‘ต่ำทราม-เดรัจฉาน’ หรือ ‘มาตุภูมิรังแก?’ / อัญเจียแขฺมร์ – อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์
อภิญญา ตะวันออก

‘ต่ำทราม-เดรัจฉาน’ หรือ ‘มาตุภูมิรังแก?’

ขนกันไปเกือบหมดวัง ทั้งตัวแทนพระองค์และเสนาบีด 2 ฝ่าย รัฐบาลอาณานิคมและกรมวังแคว้นกัมพูชา อันมีพระองค์มเจ้าภานุวงศ์-เสนาบดีกระทรวงมหาดไท พระองค์เจ้าสุภานุวงษ์-เจ้ากรมกลาโหมกองยุทธนาวี ออกญายมราช (พนน์) ออกญาจักรีกรมยุติธรรมและออกญาวังวรเวียงแพ (จวนน์) พร้อมคำประกาศปรมาภิไธยในองค์พระมหากษัตริย์ นับเป็นเหตุการณ์ใหญ่ครั้งหนึ่งของบ้านเมือง

เรื่องมีอยู่ว่า ชาวภูมิกรังเลียวได้พากันต่อต้านการเก็บส่วยภาษี จนลามเป็นก่อจลาจลสังหารนายเฟลิกซ์ หลุยส์ บาร์เดซ เจ้ากรมอากรฝรั่งเศส ล่ามและองครักษ์รวม 3 ชีวิต (คดี RSC261 กรุงไซ่ง่อน 1925/26)
การตายของเฟลิกซ์ บาร์เดซ ครั้งนั้น สร้างความสั่นสะเทือนต่อเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี พระบาทสีโสวัตถิ์ จอมจักรพงษ์วรราช ปรมินทรภูวนัย ไกรแก้วฟ้าสุราลัยฯ และนายโบดูแอ็ง ที่บังคับให้พระองค์ออกพระราชกฤษประณามชาวกรังเลียว ความว่า “ในพระราชอาณาจักรกัมพูชาที่สงบสุขของข้าพเจ้า ไม่เคยมีการกระทำใดๆ ที่โหดร้าย ป่าเถื่อนและไร้อารยะเยี่ยงนี้มาก่อน”

ดังนี้ หมู่บ้านเล็กๆ ยากจนของจังหวัดกำปงฉนังห่างจากกรุงพนมเปญราว 100 กิโลเมตร เพื่อส่งส่วยภาษี เพื่อเลี้ยงดูราชสำนักและรัฐอำนาจทั้ง 2 ฝ่าย ดังนี้ เมื่อพลเมืองที่นี่ก่อเหตุร้าย จึงต้องโทษหลายชั้น ทั้งคดีอาญาและพฤติกรรมสังคม

โดยข้าหลวงใหญ่นายโบดูแอ็ง หรือเรสิด็องส์ซูเปริเยร์นั้นถึงกับสั่งปราบปรามชาวกรังเลียวอย่างปูพรมทุกคน ไม่ว่าหนุ่มฉกรรจ์ เด็ก สตรี คนชราต่างพากันหลบหนีไปพนมตาบังชับภูมิลึกลับที่อาจหลบซ่อนตัวได้ แต่กลายเป็นจุดสังหารหมู่ล้มตาย ที่จับได้ก็ใส่ตรวนลงโทษอาญาร้ายแรง (18 เมษายน 1925)
เพื่อลดความกราดเกรี้ยวฝ่ายปกครองบารัง กษัตริย์เขมรยอมออกประกาศคำสั่งให้ชาวกรังเลียวกลับถิ่นฐานภูมิตนภายใน 30 เมษายน 1925 (15 วันหลังล้อมปราบ) มิฉะนั้นถูกยึดทรัพย์-ลงโทษสถานหนัก และให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากกรังเลียวเป็น “หมู่บ้านสัตว์” หรือ “ภูมิเดรัจฉาน/????????????” (ดิรัจฉาน) ให้เป็นเวลาถึง 10 ปี! และยังลงโทษชาวภูมิตำบลนี้ ให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ห้ามมีปฏิสัมพันธ์กับชาวชุมชนอื่น!
จากนั้น โปรดเกล้าให้สร้างสถูปอัฐิของบาร์เดซซึ่งเป็นคาทอลิกที่วัดกลางหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวเดรัจฉานทุกคนแสดงความเสียใจในการกระทำของตน นับเป็นโทษทัณฑ์ที่น่าสยดสยอง
โดยกล่าวว่า เมื่อใดที่ชาวภูมิเดรัจฉานบากหน้าติดต่อราชการ พวกเขาจะถูกเหยียดหยามดูหมิ่นเยี่ยงอมนุษย์ชนคนหนึ่ง นี่คือผลพวงจากการตกเป็นชาวเดรัจฉาน!

