วิรัตน์ แสงทองคำ : บทสรุปแห่งปีของผู้ครอบครองธุรกิจอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เกือบๆ ทศวรรษแล้ว มีเรื่องราวตื่นเต้นต่อเนื่องเกี่ยวกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย กับธุรกิจค้าปลีกซึ่งมีพลวัตและทรงอิทธิพล

กรณีและความเป็นไป สร้างแรงกระเพื่อมต่อไปอย่างเข้มข้น จากที่ผ่านมา ปีที่แล้วสู่ปีที่เพิ่งมาถึง นี่คือเรื่องราวในมุมมองนักสังเกตการณ์คนหนึ่งในสังคมธุรกิจไทย เพื่อเป็นบทสรุปสำคัญ ด้วยการทบทวน ประมวลและอัพเดตเรื่องราวที่เคยเสนอมาในปี 2563

พุ่งเป้าไปยังธุรกิจค้าปลีกแบบฉบับหนึ่งซึ่งมีแบบแผนเฉพาะตัว

–สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอย่างยืดหยุ่น ทั้งโมเดลตามขนาดพื้นที่ จากขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Hypermarket สู่ขนาดกลางมักเรียกกันว่า Supermarket จนถึงขนาดเล็กที่เรียกว่าร้านสะดวกซื้อ (convenience store)

ขณะอีกบางโมเดล ผสมสานระหว่างการค้าส่งกับค้าปลีกเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว มีทั้งพื้นที่ธุรกิจของตนเองตามโมเดลข้างต้นกับพื้นที่เช่าสำหรับธุรกิจข้างเคียงและเกื้อหนุน

และที่สำคัญมีเครือข่ายทรงพลังประสานในแบบแผน Omni Channel ทั้งเครือข่ายร้านอันครอบคลุมและระบบค้าขายออนไลน์

–เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน มีอิทธิพลต่อผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ต่อร้านค้ารายย่อยที่มีรูปแบบและขนาดหลากหลาย ครอบคลุมจนถึงระดับชุมชน รวมทั้งโมเดลดั้งเดิมที่เรียกว่าโชห่วย กลุ่มธุรกิจร้านอาหารซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการรายกลางและย่อย กลุ่มใหญ่และสำคัญอย่างมาก ปลายทางมีอิทธิพลต่อผู้ซื้อ ผู้บริโภค ในฐานะพลังขับเคลื่อนสังคมบริโภคพื้นฐานในสังคมไทย

ธุรกิจค้าปลีกโมเดลที่ตั้งต้นในจากยุโรปที่ว่า เข้ามาสู่เมืองไทยอย่างเป็นกระแสและขบวนเมื่อราว 3 ทศวรรษที่แล้ว มีพัฒนาการอันน่าทึ่ง เติบโตและเปลี่ยนแปลงท่ามกลางความผันแปรในบริบทต่างๆ

 

ยุคบุกเบิกมาถึงในช่วงเวลาเศรษฐกิจไทยขยายตัวครั้งใหญ่ ขบวนนักลงทุนต่างชาติอีกระลอกเข้ามา ขณะตลาดหุ้นส่งสัญญาณขาขึ้นทั้งภูมิภาค โมเดลค้าปลีกแบบใหม่จากยุโรปเข้ามา ตามแผนการร่วมทุนกับ “ขาใหญ่” ในสังคมธุรกิจไทย

ตั้งต้นในปี 2531 SHV Holdings แห่งเนเธอร์แลนด์ ร่วมทุนกับกลุ่มซีพี เปิด Makro ในเมืองไทย

เพียงไม่กี่ปี กลายเป็นบทเรียนธุรกิจใหม่ดาวรุ่งพุ่งขึ้นเป็นกระแสเฉพาะในแวดวงธุรกิจ ขณะในภาพกว้างยังมองไม่เห็นชัดนัก

ซีพีผู้รู้เรื่องราวดีที่สุดในฐานะผู้ร่วมทุน แต่มิได้บริหารโดยตรง เปิดฉากธุรกิจค้าปลีกแบบเดียวกันขึ้นเองอย่างตั้งใจ เป็นแผนการคู่ขนาน-โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์

ขณะกลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำค้าปลีกแบบไลฟ์สไตล์แต่ไหนแต่ไรมา ตามกระแสอย่างกระชั้นชิด Big C เปิดสาขาแรกในปีเดียวกันนั้นกับโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์

เซ็นทรัลมีความพยายามขยับปรับตัวสู่เกมใหญ่ ด้วยการร่วมทุนกับ Carrefour SA ธุรกิจค้าปลีกแห่งฝรั่งเศส ผู้บุกเบิก Hypermarket ในยุโรป เปิดตัวเปิดแผนการ Carrefour ในไทย

 

เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงปี 2540 เครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยเผชิญปัญหาถ้วนหน้า

ซีพีตัดใจขายโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ให้กับ Tesco ผู้นำค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร ในช่วงเดียวกัน เซ็นทรัลกำลังเผชิญปัญหารอบด้าน ได้ตัดสินใจถอนการลงทุนซึ่งเพิ่งเริ่มต้นกับ Carrefour และได้ขายกิจการ Big C ให้กับ Casino Group เครือข่ายค้าปลีกแห่งฝรั่งเศสอีกราย

จากนั้นมีการควบรวมกิจการให้มีพลังมากขึ้น Big C ภายใต้เครือข่าย Casino Group แห่งฝรั่งเศส เข้าซื้อกิจการ Carrefour แห่งฝรั่งเศสเช่นกันในประเทศไทย กลายเป็นคู่แข่งอย่างสมน้ำสมเนื้อมากขึ้นกับเครือข่าย Tesco แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งฉวยช่วงเวลาแห่งผลพวงวิกฤตทางเศรษฐกิจ ขยายเครือข่ายจนกลายเป็นผู้นำ

นั่นคือช่วงเวลาแห่งหัวเลี้ยวหัวต่อ โครงสร้างค้าปลีกใหญ่ ปรับโฉมหน้าครั้งสำคัญ จากธุรกิจร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจไทยอันทรงอิทธิพล มาอยู่ในกำมือธุรกิจต่างชาติอย่างสิ้นเชิง

 

ภายใต้เครือข่ายค้าปลีกยักษ์ใหญ่แห่งยุโรป ช่วงเวลากว่าทศวรรษ (2542-2556) เป็นไปตามแผนการขยายเครือข่ายเชิงรุก ปักหลัก หนักแน่น ขณะสร้างแรงสั่นสะเทือนสังคมธุรกิจและสังคมโดยรวมอย่างเห็นได้ชัด

ก่อนวิกฤตการณ์การเมืองไทยเปิดฉากขึ้นในช่วงปลายปี 2556 ในช่วงต้นๆ ปี แวดวงธุรกิจไทยยังตื่นเต้นกับดีลสำคัญ มุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจค้าปลีกยกระดับขึ้น เมื่อซีพีซึ่งประสบความสำเร็จในธุรกิจค้าปลีกตามสัญญาแฟรนไชส์โมเดลขนาดเล็ก-ร้านสะดวกซื้อ ได้เดินหน้าครั้งใหญ่ กระชับบทบาทธุรกิจค้าปลีก ด้วยการซื้อเครือข่าย Makro ในประเทศไทย

ภาพเครือข่ายอันหลากหลายปรากฏขึ้นในเวลาต่อมา (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2562 อ้างจากรายงานประจำปี 2562 สยามแม็คโคร) Makro มีเครือข่ายในประเทศไทย 134 สาขา และในต่างประเทศ 7 สาขา (กัมพูชา อินเดีย และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ในรูปแบบหลากหลาย หลายขนาดพื้นที่ ด้วยบริการที่แตกต่าง จากค้าส่ง สู่บริการเฉพาะร้านอาหาร โรงแรมและบริการจัดเลี้ยง ไปจนถึงอาหารแช่แข็งและสินค้าพรีเมียม

อันที่จริงมุมมองธุรกิจใหญ่ต่อธุรกิจค้าปลีกในทางบวกปรากฏขึ้นตั้งแต่ปี 2553 จากปรากฏการณ์แรงปะทะครั้งใหญ่กรณี Carrefour ทั้งซีพี กลุ่มทีซีซีและเซ็นทรัล ที่ไม่น่าเชื่อมี ปตท.ด้วย แข่งขันในความพยายามซื้อกิจการ Carrefour ในประเทศไทย

