ไม่ต้องการรัฐบาลแบบนี้! / หน้าพระลาน-จัตวา กลิ่นสุนทร(ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

หน้าพระลาน
จัตวา กลิ่นสุนทร

ไม่ต้องการรัฐบาลแบบนี้!

วันที่เขียนต้นฉบับล่วงหน้าครั้งนี้ตัวเลขการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของพี่น้องประชาชนคนไทย และแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าวิตกกังวลเพราะเป็นตัวเลข 3 หลักทุกวัน
ยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง การทำงานอย่างหนักของแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดำเนินการตรวจหาในเชิงรุกยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่เอาใจช่วยให้คลี่คลายเบาบางลงโดยเร็ว
เชื่อว่าถึงวันนี้ตัวเลขคนติดเชื้อในประเทศไทยพุ่ง จะต้องเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นตัวเลข 5 หลัก กว่าหนังสือ “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้เดินทางสู่ร้านหนังสือจนถึงมือท่านผู้อ่าน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้กลายเป็นผู้มีประสบการณ์จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งก่อนจนได้รับคำชมว่าสามารถจัดการได้เป็นอย่างดีเป็นประเทศต้นๆ ของโลก แต่กลับพูดจาไม่ค่อยจะอยู่กับร่องกับรอย ไม่ค่อยรับผิดชอบ โยนการตัดสินใจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่กลับมาเปลี่ยนแปลงเสียเองเกี่ยวกับเรื่องเวลาการปิดของร้านอาหาร กับการแพร่ระบาดครั้งนี้
สำหรับนโยบายด้านการดูแลช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องประสบกับความทุกข์ยาก รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยง ทำท่าเหมือนกับว่าไม่มีเงินทั้งๆ ที่เงินกู้งวดแรกจากการระบาดครั้งก่อน ยังคงมีเหลืออยู่

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้แทนฯ ในพื้นที่ของจังหวัดระยองที่มีการแพร่ระบาดอย่างสูง เสนอให้ “ล็อกดาวน์” พื้นที่ 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อจะได้จบเร็ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ขอให้เป็นเพียงแค่ “พื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด”
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า “รัฐบาลต้องการมีอำนาจ แต่ไม่ต้องการรับผิดชอบใดๆ เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งการ ซึ่งสามารถทำมากกว่าคำสั่ง ศบค.ก็ได้ ทำให้แต่ละจังหวัดมีรายละเอียดมาตรการไม่เหมือนกันจนประชาชนเกิดความสับสน หรือกระทั่งบางจังหวัดออกมาตรการเข้มจนไม่แตกต่างจากการปิดเมือง หรือล็อกดาวน์ ซึ่งการปิดเมืองของผู้ว่าฯ ด้วยการอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะแตกต่างจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค เพราะอย่างหลังต้องมีการชดเชยเยียวยาประชาชนอย่างเป็นระบบ”
อันที่จริง พ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ครั้งแรกไม่ได้มีการยกเลิก ได้ต่ออายุมาเรื่อยๆ แต่กลับเอาไปใช้กับเรื่องการเมืองเหมือนดังที่คาดหมายกันไว้ เช่น การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน กระทั่งล่าสุดมาใช้จับกุมการ์ดอาสาที่เรียกว่ากลุ่มวีโว่ (Wevo) ที่มีโตโต้หรือ “ปิยรัฐ จงเทพ” เป็นหัวหน้ากลุ่ม เมื่อพวกเขานำเกษตรกรเอากุ้งมาขายที่ท้องสนามหลวง และถนนราชดำเนิน และจับกุมผู้ประท้วงเรียกร้องขอคืนเงินที่ไม่ใช่ขอทานบริเวณหน้าประตูทำเนียบรัฐบาล
โดยใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากบุกเข้าจับกุม ซึ่งได้กลายเป็นคำครหาของประชาชนว่าแทนที่จะใช้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไปดูแลตามแนวชายแดนเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันการลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมายเข้ามา หรือเอากำลังเหล่านี้ไปจับกุมเก็บกวาดตู้ม้า บ่อนพนันผิดกฎหมายซึ่งกลายเป็นแหล่งต้นตอของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19

พูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาทีไรอดย้อนคิดถึงเรื่องเดิมๆ เก่าๆ เนิ่นนานดึกดำบรรพ์ไม่ได้ เพราะสภาพของสังคมไทยที่ต่อต้านการให้มี “กาสิโน” หรือบ่อนการพนันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีเพียงคาถาเดียวว่า “บ้านเราเป็นเมืองพุทธศาสนา” จนกระทั่งบรรดาประเทศรอบๆ บ้านเขาเปิดกันจนทั่ว และนักเสี่ยงโชคก็คือคนไทยในประเทศของเราเป็นขาประจำ
การเปิดเล่นการพนันซึ่งต้องผิดกฎหมาย เพราะประเทศเราไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ มันจึงต้องแอบลักลอบเล่นกัน ซึ่งในเมื่อเป็นของผิดกฎหมายจึงต้องจ่ายทรัพย์จ่ายส่วยเป็นขั้นเป็นตอนกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบ ก็เป็นอย่างนี้แหละ ถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นเด็กน้อยหิ้วกระเป๋าเดินตัวตรงไปเรียนหนังสืออยู่
ท่านจะไม่รู้อะไรเลยหรือว่าบ้านเรามันมีการลักลอบเล่นการพนันกันเป็นล่ำเป็นสัน และผู้ที่จะเป็นเจ้าของกิจการได้ต้องเป็นขาใหญ่ เป็นผู้กว้างขวาง ใจถึงโอบอ้อมอารีโดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย และ ฯลฯ
เป็นไปได้อย่างไรที่ พล.อ.ประวิตรจะบอกว่า “กรุงเทพฯ ไม่มีบ่อน”–(แล้วไอ้ที่ยิงกันตาย 4 ศพแถวพระราม 3 เรียกว่าอะไร?) ก่อนจะยอมจำนนรับว่ามีในเวลาต่อมา
พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งหนักกว่าขึ้นไปอีก พูดจาให้สัมภาษณ์ออกอากาศเสียงดังฟังชัดว่า “ประชาชนต้องช่วยกัน ใครรู้ก็บอกมาที่ผม ผมจะจัดการให้เรียบร้อย–”
แต่เวลา “น.พ.บัญญัติ เจตนจันทร์” ส.ส.ในพื้นที่เขาชี้แนะ เขาให้สัมภาษณ์สื่อทั้งอภิปรายในสภาตั้งนมนานเป็นแรมปีหลังจากที่ท่านเป็นนายกฯ ที่เรียกว่ามาจากการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2562 ทำไมปล่อยให้เรื่องมันมาแดงโร่ฝีแตกเอาที่ระยองเมื่อคนเดินสายเล่นการพนันดันติดเชื้อไวรัส

