มุกดา สุวรรณชาติ : 2564 SME กำลังจะล้ม การท่องเที่ยว -99% จะอยู่กันอย่างไร

มุกดา สุวรรณชาติ

ไม่ใช่คำพยากรณ์แบบหมอดู

แต่เป็นการคาดการณ์สถานการณ์ด้านต่างๆ ตามข้อมูลและปรากฏการณ์ที่มีมาตลอดปี 2563

จึงมีผู้รู้หลายท่านร่วมประเมินสถานการณ์ไว้ว่า สภาพการตกต่ำของเศรษฐกิจ 2564 ส่งผลกระทบหนักกว่าปี 2563

 

1.covid-19 เล่นงานทุนนิยมทั้งโลกจนป่วย

ทั้งในประเทศและต่างประเทศจะปรากฏชัด แม้หลายประเทศพยายามอัดฉีดเงินเข้าพยุงเศรษฐกิจของประเทศตนเองแต่ก็ยังไม่สามารถประคองได้ถึงขั้นฟื้นตัว และเมื่อ covid-19 ยังมีการระบาดในขอบเขตทั่วทั้งโลก จึงเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว

ดังนั้น แต่ละประเทศจึงมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น ลดภาษี ลดดอกเบี้ย พักการชำระหนี้ และอัดเงินเข้าไปในระบบ เช่น อเมริกาให้ความช่วยเหลือในปี 2563 รวม 9 เดือน ประมาณ 6.4 ล้านล้านเหรียญ คิดเป็น 32% ของ GDP ดังนั้น อเมริกาจึงต้องพิมพ์เงินครั้งละเป็นแสนล้านเหรียญมาเรื่อยๆ และยังไม่กำหนดว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร นอกจากใช้ช่วยประชาชน ยังใช้ซื้อพันธบัตรเงินกู้ในอดีต ซึ่งถึงปัจจุบันหลายตัวที่เป็นหนี้เน่าไปแล้วเพราะโครงการนั้นเจ๊งก็ยังช่วยซื้อ การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกามีขนาดใหญ่กว่าตลาดหุ้น ดังนั้น ปล่อยให้ล้มไม่ได้

การประคองระบบทุนนิยมทำกันแบบนี้ทุกประเทศ

ญี่ปุ่นก็ทำโดยให้ความช่วยเหลือ 234 ล้านล้านเยน 43% ของ GDP

จีนเข้าสู่ระบบทุนแล้วใช้ 9.1 ล้านล้านหยวน 9.2% ของ GDP ต้องประคองทั้งอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ ที่เราเห็นอยู่ชัดเจนเช่นตึกใหญ่ๆ ทั้งตึก หรือเมืองทั้งเมืองที่แทบไม่มีคนอยู่ เหล่านี้ยังไม่มีผลตอบแทนทั้งสิ้น

อังกฤษ 4.83 ล้านล้านปอนด์ 22% ของ GDP …ฯลฯ

 

2.เงินออกมามากมายจะหายไปจากโลกไม่ได้

เจ้าหนี้ที่ซื้อพันธบัตรเงินกู้มาเมื่อได้เงินคืน (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ประชาชนธรรมดา แต่เป็นสถาบันการเงินหรือกองทุนขนาดใหญ่หรือสหกรณ์) เงินเหล่านี้เป็นพันล้านหรือหมื่นล้านนำไปฝากธนาคารก็แทบไม่ได้ดอกเบี้ย เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยในธนาคารเหลือน้อยมาก เช่น ในประเทศไทยอาจจะได้ประมาณ 0.8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในต่างประเทศประมาณ 0.25 บางประเทศโดนดอกเบี้ยติดลบ 0.5% คือฝากเงิน 100 ล้าน เสียค่าฝาก 500,000 ต่อปี

