มองไทย มองพม่า ยุค “โควิด” กับปัญหา “มองคนไม่เท่ากัน” ผลผลิต-ความคิดของรัฐไทย?

เมื่อนึกถึงพม่า ต้องนึกถึง “ลลิตา หาญวงษ์” อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มติชนสุดสัปดาห์ ชวน อ.ลลิตามองถึงปัญหาการมองแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยสายตาที่ไม่ค่อยดีของคนไทยนัก

อ.ลลิตาชี้ว่า นิสัยคนไทยเป็นนิสัยชอบเหยียด เราต้องเข้าใจก่อนว่า คนไทยชอบเหยียดคนที่ต่ำกว่าตัวเองเสมอ เช่นในอดีตเราจะมองว่าคนพม่าจน ต้องอพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทย ปัจจุบันในระบบคนงานพม่าเรามีอยู่ 2 ล้านคน นอกระบบมีการประเมินกันว่าน่าจะมีคนพม่าไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน นี่คือมากกว่าจำนวนประชากรในระดับจังหวัดกลางๆ ของประเทศไทยได้เลย

จากจำนวนของคนพม่าที่เข้ามาอยู่ทั้งหมด เรากลับมามองเขาว่าเป็นแรงงานเข้ามาหากินในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย

หรือเราจะมองลาวเป็นประเทศที่ยากจนอยู่ต่ำกว่าเรา

กัมพูชาก็เช่นเดียวกัน ก็ยังถูกมองว่าต้อยต่ำกว่าเรา

หรือสมัยก่อนคนเวียดนามที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย คือดูถูกคนประเทศเขาสารพัด

แต่ ณ วันนี้เวียดนามแบบเขาไม่จนอีกต่อไปแล้ว ก็มีการมองเขาด้วยสายตาที่ดีขึ้น

ปัญหาความคิดแบบนี้ อ.ลลิตามองว่า มันมาจากการมองคนไม่เท่ากัน เป็นปัญหาของการไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยจริงๆ มันไม่ควรจะเป็นประชาธิปไตยของคนไทยในประเทศเท่านั้น แต่คนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย เข้ามาทำงาน เขาไม่ได้ทำงานเปล่าๆ ไม่ใช่ว่าเขาหาเงินได้แล้วกลับไป

แต่ว่าเศรษฐกิจฐานรากที่เกิดขึ้นจากคนต่างชาติ ที่คนมักไปเรียกว่า “คนต่างด้าว” คำถามคือทำไมคนจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเราถึงเรียกเขาว่าคนต่างชาติ ในขณะที่คนพม่าหรือคนเขมรที่เข้ามาทำงานในประเทศเรา เราถึงเรียกเขาว่าต่างด้าว มันไม่มีความเท่าเทียมกันตั้งแต่คำเรียกแล้ว

“ต่างด้าว” คุณจะเห็นภาพของอะไรก็ไม่รู้ดูสกปรก

แต่ต่างชาติคุณจะมองเห็นว่าเป็นฝรั่งใส่สูทซึ่งมันไม่จำเป็น ฝรั่งที่ไม่ใส่สูทที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบผิดกฎหมายในประเทศเราก็มีอยู่จำนวนมากนะ

แต่นี่แหละมันมาจากพื้นฐานความคิดของรัฐไทยแบบเดิมๆ ที่ไม่เชื่อเรื่องของความเท่าเทียม ไม่เชื่อเรื่องว่าคนทุกคนเท่ากัน โดยเฉพาะคนจากประเทศเพื่อนบ้าน

ต่อให้คุณโปรโมตเรื่องของอาเซียนให้ตายอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าไม่มีประโยชน์หรอก ตราบใดที่เราไม่คิดว่าคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านเขาเท่าเทียมกับเราแล้ว โดยจ้องจะโจมตีพม่าตลอดว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ เป็นแรงงานเถื่อน

คนไทยไม่ได้มองว่าคนพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านจริงๆ คือมองว่าส่วนใหญ่เข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทยมากกว่า