ไวรัสโควิด-19 สร้างความหายนะให้กับ “เศรษฐกิจ” และชีวิตผู้คนทั่วโลกพังพินาศราบเรียบเป็นทิวแถว ประชาชนอดอยากยากแค้น ล้มป่วยตายเพราะติดเชื้อเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นทุกวันๆ ในเวลาเดียวกันคนที่ยากไร้สิ้นเนื้อประดาตัวก็ไม่น้อย ประเภทสมองคิดได้แต่เรื่องฉกวิ่งชิงปล้นเพื่อความอยู่รอดก่อดำเนินการไป ที่ท้อแท้ในชีวิตถึงกับตัดสินใจลาโลกด้วยการฆ่าตัวตายก็เกิดขึ้นมาแล้ว
ชีวิตประชาชนขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่เขาเลือกให้มาบริหารประเทศว่าจะมีสติปัญญาความสามารถขนาดไหน มิใช่เอาแต่โทษประชาชนโดยไม่หันมองตันเอง และรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมา พร้อมทั้งใช้อารมณ์ฉุนเฉียวไม่ฟังใครทั้งนั้น คิดว่าเก่งมีความสามารถมากกว่าใคร ฟังแต่คนรอบข้างที่ไร้สาระเอาแต่ประจบสอพลอหาประโยชน์ไปวันๆ
วิกฤตของโควิด-19 ถูกนำมาเป็นข้ออ้างในทางการเมือง เช่น หยุดพักการประชุมสภา 2 สัปดาห์ คณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลื่อนการประชุม เชื่อว่ามันต้องแอบแฝงด้วยกลเกมเพื่อยื้อดึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลไม่เคยมีความจริงใจ รัฐบาลอาจมองไปถึงเรื่องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกด้วย ถ้าหากลากอะไรยาวๆ ออกไปอาจไม่ต้องตอบคำถามที่ยากยิ่งของฝ่ายค้าน
อันที่จริงในสถานการณ์เปราะบางคับขันของบ้านเมืองเรื่องการแก้ปัญหาโรคระบาด การหาทางเยียวยาประชาชนควรต้องรวมหัวกันเพื่อหามาตรการที่ดี มีประสิทธิภาพ มาเร่งดำเนินการแก้ไข สภาจึงควรเป็นแหล่งระดมความคิดที่ดีที่สุด
การแก้ปัญหามิใช่เพียงแค่ให้ประชาชนหยุดอยู่กับบ้าน 2 อาทิตย์ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ว่า โดยลืมไปว่าประชาชนเป็นผู้หาเช้ากินค่ำ อยู่บ้านวันสองวันก็อดตาย

รัฐบาลคณะนี้มีสิ่งแวดล้อมเป็นพิษอยู่รายรอบ หลับหูหลับตาอวยกันแบบสวนทางกับความเป็นจริง แต่ผู้นำกลับชื่นชอบ ตรงกันข้ามกับคำแนะนำจากอดีตนายกฯ ซึ่งยอมรับกันว่ามีวิสัยทัศน์ระดับภูมิภาคจนถึงระดับโลก ที่ชี้แนะว่าการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 น่าจะเป็นการป้องกัน มากกว่าการควบคุม
เรื่องรัฐธรรมนูญแน่นอนว่าคนที่ได้เปรียบอยู่แล้วก็ไม่ต้องการแก้ อันที่จริงรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นเป็นประชาธิปไตยมากฉบับหนึ่ง ถ้ามีความจริงใจนำกลับมาแก้ไขปรับปรุงให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนก็จะรวดเร็ว
ทุกวันนี้เทคโนโลยีมันเปลี่ยน เราต้องตามให้ทัน ประเทศจีนเขาเอาคนเก่งกลับมาทำงาน ความจริงไม่ต้องเขินอายกลัวเสียหน้า นำเอาความคิดเหล่านี้ไปปฏิบัติเพื่อพาประเทศชาติให้เดินหน้าอยู่รอด
ส่วนการระบาดครั้งใหม่ของไวรัสมิได้เกิดจากประชาชนการ์ดตก แต่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐบกพร่องหละหลวม ซึ่งก็ยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆ ในขณะ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวโทษแรงงานข้ามชาติ ประชาชน โดยมองไม่เห็นความผิดพลาดของตนเอง
ยังยืนยันว่าประชาชนพุ่งเป้าสู่ “พล.อ.ประยุทธ์+พล.อ.ประวิตร+พล.อ.อนุพงษ์” ที่กุมอำนาจด้าน “ความมั่นคง” แบบเบ็ดเสร็จว่าจะ “ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” กับการระบาดรอบนี้
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวอีกว่า “รัฐบาลที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความเดือดร้อนของประชาชน คือรัฐบาลที่ไม่สมควรบริหารประเทศนี้อีกต่อไปแม้แต่นาทีเดียว–”
ประชาชน (ก็) ไม่ต้องการรัฐบาลแบบนี้!