เพ็ญสุภา สุขคตะ : ‘พระแซกคำ’ ไยจึงโยงตำนานให้ไกล ถึงพระนางจามเทวี?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

‘พระแซกคำ’
ไยจึงโยงตำนานให้ไกล
ถึงพระนางจามเทวี?

ที่วัดคฤหบดี แถวสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี มี “พระแทรกคำ” หรือเขียนแบบภาษาล้านนา-ล้านช้างว่า “พระแซกคำ” ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ

“พระแซกคำ” นี้เป็นหนึ่งในบรรดาพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ของล้านนาที่ถูกขนย้ายไปไว้ที่เมืองหลวงพระบางโดยพระญาไชยเชษฐาธิราช (พระไชยเชษฐา) ในช่วงปลายราชวงศ์มังราย

ชาวล้านนาไม่ค่อยรู้จักพระพุทธรูปองค์นี้มากนัก เหตุที่เป็นพระพุทธปฏิมาที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับพระพุทธสิหิงค์ พระแก้วมรกต และพระแก้วขาวเสตังคมณี ที่ถูกพระไชยเชษฐานำไปไว้ที่ล้านช้างในคราวเดียวกัน

สิ่งที่น่าประหลาดใจอย่างมากก็คือ ด้านหน้าวิหารวัดคฤหบดีมีอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์แห่งอาณาจักรหริภุญไชย (ทราบมาว่าผู้สร้างรูปปั้นนี้คืออดีตเจ้าอาวาสรูปก่อนซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่) พร้อมป้ายคำบรรยายที่สรุปใจความได้ว่า

“พระแซกคำสร้างโดยพระนางจามเทวี ขณะที่พระนางกำลังหล่อพระพุทธรูปสามองค์เพื่อถวายแด่พระชนก ชนนี และตัวพระองค์เองอยู่นั้น พลันเกิดปาฏิหาริย์มีพระพุทธรูปทองคำเปล่งลำแสงแทรกขึ้นมาองค์หนึ่งท่ามกลางกลุ่มควัน ทำให้พระองค์นั้นได้รับการขนานนามว่า ‘พระแทรก’ (แซก) คำ”

ป้ายวัดในอุโบสถยังระบุต่ออีกว่า พระแซกคำองค์นี้ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นำมาถวายรัชกาลที่ 3 ช่วงที่ขึ้นไปปราบพระราชเชษฐา (เจ้าอนุวงศ์) ต่อมารัชกาลที่ 3 พระราชทานให้พระยาราชมนตรี (ภู่) นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดแห่งนี้

โจทย์ที่ดิฉันขอเชิญชวนให้ช่วยกันขบคิดมีอยู่ 3 ข้อ

ข้อแรก ใครสร้างพระแซกคำกันแน่ พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปองค์นี้เก่าถึงพระนางจามเทวีจริงหรือไม่?

ข้อสอง มีเอกสารใดบ่งชี้ว่าพระไชยเชษฐาธิราชได้อัญเชิญพระแซกคำไปยังล้านช้างบ้างไหม?

ข้อสาม การนำพระแซกคำจากล้านช้างสู่สยามในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเหตุการณ์ความเป็นมาอย่างไร เกี่ยวข้องกับพระพุทธปฏิมาองค์อื่นใดด้วยหรือไม่?

พระแซกคำ พุทธศิลป์สมัยใด?

เมื่อพินิจพิเคราะห์พุทธศิลป์ของ “พระแซกคำ” แล้ว พบว่า “ไม่ใช่รูปแบบศิลปะสมัยหริภุญไชยตอนต้นที่สร้างโดยพระนางจามเทวีอย่างแน่นอน”

เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพักตร์กลม พระวรกายสั้น พระมังสาเป็นมัดๆ มองมุมหนึ่งคล้ายกับ “พระขนมต้มสกุลช่างนครศรีธรรมราช” ท่านั่งแปลกพิเศษ ไม่ใช่ทั้งขัดสมาธิเพชร และไม่ใช่ทั้งขัดสมาธิราบ มีการหักพระชงฆ์เป็นเส้นโค้งงอตอนกลาง

ไม่มีลักษณะใดเลยที่สะท้อนให้เห็นถึงกลิ่นอายของศิลปะแบบหริภุญไชย ไม่ว่าเนื้อวัสดุ ด้วยยุคหริภุญไชยไม่ได้รุ่มรวยทองคำ หากจะมีการหล่อพระสำริดอยู่บ้างเนื้อสำริดของหริภุญไชยก็สีเข้มอมดำ อีกทั้งพระพักตร์พระพุทธรูปหริภุญไชยก็ออกเหลี่ยมมากกว่ากลม แบนมากกว่านูน ซ้ำต้องมีไรพระมัสสุอีกด้วย

