สุรชาติ บำรุงสุข | โลกล้อมรัฐ 2564 : วิบากกรรมเผด็จการไทย!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ในเวลาที่ประชาธิปไตย [ในไทย] ถูกคุกคามจากหลายๆ ด้าน จึงเป็นวาระสำคัญที่วุฒิสภาอเมริกันจะต้องยืนเคียงข้างกับขบวนประชาธิปไตยในประเทศไทย”

Bob Menendez (วุฒิสมาชิกจากรัฐนิวเจอร์ซีย์)

คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภาอเมริกัน

ในขณะที่ “รัฐบาลกึ่งเผด็จการ” ในไทยกำลังมีความสุขอย่างมากกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่นักสังเกตการณ์การเมืองไทยทุกคนตอบได้ดีว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 จะไม่มีทางพลิกเป็นอื่น…

ไม่มีทางที่นายกรัฐมนตรีจะถูกชี้ว่ากระทำผิดในเรื่องดังกล่าว เพราะผลจากทุกคดีที่มีการนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีคนนี้ไม่เคยถูกชี้ว่าเป็นผู้ผิดแต่อย่างใด

และคำตัดสินล่าสุดก็ยืนยันทิศทางเช่นนั้น

กระบวนการ “ตุลาการธิปไตย” (Juristocracy) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือสำคัญใน “ระบอบพันทาง” (Hybrid Regime) ถูกนำมาใช้เพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้ามของชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยมได้เสมอ

แต่กระบวนการนี้จะทำหน้าที่เป็น “ผู้ปกป้อง” ทางกฎหมายอย่างดีให้กับรัฐบาลกึ่งเผด็จการ จนความเป็น “นิติรัฐ” ของไทยในปัจจุบันถูกตั้งข้อสงสัยอย่างมาก

ขณะเดียวกันก็กลายเป็นสัญญาณว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยอาจจะประสบความยากลำบากมากกว่าที่คิด

โดยเฉพาะเมื่อมีเสียงเรียกร้องจากการชุมนุมประท้วงที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็มักจะถูกตอบโต้ด้วยการขยายการจับกุม และการใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือ

ผลจากสภาวะเช่นนี้จึงทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเมืองไทยหลังจากการเลือกตั้งในต้นปี 2562 นั้น ไม่เป็นสัญญาณบวก เพราะรัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้นมาจาก “อภินิหาร” ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกร่างขึ้นเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลรัฐประหาร

ขณะเดียวกันเสียงเรียกร้องของฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นความเห็นต่างกลับมีมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร อาจจะเพราะผู้นำการยึดอำนาจวันนี้แปลงร่างเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ยังควบคุมกลไกรัฐ ตลอดรวมทั้งดำรงความสัมพันธ์กับผู้นำทหารและองค์กรอิสระไว้ได้อย่างดี

จนเป็นหลักประกันที่สำคัญว่า จะไม่มีอำนาจอื่นใดมากดดันให้ต้องออกจากการเป็นรัฐบาลได้

อีกทั้งปัจจัยระหว่างประเทศที่มักจะมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยในช่วงหลังจากการเปลี่ยนตัวผู้นำของสหรัฐอเมริกาในปี 2559 (ค.ศ.2016) ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวสู่ตำแหน่งนั้น ดูจะเป็นผลบวกต่อระบอบทหารในการเมืองไทยด้วย

ผู้นำรัฐบาลไทยจึงมีความเชื่อมั่นว่า พวกเขาจะสามารถดำรง “ระบอบอำนาจนิยมที่ทนทาน” (Durable Authoritarianism) ไว้ได้ต่อไป (สำนวนที่ใช้เรียกรัฐบาลเผด็จการของอียิปต์ในยุคก่อนอาหรับสปริง)…

ผู้นำรัฐประหารไทยที่วันนี้เปลี่ยนมาใส่สูทเป็นนักการเมืองคิดฝันเช่นนั้น และเชื่ออีกว่าโลกภายนอกไม่มีทางที่จะกดดันพวกเขาได้จริง

นักรัฐประหารไทยกับเวทีสากล

แต่เพียงหนึ่งวันหลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ ออกมาเพื่อให้ระบอบกึ่งอำนาจนิยมอยู่ในอำนาจต่อไปได้นั้น ในวันที่ 3 ธันวาคม วุฒิสมาชิกอเมริกันออกถ้อยแถลงในการผลักดันให้มีข้อมติของวุฒิสภาในการสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย (ดูรายละเอียดใน US Senate Committee on Foreign Relations, Menendez, Durbin, Colleagues Introduce Senate Resolution in Support of Thailand”s Pro-Democracy Movement, December 3, 2020)

ในวันที่ 4 ธันวาคม ข่าวการผลักดันดังกล่าวได้กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อข่าวการเมืองสำคัญของสื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (เช่น “แทมมี่ ดักเวิร์ธ ส.ว.มะกันเชื้อสายไทย ร่วมออกมติวุฒิสภา จี้ รบ.ไทย ฟังเสียงผู้ชุมนุม เคารพหลัก ปชต.” มติชนออนไลน์, 4 ธันวาคม 2563)

