กรองกระแส/สถานะ คสช. หลัง กัมปนาท ระเบิด สถานะ การเมือง

กรองกระแส

สถานะ คสช. หลัง กัมปนาท ระเบิด สถานะ การเมือง

หลังกัมปนาทแห่งระเบิด ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อตอนสายของวันที่ 22 พฤษภาคม สภาพการณ์ในทางการเมืองของสังคมไทยจะไม่เหมือนเดิม

ยิ่งหากย้อนไปสัมพันธ์กับ 2 ระเบิดก่อนหน้านั้น

1 ระเบิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน ณ บริเวณถังขยะหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (เก่า) ถนนราชดำเนินกลาง

1 ระเบิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ณ ข้างโรงละครแห่งชาติ

อันไม่ว่าข้อมูลจากกองทัพ ไม่ว่าข้อมูลจากตำรวจ เห็นตรงกันว่าเป็นระเบิดซึ่งมาจากกลุ่มเดียวกันและมีความสัมพันธ์

ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายและความต้องการของระเบิด

ไม่ว่าจะมองผ่านการเลือกเอา “ห้องวงษ์สุวรรณ” ไม่ว่าจะมองผ่านการเลือกเอาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อันเป็นของ “กองทัพบก” ไม่ว่าจะมองผ่านวันที่ 22 พฤษภาคม ล้วนรวมศูนย์ไปยัง คสช. และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รัฐประหาร”

เป้าหมายระเบิดคือ คสช. เป้าหมายระเบิดคือ รัฐประหาร

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เหมือนกับเป้าหมายอย่างชนิดตีกลางแสกหน้าจะเป็น “ห้องวงษ์สุวรรณ” ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

จึงไม่เกี่ยวอะไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพราะเท่ากับเป็นการแยก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ในความเป็นจริงจะสามารถแยก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกจาก คสช. และออกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หรือ

ในเมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือ “พี่ใหญ่” สาย “บูรพาพยัคฆ์”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือผู้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ก่อนใคร และมีบทบาทอย่างสูงในการจัดวางบทบาทให้กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และรวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่างหากคือ “กล่องดวงใจ” ของ คสช.

การเลือกเอาวันที่ 22 พฤษภาคม การเลือกเอาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโดยเฉพาะ “ห้องวงษ์สุวรรณ” จึงเท่ากับเป็นยุทธวิธีในการตีกระทบจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปยัง คสช. และไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“คสช.” ต่างหากคือเป้าหมายอย่างแท้จริงของ “ระเบิด”

แปรวิกฤตเป็นโอกาส

ยุทธวิธีเลื่อนเลือกตั้ง

คล้อยหลังกัมปนาทของระเบิดได้มีการเสนอคำถาม 4 ข้อผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่าด้วยการเลือกตั้งและธรรมาภิบาล

เหมือนกับเป็นการโยนระเบิดกลับสู่ “สังคม”

เหมือนกับเอาเรื่อง “การเลือกตั้ง” มาเป็นอาวุธ และเป็นเครื่องมือในการตอบโต้และขู่ขวัญบรรดานักการเมือง

เท่ากับแสดงท่าทีว่าจะอยู่ใน “อำนาจ” อย่างไม่มีกำหนด

อาศัยกลไกของ “ศูนย์ดำรงธรรม” กระทรวงมหาดไทย มาเป็นเครื่องกรองเหมือนกับอาศัยกลไกของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) มาเป็นอาวุธและเครื่องมือในห้วงแห่งการทำประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

สะท้อนให้เห็นว่าภายใน คสช. เองก็ไม่มั่นใจว่ากระบวนการของการเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมืออันมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

นั่นก็มาจากความกลัวว่าหากมีเลือกตั้งก็จะต้องพ่ายแพ้อีก

เหมือนกับที่เคยพ่ายแพ้เมื่อเดือนธันวาคม 2550 เหมือนกับที่เคยพ่ายแพ้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 อันเป็นรากที่มาของคำว่า “เสียของ”

จึงมีการชะลอและรั้งดึงมิให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วตามเป้าหมาย

ปัจจัยแปรเปลี่ยน

นับแต่เมษายน 2560

ความเป็นจริง แม้จะมีความพยายามชะลอและรั้งอย่างไรในทางการเมือง แต่นับจากมีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ก็เท่ากับเป็นการนับ 1 ในเรื่องของการเลือกตั้ง

ปัจจัยจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้นเองที่ทำให้ “การเลือกตั้ง” ได้กลายเป็นกระแสและเริ่มเข้ามาอยู่ในฐานะครอบงำในทางสังคมเป็นลำดับ

กัมปนาทแห่งระเบิดอาจกลายเป็นปัจจัย 1 สะท้อนสถานะไม่แน่นอนของ คสช.

สถานะของ คสช. มิได้เป็นเหมือนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 มิได้เป็นเหมือนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559

การดำรงอยู่ของ “ผู้นำ” ของ คสช. ก็ไม่เหมือนเดิม

ที่คิดว่าเป็นการรุกในทางการเมือง เริ่มไม่เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม จะมีลักษณะต้องตั้งรับในทางการเมืองมากยิ่งขึ้น