เศรษฐกิจ / กางแผนลงทุนรัฐ ปี 2564 เข็น ศก.พ้นโควิด ต้องทำจริง-ทำไว ก่อนผู้ประกอบการ-ปชช. จะทนพิษเชื้อโรคร้ายไม่ไหว

เศรษฐกิจ

 

กางแผนลงทุนรัฐ ปี 2564

เข็น ศก.พ้นโควิด

ต้องทำจริง-ทำไว ก่อนผู้ประกอบการ-ปชช.

จะทนพิษเชื้อโรคร้ายไม่ไหว

 

เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นของการกลับมาระบาดระลอกใหม่ โควิด-19 ตอนนี้กระจายตัวเกินครึ่งประเทศ กว่า 50 จังหวัดต้อนรับปีวัว!

สิ่งที่น่าห่วงในปี 2564 นอกจากภาคการท่องเที่ยวและบริการแล้ว อีกหนึ่งภาคที่ส่ออาการน่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน คือภาคการลงทุน

ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าล้มคลุกคลานอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาทำการค้าได้ตามปกติ

ช้ำไปกว่านั้น หลายประเทศเริ่มเบนเข็มไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศเวียดนามมากขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่รัฐบาลจะต้องฟันฝ่าไปให้ได้ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยดิ่งเหวไปมากกว่านี้

จากความกังวลดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลปรับวิธีพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ จากเดิมที่ไทยต้องพึ่งพาทั้งภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย

จะเห็นได้ว่าในช่วงปลายไตรมาสที่ 2/2563 เป็นต้นมารัฐบาลเริ่มประชาสัมพันธ์ให้มีการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น อีกทั้งยังสั่งการให้ทุกหน่วยงานรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้า

ซึ่งจากการประเมินของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ พบว่าการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเพิ่มขึ้น 18.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 

ถึงแม้ว่าการดำเนินการต่างๆ ของภาครัฐจะเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว แต่ในช่วงปลายปี 2563 เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อประเทศไทยกลับมาพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 จุดเริ่มต้นน่าจะนับที่จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะกระจายเชื้อลามไปหลายจังหวัดในเวลาอันรวดเร็ว จนภาครัฐต้องกลับมากุมขมับอีกครั้ง

ขณะที่ภาคเอกชนและประชาชนต้องขวัญหนีดีฝ่อ ทั้งกลัวการติดเชื้อ กลัวเศรษฐกิจจะกลับมาพังรอบสอง ต้องตกงานกันอีกหรือไม่ เพราะไม่เพียงแผนที่ภาครัฐวางไว้ฝากผีฝากไข้กับภาคการท่องเที่ยวในประเทศต้องหยุดชะงักลง แต่ภาคธุรกิจอื่นๆ ยังเกิดความเสี่ยงตามมาด้วย

ดังนั้น ในปี 2564 นี้ จะเริ่มเห็นหลายกระทรวงโหมการลงทุนกันมากขึ้น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงทำให้เกิดการประคองจ้างงานในหลายๆ อุตสาหกรรมอีกด้วย

ยกตัวอย่างกระทรวงที่มีแผนการลงทุนมากที่สุด อย่างกระทรวงคมนาคมภายใต้การนำของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เตรียมงบประมาณในส่วนของการลงทุนไว้ที่ประมาณ 231,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.64% เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2563 ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 197,149 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นวงเงิน 34,775.09 ล้านบาท

ซึ่งในวงเงินดังกล่าวนั้น แบ่งเป็นหน่วยงานส่วนราชการ วงเงิน 193,554 ล้านบาท และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 38,370 ล้านบาท

เมื่อแยกเป็นงบประมาณในส่วนต่างๆ พบว่างานนโยบาย วงเงิน 973.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.65% คิดเป็น 0.42% ของวงเงินทั้งหมด ด้านระบบขนส่งทางบก วงเงิน 186,359.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.46% คิดเป็น 80.35% ของวงเงินทั้งหมด ด้านระบบขนส่งทางราง วงเงิน 33,603.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.38% คิดเป็น 14.49% ของวงเงินทั้งหมด ด้านระบบขนส่งทางน้ำ วงเงิน 4,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.67% คิดเป็น 2.10% ของวงเงินทั้งหมด และด้านระบบขนส่งทางอากาศ วงเงิน 6,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.21% คิดเป็น 2.64% ของวงเงินทั้งหมด