และข่าวนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญของการถกเถียงถึงอนาคตการเมืองไทยในปี 2564 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

หรือว่าสัญญาณของกระแสประชาธิปไตยในเวทีโลกกำลังหวนกลับมาให้ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาผู้นำปีกอนุรักษนิยมต้องใคร่ครวญกันอีกครั้ง

หลังจากในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา พวกเขามักอยู่ในกระแสความเชื่อว่า กระแสประชาธิปไตยกำลังถดถอยและหมดพลัง ระบอบอำนาจนิยมที่กรุงเทพฯ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใส่ใจกับโลกภายนอก

อีกทั้งมีพลังของระบอบอำนาจนิยมจากรัฐมหาอำนาจในเอเชียที่พร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ

หลักการสำคัญที่ดูเหมือนผู้นำฝ่ายที่ไม่นิยมประชาธิปไตยไทยถือเป็น “แต้มต่อ” ที่ตนถือเป็นไพ่ใบสำคัญก็คือ ถ้ารัฐบาลประชาธิปไตยตะวันตกกดดันรัฐบาลอำนาจนิยม/กึ่งอำนาจนิยมที่กรุงเทพฯ แล้ว ทางออกของพวกเขาคือการหันไปพึ่ง “ผู้คุ้มครองใหม่” จากรัฐมหาอำนาจในเอเชียแทน

กล่าวคือ ผู้นำปีกขวาไทยพร้อมจะพาประเทศเดินเข้าหาการปกป้องทางการเมืองจากจีน… พวกเขาเชื่ออย่างมั่นใจว่า รัฐบาลตะวันตกจะไม่กล้ากดดันปีกอำนาจนิยมไทยมาก เพราะจะยิ่งทำให้ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อสมดุลทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นที่เคยเกิดในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับจีนในช่วงหลังรัฐประหาร 2531 มาแล้ว

ด้วยชุดความคิดเช่นนี้ผู้นำอนุรักษนิยมไทยจึงไม่เคยใส่ใจกับแรงกดดันของกระแสโลก เพราะอย่างน้อยที่สุดก็เชื่อว่า รัฐบาลปักกิ่งจะเป็นเหมือน “แนวกันชน” ที่ช่วยรับแรงกระแทกที่เกิดกับรัฐบาลกรุงเทพฯ และรัฐบาลอำนาจนิยมไทยจะสามารถอยู่ต่อไปได้

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่หลังจากการรัฐประหาร 2557 แล้ว รัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ จึงมีนโยบายทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลปักกิ่ง และผันตัวเองออกไปจากกระแสประชาธิปไตย

และหากเกิดแรงต้านขึ้น รัฐบาลอำนาจนิยมที่กรุงเทพฯ ก็ยิ่งมีข้ออ้างในการสร้างความใกล้ชิดกับปักกิ่งมากขึ้น การจัดซื้ออาวุธจากจีนของรัฐบาลทหารจึงเป็นสัญญาณเตือนโลกตะวันตกว่า ผู้นำอำนาจนิยมไทยมีพันธมิตรสำคัญที่ปักกิ่งเป็นทางเลือก

เล่นไพ่จีน… ทิ้งไพ่ประชาธิปไตย!

หลังจากรัฐประหาร 2557 แล้ว จีนคือ “หลักประกันด้านความมั่นคง” ของรัฐบาลอำนาจนิยมไทย หรืออาจกล่าวในสำนวนการเมืองระหว่างประเทศได้ว่า ผู้นำปีกขวาไทย “เล่นไพ่จีน” (The China Card) และทิ้งไพ่อื่นทุกใบ…

ถ้าเป็นสำนวนนักพนันแล้ว เห็นชัดว่าฝ่ายอนุรักษนิยมไทย “แทงม้าจีน” ตัวเดียว และมีความหวังว่าม้าตัวนี้จะชนะในทุกการแข่งขัน โดยเฉพาะทัศนะด้านเดียวที่มองเห็นแต่ส่วนที่เป็นความสำเร็จของจีน

ชุดความคิด (ความเชื่อด้านเดียว) เช่นนี้ปรากฏในหมู่ผู้นำทหารในประวัติศาสตร์การต่างประเทศของไทยมาแล้ว

เช่น เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เล่น “ม้าญี่ปุ่น” ตัวเดียวในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จบลงด้วยการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในปี 2488…

จอมพล ป. พิบูลสงคราม แทง “ม้าฝรั่งเศส” ตัวเดียวอีกครั้งในสงครามเรียกร้องเอกราชของนักชาตินิยมเวียดนาม สงครามเดียนเบียนฟูจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในปี 2497…

จอมพลถนอม กิตติขจร ทุ่มสุดตัวด้วยการ “แทงม้าอเมริกัน” ตัวเดียวในสงครามเวียดนาม สงครามจบลงด้วยการถอนตัวของสหรัฐในปี 2515 และตามมาด้วยชัยชนะใหญ่สุดท้ายของเวียดนามเหนือในสงครามรวมชาติในปี 2518 (แม้จอมพลถนอมจะออกไปจากการเมืองไทยในปี 2516 แล้วก็ตาม)

