นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ล้อ : สิ่งบ่งชี้ “อารยธรรม”

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ล้อ (1)

รู้กันอยู่แล้วนะครับว่า ล้อถูกใช้เป็นเครื่องหมายแห่ง “อารยธรรม” กันทั่วโลก และก็นับเป็นเครื่องหมายที่ซ่อนนัยยะไว้อย่างลึกซึ้งกว้างขวางจริงเสียด้วย

ไม่เฉพาะแต่การเพิ่มสมรรถภาพในการเคลื่อนย้ายขนส่งคมนาคมของมนุษย์เท่านั้น แต่วางล้อลงในแนวราบ มันคือแป้นหมุนสำหรับผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ดีเยี่ยม นอกจากจะให้ผิวภาชนะที่มีความหนาบางเท่ากันทั้งชิ้น ซึ่งจะทำให้รับความร้อนได้เท่ากันอย่างทั่วถึงแล้ว ยังผลิตได้เร็วขึ้นกว่าเทคนิคการขึ้นรูปดินเหนียวด้วยการทุบ และปลดปล่อยช่างให้คิดรูปลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาได้อย่างอิสระไม่จำกัด จนทำให้เครื่องปั้นดินเผาใช้บรรจุของได้หลากหลายชนิด หรือเอาไปทำอย่างอื่นนอกจากภาชนะได้อีกไม่รู้จะกี่อย่าง

เอาล้อไปหมุนเชือก กลายเป็นเครื่องทุ่นแรงหรือลูกรอก ที่ทำให้มนุษย์สามารถยกน้ำหนักเกินกำลังของตัวได้ เอาล้อมาทำเฟือง เพื่อหมุนล้อเฟืองอื่นจนไปขับเคลื่อนเข็มนาฬิกาให้เดินไปตามความเร็วที่ต้องการได้เป๊ะหรือเกือบเป๊ะ ล้อจึงถ่ายทอดแรงไปตามทิศทางที่ช่างต้องการอย่างไรก็ได้ จนทำให้เกิดรถยนต์, เครื่องบิน และเรือยนต์ในทุกวันนี้

ไม่แต่เพียงการประดิษฐ์ทางวัตถุเท่านั้น คนอินเดียซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ต้นคิดล้อขึ้นมา (ซึ่งไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับเพียงพอ) ยังอ้างว่าตนเป็นผู้คิดสัญลักษณ์เลขศูนย์จากล้อ เลขศูนย์มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการคำนวณด้วยเลขฐานสิบซึ่งกลายเป็นวิธีคำนวณของทั้งโลกในเวลาต่อมา (จากที่เคยคำนวณด้วยฐานสิบสองในตะวันออกใกล้ หรือฐาน 20 ในอเมริกากลาง) และด้วยเหตุดังนั้น สัญลักษณ์เลขศูนย์จึงเป็นสากล ภาษาอะไรก็เขียนตัวเลขศูนย์เหมือนกันหมด

ยิ่งกว่าการคำนวณซึ่งเป็นนามธรรม ชาวพุทธอินเดียยังอ้างว่า พระนิพพานหรือศุนยตาคือเลขศูนย์ อันเป็นสภาวะที่ไม่เป็นบวกและไม่เป็นลบ ที่จะเป็นอย่างนั้นได้ก็คือเลขศูนย์เท่านั้น ดังนั้น นอกจาก “ธรรมจักร” จะเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าแห่งพระธรรมแล้ว (อย่างที่คนไทยมักคิด) ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมคติสูงสุดของพุทธศาสนาด้วย (ซึ่งเรามักไม่คิด)

ถึงไทยไม่ได้เป็นผู้ค้นพบล้อเอง แต่ล้อก็คงเข้ามาสู่สังคมไทยนานแล้วจากทั้งจีนและอินเดีย นับตั้งแต่เรายังอยู่บนพืดเขาสลับซับซ้อนผืนใหญ่กลางทวีปเอเชีย (ที่นักภูมิศาสตร์เรียกว่า Zomia) เสียด้วยซ้ำ แต่น่าประหลาดที่คนไทย โดยเฉพาะชนชั้นสูงใช้ล้อน้อยมาก แม้แต่เพื่อการขนส่งคมนาคมหรือเคลื่อนย้ายในระยะใกล้ ส่วนชาวบ้านคงใช้เกวียน (ซึ่งทางเหนือเรียกว่า “ล้อ”) มานานแล้ว แต่ก็เพื่อการเดินทางระยะใกล้เท่านั้น ไม่เคยหรือไม่ค่อยใช้สำหรับการเดินทางระยะไกล

