คนมองหนัง | Chungking Express : บางเราในนคร (กว่าสองทศวรรษต่อมา)

คนมองหนัง

บางเราในนคร

“อยู่ไกลกันนั้นหรือ? ลมก็อาจกระพือถึง โบกไปพร้อมคำนึง ระหว่างเรา ระหว่างเรา

“ยามใกล้กันนั้นหรือ? คุไฟฮือขึ้นแผดเผา ริกลน และ รุมเร้า กันและกัน กันและกัน

“เปลวไฟแห่งเราหรือ? อาจโหมฮือช่วงสั้นๆ สถานที่และคืนวัน จะผันพลัดเราพรากไกล

“ด้วยสองเรานี้หรือ? ถือจาริกในเมืองใหญ่ ดุ่มมาและดุ่มไป ตามนาฏกรรมชาวนคร

“คืนวันในเมืองหรือ? คืออีกไฟกรุ่นสุมขอน ลนเราระทวยอ่อน และปิ้งเราแข็งกร้านเกรียม”

ข้างต้นคือบทกวีชื่อ “บางเราในนคร” ผลงานของ “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” ผู้ล่วงลับ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ก่อนจะถูกนำไปพิมพ์ซ้ำในหนังสือรวมบทกวีชื่อเดียวกันเมื่อ พ.ศ.2541

นี่คืองานเขียนในยุคที่ไม้หนึ่งมีอัตลักษณ์เด่นเป็น “กวีข้าวหน้าเป็ด” ซึ่งมุ่งแสวงหาความดีงามจากการดำเนินชีวิตสามัญธรรมดา

ก่อนจะเคลื่อนผ่านไปสู่ความเป็น “กวีโพสต์โมเดิร์น” และคลี่คลายสู่ความเป็น “กวีเสื้อแดง/ราษฎร” กระทั่งต้องเสียชีวิตลงเพราะ “เรื่องการเมือง” (?)

“บางเราในนคร” คือผลงานชิ้นเอกยุคแรกของไม้หนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาบรรยายถึงความเปลี่ยวเหงาและสายสัมพันธ์ห้วงสั้นๆ ของผู้คนในเมืองใหญ่

นี่เป็นกลุ่มเนื้อหาที่ค่อยๆ ลดบทบาทลงในครึ่งหลังทศวรรษ 2540 และหายไปอย่างแทบจะสิ้นเชิงนับแต่ต้นทศวรรษ 2550

การบรรยายถึงความเดียวดายของ “บางเราในนคร” โดยไม้หนึ่ง สอดคล้องกับบรรยากาศและวัฒนธรรมบันเทิงยุค 90 ซึ่งมุ่งพิจารณาถึงภาวะโดดเดี่ยวของมนุษย์หนุ่ม-สาวในสังคมเมือง

ภาพยนตร์สำคัญเรื่องหนึ่งที่ส่องสะท้อนค่านิยมและกระแสธารความคิดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ก็คือ “Chungking Express” (1994/2537) ของ “หว่องกาไว”

ซึ่งเพิ่งมี “หนังฉบับรีมาสเตอร์ 4K” เข้าฉายในเมืองไทย เมื่อช่วงปีใหม่

“ผู้หญิงผมทอง” และนายตำรวจ “223”

เป็นที่ทราบกันดีว่าโครงสร้างการเล่าเรื่องของ “Chungking Express” นั้นถูกแบ่งออกเป็นสองครึ่ง/ส่วน/องก์ ซึ่งมีเนื้อหาแยกขาดจากกัน ทว่าเชื่อมร้อยกันอย่างบางเบาด้วยสถานที่ เวลา และการบังเอิญเดินผ่านกันของตัวละครต่างช่วง

องก์แรกของหนังบอกเล่าถึงความสัมพันธ์หนึ่งคืนระหว่าง “อาชญากรหญิงผมทอง” (หลินชิงเสีย) ที่ใช้ชีวิตโชกโชนอยู่ท่ามกลางโลกมืด ชุมชนแออัด แรงงานพลัดถิ่นเชื้อสายเอเชียใต้ และมาเฟียฝรั่ง กับนายตำรวจหนุ่มรหัส “223” (ทาเคชิ คาเนชิโร่) ซึ่งข้องแวะกับอาชญากรรมน้อยกว่า “หญิงผมทอง” และมัวหมกมุ่นในอาการอกหักของตนเอง ผ่านสัญลักษณ์เท่ๆ อาทิ การกินสับปะรดกระป๋องหมดอายุ

ต้องสารภาพว่าผมคือคนหนึ่งในยุค 90 ที่ได้ดูเรื่องราวครึ่งแรกของ “Chungking Express” ในครั้งแรกสุด แบบแหว่งๆ วิ่นๆ จากม้วนวิดีโอเสียงพากย์ไทย ซึ่งมีการตัดทอนเนื้อหาบางส่วนอันเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาออกไป

รวมทั้งใส่บทพูดตลกๆ เข้ามาอย่างไม่ค่อยถูกกาลเทศะ เช่น การพากย์เสียงวอยซ์โอเวอร์ว่า “223” ชอบเพลง “แรงบันดาลใจ” ของ “แร็พเตอร์” เป็นต้น

