กรองกระแส / ท้าทายอำนาจรัฐ ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากไวรัสโควิด-19

กรองกระแส

 

ท้าทายอำนาจรัฐ

ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากไวรัสโควิด-19

 

พลันที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาในสังคมไทย ไม่ว่ารอบที่ 1 เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ไม่ว่ารอบที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2563

ก็ได้ “กระแทก” อย่างรุนแรง

เห็นได้จากการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเดือนมีนาคม 2563 อันไม่เพียงแต่นำไปสู่การ “ล็อกดาวน์” ครั้งใหญ่

ส่งผลให้เกิดการแตกกระจายของประชาชน

กระนั้น ผลสะเทือนที่ลึกซึ้งเป็นอย่างมากอันเนื่องแต่มาตรการ “ล็อกดาวน์” โดยไม่มีการเยียวยาอย่างเป็นระบบและทันกับสถานการณ์

เท่ากับเป็นการแพร่กระจาย “ความเดือดร้อน” ไปทุกหย่อมย่าน

ที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ “โรงทาน” ใน 4 มุมเมือง ไม่ว่าจะเป็นการประท้วง ณ กระทรวงการคลังโดยไม่หวาดเกรงต่อไวรัสโควิด-19

แรงกระแทกนี้กระทบโดยตรงต่อ “รัฐราชการรวมศูนย์”

 

ระลอกแรก ปี 2563

ระลอกหลัง ปี 2564

จากสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกที่ 1 อำนาจรัฐยังแข็งแกร่ง อำนาจพิเศษในการควบคุมประชาชนยังมีความขลัง สามารถสยบความไม่พอใจลงได้

กระบวนการประชาสัมพันธ์ยังทรงพลานุภาพ

สังคมรับรู้ว่า รัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการกำราบไวรัสโควิด-19 ได้อย่างยอดเยี่ยมเป็นที่ยกย่องของนานาชาติ

โดยที่ “รอยแผล” ในทางเศรษฐกิจได้รับการกลบเกลื่อน ปิดบัง

แต่พลันที่การแพร่ระบาดรอบ 2 ปรากฏขึ้นในเดือนธันวาคม 2563 และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกว้างขวางในเดือนมกราคม 2564

ความอัปลักษณ์ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมก็ปรากฏขึ้น

ไม่ว่าจะในประเด็นที่ว่าแรงงานข้ามชาติเรือนแสนเข้ามาที่ตลาดกุ้ง สมุทรสาคร ทั้งถูกและผิดกฎหมายได้อย่างไร ไม่ว่าจะในประเด็นบ่อนการพนันได้กลายเป็นแหล่งแพร่กระจายไวรัสได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ความสำเร็จ ยอดเยี่ยม

ความล้มเหลว ยอดแย่

หากถือเอาตลาดกุ้ง สมุทรสาคร เป็นจุดเริ่มต้น ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ ไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ก็แพร่กระจายออกไปมากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ

ในนี้มีสมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เป็นจุดศูนย์กลาง

ไม่เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมายอมรับว่าไม่สามารถสกัดกั้นแรงงานข้ามชาติได้เพราะเขตแดนยาวเหยียด มีช่องทางธรรมชาติมากมาย

เป็นการพูดในฐานะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ไม่เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ปฏิเสธการดำรงอยู่ของ “บ่อน”

ไม่ว่าจะเป็นในระยอง ไม่ว่าจะเป็นในชลบุรี ไม่ว่าจะเป็นในจันทบุรี

แต่ความเป็นจริงที่ตามมาก็คือ มีการย้ายผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง มีการย้ายผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี และมีการย้ายผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี

ที่เคยคุยว่ายอดเยี่ยมในกลางปี 2563 ก็พังครืนเหมือนปราสาททรายต้องคลื่นในเดือนมกราคม 2564

 

สงครามไวรัส

สถานะตั้งรับ

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ล้วนเป็นทหาร ล้วนเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก

หากมองการเข้ามาของ “ไวรัส” เป็นเหมือน “สงคราม”

ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์รอบที่ 1 เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์รอบที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2563

ล้วนอยู่ในสถานการณ์ที่ถูก “รุก” อยู่ในสถานะ “ตั้งรับ”

มิใช่เป็นการแพร่กระจายโดยแรงงานข้ามชาติ หากที่สำคัญก็คือ ภายในประเทศยังมีพื้นที่ที่อำนวยให้กับการแพร่กระจายของไวรัสได้อย่างยอดเยี่ยม

โดยที่กลไกอำนาจรัฐแทนที่จะสกัดขัดขวาง กลับเป็นการเปิดช่องทางสะดวก

หากมิใช่เพราะการเปิดไฟเขียวให้จากกลไกอำนาจ แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายจะเข้ามาได้อย่างไรเป็นเรือนแสน หากมิใช่เพราะการเปิดไฟเขียวจากกลไกอำนาจ การเปิดบ่อนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

คำถามนี้พุ่งตรงไปยังรัฐบาล ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

กระแทกโดยตรง

สู่รัฐราชการรวมศูนย์

ไม่เคยมีครั้งใดที่อำนาจรัฐในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกท้าทายโดยตรงมากเท่ากับเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สังคมรู้ในความอ่อนแอปวกเปียกของ “รัฐราชการ”

สังคมรู้ในประสิทธิภาพและความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อย่างเด่นชัด ตอนแรกอาจไม่เข้าใจ แต่ก็เริ่มเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง

โครงสร้างอำนาจรัฐแบบนี้ไม่สามารถบริหารจัดการอะไรได้

สภาวะปั่นป่วนตั้งแต่ในส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาคสัมผัสได้อย่างเด่นชัดโดยมีประชาชนพลเมืองผู้เสียภาษีอากรกลายเป็น “เหยื่อ”

    เหยื่อแห่งความล้มเหลวจากระบอบรัฐราชการรวมศูนย์