ประเมินจากวงเงินงบประมาณในปี 2564 แล้ว เรียกได้ว่าการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของกระทรวงคมนาคมน่าจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนภาคการท่องเที่ยวที่อยู่ในภาวะซบเซาได้ แต่ยังคงต้องติดตามว่าจะมีการปรับลดงบประมาณลงหรือไม่ เนื่องจากอาจจะต้องนำเงินในส่วนของการลงทุนไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ทั้งนี้ รัฐมนตรีศักดิ์สยามยืนยันว่าไม่กระทบต่อแผนลงทุนแน่นอน

สำหรับโครงการที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย 2558-2565 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแล้ว ได้แก่ โครงการ M6 ครม.มีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เห็นชอบให้ก่อสร้างภายในกรอบวงเงิน 84,600 ล้านบาท คาดว่าจะเป็นต้นปี 2566

 

ส่วนอีกแหล่งลงทุนที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ นั่นคือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เครื่องมือหลักในการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ระดับโลก ให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นสูง เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับความเจริญของประเทศ โดยมีอีอีซีเป็นจุดเชื่อมโยงภายหลังความพยายามผลักดันโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ในอีอีซี อย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมืองการบิน ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ได้ผู้ชนะ โครงการเริ่มเดินหน้าเป็นรูปเป็นร่าง

ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนในอีอีซี ปี 2564 ประมาณ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม 5 จี ในพื้นที่อีอีซีประมาณ 100,000 ล้านบาท และการลงทุนของภาคเอกชนที่มีการขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอประมาณ 300,000 ล้านบาท

และยังมั่นใจว่าหลายโครงการที่มีการชะลอการลงทุนในปี 2563 จะเลื่อนการลงทุนมาในปี 2564 หลังจากที่มีวัคซีนต้านโควิด-19

 

ด้านความเห็นจากวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ภาคเอกชนมองว่าไม่ส่งผลต่อการดำเนินงาน เนื่องจากทั้งรัฐและเอกชนมีประสบการณ์จากการแพร่ระบาดในช่วงแรกแล้วว่าเรื่องการขนส่งและผลิตสินค้าเป็นเรื่องที่จำเป็น อีกทั้งครั้งนี้รัฐบาลไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศจึงกระทบไม่มาก

ส่วนภาคการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนล้วนแต่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว แต่รัฐได้มีการปรับตัวมาลงทุนในประเทศมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะส่งผลให้ยังเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงปี 2562 ยังเป็นไปได้ยาก แต่เริ่มเห็นการฟื้นตัวเล็กน้อยในอุตสาหกรรมที่หยุดผลิตไปสักระยะ อย่างอุตสาหกรรมล้อยาง ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทประคองการจ้างงานได้

อีกเรื่องที่สำคัญคือการอัดฉีดเงินจากภาครัฐ จะเข้ามาเป็นอีกตัวช่วยสำคัญและเห็นผลได้จริง แต่มองว่ามาตรการแจกเงินต่างๆ ของภาครัฐเป็นมาตรการช่วยเหลือได้ในระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้น รัฐต้องออกมาตรการช่วยเหลือในระยะยาวให้กับภาคประชาชน เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ และกลุ่มธุรกิจที่กำลังลุกขึ้นได้ ยังสามารถประคองชีวิตอยู่ได้ แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังไม่หมดไป

จากความกังวลของภาคเอกชน และประชาชน เป็นอีกหนึ่งการตอกย้ำให้รัฐต้องเร่งดำเนินการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ก่อนที่หลายฝ่ายจะทนพิษบาดแผลไม่ไหวไปเสียก่อนจะได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์