พระหริภุญไชยวรกายบอบบาง แขนกางออกโก่งๆ ชายสังฆาฏิก็ไม่ได้พาดเป็นเส้นเรียวยาวแบบนี้ ลีลาท่านั่ง การกระดกนิ้วพระหัตถ์ ไม่มีเค้าของพุทธศิลป์หริภุญไชยแม้แต่น้อยนิด

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ กำหนดอายุพระแซกคำไว้ในหนังสือ “ลักษณะไทย : พระพุทธปฏิมา” ว่าอยู่ในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 21 (ระหว่าง พ.ศ.2050-2100) โดยอาจารย์พิริยะมองว่า ช่วงนั้นเป็นห้วงเวลาที่บางสกุลช่างของล้านนาและสุโขทัยได้รับอิทธิพลพระขนมต้มของนครศรีธรรมราชผ่านขึ้นมาทางอาณาจักรอยุธยา

จึงได้ข้อสรุปว่า พระแซกคำน่าจะสร้างขึ้นราวสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 11 ลงมา (เนื่องจาก พ.ศ.2050 ปีที่อาจารย์พิริยะกำหนดอายุจุดเริ่มต้นของพระพุทธรูป ตรงกับสมัยพระเมืองแก้ว) และแน่นอนว่าต้องสร้างก่อนสมัยพระไชยเชษฐา

ระหว่างรัชสมัยของพระเมืองแก้วจนถึงพระไชยเชษฐา พบว่ามีกษัตริย์ที่คั่นอยู่ 3 รัชกาลคือลำดับที่ 12-14 ได้แก่ 1.พระเมืองเกษเกล้า (ตาของพระไชยเชษฐา) 2.ท้าวซายคำ (ลุงของพระไชยเชษฐา) 3.พระนางเจ้าจิรประภามหาเทวี (ยายของพระไชยเชษฐา)

ไม่รัชกาลใดก็รัชกาลหนึ่ง

พระญาโพธิสาลราช
กับพระแซกคำ

เรื่องราวของ “พระแซกคำ” ปรากฏในเอกสารฝ่ายล้านนาน้อยมาก

เล่มที่รู้จักกันดีคือ พงศาวดารโยนก เขียนโดยพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ระบุถึงเหตุการณ์ช่วงที่พระไชยเชษฐานำพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองล้านนาจากเชียงใหม่ไปไว้ที่หลวงพระบางในปี พ.ศ.2091 หลายองค์

หนึ่งในนั้นมีชื่อของพระแซกคำอยู่ด้วย

“พระอุปโยวราช (หมายถึงพระไชยเชษฐา) ผู้ครองนครเชียงใหม่ ดำริเสด็จกลับไปกรุงล้านช้าง เพื่อจัดการศพพระบิดาและมุ่งหมายจะได้สืบสันตติวงศ์ในล้านช้าง ไม่คิดว่าจะได้กลับคืนมาเมืองเชียงใหม่อีก จึงได้เก็บรวบรวมสรรพของวิเศษต่างๆ ในนครพิงค์เชียงใหม่ซึ่งเป็นที่พอพระทัยเอาไปเสียด้วย

คือได้อัญเชิญเอาพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต พระจันทรรัตนแก้วขาวกรุงละโว้ (เสตังคมณี) พระพุทธสิหิงค์ พระแทรกคำ และพระอื่นๆ พาไปนครหลวงพระบาง”

ข้อความนี้ขัดแย้งกับตำนานพงศาวดารฝ่ายล้านช้าง ที่แม้จะยอมรับว่า พระแก้วมรกตได้มาจากล้านนาก็จริง แต่พระแซกคำเป็นสิ่งที่ได้มาเองโดยอัศจรรย์ในสมัยพระญาโพธิสาลราช (พระราชบิดาของพระไชยเชษฐา) หาได้สร้างขึ้นในเมืองเชียงใหม่แต่อย่างใดไม่

ตำนานพระแก้วมรกตฉบับล้านช้างได้กล่าวว่า

“พระญาโพธิสาลราช ครองราชสมบัติในเมืองศรีสัตนาคนหุตแทนพระราชบิดาคือพระญาวิชุนราช อยู่ไปข้างหน้าแต่นั้นจึง “แซกคำเจ้า” เสด็จมาในอากาศแสดงปาฏิหาริย์ มาตั้งอยู่ในมหานครนั้นแล พระญาโพธิสาลราชให้คนทั้งปวงทำการฉลองบูชาพระแซกคำเจ้า จึงโปรดให้สร้างปราสาทเป็นที่ประดิษฐานในนครหลวงพระบาง”

หากตำนานนี้เป็นจริง คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วใครเล่าเป็นผู้นำพระแซกคำของพระองค์ไปไว้ที่ล้านนา เพียงชั่วพริบตาเดียว (โดยไม่มีรัชกาลใดคั่น) ก่อนที่พระไชยเชษฐาราชบุตรจักนำกลับมาล้านช้างอีกครั้ง?

