นิ้วกลม/มิตรสหายเล่มหนึ่ง- อำนาจของเวลา (ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง
นิ้วกลม
[email protected]

อำนาจของเวลา

ปกติแล้วในช่วงปีใหม่เราจะมีความรู้สึกว่ากำลังจะ ‘เริ่มต้นใหม่’ หลายคนอาจอินถึงขนาดคิดฝันว่าจะมี ‘ชีวิตใหม่’ ความรู้สึกเช่นนี้อบอวลอยู่ในสังคมประมาณหนึ่งเดือน จากนั้นเมื่อเข้าสู่กุมภาพันธ์ก็ค่อยๆ จางคลายกลายมาเป็นช่วงเวลาปกติ
แต่ปีนี้แปลก ความรู้สึก ‘ใหม่’ ที่ว่านั้นหายไปไวกว่าปีอื่น เหมือนโผล่ขึ้นมาแวบหนึ่งแล้วก็หายลับไปเลย บางคนยังไม่ทันรู้สึกด้วยซ้ำ กลับรู้สึกเหมือนปีที่แล้วลากยาวต่อเนื่องมาถึงปีนี้
ราวกับมกราคม 2021 เป็นเพียงเดือนที่สิบสามของปี 2020
นั่นแปลว่า เวลาในความรู้สึกเราไม่ตรงกับปฏิทินเสมอไป และดูเหมือนเรื่องใหญ่อย่าง ‘โควิด-19’ จะกลายเป็นหมุดหมายที่ใหญ่และสำคัญกว่าเลขปี
เชื่อว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป เราจะจดจำช่วงเวลานี้ว่า ‘ช่วงโควิด’ โดยพร้อมเพรียงกัน

หนังสือ ‘หมุนนาฬิกาสู่เวลาทางสังคม’ โดยฐานิดา บุญวรรโณ เล่าถึงความคิดเรื่องเวลาของเอมิล ดูร์ไกม์ นักสังคมวิทยาผู้นำเอาเรื่องเวลามาอธิบายสังคม
สำหรับเขา เวลามีต้นกำเนิดจากสังคม
เมื่อพูดถึงเวลามันจึงไม่ใช่เวลาของปัจเจกคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเวลาของพวกเราที่ใช้เวลาร่วมกัน
ฉะนั้น ปฏิทินจึงเป็นเสมือนเครื่องกำกับจังหวะของกิจกรรมส่วนรวม เพื่อประกันความสม่ำเสมอของกิจกรรมนั้นๆ (เรานัดวันเดือนปีกันได้ก็เพราะใช้ปฏิทินเดียวกัน)
เมื่อผู้คนอยู่ในกรอบของเวลาที่กำหนดโดยสังคม สังคมจึงมีอิทธิพลหรืออำนาจเหนือปัจเจกบุคคลได้โดยผ่านกรอบเวลาเหล่านี้ เช่น กำหนดระยะเวลาเข้างาน-เลิกงาน หรือกำหนดจังหวะว่าปีใหม่จะมาถึงในช่วงนี้ แล้วผู้คนก็เฉลิมฉลองกัน
ถ้าไม่มีเวลากลาง แต่ละคนใช้เวลาของตัวเอง สังคมย่อมมิได้มีโฉมหน้าเป็นระบบระเบียบอย่างที่เป็นอยู่
เวลาจึงไม่ได้เป็นของ ‘ตัวเรา’ แต่เป็นของ ‘พวกเรา’
และเราก็รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพราะใช้เวลาร่วมกัน มีปฏิทินเดียวกัน มีเวลาในนาฬิกาที่ผูกไว้กับข้อมือเป็นตัวเลขเดียวกัน ตัวเลขบอกเวลาบนจอมือถือก็ตรงกัน จังหวะชีวิตต่างๆ ของเราจึงหมุนไปภายใต้ ‘เวลา’ เดียวกันนี้

