อนุช อาภาภิรม : นิเวศวิทยาภายใต้ระบบอันซับซ้อน

ในช่วงเวลา 200 ปีระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 สังคมมนุษย์ที่นำโดยตะวันตกได้ทวีความซับซ้อนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

มันเป็นเหตุการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะ อาจเกิดขึ้นครั้งเดียวและไม่มีซ้ำอีก

ลักษณะซับซ้อนของสังคมเช่นว่า แสดงออกที่การเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ใหม่หลายคู่

คือ

 

ก)

คู่แรก คือจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับปริมาณการใช้พลังงานที่เพิ่มในอัตราสูงกว่า ดังนั้น แม้จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้น แต่การใช้พลังงานต่อหัวก็ยังเพิ่มสูงขึ้น

โดยในระยะหลังเกิดขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่มีจีนและอินเดีย เป็นต้น ไม่ใช่ในประเทศตะวันตกเหมือนเดิม การใช้พลังงานเพิ่มขึ้นทำให้จำนวนประชากรสูงขึ้น และจำนวนประชากรที่เพิ่มสูง ทำให้การใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอีก

วนรอบอยู่เป็นร้อยปี

 

ข)

คู่ที่สอง การเป็นเมืองกับการผลิตปริมาณมากและการแบ่งงานกันทำ เมืองเป็นการตั้งถิ่นฐานซับซ้อนที่สุดของมนุษย์และมนุษย์ก็ดูชอบเมือง เมืองก่อความได้เปรียบเชิงขนาดและนำผู้ชำนาญด้านต่างๆ มารวมกัน กระตุ้นให้เกิดการสร้างความรู้ใหม่ และนวัตกรรมผลักดันให้เมืองมีความทันสมัย เกิดการพัฒนาการผลิตปริมาณมากที่ต้องใช้เครื่องจักรและพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อสนองความต้องการบริโภคที่หลากหลายมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดชนชั้นกลางผู้บริโภคใหม่ การเป็นเมืองและการผลิตปริมาณมากขยายการแบ่งงานกันทำ

สร้างความมั่งคั่งและความหลากหลายในการดำเนินชีวิต

 

ค)

คู่ที่สาม การเชื่อมต่อและการพัฒนาทางการศึกษา การเชื่อมต่อเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งและการสื่อสารให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและมีราคาถูกลงมาก จนกระทั่งชนชั้นล่างในสังคมก็เข้าถึงได้

การเชื่อมต่อนี้ ประกอบด้วยการเชื่อมต่อพื้นที่เมืองกับชนบท ชนบทยิ่งใกล้ชิดและขึ้นต่อเมืองมากขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งในต้นศตวรรษที่ 21 การตั้งถิ่นฐานแบบเมืองเข้าแทนที่การตั้งถิ่นฐานแบบชนบท

การเชื่อมต่ออื่นคือการทำให้เมืองเป็นระบบหนึ่งเดียว และการเชื่อมต่อระหว่างเมืองด้วยการขนส่ง การสื่อสาร การค้าการลงทุน วัฒนธรรม การบันเทิง การกีฬา การท่องเที่ยวและการปฏิสัมพันธ์อื่น เกิดเป็นกลุ่มเมืองและมหานครโลก เป็นเหมือนเสาค้ำยันระบบโลกที่เป็นอยู่

การยกระดับการศึกษาระดับสูงเป็นกำลังขับเคลื่อนให้เมืองทันสมัยและเป็นพลวัตยิ่งขึ้น มีเหตุปัจจัยสำคัญจากการพัฒนาของวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ลัทธิพาณิชยนิยม การเป็นแบบโลกวิสัย และลัทธิปัจเจกชนนิยม เพื่อสนองความต้องการเชิงปฏิบัติในอาชีพต่างๆ ที่กำลังเป็นที่ต้องการจำเป็นตามเหตุการณ์

เกิดผลกระทบสำคัญคือ การนำ มหาวิทยาลัยออกจากศาสนา เร่งการแบ่งงานกันทำในสังคม สร้างทฤษฎีหรือกฎขึ้นจำนวนมาก เกิดแรงงานฝีมือ และเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่แบ่งซอยมากขึ้นทุกที

ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอันเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ (ก่อตั้งปี 1636 เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน) ในครี่งหลังศตวรรที่ 19 มีการสร้างหลักสูตรสาขาวิชาต่างๆ เพื่อสอนแก่นักศึกษาที่มีความต้องการอันหลากหลาย ไม่ได้สอนด้านการศาสนาเป็นหลักเหมือนเดิม

การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เปิดการศึกษาและการวิจัยที่เป็นแบบสหวิทยาการหรือพหุวิทยาการเพิ่มขึ้น เพื่อความเข้าใจและการทำนายระบบซับซ้อนที่ทำนายได้ยากจากการศึกษาเพียงบางส่วนหรือบางสาขาวิชา

 

ง)

คู่ที่สี่ การสร้างระบบราชการหรือระบบรัฐกิจ และการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ในด้านภาครัฐต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลควบคุมการเคลื่อนไหวของวัตถุ พลังงาน ผู้คน ข่าวสาร และการเงินการคลังของประเทศ เพื่อความมั่นคงและสนองบริการที่จำเป็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาเพิ่มขึ้น

มีการปรับรื้อหน่วยงานรัฐ จัดตั้งคณะกรรมการและหน่วยงานใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบบรัฐกิจนับวันยิ่งมีความซับซ้อน ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้เต็มที่หรือตามภาพลักษณ์ที่แสดงออก เนื่องจากมีคณะกรรมการและลำดับชั้นมากเกินไป

ในอีกด้านหนึ่ง ประชาชนรากหญ้าก็มักไม่พอใจ เมื่อได้รับบริการไม่ทันใจ หรือรู้สึกว่าถูกรัฐบาลควบคุม สอดส่องมากเกินไป เร่งให้มีการตั้งคณะกรรมการและหน่วยงานเพิ่มขึ้นอีก

ในด้านการบริหารธุรกิจ ดำเนินไปเพื่อเอาชนะการแข่งขันและหากำไรสูงสุด มีการปรับปรุงรวดเร็วยิ่งกว่าภาครัฐ เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่า และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสาธารณชนน้อยกว่า สามารถตอบรับการเปลี่ยนได้ดี สร้างการบริหารแบบเพรียวลม การผลิตแบบพอทันเวลา การควบคุมคุณภาพ การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ บริษัทด้านข่าวสารในสหรัฐบางแห่งใช้การบริหารแบบซับซ้อน มีการเปิดธุรกิจใหม่

ได้แก่ ธุรกิจแพลตฟอร์ม ธุรกิจก้อนเมฆข่าวสารหรือคลาวด์ การบริหารด้วยข้อมูลใหญ่หรือธุรกิจข่าวกรอง

 

ในทศวรรษที่ 1960 หลังจากโลกเข้าสู่ยุคอวกาศและเดินหน้าสู่ยุคข่าวสารอย่างรวดเร็ว ได้มีนักปรัชญาและนักการเมืองบางคนได้เสนอแนวคิดว่าโลกได้เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกัน นักปรัชญาได้แก่ มาร์แชลล์ แม็กลูฮัน (Marshall McLuhan 1911-1980) ผู้วางรากฐานทฤษฎีสื่อชาวแคนาดา เขาเห็นว่าโลกได้เข้าสู่ยุคข่าวสาร หรือยุคแห่งการรวบรวมข่าวสารและการจัดการข้อมูล ด้วยความก้าวหน้าของสื่อไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นการสื่อสารทางไกล สามารถย่นระยะทางทางภูมิศาสตร์

จนกระทั่งโลกกลายเป็นเหมือนเกาะเดียวหรือหมู่บ้านเดียว เป็นหมู่บ้านโลก เขาเห็นว่า เทคโนโลยีเนื้อแท้เป็นส่วนขยายของตัวมนุษย์ เป็นแขน-ขาใหม่ สร้างหูทิพย์ ตาทิพย์และสมองใหม่ได้ แม็กลูฮันทำนายว่าจะเกิดระบบสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต 80 ปีก่อนเกิดขึ้นจริง ทำให้ความคิดของเขายังเป็นที่สนใจจนถึงทุกวันนี้