หรือว่า พงศาวดารโยนกให้ข้อมูลผิด? เพราะตำนานพระแก้วมรกตฝ่ายล้านช้างยังพรรณนาต่อไปว่า

“เมื่อพระไชยเชษฐาอัญเชิญพระรัตนปฏิมาแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่มายังเมืองหลวงพระบางแล้ว ก็นำไปประดิษฐานในปราสาทหลังเดียวกันกับพระแซกคำที่ได้มาตั้งแต่สมัยพระญาโพธิสาลราช ครั้นย้ายราชธานีไปที่นครเวียงจันท์ในปี 2103 ก็อัญเชิญพระแซกคำไปไว้ที่นั่นพร้อมกับพระรัตนปฏิมาและพระบาง”

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า พุทธศิลป์ระบุชัดว่าไม่ใช่พระพุทธรูปสกุลช่างล้านช้าง แต่เป็นรูปแบบ “พระสิงห์ผสมพระขนมต้ม” อย่างไรเสีย พระแซกคำจึงควรเป็นพระพุทธรูปที่สร้างในดินแดนล้านนามากกว่า

ในที่สุด ดิฉันพบคำตอบจากหนังสือ “พุทธศิลปะลาว” ของ ผศ.สงวน รอดบุญ พิมพ์ปี 2526 พบว่าข้อมูลที่มีความเชื่อถือ ในฐานะที่ท่านอาจารย์สงวนเคยใช้ชีวิตรับราชการในประเทศลาวนานกว่า 30 ปี โดยท่านได้กล่าวว่า

“พ.ศ.2077 พระเมืองเกศเกล้า กษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ทรงจัดส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรล้านช้าง พร้อมกับส่งพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ‘พระแทรกคำ’ และส่งพระราชธิดามีพระนามว่า ‘เจ้าหญิงยอดคำทิพ’ ขึ้นไปถวายพระญาโพธิสาลราช พระญาโพธิสาลราชทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้สร้าง ‘หอพระแทรกคำ’ ขึ้นในพระราชวัง และทรงสถาปนาเจ้าหญิงยอดคำทิพขึ้นเป็นเอกอัครมเหสี (คนทั่วไปเรียก ‘พระนางหอสูง’)”

สรุปแล้ว มีเอกสารเพียงเล่มเดียว (ที่สืบค้นพบ ณ ตอนนี้) คือพงศาวดารโยนก ที่ระบุว่าพระไชยเชษฐาเป็นผู้นำพระแซกคำจากเชียงใหม่ไปหลวงพระบาง

แต่เอกสารที่เหลือทั้งหมด ระบุว่าพระแซกคำประดิษฐานอยู่ที่เมืองหลวงพระบางตั้งแต่สมัยพระญาโพธิ สาลราชแล้ว เพียงแต่ผู้อ่านจะเชื่อเวอร์ชั่นไหน 1.ได้มาโดยปาฏิหาริย์ 2.ได้มาจากล้านนาโดยพระเมือง     เกษเกล้าถวายให้พร้อมกับนางยอดคำทิพ

พระแซกคำหรือพระแซ่คำ?

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เรียบเรียงโดยเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี ฉบับจัดพิมพ์โดยกรมศิลปากรปี 2547 หน้า 27 เรียก “พระแซกคำ” ว่า “พระแซ่คำ”

ในตอนที่กล่าวถึง เหตุการณ์ช่วงรัชกาลที่ 3 ส่งพระเจ้าน้องยาเธอ 2 พระองค์คือ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์และกรมหมื่นรักษรณเรศไปปฏิบัติราชการที่นครเวียงจันท์ พระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 2 พระองค์ได้กราบบังคมทูลเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธรูปที่ยึดมาได้ว่า