ผู้ดีไทยจะขยับเขยื้อนไปไหนก็ไม่ใช้ล้อ ถ้าไม่เดินเองก็จะนั่งเสลี่ยง, วอ หรือคานหามหรือเรือ มิฉะนั้นก็ขี่ช้างขี่ม้าไป ดังนั้น จะเห็นได้ว่า แม้เรารับเทคโนโลยีการสงครามมาจากอินเดียอยู่บ้าง แต่จตุรโยธาของไทยไม่มีกองรถ ซึ่งถ้ามหาภารตยุทธ์สะท้อนการรบจริงในอดีตของอินเดีย รถรบเป็นปัจจัยสำคัญอันขาดไม่ได้ของกำลังทัพ

ดังนั้น ล้อแทบไม่มีบทบาทอะไรในสังคมไทยโบราณ (อย่างน้อยนับตั้งแต่อยุธยาที่เราพอมีหลักฐานมากหน่อย) จึงไม่แปลกอะไรที่เทคโนโลยีล้อไม่พัฒนาในสังคมไทยเอาเลย อย่าพูดถึงอะไรอื่นเลยครับ แม้แต่การปั้นหม้อ นอกจากแหล่งผลิตเครื่องเคลือบเพื่อป้อนตลาดขนาดใหญ่ซึ่งได้เทคโนโลยีจากจีนแล้ว ที่ชาวบ้านผลิตเครื่องดินเผาเพื่อกระจายในวงแคบๆ ก็ยังขึ้นรูปและทำสำเร็จลงด้วยเทคนิคการทุบดินเหนียวอยู่นั่นเอง

การทุบเครื่องปั้นดินเผา นับเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจสำหรับคนสมัยปัจจุบันนะครับ แต่ถ้าคิดไปในระยะยาวย้อนกลับไปถึงอดีต ก็อดคิดไม่ได้ว่า จะนั่งทุบอยู่ทำไมวะ จะว่าการปั้นดินเหนียวด้วยแป้นหมุนต้องการความชำนาญพิเศษ การปั้นด้วยวิธีทุบก็ต้องการความชำนาญพิเศษเหมือนกัน

 

คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปทำการค้าทางไกลมานานแล้ว แต่ล้อแทบไม่มีบทบาทอะไรในการเดินทางไกลบนบกเลย พาหนะที่ใช้ขนสินค้าคือสัตว์ โดยเฉพาะลาและล่อ ส่วนงัวใช้กันบ้างโดยเฉพาะที่ไม่ต้องไต่เขาสูงมากนัก สัตว์เหล่านี้แบกน้ำหนักได้มากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว ช้างพาคนเดินทางไกลได้ดี แต่ขนสินค้าได้น้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว จึงไม่ถูกใช้ในการค้าทางไกลมากนัก

(สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้กล่าวถึงการใช้ช้างในการค้าข้ามแดนแถบภาคใต้ตอนล่าง เข้าใจว่าเพราะฝนชุกทำให้เกิดทางน้ำขนาดต่างๆ ที่ต้องข้ามอยู่มาก ช้างจึงเป็นพาหนะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการค้าทางไกล แม้มีข้อด้อยเรื่องบรรทุกน้ำหนัก)

ด้วยการขนส่งที่ขาดล้อเช่นนี้ สงครามที่กษัตริย์ในภูมิภาคนี้กระทำแก่กันอยู่เนืองๆ จึงมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะการส่งกำลังบำรุงทำได้อย่างจำกัดเท่านั้น อาวุธยุทธภัณฑ์ที่จะใช้ต้องขนไปคราวที่ออกทัพไปหนเดียว หากสูญเสียไปด้วยเหตุใดก็ตาม จะขนไปเพิ่มจำนวนมากๆ ก็ไม่ได้ ต้องถอยทัพกลับอย่างไม่มีทางเลือก