แต่ 2 ปีก่อนเกิดปรากฏการณ์ของภูมิเดรัจฉานนี้ ได้เกิดคดี- RSC208 ขโมยวัตถุโบราณปราสาทบันเตียสรัยต่ออังเดร มาลโรซ์ ที่โด่งดังและต้องคดีอาญา มาลโรซ์ตอนนั้นถูกควบคุมตัวชั่วคราวที่หอยุติธรรม (Le Palais de Justice) กรุงพนมเปญ ดังนี้ เมื่อหลุดคดีและสร้างอัตลักษณ์ต่อสู้ความอยุติธรรมร่วมกับกลุ่มยุวชนอันนัมไซ่ง่อนที่เผยแพร่งานเขียนของตนแล้ว ได้กลับมาฟังคำพิพากษาคดีภูมิเดรัจฉาน (ธันวาคม 1925)

อังเดร มาลโรซ์ อาศัยอิทธิพลของตนในปารีสทำให้เรื่องของภูมิเดรัจฉานถูกรับรู้เป็นวงกว้าง และความอยุติธรรมของการเก็บภาษีที่เลวร้ายและสร้างความสั่นสะเทือนโดยเฉพาะเมื่อต่อมามีการยกเลิก เรียกว่า ชาวบ้านกรังเลียวยังจำชื่อภูมิเดรัจฉานไม่ทันขึ้นใจ ตามคำสั่งที่ 13 มีนาคม1926 และให้ยกเลิกคำสั่งเดิมทั้งหมด (27 เมษายน 1925)

มีข้อสังเกตว่า เพื่อสร้างความปรองดองให้กลับมา สำนักพระราชวังส่งเจ้าหญิงเป็ญ ดารัตน์ เป็นตัวแทนพระองค์ ทำพิธีครบรอบ 1 ปีแห่งความอัปยศและอุทิศส่วนกุศลต่อผู้เสียชีวิตทุกฝ่ายทั้งหมดโดยการทำบุญเลี้ยงพระ (18 เมษายน 1926)
นับเป็นอานิสงส์ของอังเดร มาลโรซ์ อดีตโจรเสื้อสูทโบราณวัตถุผู้กลับใจ และกลุ่มปลดแอกที่เผยแพร่ความเลวร้ายอำนาจรัฐ อีกยังพัฒนาแนวคิดสุดฮิปเวลานั้น คือการนำความหมายของคำว่า “เดรัจฉาน” เดิม : อมนุษย์ คนเถื่อน ดิบ หยาบช้า ฯลฯ
สู่การตีความใหม่ไม่ต่างจากวัฒนธรรมป๊อปยุคนี้…

แปลงสาร “เดรัจฉาน” ของเขมรยุคนั้นเป็นตรงข้ามไม่ต่างจากหมู่บ้านที่มี : จิตวิญญาณอิสระ กล้าหาญ ต่อสู้ เผชิญหน้า ฯลฯ จากชนชั้นล่างที่ด้อยค่ากว่าทาสส่วย สู่คนตัวเล็กๆ ที่อหังการ์ฝ่าฝืนคำสั่งของทางการ ที่ดักดานกดทับพวกตนอย่างอธรรม

ความกระด้างกระเดื่องของภูมิเดรัจฉานที่ว่านี้ ไม่ต่างจากคำว่า “ปลดแอก” และ “เสรีภาพ” ของยุคนั้นและจนถึง “ยุคนี้” ที่กระบวนการประชาชนปลดแอกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนไม่น้อยยังต่อสู้กับความอยุติธรรมในสาระแห่งเนื้อหาเดียวกัน

และในรอบ 95 ปี ที่การหมิ่นเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้งอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ขณะที่ระบบอำนาจรัฐแห่งอดีตกลับไม่พัฒนาตนเองแต่อย่างใด

เดรัจฉานตำบล หาใช่ภูมิแรกๆ ของการเป็นผู้ถูกกระทำนี้ไม่ ในอดีตที่ผ่านมา (และจนปัจจุบัน) ต่อความไม่ปกติแบบนี้ โดยเฉพาะการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อชุมชนต่างๆ โดยการหมิ่นเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จากชื่อภูมิลำเนาของประชากรชั้นล่างผู้อาศัย

