“ก้าวไกล” บนทางแพร่ง เมื่อ “คนรุ่นใหม่” ไปไกลกว่า เมื่อ “สภา” ส่อรวมหัวเท

“พรรคก้าวไกล” กำลังเผชิญกับ “วิกฤตศรัทธา” โดยเฉพาะจากฝั่ง “ผู้สนับสนุน” และจากมวลชนผู้ชุมนุม ต่อการตอบสนองข้อเรียกร้องต่างๆ

โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อเขียนเรื่อง “พรรคก้าวไกลกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“ที่ผ่านมา ส.ส.ก้าวไกลมีบทบาทสูงในสภา สามารถอภิปรายประเด็นสำคัญอ่อนไหวมากมาย จนเป็นพรรคฝ่ายค้านที่โดดเด่นที่สุด แม้จะมีจำนวน ส.ส.เป็นอันดับสอง ส่วนนอกสภา ส.ส.ก็ให้กำลังใจร่วมชุมนุมและช่วยเหลือประกันตัวนักเคลื่อนไหวในคดีต่างๆ จำนวนมาก

ส.ส.ก้าวไกลอภิปรายประเด็นอ่อนไหวในสภาเกี่ยวกับสถาบันและกองทัพหลายเรื่อง อีกทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของก้าวไกลก็ไม่ยกเว้นหมวด 1-2 แต่จุดยืนที่เป็นทางการของพรรคก้าวไกลต่อประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ที่เป็นรูปธรรมก็ยังไม่ชัดเจน และก้าวไม่ทันขบวนเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนนอกสภา เช่น ท่าทีต่อข้อเสนอ 10 ข้อ และการแก้ไข ม.112 (ไม่ใช่ยกเลิก) เป็นต้น

เยาวชน นักเรียน นักศึกษา แม้จะชื่นชมตัวบุคคล ส.ส.ก้าวไกล แต่กลับรู้สึกไม่ชัดเจนต่อจุดยืนทางการของพรรค กระทั่งมีข่าวว่านักศึกษาและรุ่นพี่บางกลุ่มมีการเตรียมตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมา ซึ่งจะแย่งฐานเสียงก้าวไกล

อีกทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านอื่นทั้งหมดกำลังรวมหัวกันแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะทั้งหมวด 1-2 และอำนาจสถานะของ ส.ว. 250 ชุดปัจจุบัน แต่จะแก้ไขเฉพาะระบบเลือกตั้งให้กลับไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่พวกตนมากที่สุด แต่ไม่เป็นคุณต่อพรรคก้าวไกล เลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่สามารถเข้าสภามาได้ถึง 81 คน ส่วนหนึ่งเพราะฝ่ายรัฐประเมินต่ำเกินไปจึงประมาท แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พวกเขาจะทำให้แน่ใจว่าพรรคก้าวไกลต้องเข้ามาได้น้อยที่สุด หรือไม่ได้เลย

พรรคก้าวไกลจะตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้อย่างไร?”

 

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แม้พรรคจะมี “บทบาทนำ” ต่อเรื่องเหล่านี้ในสภา แต่ก็อยู่ใน “กรอบกฎหมาย” ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และดูจังหวะที่เหมาะสมต่างๆ โดยย้ำเรื่องการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ขึ้นก่อน ไม่ได้ลงลึกไปเรื่อง 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันและผลพวงจากการบังคับใช้ ม.112 ต่อผู้ชุมนุม มากกว่าการเสนอยกเลิก ม.112

“มีความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจ มีสิ่งที่ไม่เคยมีการพูดคุยกันมาก่อนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย คำถามก็คือว่า ในบรรยากาศแบบนี้ รัฐบาลมีหน้าที่ทำอะไร

โดยรัฐบาลสำหรับผม มีหน้าที่ทำให้ความสัมพันธ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนดีขึ้น ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่การเอาสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเข้าสู่การเมืองและใช้เป็นเกราะกำบัง ว่าอันนี้เป็นความประสงค์ของพระมหากษัตริย์หรือของสถาบัน อันนี้ผมว่าอันตรายมาก เป็นการที่จะเอามาปะทะกันตรงๆ อย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเลย

นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ที่จะทำยังไงให้ไม่ข้ามหัว ทำอย่างไรไม่ให้เลยป้าย ในการที่จะมีกุศโลบายในการแก้ปัญหา เช่น ตอนแรกที่บอกมาว่าไม่มีพระราชประสงค์ที่จะให้ใช้ ม.112 แล้วตอนนี้ใช้อย่างกว้างขวาง ใช้อย่างอคติ อย่างนี้ผมคิดว่าไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์

แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ใช้เอง อย่างนี้ผมว่าไม่ได้เป็นมูฟและเป็นยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดในการแก้ปัญหาในสังคมไทย ภายในปีนี้ ความคิดเขาอาจจะคิดระยะสั้นว่า ถ้าเรากด ปราบ สั่งสอน ในระยะสั้น เดี๋ยวก็คงจะจบไปอย่างในอดีตที่ผ่านมา

แต่ผมคิดว่าใครที่ใกล้ชิดกับน้องๆ ใกล้ชิดกับเด็กๆ แล้วได้ฟัง คุณจะได้เห็นว่าอีก 2-3 ปี วิธีคิดของเด็กมัธยมกับวิธีคิดของเด็กมหาวิทยาลัยอาจจะต่างกันเกินไป

คราวนี้วิธีคิดหรือกุศโลบายหรือยุทธศาสตร์แบบไหนที่จะทำให้เกิดความกลมเกลียวในชาติได้ วิธีไหนที่จะวางพระราชอำนาจ พระราชฐานะอย่างประณีต ผ่านรัฐธรรมนูญ ผ่านการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และสามารถที่จะอยู่ได้อย่างมั่นคงสถาพร อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องมีพื้นที่ปลอดภัย ที่จะต้องมาคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ”

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว

 

ขณะที่วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ปกติพรรคก้าวไกลก็พยายามที่จะรับฟังเสียงประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ เป็นปกติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนตามข้อเรียกร้องของประชาชนผ่านกลไกสภาผู้แทนราษฎร มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงเสียงของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเห็นต่าง หรืออาจจะเห็นด้วยบางส่วน

สำหรับในประเด็นที่มีข้อถกเถียงในสังคมค่อนข้างมาก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการถกเถียงและหารือกันอย่างมีวุฒิภาวะเสียก่อน เพื่อจะได้นำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นทางออกที่สามารถตอบรับความแตกต่างหลากหลายของประชาชนในทุกกลุ่มเพื่อให้เดินไปข้างหน้าร่วมกันได้

ที่สำคัญที่สุดการใช้กลไกสภาผู้แทนราษฎรก็มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ด้วย และอาจจะต้องคำนึงถึงช่วงจังหวะเวลาที่มีความเหมาะสมอีกด้วย และขอยืนยันว่าข้อเรียกร้องของประชาชน เสียงสะท้อนของประชาชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด พรรคก้าวไกลรับฟังด้วยความเคารพทั้งสิ้น”

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม อีกศึกที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่ รศ.ดร.พิชิตระบุว่า พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลกำลังรวมหัว “เทก้าวไกล” โดยไม่แตะทั้งหมวด 1-2 ไม่แตะอำนาจ 250 ส.ว. แต่จะแก้ไขเฉพาะระบบเลือกตั้งให้กลับไปสู่รัฐธรรมนูญ 2540

ทว่ากลับไม่ใช่เรื่องใหม่ที่มีการพูดถึง เพราะที่ผ่านมามี “สัญญาณชัด” มาแล้ว โดยเฉพาะจาก “ฟากเพื่อไทย” ฝ่ายค้านด้วยกัน ที่ยืนกรานแต่แรกว่าไม่แตะหมวด 1-2 ซึ่งฝั่งรัฐบาลก็มีจุดยืนหนักแน่นมาตั้งแต่ต้นอย่างเป็นเอกภาพ ไม่มีพรรคไหนแตกแถว