แล้วก็จะเต็มไปด้วยการเหยียดหยามซึ่งเรื่องนี้จะคุยกันจริงๆ มันยาวมาก

อ.ลลิตาบอกว่า จากการที่เคยได้สัมผัสและสัมภาษณ์ พบว่าคนพม่าและคนกัมพูชาเขาจะรู้สึกว่ามองเขาเหมือนไม่ใช่คน มองเขาต่ำต้อย เท่าที่ทราบคือคนพม่าเขามีภูมิคุ้มกันพอสมควร แต่ห้ามเด็ดขาดที่จะไปว่าเขาในประเด็นว่าประเทศชาติของเขาไม่ดี ห้ามไปพูดเรื่อง sensitive ในความรู้สึกของคนพม่า เกิดเรื่องพิพาท เกิดเรื่องชกต่อยกันบ่อยมากจากกรณีนี้ เช่น อย่าไปบอกว่าออง ซาน ซูจี ไม่ดี คนพม่าจะรู้สึกว่าเป็นการทิ่มแทงหัวใจของเขา อันนี้คืออย่าไปพูดประเด็นนี้มาก

ขณะเดียวกันคนพม่าเขามีระบบ support ที่ดี คือเขามีชุมชนของตัวเอง เวลาคนพม่าเข้ามาทำงานเขาจะมีตลาดคนพม่า มีแม่บ้าน เช่น เพื่อนบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เขาจะ LINE คุยกับเพื่อนของเขาที่เป็นกลุ่มแม่บ้านเหมือนกัน คือเขาจะมีการช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกันดี

เหมือนกับคนฟิลิปปินส์เช่นกัน เขาก็จะมีเครือข่ายที่มา support เวลาอยู่ไกลบ้าน นานๆ ทีเขาจะนัดรวมตัวออกไปกินข้าวกัน พอเขามี support ดี เขาอาจจะรู้สึกว่าถูกเหยียดน้อยลง และคนพม่าเขามีเป้าหมาย ว่าจะทำงานหาเงินและนำเงินส่งไปจุนเจือที่บ้าน

ซึ่งนี่ไม่ได้หมายความว่านายจ้างไทยไม่ได้เหยียดนะ ก็ต้องยอมรับว่าคนไทยจำนวนมากจะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนพม่าอยู่เยอะ

ทัศนคติที่บอกว่าประเทศไทยดีกว่าที่ไหนๆ ในรอบๆ ประเทศเพื่อนบ้านไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรหรอก

อ.ลลิตามองว่า ส่วนตัวเราเองก็มีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเรามีศักยภาพ มีทรัพยากรธรรมชาติ มีจำนวนประชากรที่มันไม่ได้เยอะมากจนเกินไป และถือไพ่เหนือกว่าหลายที่ เราไปดูญี่ปุ่นประสบแต่ภัยธรรมชาติ มีเหตุแผ่นดินไหว-พายุ แต่ทำไมเขาถึงสร้างชาติด้วยคนที่มีคุณภาพ และกลายเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมนำเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งได้

ส่วนตัวมองว่า ความเกือบจะสมบูรณ์แบบของประเทศไทยนี่แหละ ที่ทำให้เราคิดน้อยกว่าที่ควรจะต้องคิด เพราะเราคิดว่าเดินออกไป ชีวิตดี มี Slow Life มีอาหารข้างทาง มีร้านสะดวกซื้อ (ของนายทุนหลายหมื่นสาขา) เปิดตลอด ถ้าเราไปอยู่ยุโรปไปอยู่เมืองนอกจะไม่เห็นอะไรแบบนี้

แต่คุณลองคิดดูว่า หรือเคยมองหรือไม่ว่า ท่ามกลางความสะดวกสบายเหล่านี้มันมีคนที่ถูกกดทับไว้จำนวนมาก เรามองว่าประเทศของเราสะดวกสบายในฐานะที่เราเป็นชนชั้นกลางหรือไม่?

