ส้มจี๊ด สรรพคุณอัดแน่น! คนเป็นหวัดบ่อยๆต้องจัด! ลดอาการปอดชื้น แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ภูมิแพ้

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ส้มมะปี๊ด เปรี้ยวจี๊ด ส้มจี๊ด

 

ส้มจี๊ด หรือเรียกกันอีกชื่อว่า ส้มมะปี๊ด มีชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus japonica Thunb. จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE) ซึ่งก็คือพืชในตระกูลมะนาว ส้มโอ ส้มเขียวหวานนั้นเอง

ส้มจี๊ดมีชื่อภาษาอังกฤษ ที่นานาชาติรู้จักกันในชื่อ “Kumquats หรือ Cumquats” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาจีนกวางตุ้ง น่าจะออกเสียงว่า “ก่ำควิด หรือ ก่ำควอท” หมายถึงส้มแมนดารินที่มีสีทอง

ส้มจี๊ดมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ซึ่งมีบันทึกถึงการใช้ประโยชน์ในประวัติศาสตร์ของจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 และพบการปลูกมาอย่างยาวนานในแถบเอเชียตะวันออก (ประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน) เอเชียใต้ (อินเดีย) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟิลิปปินส์)

ตามประวัติศาสตร์มีผู้นำส้มจี๊ดเข้าสู่ยุโรปในปี พ.ศ.2389 โดยโรเบิร์ต ฟอร์จูน (Robert Fortune) หลังจากนั้นไม่นานก็มีการนำเข้าไปปลูกในอเมริกาเหนือ

เหตุที่ส้มจี๊ดแพร่พันธุ์เป็นที่นิยมนั้น น่าจะมาจากรสชาติที่นำมาทำของกินได้หลากหลาย

รูปทรงต้นเป็นไม้ประดับสวยงาม และดอกสีขาว กลิ่นหอมแรง แม้ว่าตามกิ่งมีหนามแหลมคม ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร

ส้มจี๊ดจัดเป็นไม้พุ่มปลูกในกระถางได้พอสวยงาม หรือลงดินก็มีความสูงได้ประมาณ 1.5-3 เมตร และขึ้นได้ทั่วไป ปลูกไม่ยาก

แต่ส้มจี๊ดมีความผันแปรทางพันธุกรรมมาก ทำให้มีหลายลักษณะจึงมีบันทึกต่างกันไว้ 4 ลักษณะ คือ

 

ส้มจี๊ดผลกลม (Round kumquat)

ผลค่อนข้างกลมขนาดเล็ก เนื้อส้มรสหวาน แต่อมเปรี้ยวบริเวณใกล้แกนกลาง

ผลกินสดหรือนำมาประกอบเป็นอาหารประเภทต่างๆ เช่น มาร์มาเลด (คล้ายแยมแต่จะใส่เปลือก ผิว พร้อมเนื้อผลไม้ หรือเรียกแยมผิวส้ม) เยลลี่ และสเปรด (คล้ายแยมเช่นกัน แต่ส่วนผสมมากกว่าครึ่งใช้เนื้อผลไม้แท้ผสมกับน้ำผลไม้เข้มข้น ไม่ใส่น้ำตาล) และอาหารอื่นๆ

ต้นส้มจี๊ดผลกลมนำมาทำบอนไซได้ หรือปลูกเป็นต้นเล็กๆ ในกระถางซึ่งในประเทศจีนและประเทศในเอเชียถือว่าเป็นพืชมงคล ให้ความโชคดี ร่ำรวยแก่ผู้ปลูก

หากสังเกตจะพบว่าในเทศกาลตรุษจีนจะนำต้นส้มจี๊ดในกระถางมาตั้งไว้หน้าบ้านหรือประดับในบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล

 

ส้มจี๊ดผลรูปไข่ (Oval kumquat)

ผลรูปไข่กินได้ทั้งผล (เนื้อและเปลือก)

เนื้อมีรสเปรี้ยวแต่เปลือกมีรสหวาน

ต้นที่อยู่ในธรรมชาติมักมีขนาดเล็ก

จึงเหมาะที่จะปลูกในกระถาง

หรือนำมาทำบอนไซ

 

ส้มจี๊ดเหมยฮวา (Meiwa kumquat)

นําจากจีนเข้าไปปลูกในญี่ปุ่นตอนปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีลักษณะผลกลมมีเมล็ด ใบหนา กินได้ทั้งเปลือกและเนื้อผล ส้มจี๊ดเหมยฮวานี้ยังมีชนิดย่อยๆ อีก คือชนิดฮ่องกง (Hong Kong kumquat) ผลมีขนาดเล็กเท่าเมล็ดถั่ว รสขมและเปรี้ยวจัด มีเนื้อน้อยมากและมีเมล็ดขนาดใหญ่ มักปลูกเป็นไม้ประดับแต่นับเป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดตามธรรมชาติพบได้ที่ประเทศจีนตอนใต้

และชนิดย่อยอีกชนิด คือ ชนิดเจียงสุหรือฟูกูชุ (Jiangsu kumquat หรือ Fukushu kumquat) ผลรูปกลมหรือรูประฆัง เมื่อสุกเต็มที่จะมีสีเหลืองสดใส แตกต่างจากส้มจี๊ดชนิดอื่นๆ ตรงที่มีใบกลม และมีความแตกต่างจากส้มจี๊ดผลกลมทั่วไป คือ สามารถเจริญเติบโตได้ในที่มีอุณหภูมิหนาวเย็น