ใคร่เล่าให้ฟังว่า ตัวอย่างภูมิตำบลอีกแห่งหนึ่งที่เก่าแก่กว่าและเกิดจากการต่อสู้ปลดแอกตนเองออกจากความเป็นทาสไม่ต่างจาก “สัญลักษณ์การปลดแอกตนเอง” จากอำนาจรัฐที่อยุติธรรมนั่น โดยนอกจากภูมิเดรัจฉานแล้ว ยังมีภูมิอีกแห่งหนึ่งคือ ภูมิกันโตล

?????? (KanTol) คือตัวอย่างหมู่บ้านเกิดใหม่หลังจากปลดแอกตนเองจากความเป็นทาส แม้ชื่อนี้จะพบว่า ทางการเขมรจะตั้งให้อย่างไม่เต็มใจนัก ซ้ำยังเห็นว่ากันโตล-มีความหมายในทางต่ำต้อยด้อยค่าเทียบเท่ากับสัตว์ชั้นต่ำชนิดหนึ่งซึ่งแปลว่า-หนูนี้ คือตัวอย่างของการต่อสู้ของชนชั้นทาสในชนกลุ่มน้อย
โดยการต่อสู้ของคนกลุ่มนี้ที่ผ่านทางฝ่ายปกครองกลุ่มใหม่คือฝรั่งเศส ได้กลายเป็นกรณีศึกษาของความขัดแย้งกับราชสำนัก ในผลประโยชน์แรงงานทาสชาวชนเชียดที่เจ้าหัวเมืองของกษัตริย์ สามารถไล่ล่าจับกุมนำไปแลกเปลี่ยนเงินตรา (ไม่ต่างจากขบวนการค้ามนุษย์ยุคนี้)

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ ชาวชนเชียดกลุ่มนี้ได้อพยพไปตั้งรกราก อย่างมีอิสระ คือบริเวณที่ลุ่มกับเชิงเขาแม่โขงระหว่างจังหวัดกระแจะ-กำปงจาม หมู่บ้านกะโดลแห่งนั้น ห่างไกลจากการปฏิสัมพันธ์กับชาวเขมรพื้นราบแต่กลับพบว่า ชุมชนดังกล่าวมีพัฒนาการก้าวหน้าด้านชีวิตสมัยใหม่ จากมิชชันนารีคาทอลิกที่มีการศึกษา
ดังนี้ การสถาปนาตนเป็น “ไท” ของกันโตลแห่งชาวชนเชียดกัมพูชาเมื่อกว่า 120 ปีก่อนนั้น จึงเสมือนบรรทัดแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศที่ทันสมัยของยุคนั้น

แม้ชื่อชุมชนของทาสผู้ปลดแอกเป็นไทกลุ่มนี้จะเทียบกับสัตว์ชั้นล่างที่น่ารังเกียจ แต่เราจะเห็นว่า การเลิกทาสทั่วประเทศต่อมาของยุคนั้นได้นำไปสู่ความเท่าเทียมเช่นเดียวกับอารยประเทศ
ชัยชนะของชนเชียดเขมรแห่งหุบเขาลุ่มแม่น้ำโขงครั้งนั้นจึงยิ่งใหญ่ มันได้กดดันราชสำนักให้ยอมปฏิรูปเลิกทาสทั่วประเทศที่แม้จะเกิดขึ้นอย่างไม่สมัครใจ จนเกิดเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อไม่ต่างจากสัตว์ชั้นต่ำ
แต่มันจะเป็นไรไปเล่า? เมื่อปลดแอกตนเองจนเป็นไท ความเป็นคนในชุมชนสัตว์ชั้นต่ำ หรือหมู่บ้านภูมิเดรัจฉานที่น่ารังเกียจของคนทั่วไปนั้นจะสำคัญเยี่ยงใด?

เมื่อนี่คือ เขตคามแห่งความชอบธรรมที่เกิดขึ้นแล้วในเสรีภาพของความเป็นมนุษย์และจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ในหมู่ประชาชนคนตัวเล็กๆ ทั้งหมู่บ้านหนู : ผู้กล้าต่อกรกับราชสีห์เพื่อความเป็นไท (ภูมิกันโตล) และหมู่บ้านเดรัจฉาน : ในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันสักครั้ง
พลัน จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อไปสู่เสรีภาพและความยุติธรรม
ก็จะปลดปล่อยเป็นพลัง