ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 มกราคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | แตกกอ-ต่อยอด |
เผยแพร่ |
แตกกอ-ต่อยอด
ศิลา โคมฉาย
ซึ่งต้องรับผิดชอบ
ผมไม่ได้คิดถึงวันเด็กประจำปีเลย ปล่อยมันจมหาย เลือนไปในกระแสโรคระบาด
ตราบได้ฟังบทสัมภาษณ์ชนาธิป สรงกระสินธ์ นักฟุตบอลหมายเลขหนึ่งของประเทศ เมสซี่เจผู้โด่งดังและเป็นที่ยอมรับ ชื่นชมในเวทีฟุตบอลอาชีพญี่ปุ่น
ชนาธิปที่เคยผ่านปีที่มีแต่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม มาถึงปีนี้บาดเจ็บกล้ามเนื้อซ้ำซาก
กล้ามเนื้อฉีกซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้ไม่ได้ปะทะกับใครรุนแรง
ตลอดฤดูกาลแข่งขัน ได้ลงสนามเพียงครึ่งเดียว ท้ายที่สุดต้องเก็บของกลับบ้านพักรักษาตัว ฟื้นฟูสภาพร่างกายกับผู้เชี่ยวชาญทางกายภาพ
ชนาธิปได้ข้อสรุปสำคัญ
กล้ามเนื้ออันบอบบาง ไม่แข็งแรงพอ ฉีกขาดได้ง่าย เกิดจากการไม่ได้เสริมสร้างอย่างถูกวิธี พัฒนาตามความเหมาะสมของช่วงวัย ต่างจากนักกีฬาญี่ปุ่น ที่มีขนาดร่างกายไล่เลี่ยกันกับคนไทย แต่ระบบการพัฒนาศักยภาพ มีโครงสร้าง แบบแผนที่ชัดเจน
แต่ละขั้นตอนสอดคล้องกับวัย สภาพร่างกายและสภาพทางจิตใจถูกยกระดับไปด้วยกัน
ทักษะเพิ่มความสุขพูน
พวกเขาจึงมีกล้ามเนื้อภายในแข็งแรง มีจินตนาการไหวพริบ ความฉลาดเฉลียว ที่เรียกกันในภาษาเฉพาะ เซนส์ฟุตบอลดี
บนความสำเร็จ ชนาธิปมองย้อนไปถึงวัยเด็ก ได้เห็นว่ากล้ามเนื้อของเขาแทบไม่ได้เพาะสร้างอย่างถูกวิธี หนักไปทางการสร้างเบสิก ใส่ทักษะ และเสริมกระดูกด้วยการเดินสายเล่นฟุตบอล
บางวันเล่นถึง 5 นัด กระทั่งข้ามรุ่นวัยสิบสามสี่ปีลงไปปะทะกับทีมผู้ใหญ่
การเป็นคนตัวเล็กจำเป็นต้องทำงานหนัก แสดงศักยภาพ เพื่อแสวงหาโอกาส ลบล้างคำปฏิเสธที่มีมาตลอดเวลา
การไม่ถูกเพาะสร้างตามขั้นตอน แต่ใช้มันหนักหนาสาหัส จึงอยู่ในสภาพเปราะบาง
ชนาธิปอาจพูดถึงความสำเร็จด้วยใจที่ไม่ยอมพับพ่ายต่ออุปสรรค แต่ไม่อาจซ่อนความขมขื่นจากแรงกดดัน จากภาระที่ถูกโยนเข้าใส่เกินวัย
วัยเด็กที่ความร่าเริงสดใส พัฒนาการจากการเล่นสนุก ผ่านเข้ามาน้อยมาก
พ่อมีความหวัง ตั้งความหวัง และคาดหวังกับลูก ให้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ เขาจึงต้องอยู่กับฟุตบอล ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และหนักหนา