แต่ปมใหญ่อยู่ที่การแก้ไขเรื่อง “อำนาจ ส.ว.” โดยเรื่องนี้ก็ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นเช่นกัน จากการงัดข้อระหว่าง 2 พรรคฝ่ายค้านด้วยกัน หลังพรรคเพื่อไทยเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ม.256 เพื่อปลดล็อกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. แต่จะไม่แตะหมวด 1-2 และไม่ต้องการไปแตะ ส.ว. ไม่เช่นนั้นจะพังตั้งแต่ยังไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่าไม่ได้ความร่วมมือจาก ส.ว. ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นอื่นๆ

ทว่าพรรคก้าวไกลเล่นเกมแรง “หักหน้าเพื่อไทย” ถอนชื่อออกจากญัตติ 5 นาทีก่อนเสนอญัตติต่อประธานสภา โดย “ณัฐวุฒิ บัวประทุม” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ม.255 ได้ระบุไว้อยู่แล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐจะกระทำมิได้ และควรเปิดให้ ส.ส.ร.ได้พิจารณาเนื้อหาโดยอิสระ

จากนั้นพรรคก้าวไกลเสนอญัตติ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ขึ้นมา โดยต้องขอเสียงรับรองจากพรรคเพื่อไทยมาเติมให้ครบ 94 เสียง ซึ่งท่าทีพรรคเพื่อไทยถูกหักหน้าก็เล่นเกม “ยึกยัก” อยู่สักพัก แต่ก็ต้องยอมเพราะ “ทั้งกฐิน-ทั้งทัวร์ลง” จากนอกสภาได้กดดันมายังพรรคเพื่อไทย

ทว่าสุดท้ายแล้วญัตติแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 1 ก็มีเพียงญัตติของรัฐบาล และญัตติพรรคเพื่อไทยที่ยื่นแก้ ม.256 เท่านั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ ส.ส.ร. ที่จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงแก้เกมกลับโดยย้ำชัดต้องป้องกันการ “สืบทอดอำนาจ” โดยมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การถกเถียงได้ทุกมาตรา ตามจุดยืนเดิมของพรรค เพื่อป้องกันระเบิดเวลาหรือไฟลามทุ่งอีก 2-3 ปีข้างหน้า

“ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ว่าหากพวกเขาไม่ทำอะไร อดีตจะเป็นอนาคต แต่พวกเขาต้องการให้อนาคตเป็นอนาคต ดังนั้น สังคมจึงยังหาพื้นที่ปลอดภัยไม่ได้ ผมในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลเห็นความสำคัญของพื้นที่ปลอดภัย หากมองให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน สามารถพูดคุยกันได้ทุกหมวดทุกมาตรา เราพยายามทำเรื่องนี้กันตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เราพูดคุยกับหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน เพื่อร่วมกันปลดสลักระเบิดเวลานี้ไม่ให้ไฟลามทุ่ง

แต่น่าเสียดายที่รัฐสภาทิ้งโอกาสเหล่านี้ไป ทำให้ปัญหาเก่าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และปัญหาใหม่ๆ ก็กำลังจะเข้ามา ดังนั้น พื้นที่ปลอดภัยจึงสำคัญที่สุด เพื่อหาฉันทามติร่วมกันได้”

นายพิธากล่าว

 

ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพพรรคก้าวไกลบน “ทางแพร่ง” ระหว่างการเมืองทั้งนอกและในสภา ที่แม้จะแสดง “บทบาทนำ” แต่กลับกลายเป็น “ผู้ตาม” ไปเสียเอง ทั้งการเดินตามหลังผู้ชุมนุมและไม่ทันกลเกมในสภา อีกทั้งถูก “ฝ่ายค้าน” ด้วยกัน “ส่อเท” และฝั่งผู้สนับสนุน ส่งสัญญาณ “เทกลับ” ด้วย

จึงอยู่ที่พรรคก้าวไกลจะปรับบทบาทอย่างไรต่อไปในปี 2564 รวมทั้งสถานการณ์การเมืองอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นอีก

ซึ่งพรรคก้าวไกลยังมีเวลาปรับแผนและงัดข้อกลับมาเล่น “บทนำที่แท้จริง” อีกครั้ง โดยเฉพาะผ่านกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ “หัวใจหลัก” และ “มีโอกาส” เป็นไปได้ที่สุด และเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ที่สุดด้วย