หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ความทรงจำ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ควายป่า - ควายป่านั้นล่ำสันและห้าวหาญ พวกมันพร้อมเผชิญหน้าสัตว์ผู้ล่า โดยใช้ทักษะที่ได้รับถ่ายทอดมา

‘ความทรงจำ’

ทํางานอยู่ในป่า

มีอีกสิ่งหนึ่งที่ธรรมชาติสอนผ่านสัตว์ป่า รวมทั้งสิ่งต่างๆ ให้ได้รับรู้ นั่นคือความจริงที่ว่า เกิดขึ้น มีอยู่ และดับไป

นกเมื่อสูญเสียลูกและรัง พวกมันร้อง บินวนอย่างกระวนกระวาย สักพักก็เริ่มต้นสร้างรัง รวมทั้งออกไข่เพื่อมีลูกชุดใหม่

แม่กวางพุ่งเข้าหาฝูงหมาไน ก้มหัวชน ถีบ เตะ ปกป้องลูก แต่เมื่อหมาไนแยกลูกออกไป และล้มลูกกวางลงได้ แม่เดินเข้ามาดูชั่วครู่ ก่อนหันหลังเดินจากไปอย่างยอมรับความเป็นไป

ผมพบกับภาพเช่นเดียวกันนี้บ่อยๆ พบและพยายามทำความเข้าใจ

แต่หลายครั้งก็ดูเหมือนว่า ความรู้สึกจะชนะความเข้าใจ

นานมากแล้ว ผมมีโอกาสเริ่มต้นในป่าทางตอนใต้ของลำห้วยขาแข้ง หลายวันที่นั่น ผมพบกับความจริงอย่างที่คนจำนวนมากยอมรับว่า ที่นั่นคือ “เมืองหลวง” ของสัตว์ป่า

ผมได้ถ่ายรูปกระทิงฝูงรูปแรก ตื่นเต้นกับรอยตีนสัตว์ป่าจำนวนมากมาย พบบนหาดทรายริมลำห้วย ตั้งแต่รอยตีนกวาง, ช้าง, ควายป่า และเสือโคร่ง

วันหนึ่งขณะเดินทางอยู่บนรถเพื่อไปหน่วยพิทักษ์ป่าหน่วยหนึ่ง ระหว่างทางซึ่งขนาบด้วยป่าไผ่ บนทางมีลูกกวางตัวหนึ่งนอนหมอบอยู่ เราลงจากรถไปดู พบว่ามันบาดเจ็บแถวๆ ขาหลัง เป็นรอยกัดจากสัตว์ผู้ล่า

“คงเป็นผลงานหมาไนนั่นแหละ และนี่แม่มันคงถูกจัดการไปแล้ว” ใครสักคนให้ความเห็น เราอุ้มลูกกวางซึ่งอายุไม่ถึงเดือนตัวนั้นขึ้นวางบนกระบะ

“เอาไปที่หน่วยก่อน ช่วยมัน เอาไว้แข็งแรงก็ให้กลับเข้าป่า”
ผมนั่งบนกระบะข้างๆ ลูกกวาง สบสายตาดำขลับกับมัน

ผมไม่รู้หรอกว่า นั่นเป็นการตัดสินใจถูกไหม เป็นการเข้าไปยุ่งกับวิถีป่าหรือไม่

ทางค่อนข้างขรุขระ รถโยกไป-มา ผมโอบคอลูกกวางไว้ ตัวมันสั่นระริก

มันรอดพ้นจากคมเขี้ยวฝูงนักล่าอันขึ้นชื่อว่าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมาได้

ผมสบตามัน ก่อนรีบเมินหลบ

บางทีอาการสั่นระริก อาจมาจากหวาดกลัวผม

สําหรับลูกๆ สัตว์ป่าที่เพิ่งเกิด พวกมันจะได้รับการปกป้องจากแม่ รวมทั้งฝูงอย่างเคร่งครัด ผมพบเจอความห่วงใยอย่างที่แม่ยอมเอาชีวิตตัวเองเข้าแลกหลายครั้ง

อย่างครั้งที่กวางแม่พาลูกวิ่งลงลำห้วย โดยมีฝูงหมาไนวิ่งไล่ แม่หันหน้าเข้าหา บังลูกไว้ นักล่าพยายามกัด สร้างบาดแผล เลือดไหลลงน้ำ ระดับน้ำค่อนข้างลึก นักล่าทำงานไม่ค่อยถนัด หรือไม่พวกมันยังไม่จู่โจมอย่างเอาจริงนัก สักพักก็ล่าถอย

กวางแม่-ลูกขึ้นฝั่ง แม่ก้มเลียหน้าและลำตัวให้ลูก

ครั้งนี้พวกมันรอดไปได้ แม่ปกป้องและสอนบทเรียนให้ลูก ในสถานภาพของความเป็นเหยื่อ นี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ต้องเผชิญกับนักล่า

