จากนักการเมือง “ผู้ทรงเกียรติ” สู่ความเสื่อมศรัทธา จนมาเป็น “ปลวก” และ “ปรสิต”

ท่านผู้ทรง “ปลวก-ปรสิต”

ไทยเราประกาศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ความหมายที่เป็นสากลคือ “อำนาจเป็นของประชาชน” บริหารจัดการประเทศ “โดยประชาชน เพื่อประชาชน”

เพราะการที่จะให้ประชาชนทุกคนเข้าบริหารจัดการประเทศโดยตรงเป็นไปไม่ได้ จึงดีไซน์รูปแบบให้ประชาชนเลือกตัวแทนขึ้นมาทำหน้าที่

ในความหมายของประชาธิปไตยนั้น “รัฐสภา” ถือว่าเป็นตัวแทนอำนาจที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด เพราะผู้ที่เป็นสมาชิกจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

แต่เพราะประเทศไทยเราดิ้นหลุดจาก “อำนาจนิยม” อันหมายถึง “คนกลุ่มหนึ่งสร้างสิทธิพิเศษในการเข้ามาครอบครองอำนาจเหนือกว่าคนอื่น” ได้ยากลำบาก หรือดิ้นหลุดไม่ได้

ทำให้ “รัฐสภา” กลายเป็นสถาบันที่ห่างไกลจากความเป็นตัวแทนของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีความพยายามที่จะชี้นำความคิดว่าประชาชนส่วนหนึ่ง หรือจะว่าไปเป็นส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะได้รับสิทธิมีส่วนร่วมในอำนาจอย่างเท่าเทียม

เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันที่เขียนขึ้นเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจ “คณะรัฐประหาร”

สร้างรัฐสภาที่ไม่เห็นหัวประชาชนขึ้นมา ด้วยการประกอบกันขึ้นของ 2 สภาที่มีลักษณะพิลึกพิลั่นแปลกประหลาดไปจากหลักประชาธิปไตยสากล

ที่เรียกว่า “สภาผู้แทนราษฎร” แม้จะยังมาจากการเลือกตั้ง แต่ถูกออกแบบให้นักการเมืองและพรรคการเมืองต้องขึ้นอยู่กับ “อำนาจขององค์กรอิสระ” ที่มาจากการแต่งตั้งของ “กลุ่มผู้มีอำนาจ”

การทนทำหน้าที่ในกติกาที่ชะตากรรมแขวนไว้กับความคิดของ “กรรมการในองค์กรอิสระ” เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง

สําหรับ “วุฒิสภา” นั้นไปไกลจนไม่เหลืออะไรที่ยึดโยงกับประชาชน สะท้อนจากการโหวตในทุกญัตติที่ยินยอมเป็นไปตามโพยของผู้มีอำนาจอย่างสงบราบคาบ

ศรัทธาที่มีต่อ “นักการเมือง” ไม่ว่าจะจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งจึงเหลือน้อยนิดยิ่ง

ไม่เพียงสะท้อนจาก “สื่อมวลชนประจำรัฐสภา” ซึ่งใกล้ชิดคนเหล่านี้ที่สุดให้ “ฉายาประจำปี” อย่างชวนให้สังเวชในความเป็นผู้ทรงเกียรติ

คือ “ปลวกจมปลัก” สำหรับสภาผู้แทราษฎร “สภาปรสิต” สำหรับวุฒิสภา “ครูใหญ่ไม้เรียวหัก” สำหรับประธานสภาผู้แทนราษฎร และ “หัวตอรอออเดอร์” สำหรับประธานวุฒิสภา

สะท้อนถึงสภาวะสิ้นศรัทธาอย่างรุนแรงต่อ “สถาบันรัฐสภา” แต่เกือบทุกคนที่ได้ยินแทบไม่มีใครรู้สึกเกินไป ยิ่งหากไปฟังคำอธิบายเหตุผลยิ่งต้องเห็นด้วยว่า เป็น “ฉายาที่เหมาะสมแล้ว” เท่านั้น

ยังมีผลสำรวจ “คะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาสครั้งที่ 4” โดย “นิด้าโพล” มายืนยันตอกย้ำ

ในคำถามที่ว่า “ใครคือผู้ที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้” ที่มากที่สุดคือร้อยละ 32.10 ตอบว่า “ยังหาคนเหมาะสมไม่ได้”

และคำถามที่ว่า “วันนี้ท่านสนับสนุนพรรคการเมืองใด” มากที่สุดคือร้อยละ 26.43 ตอบว่า “ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย”

หากดูรายละเอียของผลสำรวจจะพบว่า ผู้นำพรรคการเมืองแต่ละคน หรือพรรคการเมืองแต่ละพรรคได้รับความชื่นชมหรือสนับสนุนเพียงน้อยนิด

จนน่าสงสัยว่าความตกต่ำอย่างที่สุดของ “นักการเมือง” ซึ่งคือผู้แทนอำนาจประชาชนเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

และจะยิ่งน่าเศร้าไปกันใหญ่ที่บรรดานักการเมืองทั้งจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง ยังหน้าชื่นตาบานอยู่ในฐานะ “ผู้ทรงเกียรติ” ในสภาพเสื่อมทรุดต่อศรัทธาของประชาชน ถูกผู้คนมองเป็นความเลวร้ายระดับ “ปลวก” และ “ปรสิต” ที่กัดกินประเทศชาติ โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร ขอเพียงได้อยู่ในอำนาจ ได้เสวยวาสนา การปกครองประเทศชาติจะเลวร้าย และประชาชนรู้สึกสิ้นหวังแค่ไหนก็ไม่รับรู้

คำถามจึงคือ ท่ามกลางภาวะที่ประเทศชาติ ประชาชนต้องเผชิญวิกฤตในทุกด้านเช่นนี้

เราจะอยู่กันอย่างไร