 

บทสรุปในเวลาต่อมา ในปีที่สังคมไทยมีการเปลี่ยนผ่านรัชกาล ได้ก่อเกิด “ผู้เล่น” รายใหม่ ทีซีซีภายใต้การนำของเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดฉากเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก ทั้งในประเทศไทย เข้าซื้อ Big C ในประเทศไทย ข้ามพรมแดนสู่ระดับภูมิภาคสู่เวียดนามด้วย มีแผนการที่แน่ชัด ขยายเครือข่ายสู่ประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ภาพเครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่รายใหม่ปรากฏขึ้นอย่างกระชั้น ปัจจุบันมีเครือข่ายมากกว่า 1,500 แห่ง เป็นแบบดั้งเดิม 152 แห่ง แบบ Supermarket 62 แห่ง ร้านสะดวกซื้อ 1,153 แห่ง และร้านขายยาอีก 144 แห่ง (จากรายงานนำเสนอ Q3 and 9M 2020 Earnings Presentation, 20th November 2020 Berli Jucker)

และแล้วกรณีล่าสุดในปีที่เพิ่งผ่าน ปีซึ่งเผชิญวิกฤตการณ์ที่เรียกว่า Great Lockdown กลุ่มซีพีได้หวนกลับเข้าครอบครองเครือข่าย Tesco Lotus ในไทยในรูปแบบต่างๆ มีขนาดใหญ่แบบ Hypermarket 214 สาขา ขนาดกลาง 179 สาขา และแบบร้านสะดวกซื้อ 1,574 สาขา ซึ่งสามารถสร้างรายได้รวมกันราว 1.89 แสนล้านบาท (งวดบัญชีสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562) รวมทั้งเครือข่ายในประเทศมาเลเซียอีกจำนวนซึ่งมีรายได้เพียง 1 ใน 5 ของประเทศไทย

เครือข่ายค้าปลีกในสังคมไทยมีบุคลิกเฉพาะตัวอย่างยิ่ง เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมหลายมิติ เป็นธุรกิจอยู่ในกำมือยักษ์ใหญ่ธุรกิจไทยอย่างเบ็ดเสร็จเพียงไม่กี่ราย เมื่อเทียบเคียงกับธุรกิจอิทธิพลอื่นๆ ไม่ว่าธุรกิจการเงิน ธนาคาร หลักทรัพย์ และสื่อสาร

 

พัฒนาการธุรกิจค้าปลีกใหญ่ในสังคมไทย

ปี 2531
-ซีพีร่วมทุนกับ SHV Holdings แห่งเนเธอร์แลนด์ เปิด Makro

ปี 2537
-ซีพีเปิดโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์
-กลุ่มเซ็นทรัลเปิด Big C

ปี 2539
-กลุ่มเซ็นทรัลร่วมทุนกับ Carrefour SA แห่งฝรั่งเศส เปิดตัว Carrefour

ปี 2541
-โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ขายกิจการให้กับ Tesco แห่งสหราชอาณาจักร เปลี่ยนชื่อเป็น Tesco Lotus
-เซ็นทรัลยุติการร่วมทุน ตัดสินใจขายหุ้นคืนให้ Carrefour

ปี 2542
-Casino Group แห่งฝรั่งเศส เข้าซื้อกิจการ Big C

ปี 2554
-Big C ซื้อกิจการ Carrefour ในประเทศไทย

ปี 2556
-กลุ่มซีพีซื้อกิจการ Makro ในประเทศไทย

ปี 2559
-กลุ่มทีซีซีซื้อกิจการ Big C ในประเทศไทย
-กลุ่มทีซีซีซื้อกิจการ METRO Cash & Carry ในประเทศเวียดนาม
-กลุ่มเซ็นทรัลซื้อกิจการ Big C ในประเทศเวียดนาม

ปี 2563
-กลุ่มซีพีซื้อกิจการ Tesco Lotus ในประเทศไทยและมาเลเซีย