จึงมิใช่เรื่องแปลกที่หนังส่วนแรกจะถูกกลบรัศมีโดยหนังส่วนหลัง ทั้งเพราะเนื้อหาที่จี๊ดจ๊าดโดนใจวัยรุ่นเมื่อเกือบสามทศวรรษก่อนน้อยกว่า และเพราะอรรถรส (แรกชม) ซึ่งบกพร่องหายไป เพราะการต้องถูกดัดแปลงบิดผันให้เข้ากับบริบทแบบไทยๆ

อย่างไรก็ดี เมื่อได้มานั่งดู “Chungking Express” ฉบับรีมาสเตอร์ ผมคงเป็นเช่นเดียวกับผู้ชมอีกหลายราย ที่รู้สึกชอบและอินหนังครึ่งแรกมากขึ้น

ผมรู้สึกว่าเรื่องราวในพาร์ตนี้มีรสชาติกลมกล่อม เนื่องจากสามารถคละเคล้าความไม่สมหวังแต่เปี่ยมกำลังใจ ความหงอยเหงาโดดเดี่ยวกับความเอื้ออาทร ความงดงามและความโหดเหี้ยมอัปลักษณ์ในมหานคร รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกแบบคนหนุ่มสาวและการมีวัยวุฒิ ให้ผสมผสานเข้ากันได้อย่างเข้มข้นลงตัว

สายสัมพันธ์ที่ทั้งเหินห่างและชิดใกล้ระหว่าง “ผู้หญิงผมทอง” กับ “223” นั้นคือสัมพันธบทอันสอดประสาน-สนทนากับบทกวี “บางเราในนคร” ได้อย่างเหมาะเจาะ

ทั้งนี้ ในซีนท้ายๆ ที่ตำรวจหนุ่มไปวิ่งออกกำลังเพื่อให้เหงื่อทะลักไหลออกจากร่างกายแทนน้ำตาแห่งความอกหักนั้น ก็ทำให้ผมอดนึกถึงเพลง “ไม่เป็นไรเลย” ของวง “นูโว” ไม่ได้

สำหรับประเด็นนี้ ต้องยอมรับว่า “นิติพงษ์ ห่อนาค” คนเขียนคำร้องของเพลงดังกล่าวเมื่อปี 2531 คือผู้มาก่อน “เฮียหว่อง” จริงๆ

“อาเฟย” และนายตำรวจ “663”

จากกลางทศวรรษ 1990 ล่วงถึงสหัสวรรษใหม่ ดูคล้ายผู้ชมส่วนใหญ่จะลุ่มหลงดื่มด่ำใน “Chungking Express” เพราะเรื่องราวความรักความฝัน ณ ครึ่งเรื่องหลัง

หนังองก์นี้ฉายภาพชีวิตเหงาเศร้าของนายตำรวจ “663” (เหลียงเฉาเหว่ย) ซึ่งเพิ่งจะถูกคู่รักแอร์โฮสเตสเททิ้ง ระหว่างทำหน้าที่สายตรวจยามค่ำคืน “663” ได้รู้จักกับ “อาเฟย” (เฟย์ หว่อง) พนักงานสาวในร้านขายอาหารฟาสต์ฟู้ดที่เขาใช้บริการเป็นประจำ

แล้วหญิงสาวผู้ทำงานเก็บเงินเพราะใฝ่ฝันจะเดินทางไปแคลิฟอร์เนีย ก็ค่อยๆ แอบแทรกซึมตนเองเข้าสู่วิถีชีวิตของตำรวจหนุ่ม ที่เธอแอบปิ๊ง

แม้หลายคนจะประทับใจหนังครึ่งหลังน้อยลงเมื่อมาดูซ้ำในปัจจุบัน ทว่าโดยส่วนตัว ผมกลับยังชื่นชอบและรู้สึกสนุกกับเนื้อหา-บรรยากาศของมันอยู่

ด้านหนึ่ง ผมชอบพาร์ตสองของ “Chungking Express” เหมือนที่ตัวเองยังสามารถรู้สึกอิ่มเอมกับเพลงยุค 90 ที่เราเคยหลงใหลช่วงวัยรุ่น (ไม่ว่าคนแต่ง-คนร้องเพลงจะเป็นใคร และมีจุดยืนแบบไหนในวันนี้)

พูดอีกอย่างคือผมยังหลงรักกลิ่นอายแห่งความเยาว์วัยที่ล่องลอยเวียนวนเป็นบรรยากาศรายล้อมพระเอก-นางเอกเอาไว้ แม้จะตระหนักดีว่ามันเป็นเพียงภาวะฟุ้งฝันอันเลื่อนลอยก็ตาม

อีกด้านหนึ่ง ผมรู้สึกว่าเรื่องราวชวนฝันระหว่าง “อาเฟย” กับ “663” นั้นไม่ค่อยมีความเชื่อมโยงกับบทกวี “บางเราในนคร” สักเท่าใดนัก