เวลาทางสังคมที่ว่านี้ไม่ได้มีแค่นาฬิกาและปฏิทิน
แต่ยังหมายถึงกิจกรรมสารพัด เช่น คอนเสิร์ต วันรับปริญญา งานเปิดตัวสินค้า ขบวนแห่ บั้งไฟพญานาค ฯลฯ ซึ่งครอบคลุมถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
เราผูกโยงตัวเองไว้กับเวลาในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน แถมยังใช้เวลาแบบนี้เป็นจุดอ้างอิงอยู่เนืองๆ เช่น “เจอกันหลังคอนเสิร์ตเลิกนะ” ซึ่งจะสื่อสารแบบนี้ได้ก็แปลว่าตัวเรากับคู่สนทนาต้องรับรู้ ‘เวลา’ นี้ร่วมกัน
เวลาทางสังคมเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเรามากขึ้นตามการขยายตัวของเมือง และการดึงดูดผู้คนเข้ามาทำงานในเมืองร่วมกันในปริมาณมหาศาล
จึงน่าสนใจว่า ก่อนที่เวลาจะเป็นสิ่งกำหนดชีวิตผู้คน เส้นทางพัฒนาการของสังคมมนุษย์เป็นอย่างไร
หนังสือเล่มนี้บอกว่า ขั้นแรกผู้คนในสังคมถูกกำหนดด้วยบุคคลคนเดียว เช่น อำนาจกษัตริย์ คนในสังคมเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรงทางกายภาพ จึงควบคุมอารมณ์ด้วยการ ‘ควบคุมตัวเอง’ เพราะกลัวการถูกลงโทษจากผู้มีอำนาจ
ต่อมาพอเกิดรัฐขึ้น อำนาจไปอยู่ที่รัฐบาล มีกฎหมายและตำรวจมาควบคุมผู้คนในสังคม ใช้กำลังบังคับให้คนเหล่านั้นควบคุมอารมณ์ตนเอง
ยุคนี้ผู้คนจึง ‘ยับยั้งชั่งใจ’ ไม่ให้กระทำผิด เป็นการคุมด้วยกฎระเบียบ
ขณะที่ ‘เวลา’ ควบคุมเราโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ไม่มีตำรวจมาตรวจ ไม่มีกฎหมายขู่ให้ทำตาม มันสร้างกรอบบางอย่างขึ้นมาให้เราปฏิบัติตามโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ แม้เวลาจะเป็นนามธรรม แต่ก็มีวัตถุจับต้องได้มาค้ำจุนการมีอยู่ของมัน นั่นคือสิ่งก่อสร้างอย่างหอนาฬิกา และสิ่งประดิษฐ์อย่างนาฬิกาข้อมือ
จากนั้นชีวิตมนุษย์ก็เปลี่ยนไป จากที่เราเคยกินเมื่อหิว นอนเมื่อง่วง ทุกวันนี้เรากินเพราะมันถึงเวลาพักเที่ยงแล้ว ตัวเลขในนาฬิกาข้อมือชี้ไปที่เลข 12 และเราก็นอนเพราะมันสี่ทุ่มแล้ว ไม่ว่าจะง่วงหรือไม่ก็ตาม

เมื่อชีวิตผูกกับเวลาและถูกกำหนดโดยเวลา วิธีมองชีวิตของมนุษย์เราก็เปลี่ยนตามไปด้วย
ในสังคมยุคก่อนอุตสาหกรรม ชีวิตประจำวัน การทำงาน การพักผ่อนมิได้แยกจากกันเด็ดขาดเหมือนในตอนนี้
ที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบอุตสาหกรรมต้องการให้คนทำงานต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพราะเครื่องจักรไม่ต้องหยุดทำงาน ความคุ้มค่าที่สุดจึงเกิดจากการทำงานต่อเนื่องยาวนาน ใช้เวลาน้อยได้เนื้องานมาก การทำงานหนัก ความขยัน ประสิทธิภาพ productivity จึงกลายเป็นคุณค่าที่เหล่าคนทำงานไขว่คว้าอยากทำให้ทะลุขีดจำกัดขึ้นไปเรื่อยๆ
ยิ่งขยัน ยิ่งดี
ยิ่งมีประสิทธิภาพ ยิ่งมีคุณค่า
เราจึงให้คุณค่ากับการงานเป็นเรื่องหลักในชีวิต มากกว่าการพักผ่อน นอนเล่น อยู่กับธรรมชาติ เล่นกับลูก กอดจูบสามี-ภรรยา หรือเฮฮากับมิตรสหาย
เช่นนี้แล้ว ชีวิตจึงถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือ ทำงานกับพักผ่อน
เวลาทำงานจึงไม่ใช่เวลาเล่น ที่ทำงานจึงกลายเป็นสถานที่จริงจัง เราถูกทำให้ยอมจำนนต่อการทำสิ่งเดิมซ้ำๆ ตื่นเช้า เข้าออฟฟิศ เข้าโรงงาน อยู่ที่เดิมๆ ทำสิ่งเดิมๆ จึงไม่แปลกที่เราจะ ‘เบื่อวันจันทร์’ กันเป็นปกติ
มิเพียงแค่นั้น สิ่งแตกต่างจากคนยุคก่อนคือ ระบบอุตสาหกรรมเอื้อให้ผู้คนทำงานได้ตลอดทั้งปี ไม่มีฤดูกาล ไม่เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศ ตารางเวลางานและชีวิตจึงอยู่ในกรอบใหม่ที่แตกต่างจากเดิมสิ้นเชิง และก็เหนื่อยกว่าเดิมด้วย
เราใช้ชีวิตอยู่ภายใต้อำนาจของเวลา สิ่งที่มองไม่เห็น ไม่มีร่างให้อ่านเหมือนกฎหมาย ไม่โหดร้ายเหมือนผู้ปกครองที่ชอบลงโทษ ทว่าความแนบเนียนของมันนี่เองที่ทำให้เราไม่ตั้งคำถาม ได้แต่ปฏิบัติตามราวกับเป็นสัจธรรมของชีวิต