จากการศึกษาทางพันธุกรรมพบว่าส้มจี๊ดเหมยฮวา เป็นพันธุ์ผสม

 

ส้มจี๊ดมาลายัน (Malayan kumquat)

เป็นสายพันธุ์ลูกผสมเช่นกัน แต่มีเปลือกบางและขนาดของผลจะใหญ่กว่าชนิดอื่นๆ ชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกเท่านั้นไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ

การใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพร ในทางสรรพคุณยาจีนกล่าว่า ผลส้มจี๊ดที่มีรสเปรี้ยวนั้นจะให้พลังเย็น

ในขณะเดียวกันรสเปรี้ยวอมหวานก็มีสรรพคุณเกี่ยวกับปอด จึงช่วยอาการเกี่ยวกับปอด ลำคอ ไอ เช่น น้ำคั้นผลส้มจี๊ดใช้ผสมกับเกลือเล็กน้อยจิบกินแก้อาการไอ ขับเสมหะ ผลนำมาดองกับเกลือแล้วทำให้แห้ง ใช้อมแก้อาการเจ็บคอ ช่วยแก้เสียงแหบ ช่วยแก้ภูมิแพ้ที่สำแดงอาการทางลำคอ

คนไข้ที่มีอาการปอดชื้นสังเกตได้จากมักเป็นหวัดบ่อยๆ และเป็นๆ หายๆ หรือหายยากและมักมีเสมหะมาก

แนะนำให้ชงชาส้มจี๊ดช่วยบรรเทาได้ โดยนำเปลือกมาชงกับน้ำร้อนและแต่งรสด้วยน้ำตาลกรวด (ชาวจีนนิยมใช้เพราะจัดเป็นการแต่งรสหวานที่ไม่เพิ่มฤทธิ์ร้อนกับร่างกาย และรสชาติหวานกลมกล่อม) หรือจะใช้น้ำตาลทรายทั่วไปก็ได้

เปลือกผลดิบกินสดๆ จะช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ กินชาส้มจี๊ดยังช่วยแก้ท้องอืด ขับลมในท้อง แก้คลื่นไส้อาเจียน ช่วยย่อยอาหารด้วย

 

เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์ท่านหนึ่งที่ช่วยงานวิชาการให้กับมูลนิธิสุขภาพไทยได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ที่สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพ ที่ชุมชนบ้านวันยาว อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

พบว่าชาวบ้านกลุ่มนี้เข้มแข็ง ได้ทำการศึกษาพันธุ์ส้มจี๊ดรอบพื้นที่ ประชุมระดมความคิดเห็น จนได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนพื้นถิ่นจันทบุรีเรียกส้มจี๊ดว่า “ส้มมะปี๊ด” และพบว่าอยู่ในสังคมวัฒนธรรมของชาวจังหวัดจันทบุรีมาไม่น้อยกว่า 200 ปี เนื่องจากบริเวณนี้เป็นดินเค็มปลูกมะนาวไม่ค่อยได้ คนจันทบุรีแต่อดีตจึงใช้ส้มปี๊ดแทนมะนาวมาตลอด เรียกว่าปรุงและประกอบอาหารทุกชนิดจะใช้ส้มมะปี๊ด

ที่น่าตื่นตาตื่นใจในความสามารถของชาวบ้าน คือ การค้นหาสายพันธุ์ส้มมะปี๊ดในชุมชนได้ถึง 4 สายพันธุ์ ได้แก่

1) สายพันธุ์พวง เป็นพันธุ์ดั้งเดิม ลูกเล็ก เปลือกบาง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

2) สายพันธุ์ลูกใหญ่ เป็นพันธุ์ลูกผสมที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์มา

3) สายพันธุ์ด่าง ลูกด่าง ใบด่าง ใช้ปรุงอาหารได้เหมือนกันแต่ไม่นิยม (น่าจะไม่อร่อย) มักนำมาปลูกเป็นไม้ประดับมากกว่า เพราะเชื่อว่าเป็นการเสริมฮวงจุ้ย

และ 4) สายพันธุ์หนาม รสชาติเปรี้ยวมากและทนต่อโรคดี ขณะนี้กลุ่มชาวบ้านมีองค์ความรู้และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ใครสนใจกิ่งพันธุ์ ผลสด ของแปรรูปต่างๆ เช่น ลูกอม น้ำส้มจี๊ดพร้อมดื่ม ฯลฯ รอโควิด-19 จางหายแล้วไปเที่ยวจันทบุรี อุดหนุน แต่ถ้าอดใจรอรสเปรี้ยวจี๊ดไม่ไหว ลองโทร.ไปสอบถามกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้ โทร. 09-5954-1070

ส้มจี๊ดไม่เพียงรสเปรี้ยวแต่ให้คุณค่าอาหาร สรรพคุณสมุนไพร เป็นไม้ประดับ สืบต่อพันธุกรรมความหลากหลายทางชีวภาพ และช่วยเศรษฐกิจชุมชนได้ด้วย เราช่วยกันๆ