ศัลยา ประชาชาติ : เบื้องหลัง คำสั่ง “บิ๊กตู่” หัก “อัศวิน” ธุรกิจโวยแผนกึ่งล็อกดาวน์ พังแสนล้าน

การประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในระดับเข้มข้นของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร มีอายุสั้น คืออยู่ได้เพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากถูกหัก-ลบล้าง

โดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) “ริบอำนาจคืน” จากผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ

ออกคำสั่ง “ยกเลิก” การห้ามกินอาหารนอกบ้าน-ซื้อกลับหลัง 19.00 น. เพิ่มเป็น ขยายเวลานั่งดื่ม-กินที่ร้านได้ถึง 21.00 น.

 

24 ชั่วโมงก่อนคำสั่งมีอัน “ตกไป” วันที่ 4 มกราคม 2564 เวลา 12.00 น. “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2564 เห็นชอบให้จำหน่ายอาหารตั้งแต่เวลา 06.00-19.00 น.

ส่วนเวลา 19.00-06.00 น. ให้เป็นการจำหน่ายแบบสั่งกลับบ้าน (Take Away) เท่านั้น

โดยเริ่มดำเนินการพร้อมกันตั้งแต่เวลา 06.00 น. วันที่ 5 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

“คณะกรรมการเห็นว่าการรับประทานอาหารช่วงกลางคืนคนจะนั่งนานกว่าปกติซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ในช่วงเวลากลางวัน เวลา 06.00-19.00 น. ห้ามการดื่ม/การจำหน่ายสุราในร้านอาหารด้วย เนื่องจากการดื่มสุราจะทำให้คนรวมกลุ่มและมีการใช้เวลาในการนั่งในร้านอาหารนานขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด”

วันเดียวกัน เวลา 16.30 น. “พล.อ.ประยุทธ์” สวมหมวกผู้อำนวยการ ศบค. “ขีดฆ่า” คำสั่งผู้ว่าฯ กทม. ให้สามารถนั่งรับประทานอาหารได้ถึง 21.00 น.

“ในเรื่องของร้านอาหาร ผมได้รับข้อเสนอมาจากสมาคมภัตตาคารไทย ซึ่งได้รับผลกระทบสูง เพราะฉะนั้น ในส่วนที่ กทม.ประกาศออกไปผมให้ยกเลิกไปก่อน ผมให้มีการขายอาหารได้ถึง 3 ทุ่ม แต่ต้องมีมาตรการที่เราทำเอาไว้แล้วเดิม เช่น การกำหนดจำนวนคน การรักษาระยะห่าง ซึ่งนายกสมาคมรับประกันว่าทำได้ ถ้าใครทำไม่ได้ก็ต้องถูกปิด ถ้าทำได้ตามนั้นก็ช่วยกันไป เพราะผมไม่ต้องการทำให้ได้รับผลกระทบในเรื่องของธุรกิจอีก”

พล.อ.ประยุทธ์แถลงลงลายมือชื่อกำกับ

 

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 สมาคมภัตตาคารไทยได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ถึงผลกระทบของธุรกิจร้านอาหาร หาก กทม.มีคำสั่งไม่ให้นั่งรับประทานที่ร้านอาหาร

จดหมายเปิดผนึกจ่าหน้าซองถึงตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า จากประกาศของผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ว่าอาจมีมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร โดยจะต้องซื้อกลับเท่านั้น ทางสมาคมขอเรียนชี้แจงให้เข้าใจเพื่อยกเลิกมาตรการและคำสั่งดังกล่าว ด้วยเหตุผล 3 ข้อ

1. อัตราการจ้างงานจะทำให้พนักงานตกงานทันทีเป็นจำนวนมาก หลังจากการกลับมาเปิดธุรกิจร้านอาหารได้มีการว่าจ้างแรงงานกลับเข้าระบบได้เป็นจำนวนมาก แต่จากประกาศวันที่ 1 มกราคม 2564 จะมีผลกระทบต่อการจ้างงานอีกครั้ง

2. ผลกระทบกับสินค้าภาคการเกษตร ซึ่งร้านอาหารต้องใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรจำนวนมหาศาลซึ่งจะต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งจากคำสั่งวันที่ 1 มกราคม 2564 จะมีผลทำให้รายได้ของภาคเกษตรลดลงเช่นกัน

3. จะมีผลกระทบเรื่องการจัดเก็บภาษี vat และเงินประกันสังคมของภาครัฐบาลที่หายไปอีกครั้ง

“ร้านอาหารเป็นธุรกิจ SME และ MICRO SME ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจ 4 แสนล้านบาทต่อปี จากประกาศดังกล่าวจะทำให้มูลค่าธุรกิจร้านอาหารไทยหายไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้าน และจะทำให้มีผลกระทบเป็นห่วงลูกโซ่” จดหมายเปิดผนึกระบุ