ในประวัติศาสตร์การทูตไทยนั้น เราแทบไม่เคยเห็นความสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของผู้นำทหารเลย แม้จะมีบางคนกล่าวชอบอ้างถึงความสำเร็จของจอมพล ป.ในสงครามอินโดจีน ที่ไทยรบชนะกองทัพฝรั่งเศสในอินโดจีนในต้นปี 2484 อันเป็นตัวแทนของผลงานสำคัญของผู้นำทหารในนโยบายต่างประเทศไทย

แต่ก็คงต้องไม่ลืมว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเมืองแม่ของฝรั่งเศสถูกยึดครองโดยกองทัพนาซีแล้ว เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นก็ขยายอิทธิพลของตนเข้ามาในอินโดจีนด้วย และเห็นต่อมาว่าสุดท้ายแล้วชัยชนะของไทยครั้งนี้อยู่ภายใต้การจัดการและการสนับสนุนของญี่ปุ่น ที่จบลงด้วย “อนุสัญญาโตเกียว” ในปี 2484

แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง รัฐบาลไทยต้องคืนดินแดนที่ได้มาจากการสนับสนุนของญี่ปุ่นให้แก่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในปี 2489 ภายใต้ความตกลง “อนุสัญญาวอชิงตัน”

และส่งผลให้จอมพล ป.ในเวลาต่อมาหันนโยบายกลับเป็นมิตรด้านความมั่นคงของฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์

แต่สุดท้ายแล้วฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามเอกราชเวียดนามที่เดียนเบียนฟูอย่างที่ไทยไม่คาดคิด

ในความเป็นจริงผู้นำทหารในยุคสงครามเย็นไม่เคยประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างที่กลุ่มอนุรักษนิยมไทยชอบกล่าวอ้าง

อาจเป็นเพราะภูมิทัศน์ในเวทีระหว่างประเทศมีความซับซ้อนและมีความยุ่งยากในตัวเองเกินกว่าที่ผู้นำทหารจะตระหนักและเข้าใจ และยิ่งจากยุคหลังสงครามเย็น จนถึงช่วงของการก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของคริสต์ศตวรรษที่ 21 แล้ว ความยุ่งยากและความซับซ้อนในเวทีสากลมีมากกว่าในยุคสงครามเย็นอย่างเห็นได้ชัด

จนเกิดคำถามสำคัญว่านักรัฐประหารที่กรุงเทพฯ เข้าใจถึงพลวัตในภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองโลกเพียงใด เพราะความไม่เข้าใจอาจพาประเทศไปสู่ความยุ่งยากได้ในอนาคต

คลื่นลูกใหม่ก่อตัวแล้ว!

สําหรับผู้นำทหารแล้ว รัฐประหารที่กรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องยาก เช่นเดียวกับการสืบทอดตั้ง “ระบอบพันทาง” ของความเป็นรัฐบาลกึ่งอำนาจนิยม ยังคงเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้เสมอสำหรับกลุ่มอนุรักษนิยม เพราะมีพลัง “เสนาธิปไตย” พร้อมกับ “ตุลาการธิปไตย” ที่พร้อมจะให้ความสนับสนุนอย่างไม่กังขา อีกทั้งการคงอำนาจเช่นนี้ สำเร็จได้ง่ายเมื่อกระแสโลกไม่เป็นแรงเสียดทาน

แต่การขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจจะทำให้กระแสประชาธิปไตยกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนอีกครั้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายๆ คนมีความหวังคล้ายคลึงกันว่า การสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาลทรัมป์ จะมีส่วนทำให้รัฐบาลใหม่ที่วอชิงตันหันกลับมาสนใจการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในเวทีโลก

เพราะด้านหนึ่งทรัมป์เป็นสัญลักษณ์ของระบอบอำนาจนิยมใหม่ และอีกด้านในยุคของทรัมป์ กระแสประชาธิปไตยไม่เคยถูกมองว่ามีคุณค่าสำหรับสหรัฐ

ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงที่ทำเนียบจึงกลายเป็นความคาดหวังที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

หากกระแสในเวทีระหว่างประเทศเริ่มหันสวนทาง ระบอบกึ่งอำนาจนิยมไทยในปี 2564 อาจจะมีความเปราะบางอย่างยิ่ง

ดังจะเห็นได้ชัดว่าระบอบพันทางที่กรุงเทพฯ ไม่ได้มีความเข้มแข็งเช่นระบอบนี้ในตุรกี ฮังการี หรือเวเนซุเอลา

ดังนั้น สัญญาณแรกจากวุฒิสภาอเมริกันหลังการเมืองเปลี่ยน อาจเป็น “วิบากกรรม” ของรัฐบาลไทยที่ต้องจับตามอง

และน่าสนใจว่าปีกอนุรักษนิยมไทยจะ “โต้กระแสทวน” กับคลื่นการเมืองใหม่จากวอชิงตันอย่างไร

หรือพวกเขาจะ “ด่าอเมริกัน” ให้หนักขึ้นในปีใหม่นี้…

สถานทูตสหรัฐจัดพื้นที่ด้านหน้ารอรับได้เลย!