เงินเหล่านี้จึงไหลข้ามประเทศไปสู่ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่า แม้ได้ไม่ถึง 1% ก็ยังมีคนส่งเงินเข้าไป โดยหวังทำกำไรจากยอดเงินเป็นหมื่นล้านแสนล้าน และจะเข้าไปพักในตลาดหุ้นทำให้ราคาหุ้นยังสูงอยู่พอสมควรทั้งๆ ที่ผลประกอบการทั่วทั้งโลกขณะนี้ลดถอยลงมาก

อีกส่วนหนึ่งก็ไหลเข้าตลาดทองคำ ทำให้ราคาทองคำสูงขึ้น จนมีผู้คาดการณ์ว่าจะได้เห็นทองคำบาทละ 30,000 บาทในบ้านเรา

เนื่องจากการพิมพ์เงินอัดเข้าระบบของประเทศต่างๆ เป็นการประคองระบบเศรษฐกิจและชำระหนี้ที่ทำกำไรไม่ได้หรือเป็นหนี้เน่าด้วย ดังนั้น มูลค่าเงินจึงต้องตกลงตามสภาพความเป็นจริง การตกต่ำของค่าเงินดอลลาร์เห็นชัดที่สุดมีผู้ประเมินว่าค่าเงินดอลลาร์อาจตกต่ำลงไปถึง 28 บาทก็ได้

เงินไม่หายแต่มูลค่าจะตกลงไปอย่างชัดเจนในปีนี้

 

การล้มของการท่องเที่ยวไทยใน 60 วัน
ส่งผลต่อชีวิตคนจำนวนมาก

ความตื่นกลัว covid มีผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เป็นแบบฟ้าถล่มใส่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในช่วง 15 ปีหลังนี้

คนธรรมดาที่เป็นลูกจ้างหรือทำงานอิสระที่อยู่ในวงการท่องเที่ยวเคยมีรายได้ 30,000 ถึง 50,000 บาทต่อเดือน ขณะนี้เหลือ 0 หรือไม่เกิน 10% ของรายได้เดิม

สำหรับประเทศไทยเป็นเรื่องที่กระทบหนักมาก รายได้จากการท่องเที่ยวก่อนมีโควิด ประมาณ 3 ล้านล้านบาท ก่อนสิ้นปี 2562 มีการตั้งเป้าว่าในปี 2563 จะทำรายได้ 3.18 ล้านล้านบาท แต่เมื่อ covid มาแล้วทุกอย่างก็พังราบเรียบ ความหวังที่จะฟื้นตัวในปลายปี 2563 วันนี้ก็พังทลายไปเรียบร้อยแล้ว

รายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านนั้น มาจากต่างประเทศประมาณ 2 ล้านล้าน และในประเทศประมาณ 1 ล้านล้าน

เงินเหล่านี้จะไหลเข้ากรุงเทพฯ มากที่สุดประมาณ 900,000 ล้านบาท

ภูเก็ตประมาณ 471,000 ล้าน

ชลบุรี 275,000 ล้าน พัทยาเป็นตัวหลัก

กระบี่ 119,000 ล้าน

เชียงใหม่ 109,000 ล้าน

สุราษฎร์ธานี 105,000 ล้าน มีเกาะสมุยเป็นตัวช่วย

สงขลา 71,600 ล้าน ที่นี่มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลย์ที่เข้ามาหาดใหญ่

พังงา 54,300 ล้าน ประจวบฯ 43,400 ล้าน ระยอง 37,700 ล้าน

เชียงรายก็เกินหมื่นล้าน จังหวัดเล็กๆ อย่างจังหวัดตราดก็เกินหมื่นล้าน

แทบทุกจังหวัดมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักพันล้าน

แต่ปี 2563 การท่องเที่ยวทำได้แค่ 2 เดือนมกราคมกับกุมภาพันธ์ โควิคระบาด รายได้ 3 ไตรมาส คือมกราคมถึงกันยายน รวม 9 เดือนได้เพียง 6.55 แสนล้าน หายไป 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ดูแล้วในปี 2564 จะหนักกว่า เพราะจะไม่มีรายได้ตั้งแต่เริ่มต้นปี 1 มกราคม 2564

จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 ที่มีจำนวน 39.7 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวจีนเกือบ 10 ล้านคน สรุปได้ว่าหายไปถึง 99.9 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขในเดือนตุลาคม…1,201คน และพฤศจิกายน 3,065 คน เป็นคนจีนประมาณ 1,300 คน นี่เป็น High Season และข่าวการระบาด covid รอบ 2 ยังไม่เกิด มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นหลักพันคนเท่านั้น

การท่องเที่ยวได้บันทึกสถิติรายได้ช่วงกลางปี ว่า -100.00%

 

จะอยู่กันอย่างไร ในปี 2564

เงินที่ขาดหายไป 2 ล้านล้านไม่ใช่เงินน้อย เมื่อมาหมุนเวียนอยู่ในตลาดน่าจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 6 ล้านล้านต่อปี ผลักดันให้เกิดกำลังซื้อไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านต่อเดือนแสนล้าน

นั่นหมายความว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องประมาณ 100,000 แห่งจะมีเงินหมุนเวียน 2-10 ล้านต่อเดือน มีคนที่ได้รับประโยชน์ในรูปค่าจ้างหรือผลกำไรประมาณ 2 ล้านคน

ถ้ารายได้ต่อเดือนประมาณ 30,000 บาท จะมีเงินที่นำไปใช้จ่ายในครอบครัวประมาณ 60,000 ล้านต่อเดือน

คำถามของคนในวงการท่องเที่ยวจากรายได้ 30,000 บาท วันนี้เหลือ 0 จะอยู่อย่างไร?

รัฐจะช่วยอย่างไร?

ยกตัวอย่าง ภูเก็ต พัทยา สมุย ที่ผู้คนต้องอพยพออก ส่วนเชียงใหม่เมื่อเหลือแต่พืชเกษตรก็ไม่พอกิน เมื่อโควิดย้อนมาอีกรอบ ธุรกิจจะล้มเป็นส่วนใหญ่

การเสนอขายกิจการโรงแรมที่พัก รีสอร์ต ธุรกิจร้านอาหาร และการเลิกจ้างพนักงานที่มีมาในปี 2563 เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ในปี 2564 กิจการเหล่านี้จะเหลือเพียงพวกที่มีเงินนอนนิ่งอยู่จริงๆ ที่พอรอดได้

ส่วนพวกที่กู้เงินแบงก์มาคงต้องล้มทั้งหมดถ้ารัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือใดๆ อย่างได้ผล

และมีความเป็นไปได้ที่ต่างชาติจะเข้ามาซื้อกิจการที่พักซึ่งอยู่ในทำเลที่ดีเยี่ยม เพื่อรอเวลาฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

 

ชะตากรรมของSME

1.ธปท.ไม่ขยายมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปหลังจาก 22 ตุลาคม 2563 และออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 (Stand Still) สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPL เช่น ลูกหนี้จะไม่มีดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพราะอยู่ระหว่างการเจรจา และคงสถานะเดิมก่อนจะเข้าสู่มาตรการช่วยเหลือ รวมถึงการกำหนดให้สถาบันการเงินสามารถให้ความช่วยเหลือผ่านการพักหนี้สูงสุด 6 เดือนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

2. สำรวจจากลูกหนี้ SME ทั้งระบบที่มีอยู่ 319,000 บัญชี

พบว่ามีลูกหนี้ SME ราว 20% ไม่ขอใช้มาตรการช่วยเหลือ แสดงว่า SME 80% ต้องการให้ช่วย ตอนนี้มีประมาณ 270,000 บัญชีที่อยู่ในมาตรการพักหนี้วงเงิน 950,000 ล้านบาท