ถ้าเราเป็นคนต้องหาเช้ากินค่ำ ปากกัดตีนถีบ กลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือเป็นชาวนาที่ขายข้าวเปลือกได้โลหนึ่งไม่ถึง 10 บาท หรือเราเป็นชาวนาที่ต้องเป็นหนี้คนขายปุ๋ยติดเงินคนขายยาฆ่าแมลง ชีวิตของเราปลูกข้าวมาเราไม่เคยได้กำไรเลย แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลเราก็ชอบโปรโมตว่าจะขอกลับไปเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกให้ได้ เราจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก เราจะครองใจคนทั่วโลก

แต่ชาวนาไทยชีวิตเขาต้องย่ำแย่ลงทุกปีๆ ชีวิตอยู่กับปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ขายข้าว ตากข้าวมีปัญหาเต็มไปหมดทุกปี

อ.ลลิตาบอกอีกว่า เมื่อพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทุกวันนี้ เด็กและเยาวชนเขาเล็งเห็นถึงปัญหาของคนในทุกระดับมากขึ้น และพอคุณมองถึงตัวปัญหา เช่น เรื่องของ lgbt ที่ไม่สามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คนหนึ่งไม่สามารถเซ็นมอบสมบัติ เซ็นยินยอมให้ผ่าตัดได้ มันจะมีปัญหาทุกระดับ มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นปัญหาของแค่เรื่องชาวนาเท่านั้น ไม่ต้องเป็นปัญหาของผู้ใช้แรงงานอย่างเดียว หรือคนที่เป็นผู้หญิงขายบริการที่เป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่ ทั้งที่เรารู้ว่านี่เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่สังคมดัดจริต พวกคนที่อยู่ข้างบนก็จะมองว่าไม่ได้ แบบนี้ผิดศีลธรรม ไม่ตอบสนองกับความเป็นสังคมพุทธแบบไทยๆ

ขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเบียร์-สุราประเทศไทย คนของเรามีหัวในการผลิตสุราอยู่จำนวนมากในทุกท้องที่ เรามีสุราพื้นบ้านหมด

แต่ข้อจำกัดของรัฐไทยที่มองว่าศีล 1-5 ที่ต้องรักษาไว้ ถามจริงๆ เถอะว่าในแผ่นดินประเทศไทยผืนนี้ มีใครที่รักษาศีล 5 ได้ครบทั้งหมดทุกประการบ้าง

โดยเฉพาะเรื่องเบียร์ไม่ว่าจะขึ้นราคาแพงขนาดไหน สถิติทุกปีก็บ่งชี้ว่าไม่ได้ทำให้คนดื่มเบียร์น้อยลงแต่อย่างใด

ดังนั้น การเปลี่ยนประเทศมันจึงต้องควรจะเป็นการเปลี่ยนความคิด ไม่ใช่เฉพาะของผู้คนทั่วไป แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดของรัฐที่ต้องมองประชาชนด้วยความเข้าใจ

เวลาที่ประชาชนเข้าชื่อกันร้องเรียน-เรียกร้องว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหาแล้วสิ่งที่รัฐควรจะทำคือการรับฟังและพิจารณาอย่างจริงจัง ไม่ใช่บอกว่าอันนี้ เป็นภัยต่อความมั่นคง อันนี้จะกลายเป็นเรื่องล้มล้าง มันมีข้อเรียกร้องมากมาย

แต่รัฐเรา ด้วยความที่เป็นอีโก้เขาจะมีหมวกอยู่ 2 ใบ คือรัฐในฐานะที่เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์คือเป็นผู้ปกครองสูงสุด และเป็นผู้ใหญ่ที่คอยตรวจสอบดูแลและบอกเด็กว่าห้ามทำอย่างนั้นห้ามอย่างนี้แล้วสังคมมันไปไหนไม่ได้

เด็กพยายามจะเรียกร้องแต่ผู้ใหญ่บอกว่าอย่าทำ อย่าพูดไม่เข้าหูผู้ใหญ่ อะไรก็ตามที่มันแตกต่างจากที่ผู้ใหญ่คิดมันไม่ถูกใจผู้ใหญ่สักอย่างหนึ่ง

“แต่ดิฉันเชื่อว่าในท้ายที่สุดสังคมนี้ยังไงก็ต้องเปลี่ยนแปลงเพราะมันไม่สามารถอยู่แบบนี้กันได้อีกแล้ว มันจะต้องเปลี่ยนไปในทิศทางที่มันดีขึ้น แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะล้มวิธีคิดแบบเดิมๆ ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองให้ได้ แล้วการประท้วงไม่ว่าจะเป็นในระดับนักเรียนเลวไปจนถึงกลุ่มราษฎรในระดับประเทศ เขาทำให้เห็นว่าเขาต้องการจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดตรงนี้”

อ.ลลิตาทิ้งท้ายไว้

ชมคลิป