากน้ำที่ปล่อยลงจากเขื่อน สามารถฟ้องได้ไหม?)

นํ้าท่วม มาจากน้ำที่ปล่อยลงจากเขื่อนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินและชีวิตคนเสียหายทำให้สังคมฉงนว่าเหตุใดผู้มีอำนาจดูแลเขื่อนจึงปล่อยน้ำมหึมาเช่นนั้น? มีการบริหารจัดการน้ำหรือไม่อย่างไร?
การที่ปีนี้ฝนตกชุกก็ควรให้น้ำไหลออกทางน้ำล้นหรือสปิลเวย์ (spillway)…ถ้าผู้มีอำนาจ ผู้รับผิดชอบ ดูแลจงใจกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายถือว่า ผู้มีอำนาจดูแลบริหารเขื่อนจงใจทำละเมิดอันเป็นความผิดทั้งอาญาและแพ่ง แต่ถ้าผู้บริหารเขื่อนเห็นว่าในเขื่อนมีน้ำอยู่มากเกรงจะเป็นอันตรายต่อเขื่อนจึงรีบปล่อยน้ำเพื่อมิให้เขื่อนเสียหาย โดยไม่คำนึงถึงผลจะเกิด
ถือว่าผู้บริหารเขื่อนประมาทเลินเล่อ การกระทำจึงเป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่
ปัญหาสุดท้ายมีว่า จะฟ้องที่ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งว่า
คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่ง ทางปกครอง ฯลฯ
การที่ผู้มีอำนาจบริหารเขื่อนจงใจ หรือประมาทเลินเล่อปล่อยน้ำออกจากเขื่อนโดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายอันจะเกิดแก่ประชาชนหรือประเทศชาติ จึงเป็นการกระทำละเมิด
หน่วยงานต้นสังกัดไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือกรมกองของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับระบบชลประทาน ล้วนมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงต้องฟ้องคดียังศาลปกครอง อ้างอิง https://www.isranews.org/isranews-article/4131-หน่วยงานรัฐ – “ปล่อยน้ำเขื่อนเหตุน้ำท่วม” – ฟ้องศาลปกครองได้

อุทกภัยในทุกๆ ครั้งพบว่า สาเหตุไม่ได้มาจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำไม่ประสบความสำเร็จ
แต่สาเหตุหลักอีกประการคือ ความสับสนของข้อมูลจริง ณ ห้วงเวลานั้น (real-time) ทำให้การประเมินปริมาณน้ำเชิงตัวเลขและเชิงพื้นที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้การบริหารจัดการไม่สำเร็จตามไปด้วย?
เช่น ฐานข้อมูลกายภาพของพื้นที่ ทิศทางการไหลของลำน้ำสาขาในธรรมชาติ การสำรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง การคำนวณพื้นที่เสี่ยงภัย ในทุกระดับมาตราส่วน ตั้งแต่ระดับลุ่มน้ำ (watershed) จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างระบบเตือนภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ (รวมทั้งการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ) อันเป็นมาตรการบรรเทาความเสียหายจากภัยน้ำท่วม โดยสามารถเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้าให้กับพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อมีการจัดเตรียมรับมือภาวะน้ำท่วม
ซึ่งสามารถลดความเสียหายได้เป็นอย่างมาก