มาตรการช่วย การจ้างงานของ SME ที่รัฐควรทำ

ถ้าทำแบบอังกฤษ ช่วยบริษัทเล็กๆ ที่ยังจ้างพนักงานอยู่ โดยช่วยจ่ายเงินเดือน 20-30% แต่ไม่เกินเดือนละ 3,000-4,000 บาทต่อคน บางทีเงินที่รัฐได้จาก VAT ก็อาจจะคุ้มแล้ว

ฐานข้อมูลจากการเสียภาษี VAT มีทุกเดือน การหักภาษี ณ ที่จ่ายก็มีทุกคน สามารถทำได้ทันที บริษัทและลูกจ้างเหล่านี้ส่งภาษีให้รัฐบาลมาเป็น 10-20 ปี รัฐสมควรช่วยตอบแทนบ้าง การช่วยคนที่ทำงาน จะรักษาระบบ

ถ้ากลุ่มนี้ล้มลง จะไม่เหลือเครื่องยนต์ที่ใช้บินได้อีกเลย

 

เกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่

วงจรธุรกิจขณะนี้เกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ ถ้าปล่อยให้ล้ม จะดึงกันล้มระเนระนาด ท่องเที่ยวล้ม อุตสาหกรรมทรุด เกษตรตกต่ำ

สภาพที่เห็นในปัจจุบันคือคนชั้นล่างและชั้นกลางไม่มีเงินไม่มีงาน กำลังซื้อหายไปจากตลาดทำให้วงจรการหมุนเวียนของเงินขาดตอน จะพบว่าร้านค้าแผงลอยในห้างในตึกหรือการเช่าอาคารพาณิชย์ เกิดที่ว่างมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้เช่าไม่สามารถทนการขาดทุนได้ เมื่อลูกค้าน้อยลงในที่ทำเลดี ค่าเช่าก็สูง เจ้าของธุรกิจรายย่อยจำนวนมากต้องยกเลิกการเช่า ย้ายออกไปหาที่ใหม่ถ้าหาได้ หรือต้องเลิกกิจการไปเลย เจ้าของตลาดหรือเจ้าของตึกจะขาดรายได้จากค่าเช่าและไม่มีเงินมาผ่อนชำระธนาคาร

ในวงจรอสังหาริมทรัพย์ ก็จะเกิดการที่ไม่มีคนเข้ามาซื้ออาคารหรือมาเช่าพื้นที่ ทำให้เจ้าของโครงการไม่มีเงินจ่าย โครงการใหญ่ๆ บางแห่งก็ไปออกพันธบัตรเงินกู้ เมื่อถึงเวลาก็ไม่สามารถใช้คืนได้ รัฐบาลเองต้องนำเงินภาษีเข้าไปอุ้ม เพื่อไม่ให้พันธบัตรเหล่านั้นกลายเป็นขยะและเกิดการล้มระเนระนาดไปตามๆ กัน

เมื่อลูก-หลานที่อยู่ในเมืองไม่มีงานทำ และยังมีบัณฑิตจบใหม่และที่ตกงานค้างเก่าอยู่ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน ถ้า SME ล้มจะมีคนตกงานหลายล้านคน นั่นหมายความว่าเงินที่เคยส่งจากเมืองจากเขตท่องเที่ยว จากเขตอุตสาหกรรม ก็จะไม่ไหลกลับเข้าสู่ชนบท ชีวิตความเป็นอยู่ในชนบทจะยากลำบากมากขึ้น

เบี้ยคนชรา 600 เงินจากบัตรคนจนไม่กี่ร้อย จะไม่พอยังชีพ และปัญหาสังคมจะเกิดตามมาเป็นจำนวนมาก

การต่อสู้ทางการเมืองหนักอยู่แล้ว อย่าคิดว่า covid-19 จะช่วยถ่วงเวลาได้ นี่คือการกระหน่ำซ้ำเติม ถ้าประชาชนล้ม รัฐบาลก็ต้องล้มตามกันไป