โดยสมาคมภัตตาคารไทยได้คำมั่นไว้ว่าพร้อมจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID-19 จากคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขด้วยความเคร่งครัดมาโดยตลอด

“จากการปฏิบัติตามมาตรการที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดมีผลสะท้อนให้เห็นว่า การระบาด COVID-19 รอบสองในครั้งนี้ไม่ได้มีมูลเหตุหรือต้นตอมาจากร้านอาหารเลย แต่แท้จริงการระบาดรอบสองมาจากกลุ่มธุรกิจที่ผิดกฎหมายทั้งหมด”

สมาคมภัตตาคารไทยจึงใคร่ขอความกรุณานายกรัฐมนตรีและ ศบค.ช่วยพิจารณาไม่ออกมาตรการห้ามรับประทานอาหารในร้านอาหาร ดังที่แถลงข่าวไว้ในวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยให้ร้านอาหารสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติดังเดิม

 

ความอลหม่าน-ความลักลั่นของการใช้อำนาจออกประกาศ-คำสั่งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับทีมรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด-ผู้ว่าฯ กทม. ก็ออกอาการซ้ำรอย “ผู้ว่าฯ อัศวิน”

โดยเฉพาะการ “ล็อกดาวน์” พื้นที่ควบคุมสูงสุด-พื้นที่สีแดง 5 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด

ตามคำประกาศอย่างไม่เป็นทางการของนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ที่ระบุว่า “ผลการประชุม ศบค.วันนี้ ผมต้องขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรี และที่ประชุม ศบค.ที่ตัดสินใจตามข้อเสนอแนะของผมและกระทรวงสาธารณสุขในการที่จะล็อกดาวน์ 5 จังหวัดที่มีตัวเลขการแพร่ระบาดโควิด-19 จำนวนมากและมีความเสี่ยงสูง”

แต่สัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์-นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่มีการ “ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ”

รวมถึง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ใช้คำว่ามาตรการเข้มข้นขึ้น-มาตรการระยะที่ 1 และเลี่ยงคำว่า “ล็อกดาวน์” ให้ใช้คำว่า “ทวีความรุนแรง-รวดเร็ว” และ “เข้มข้นขึ้นกว่าระยะที่ 1” หรือ “ระยะที่ 2” แทน

“ครั้งนี้เราคืนอำนาจกลับไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ เพียงแต่มีข้อความที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีความมั่นใจว่าท่านจะไม่ถูกฟ้อง และจะได้รับความคุ้มครอง และใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉินเข้าไปคุ้มครองให้ท่านไปออกคำสั่ง แต่ไม่ได้สั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดปัญหาความลักลั่นกันในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน”

“ไม่ได้พิจารณาล็อกดาวน์ ให้ใช้คำสั้นๆ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้มาตรการระยะที่ 1 ซึ่งมีความหนักและเบา รุนแรงและไม่รุนแรงในแต่ละพื้นที่สลับกันไป ต้องปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปสักระยะหนึ่งและปรับเข้าไปสู่มาตรฐาน ซึ่งระยะที่ 2 จะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เรียกอำนาจกลับคืนมาเป็นของนายกรัฐมนตรี อำนาจมาอยู่ที่ ศบค. ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”

เช่นเดียวกับหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. “ตั้งการ์ดสูง” ไม่ใช้คำว่า “ล็อกดาวน์” แต่ใช้คำว่า “กึ่งล็อกดาวน์” แทน

“ตราบใดก็ตามที่ ศบค.ต้องประกาศว่าเป็นการล็อกดาวน์ มันหมายถึงว่าคำสั่งนี้กระทบต่อปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาการหารายได้ของพวกท่าน ก็ต้องมีการเยียวยา ซึ่งเป็นภาระของภาษีเงินของทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น การใช้มาตรการต่างๆ เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสีย”

 

ขณะที่ “เศรษฐา ทวีสิน” บิ๊กบอส “แสนสิริ” ที่มักออกมาวิจารณ์แนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลแบบตรงไปตรงมาหลายๆ ครั้ง คราวนี้ส่งสัญญาณเชียร์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามาถูกทาง ไม่ใช้ยาแรง เพื่อสร้างสมดุลทางด้านสาธารณสุข-เศรษฐกิจ

โควิดระบาดรอบใหม่ ตีป้อมค่าย “ประยุทธ์” จนต้องถอยร่นไม่เป็นขบวน เจ้าตัวถึงกับต้องออกปากกลางที่ประชุม ครม. ขอให้รัฐมนตรีร่วมชี้แจงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรัฐบาล (ที่กำลังโดนกระหน่ำจากรอบทิศ)

แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับสักเท่าไหร่ เพราะใครต่อใครก็กลัว “ถูกหัก” ซ้ำรอยคำสั่งผู้ว่าฯ กทม. อย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วนั่นเอง