ที่เป็นนักการเมืองได้แก่ แอดไล สตีเวนสัน ทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ หลังจากที่สหรัฐประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์สู่อวกาศได้ต่อเนื่อง เขาได้ปราศรัยในที่ประชุมสหประชาชาติ ปี 1965 เปรียบเทียบโลกว่า เหมือนกับยานอวกาศลำหนึ่ง ความว่า “เราเดินทางร่วมกัน เป็นผู้โดยสารในยานอวกาศลำน้อย ต้องพึ่งพาทรัพยากรอันมีค่าได้แก่ อากาศและดิน และเราควรยอมรับว่า ความปลอดภัยของเราขึ้นอยู่กับความมั่นคงและสันติภาพภายในยานนี้ ซึ่งถูกป้องกันจากการถูกทำลายล้างก็โดยการใส่ใจการทำงานและ…ความรักที่เรามอบให้แก่ยานอันเปราะบางนี้” มีการนำคำเปรียบเทียบของสตีเวนสันไปใช้อย่างแพร่หลาย อูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติได้ปราศรัยในวันโลก ปี 1971 ก็ใช้คำว่า ยานอวกาศโลก

จากบริบทดังกล่าว นักวิชาการทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นในวงวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ก็มีแนวโน้มที่จะมองธรรมชาติและสังคมเป็นเชิงระบบ หรือกระทั่งเป็นระบบซับซ้อนที่เป็นพลวัตปรับตัวได้

 

สําหรับวิชานิเวศวิทยาก็เป็นทำนองนี้ ที่มีลักษณะเฉพาะ คือการรวมเอาธรรมชาติกับระบบตลาด หรือทุนนิยมเสรีเข้าด้วยกัน ผู้นำในด้านนี้ ได้แก่ คาร์ล ลินเนียส (Carl Linnaeus 1707-1778) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน มีชื่อเสียงด้านจำแนกชนิดของพืชและสัตว์ในโลก ในหนังสือชื่อ “ระบบธรรมชาติ” (เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1735 หนาเพียง 11 หน้า ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มอีกหลายครั้งจนกระทั่งบั้นปลายชีวิตเขาจำแนกสัตว์และพืชได้ถึง 12,000 สปีชีส์)

โดยเสนอว่าควรเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตเป็น 2 ชื่อ ชื่อแรกเป็นชื่อสกุลหรือจีนัส ชื่อหลังเป็นชื่อตัวหรือสปีชีส์ คล้ายชื่อชาวยุโรปสมัยนั้น

เขาแบ่งธรรมชาติเป็น 3 อาณาจักรด้วยกันได้แก่ อาณาจักรของหินหรือแร่ธาตุ ได้แก่ ดิน เป็นต้น อาณาจักรพืช และอาณาจักรสัตว์ สามอาณาจักรนี้รวมเป็นระบบธรรมชาติเดียว

ลินเนียสไปไกลถึงขั้นเสนอว่าระบบธรรมชาตินี้ดำเนินไปคล้ายกับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมที่มนุษย์สร้างขึ้น เรียกว่า “เศรษฐศาสตร์แห่งธรรมชาติ” (เป็นความเรียง เผยแพร่ปี 1749) มีนักวิชาการบางคนอธิบายว่า นั่นคือสิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ และขยายพันธุ์ไปท่ามกลางการแข่งขันหรือการต่อสู้ของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย แต่ละสปีชีส์มีบทบาทที่สำคัญและต่างกันในเศรษฐกิจธรรมชาติ หรือมีการแบ่งงานกันทำ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ธรรมชาติ กับทั้งเกิดความสมดุลในธรรมชาติด้วย

และว่า ความคิดนี้มีอิทธิพลอย่างสูงในการสร้างทฤษฎีวิวัฒนาการโดยการคัดเลือกทางธรรมชาติของชาร์ลส์ ดาร์วิน

 

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษคือ อดัม สมิธ (1723-1790) เสนอรากฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองในงานชื่อ “ความมั่งคั่งของประชาชาติ” ที่เกิดจากการแบ่งงานกันทำ การต่อสู้แข่งขันเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล ซึ่งทำให้ตลาดรุ่งเรืองและเกิดความสมดุล ซึ่งก็กล่าวกันว่ามีอิทธิพลต่อทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินเช่นกัน นักชีววิวัฒนาการที่มีชื่อเสียงบางคนชี้ว่า ดาร์วินเพียงนำเศรษฐศาสตร์การเมืองมาใช้กับธรรมชาติเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร จะเห็นได้ว่าความรู้เรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรือนิเวศวิทยา กับวิชาเศรษฐศาสตร์ และทฤษฎีวิวัฒนาการมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง

วิชานิเวศวิทยามีการสอนจริงจังในมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกโดยยูเกน วอร์มิ่ง (Eugen Warming 1841-1924) นักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ผู้เผยแพร่ตำราทางด้านนี้ในปี 1895 ว่าด้วยวิชานิเวศวิทยาของพืช ซึ่งเป็นการรวบรวมปาฐกถาของเขา หลังจากนั้นวิชานิเวศวิทยาก็ได้มีการพัฒนาไปทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ

เมื่อถึงทศวรรษ 1940 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีความต้องการจะเอาชนะสงครามกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ได้นำแนวคิดระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้มาใช้ โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อการปฏิบัติน้อยลงแต่ได้ผลมากขึ้น มีการวิเคราะห์เชิงกำลังเพื่อสร้างหน่วยรบที่เป็นพลวัต การทำนายความเป็นไปได้ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

เพราะว่า หลายเหตุการณ์ในธรรมชาติและสังคม เช่น ลมฟ้าอากาศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการยุทธ์เป็นสิ่งที่ทำนายได้ยาก

 

แนวคิดเรื่องระบบซับซ้อน กล่าวได้ว่าเริ่มต้นจากอ็องรี ปวงกาเร (1854-1912) นักคณิตศาสตร์และนักทฤษฎีฟิสิกส์และวิศวกรชาวฝรั่งเศส ผู้เสนอระบบซับซ้อนที่มีองค์ประกอบมากกว่า 2 มาถึงตอนต้นศตวรรษที่ 20 วิชาฟิสิกส์ กลศาสตร์ควอนตัม ได้เสนอหลักความไม่แน่นอน โดยแวร์เนอร์ ไฮเซินเบิร์ก นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันในปี 1927

จากนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในต้นทศววรรษ 1960 เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ นักคณิตศาสตร์และนักอุตุนิยมวิทยาชาวอเมริกัน ได้พัฒนาทฤษฎีโกลาหล เพื่อพยากรณ์ลมฟ้าอากาศที่ทำนายได้ยาก

ในทศวรรษ 1960 วิชานิเวศวิทยาได้เบ่งบาน เนื่องจากความตื่นตัวและเกิดปัญหาทางนิเวศสูง ต้องการความเข้าใจ การตระหนักรู้ การจัดการ และการแก้ไขอย่างจริงจัง ตั้งแต่ระดับภูมิทัศน์ ท้องถิ่น ระดับชาติ ไปจนถึงระดับโลก เกิดมีความคิดจะรวมความรู้หลายศาสตร์จากฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ทฤษฎีวิวัฒนาการ การเข้าใจชีวิตนิเวศวิทยาในฐานะเป็นการไหลเวียนของวัตถุ พลังงานและข่าวสารในระบบเปิด และระบบเศรษฐกิจเสรีที่ต้องการความเติบโตไม่สิ้นสุด เข้าด้วยกัน

บุคคลที่จะกล่าวถึงได้แก่ ศาสตราจารย์แห่งสถาบันเอ็มไอที. เจย์ ฟอร์เรสเตอร์ (1918-2016) นักวิศวกรคอมพิวเตอร์และนักวิทยาศาสตร์ด้านระบบซับซ้อนชาวสหรัฐ ได้ศึกษาพฤติกรรมของระบบเศรษฐกิจ เพื่อหาสาเหตุวงจรธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นหลายครั้ง รวมถึงการศึกษาด้านการจัดการโดยอาศัยพลวัตของระบบเป็นฐาน เขาได้สร้างโมเดลที่ประกอบขึ้นด้วยพลวัตของประชากร การผลิตอาหาร อุตสาหกรรมสมัยใหม่ มลพิษ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติชนิดสิ้นเปลือง และสร้างโมเดลทางคอมพิวเตอร์ขึ้น

ศิษย์ของเขาได้แก่ ดอเนลลา มีโดวส์ ได้สืบทอดการวิจัย และเผยแพร่หนังสือที่มีชื่อเรื่อง “ขีดจำกัดของความเติบโต” (1972) มีสาระสำคัญว่า ระบบเศรษฐกิจทั้งหลาย ไม่อาจเติบโตอย่างไม่สิ้นสุดในโลกที่มีความจำกัด

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงกระแสนิเวศวิทยาที่ยั่งยืน