ควายป่าก็เช่นกัน พวกมันไม่เกรงกลัวสัตว์ผู้ล่า แม้แต่เสือโคร่ง ความกำยำ พละกำลังมาก รวมถึงการมีทักษะในการรับมือ ช่วยให้ควายป่ารอดพ้นคมเขี้ยวได้

พวกมันจะยืนเรียงแถวเป็นกำแพงกันลูกๆ และตัวที่ยังไม่เต็มวัยไว้ เมื่อเสือโคร่งตัวหนึ่งเดินเข้ามา

ธรรมเนียมของฝูงนั้น การปกป้องสมาชิกตัวน้อย คือภารกิจสำคัญ

ผมโดนช้างตัวทำหน้าที่พี่เลี้ยงพุ่งใส่ เพราะก้าวเท้าเข้าไปเกินระยะอนุญาต

ผมได้บทเรียน เมื่อสัตว์ป่ามีลูกเล็ก ผู้ทำหน้าที่ปกป้องพร้อมตายแทน หรือเข้าโจมตี

การพร้อมตายแทนลูก นั่นคือเรื่องปกติ คนทำงานในป่าพบเห็นกรณีเช่นนี้บ่อยๆ

หลายตัวใช้เล่ห์เหลี่ยม หลอกผู้ล่า ให้สนใจตัวเองแทนลูกที่หลบใกล้ๆ

หลายตัวเปลี่ยนนิสัยจากอ่อนโยนเป็นก้าวร้าว

ผมจำครั้งที่ผมเข้าไปถ่ายรูปลูกเสือโคร่งที่เพิ่งเกิดได้ดี พูดได้ว่า นั่นเป็นการทำงานอันมีความรู้สึก “ตื่นเต้น” เป็นส่วนประกอบครั้งหนึ่ง เพราะเรารู้ดีว่าความห่วงลูกของแม่เสือมีมากเพียงใด

“ถ้าแม่มันกลับมาตอนคุณอยู่กับลูก ก็บอกลาได้เลยครับ” ปู่เดฟ ที่ปรึกษาโครงการศึกษานิเวศวิทยาเสือโคร่ง บอกผมด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ผมฝากชีวิตไว้กับอ่อนสา ผู้ช่วยนักวิจัย เขาตรวจสอบสัญญาณจากเครื่องส่งที่อยู่กับปลอกคอแม่เสือตลอด

เราเข้าไปตั้งแต่ลูกเสืออายุราวสิบวัน ในช่วงสัปดาห์แรก แม่เสือไม่ไปไหนไกล หลังจากสิบวัน จะเริ่มปล่อยลูกไว้ลำพังบ้าง แต่ไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง

อีกทั้งมันจะคาบลูกย้ายที่ไปเรื่อยๆ อยู่ที่เดิมเพียง 4-5 วันเท่านั้น

เราตามลูกเสืออยู่กว่าเดือน เฝ้าดูเห็นพวกมันเติบโตอย่างรวดเร็ว

ทุกครั้งที่เข้าไปถ่ายรูป อ่อนสาตรวจสอบสัญญาณด้วยสีหน้าเคร่ง กังวล เขารู้ดีว่าแม่เสือว่องไวเกินกว่าจะหลบพ้น

ตลอดระยะเวลาที่เฝ้าดูลูกเสือ สัญญาณวิทยุไม่เคยดัง แม่เสือไม่เข้ามาใกล้

กระทั่งครั้งล่าสุดที่เราเข้าไป หลังออกมา อ่อนสาบอกผมด้วยเสียงเรียบๆ ว่า เพิ่งพบว่าเครื่องรับเสีย

ถึงวันนี้ ผ่านมานานพอสมควร ผมยังไม่รู้ว่า เขาพูดเรื่องจริง หรือแค่อยากให้ผมขำ

วันนั้น เรานำลูกกวางกลับมาไว้ที่หน่วยพิทักษ์ป่า ทำแผล หานมมาป้อน มันนอนมองตาปริบๆ อยู่ในหน่วยได้ 4 วัน ลูกกวางซึ่งไม่ลุกขึ้นเลยตั้งแต่วันที่เราพบมันก็หมดลมหายใจ

ว่าตามจริง นี่ไม่ใช่เรื่องรันทดหรือน่าเวทนาอะไร เป็นวิถีที่เรารู้เมื่ออยู่ในป่า

เกิดขึ้นและจากไป

มีสิ่งใดเข้ามา เราก็เพียงอ้าแขนรับ และเมื่อสิ่งนั้นจะจากไป ไม่ว่าจะพยายามรั้งไว้เท่าใด ย่อมไม่เป็นผล

“ปล่อยมือ” คือหนทางที่ควรทำ

ผมช่วยลุงสังวาลย์ขุดหลุมฝังลูกกวาง อุ้มมันขึ้น และปล่อยร่างมันลงก้นหลุม โกยดินกลบ

ลูกกวางตัวนั้นก็เหลือเพียง “ความทรงจำ”