จึงน่าสนใจว่า ในช่วงเวลาโควิด-19 ที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจต้อง Work From Home หรือทำงานที่บ้าน โดยไม่มีเวลาเข้างาน พักเที่ยง เลิกงานตอนเย็น แบบที่ใช้เวลาร่วมกันกับสังคมในบริษัทหรือองค์กร การรับรู้เกี่ยวกับเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง แล้วอำนาจของเวลาจะยังทรงอิทธิพลดังเดิมหรือเปล่า
กรอบแข็งทื่อของมันจะอ่อนแอลงหรือกลับกลายเป็นว่าอำนาจของเวลาจะยิ่งแข็งแกร่งกว่าเดิม เพราะเส้นตายการส่งงานค้ำคอ ทำให้พนักงานที่อยู่บ้านอาจต้องทำงาน ‘ล่วงเวลา’ ยืดยาวไปถึงดึกดื่น
‘เวลากลาง’ ที่ใช้ร่วมกันในที่ทำงานเสมือนชุมชนที่เงยหน้าดูหอนาฬิกาเดียวกันจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม เหล่าพนักงานที่นั่งๆ นอนๆ ทำงานที่บ้านจะยังกินข้าวตอนเข็มนาฬิกาชี้เลข 12 เหมือนเดิมหรือรอท้องร้องตอนบ่ายสองแทน
พฤติกรรมใหม่ๆ เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงระบบระเบียบแห่งเวลาไปอย่างไรบ้าง อาจขึ้นอยู่กับความยาวนานของสถานการณ์ที่เกิดจากโควิด-19
ส่วนตัวผมเอง ไวรัสร้ายตัวนี้ทำลายเส้นแบ่งเวลาระหว่างปีในปฏิทินไปแล้วเรียบร้อย มันลากพาเวลาจากปีที่แล้วยืดยาวมาถึงปีนี้ ทำให้รู้สึกว่าปีใหม่เป็นเรื่องสมมุติอย่างชัดเจนกว่าปีไหนๆ เพราะอารมณ์หน่วงห่วงกังวลกับเรื่องเดิมในสเกลระดับโลกยืดยาวข้ามปีตามมาด้วย
ปีใหม่จึงไม่ ‘ใหม่’ อย่างที่เคยเป็น
ปีใหม่ที่ผ่านมาน่าจะเป็นปีที่โลกทั้งใบมีการเฉลิมฉลองน้อยที่สุดตั้งแต่ผมจำความได้ ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่าโลกทั้งใบจะอยู่ใน ‘ปฏิทินใหญ่’ เดียวกัน นั่นคือ ‘ช่วงเวลาโควิด’ ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด
โควิด-19 น่าจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เทคโนโลยี การค้าขาย และอะไรอีกหลายอย่างในโลกใบนี้ไปมากมาย น่าสนใจว่ามันจะเปลี่ยนแปลงระบบระเบียบเกี่ยวกับเวลาที่มีต่อมนุษย์ไปอย่างไรบ้าง
แต่อย่างน้อย สำหรับคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานี้ ผมเชื่อว่าเราจะจดจำช่วงเวลานี้เหมือนๆ กันโดยไม่ต้องมีใครมากำหนด อีกหน่อยเราจะเท้าความกันถึงช่วงเวลานี้ว่า “จำได้ไหม ตอนที่มีโควิดน่ะ” หรือ “ลูกฉันเกิดตอนโควิดเลย” หรือ “ผมเรียนจบช่วงโควิดเลยครับ”
ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทั้งโลกคงจดจำช่วงเวลานี้แบบเดียวกัน นั่นคือ ‘ช่วงโควิด’ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ยิ่งยืนยันว่า เวลาไม่เคยเป็นของ ‘ตัวเรา’ แต่เป็นของ ‘พวกเรา’
และมันมีอิทธิพลต่อการมองชีวิตตัวเองมหาศาล