“อนึ่ง พระพุทธรูปสำหรับเมืองเวียงจันท์ พระบางหายไป ว่าข้าพระพาเอาไปฝังเสีย สืบหายังไม่ได้ ได้แต่พระเสริม พระไส พระสุก พระแซ่คำ พระแก่นจันทน์ พระสรงน้ำ พระเงินหล่อ พระเงินบุ รวม 9 พระองค์ แต่จะเอาลงไปกรุงเทพฯได้แต่พระแซ่คำองค์ 1 ได้พระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระแซ่คำ 100 องค์ กับได้พระเจ้าผลสมอหน้าตัก 20 นิ้ว องค์ 1…”

ส่วนพระพุทธรูปที่มิได้คิดจะจัดส่งไปกรุงเทพฯ (พระเสริม พระไส พระสุก ฯลฯ) พระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 2 พระองค์ได้ก่อพระเจดีย์ขึ้น ณ ค่ายหลวงเมืองพันพร้าวเหนือวัด เรียกพระเจดีย์ปราบเวียง แล้วนำพระพุทธรูปบรรจุไว้

ต่อมาไม่นาน เจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายกได้ไปเวียงจันท์ สืบหาพระบางจนพบจึงได้นำพระบางกลับมากรุงเทพฯ ข้อความตอนนี้สอดคล้องกับ “หมายรับสั่ง ร.3 จ.ศ.1189 เลขที่ 3” เรื่อง อัญเชิญพระบรมธาตุ พระบาง พระแซกคำ พระฉันสมอจากเวียงจันท์ส่งมากรุงเทพฯ

“ด้วยพระยารักษ์มณเฑียรรับพระราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า พระบรมธาตุ 1 พระพุทธรูป 3 องค์คือ พระบาง 1 พระแซกคำ 1 พระฉันสมอ 1 ซึ่งอาราธนาลงมาแต่เวียงจันท์นั้น บัดนี้ลงมาถึงกรุงเก่าแล้ว จะได้ขึ้นไปรับลงมาไว้ ณ วัดเขียน ตรงข้ามวัดเขมาข้าม … ให้จัดกระบวนแห่ทางชลมารคไปรับ จากนั้นจัดกระบวนแห่ทางสถลมารค เข้าสู่วิหารนากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม”

เห็นได้ว่าเอกสารสมัยรัชกาลที่ 3 สองฉบับ แม้จะเขียนร่วมสมัยกัน กลับเรียกพระแซกคำต่างกัน การปรากฏคำว่า “พระแซ่คำ” ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม น่าคิดไม่น้อยทีเดียว เนื่องจากคำว่า “แซ่/แส้/แสว้” ก็เป็นคำที่มีความหมายต่อพระสกุลช่างล้านนาเช่นเดียวกัน หมายถึงการหล่อแยกชิ้นส่วนแล้วใช้เดือยหรือแส้เข้ายึดประกอบกัน

สอดรับกับข้อมูลของทางวัดคฤหบดีที่ระบุว่า ภายในพระแซกคำมีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ อันเป็นตัวเลขที่ตรงกันกับการใส่เดือยหรือแส้ 9 จุด ณ หมุดหมายที่บรรจุพระธาตุตามส่วนต่างๆ ของ “พระแสนแส้ล้านนา”

นอกจากนี้ การที่พระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 2 พระองค์กล่าวว่า สามารถนำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระแซ่คำได้ถึง 100 องค์นั้น (ทั้งที่พระแซกคำหน้าตักกว้างเพียง 18 นิ้ว) นั่นย่อมหมายความว่า พระแซกคำน่าจะหล่อแบบแยกส่วนจึงสามารถถอดสลักนำพระธาตุมาบรรจุได้โดยง่าย

ไม่ว่าจะเป็น “พระแซกคำ” หรือ “พระแซ่คำ” ก็ตามที แต่เอกสารทุกฉบับกล่าวตรงกันว่า การเข้ามาสู่กรุงเทพฯ ของพระพุทธปฏิมาองค์นี้ เป็นการมาพร้อมกันหรือในระยะเวลาไล่เลี่ยกันกับพระบาง และพระฉันสมอ

ต่อมา ทางสยามได้ส่งคืนพระบางให้กับนครเวียงจันท์ ส่วนพระฉันสมอประดิษฐาน ณ วัดอัปสรสวรรค์

สรุปว่า เส้นทางของพระแซกคำไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี ความน่าจะเป็นคือ สร้างโดยพระเมืองเกษเกล้า ถวายให้พระญาโพธิสาลราช ส่วนพระไชยเชษฐาเป็นผู้ย้ายจากเมืองหลวงพระบางไปยังเวียงจันท์ ในที่สุดพระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 2 พระองค์เป็นผู้นำมาถวายแด่รัชกาลที่ 3