ส่วนด้อยทั้งขนาดสรีระ ความจำกัด ขาดเขิน อยู่ห่างจากโอกาส ถูกทดแทนด้วยความพยายามที่ต้องมากกว่าใคร ทัศนคติที่เหนือกว่า
ลูกต้องเก่ง และเป็นผู้ชนะ
ถูกคาดหวังว่า จะมีพื้นฐานฟุตบอลดี จับบอลนิ่ง แตะเล่นในจังหวะเดียว คิดเร็วทำเร็วบนสนามปุปะด้วยหลุมบ่อ บอลใบเดียวที่เตะกันจนบวมอืด ตอบสนองผิดจังหวะการบังคับ
ขณะศูนย์ฟิตเนสคือการวิ่งขึ้นบันไดสะพาน
ชนาธิปที่มีความใฝ่ดีเป็นพื้นฐาน รักครอบครัว อยากให้พ่อ-แม่ข้ามพ้นความขัดสน ข่มจิตใจเอาชนะความกดดัน จากการถูกบังคับ ลงโทษตบตี ซึ่งเคยแตกระเบิดถึงขั้นตอบโต้ เตะฟุตบอลอัดใส่พ่ออย่างแรง
บนความสำเร็จ แลกด้วยอาการบาดเจ็บเรื้อรัง เขาสรุปว่า วิธีการของพ่ออาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกและดี
ยุคสมัยใหม่มีศูนย์การฝึก มีระบบอันเป็นที่ยอมรับ เป็นสากล
ก่อนการหายไปของวันเด็ก ผมได้เห็นคลิปพ่อของเด็กชาย 8 ขวบคนหนึ่ง สนทนากับโค้ชฟุตบอลอาชีพ ประเด็นเขาพาลูกชายไปเข้าแคมป์ศูนย์ฝึกฟุตบอลญี่ปุ่น
หลังจากเคยหอบลูกผ่านอะคาเดมีแบบไทยๆ มาหลายที่
เขาว่า เด็กวัยนั้นมีโปรแกรมที่เป็นเกมเล่นสนุก ไม่มีการแข่งขันเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อเอาชนะ เด็กเพลิดเพลินอยู่ในโลกฟุตบอลของตัวเอง
ต่างจากแบบเราๆ ที่ผู้ปกครองคาดหวัง เมื่อเข้าศูนย์ฝึกลูกจะต้องได้วิชา มีความสามารถ เก่งและทำได้ ยืนตะโกนเชียร์ร้องสั่งอยู่ข้างสนาม
ลูกที่ทำพลาดมักเหลือบมองแบบขวัญหนีดีฝ่อ
ศูนย์จะต้องเกมจัดการแข่งขันจริงจัง ลูกจะต้องได้ลงทีม และต้องคว้าชัยชนะ
กระทั่งเสพติดความสำเร็จเฉพาะหน้า มากกว่าความสุข และการเสริมสร้างทุกส่วนเพื่อการพัฒนาไปตามระดับอายุ สู่จุดสูงสุดในอาชีพ
อยากชูถ้วยเด็กๆ มากกว่าได้เพาะสร้าง กระตุ้นจินตนาการ อันเป็นฐานของความเป็นเลิศ
วิถีแบบชนาธิป ดูเหมือนเป็นสิ่งปกติของสังคมไทย
แม้ทุกคนจะเคยเป็นและผ่านวัยเด็ก แต่เรามักหลงลืมและละเลยความจริง หลังจากตัวกระโจนลงไปในสนามชีวิต วุ่นวายอยู่กับการแข่งขัน เพื่อคว้าชัยให้ได้
เราก็พากันผลักลูกหลาน ชี้ ลาก กำหนด วางเป้าหมายเพื่อชัยชนะ ใส่ความเชื่อยัดความหวัง และคาดหวัง อยู่ห่างจากความเป็นจริง ปิดช่องทางการแลกเปลี่ยน รับฟัง
เด็กที่ไม่อาจเป็นเด็ก แอบปฏิเสธ และสั่งสมการต่อต้านอยู่ลึกๆ อาจแตกระเบิดออกมาให้ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่งงๆ ก่อนจะสรุปแบบมักง่ายว่าเด็กสมัยนี้…
ทั้งที่ล้วนเป็นผลิตผลซึ่งตนต้องรับผิดชอบ