แต่พฤติการณ์ของตัวละครที่สวมบทโดย “เฟย์ หว่อง” กลับทำให้ผมนึกถึงแนวคิดเรื่อง “interpretive labor” (ขออนุญาตไม่แปลเป็นภาษาไทย) ของ “เดวิด เกรเบอร์” นักมานุษยวิทยาและนักอนาธิปไตยคนสำคัญผู้ล่วงลับไปเมื่อปีก่อน

ตามทัศนะของเกรเบอร์ สายสัมพันธ์ทางสังคมหลายชนิด นั้นจะมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความไม่เท่าเทียมบางอย่างแฝงเร้นอยู่

เช่น ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน มักมีฝ่ายหนึ่งซึ่งต้องเฝ้าครุ่นคิด ตีความ จินตนาการอย่างหนักหน่วง ว่าตนเองจะดูแล-ใส่ใจ-บริการ-รับใช้อีกฝ่ายอย่างไร ทั้งๆ ที่ฝ่ายตรงข้ามแทบจะไม่ได้รับภาระทางอารมณ์ความรู้สึกในระดับเดียวกัน

ดุจเดียวกับเรื่องราวของ “อาเฟย” และ “663” ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนว่าหญิงสาวร้านฟาสต์ฟู้ดนั้นต้องแบกรับภาระหนักหนาเหลือเกิน ในการจินตนาการถึงความรักที่เธอมีต่อตำรวจหนุ่ม

เธอเฝ้าคิดถึงและเป็นห่วงเป็นใยเขาแทบทั้งวัน คิดจะ (แอบ) เข้าไปเรียนรู้และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอันหงอยเหงาเศร้าหม่นของเขา เธอรู้สึกเป็นทุกข์ร้อนแทนเขา กระทั่งพยายามเข้าแทนที่คนรักเก่าของเขา

รวมถึงค่อยๆ แปรเปลี่ยนความฝันในการเดินทางไปท่องเที่ยวแคลิฟอร์เนียเพื่อตัวเธอเอง มาสู่การบินไปแคลิฟอร์เนียในฐานะแอร์โฮสเตสเพื่อเขา

หมายความว่าทุกสิ่งที่ “อาเฟย” ครุ่นคิด (และลงมือทำ) ล้วนดำเนินไปเพื่อยังประโยชน์ให้แก่ “663” ผู้มีสีหน้าอมทุกข์แบกโลก แต่แทบไม่รู้เรื่องราว ระแคะระคาย หรือรับภาระในการ “ตีความ” อะไรหลายอย่างซึ่งเปลี่ยนแปลงไป (นอกจากจะรู้สึกเปลี่ยวเหงาและยังคะนึงหาอดีตคนรัก)

สามารถกล่าวได้ว่า “อาเฟย” กำลังถูกขูดรีดจินตนาการอยู่ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เสมอภาคระหว่างเธอกับผู้ชายที่เธอแอบรัก

(ขณะที่สายสัมพันธ์ห้วงสั้นๆ ระหว่าง “ผู้หญิงผมทอง” กับ “223” กลับมีลักษณะแลกเปลี่ยน-พึ่งพิงซึ่งกันและกันมากกว่า)

ถึงแม้เราอาจตั้งคำถามได้ว่า การที่ “663” ยอมพลิกบทบาทมาขายอาหารฟาสต์ฟู้ดในตอนจบของหนัง ย่อมถือเป็นความพยายามจะชดใช้แรงงานของเขาเพื่อทดแทนน้ำพักน้ำแรงน้ำใจที่ผู้หญิงเช่น “อาเฟย” เคยต้องอุทิศไปหรือไม่?

แต่เราต้องไม่ลืมด้วยว่า อดีตตำรวจนายนี้ก็มีสถานะเป็น “นายทุนน้อย” หรือเจ้าของธุรกิจหน้าใหม่ไปพร้อมๆ กัน

ขออนุญาตปิดท้ายด้วยการพูดถึงเพลงประกอบภาพยนตร์

ต้องยอมรับว่าเมื่อได้ดูองก์หลังของ “Chungking Express” ตอนเป็นวัยรุ่น ผมก็ติดตรึงอยู่กับความโดดเด่น ความมีเสน่ห์ และความเท่ของเพลง “Dream Lover” (“เฟย์ หว่อง” คัฟเวอร์เพลง “Dreams” ของ “เดอะ แครนเบอร์รีส์” เป็นภาษากวางตุ้ง) และ “California Dremin”” ของ “เดอะ มามาส์ แอนด์ เดอะ ปาปาส์” คล้ายคลึงคนดูทั่วไป

แต่พอมาดูหนังรอบล่าสุด เพลงที่ตรึงตราหัวใจผมมากกว่ากลับเป็น “What a Difference a Day Makes” ผ่านเสียงร้องของ “ไดนาห์ วอชิงตัน”

คงเป็นเพราะเพลงนี้มีความไพเราะทรงพลัง และไม่ถูกใช้เยอะแยะ-ฟูมฟายเท่ากับสองเพลงแรก