ข้าวปลาอาหารที่จะใช้เลี้ยงทหารก็เช่นเดียวกัน ขนไปได้เท่าไรในคราวยกทัพก็ได้แค่นั้น ในพม่าไพร่ที่ถูกเกณฑ์เข้าทัพต้องขนเสบียงของตนไปสำหรับ 15 วัน ซึ่งไม่มีทางเพียงพอตลอดสงครามซึ่งมักกินเวลาตลอดหน้าแล้ง (เพราะถ้าขนให้พอ ก็เป็นอันไม่ต้องรบกันเท่านั้น) หลังจากนั้นจะเอากำลังไพร่ขนเสบียงไปส่งก็ทำไม่ได้ เพราะไพร่ขนเสบียงก็ต้องกินด้วย กว่าจะเดินทางทันถึงทัพก็กินเสบียงไปจะหมดแล้ว ซ้ำยังต้องเก็บไว้กินขากลับอีกส่วนหนึ่งด้วย

เข้าใจว่ากองทัพอยุธยา, ละแวก, เมืองมาว, เชียงใหม่, หลวงพระบาง ฯลฯ ก็คงทำเหมือนกัน ปัญหามาอยู่ที่ว่า หลังจากเสบียงที่ขนติดตัวไปหมดแล้ว ทหารจะกินอะไร คำตอบก็คือปล้นสะดมชิงอาหารจากประชาชน ไม่ว่าในเขตแดนตนเองหรือศัตรู ดังนั้น กองทัพไม่ว่าจะเป็นของข้าศึกหรือฝ่ายตนเอง จึงเป็นอันตรายต่อประชาชนเหมือนห่าลงทั้งนั้น หากทำได้ชาวบ้านก็มักรวบรวมผู้คนและเสบียงอาหารเท่าที่จะขนได้หนีไปหลบซ่อนในป่า กองทัพกษัตริย์หรือกองทัพโจรก็ไม่ต่างอะไรกันในสายตาชาวบ้าน

สงครามไม่มีล้อของภูมิภาคนี้จึงอายุสั้น คือหนึ่งฤดูแล้งเท่านั้น หากไม่แพ้-ชนะกันก็ต้องถอยทัพกลับ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะเคลื่อนกำลังได้ยากในฤดูฝนเท่านั้น แต่เพราะหมดทางจะปล้นสะดมแย่งชิงอาหารจากชาวบ้านโดยสะดวกอีกด้วย เพราะชาวบ้านหนีเข้าป่า หรือเพราะข้าวหมดยุ้งจนชาวบ้านอดอยากกันแล้ว หรือถึงที่ไหนทำนาได้ ก็ต้องจัดกำลังรักษาข้าวไว้สุดชีวิต เช่น บ้านระจัน เป็นต้น เมื่อไรที่คิดจะทำสงครามเกินหนึ่งหน้าแล้ง ก็ต้องยึดพื้นที่ของอีกฝ่ายไว้ข้ามปี จับผู้คนเป็นเชลยให้มากพอทำนาเลี้ยงกองทัพ ดังเช่นกองทัพพม่าเมื่อคราวตีกรุงศรีฯ ได้ ก็มาตั้งทำนาแถบกำแพงเพชร สุโขทัย เพื่อลำเลียง (ทางเรือกระมัง) ลงสู่ทัพที่ล้อมกรุงอยู่

(ผมขอออกนอกเรื่องไว้ด้วยว่า กองทัพของราชวงศ์กองบองหรืออลองพญามีประสบการณ์รบข้ามปี เมื่อครั้งปราบราชวงศ์มอญ พระเจ้าอลองพญาต้องยกมาค้างแรมข้ามปีที่เมืองตะโก้งซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็นย่างกุ้ง ผมนึกไม่ออกว่ากองทัพอยุธยาเคยรบข้ามปีครั้งไหน)

ล้อไม่ได้มีผลต่อการทำสงครามอย่างเดียว โดยทางอ้อม การใช้ล้อน้อยยังมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และการเมืองด้วย

การค้า, การผลิตอะไรที่ไม่ใช่อาหาร, การละเล่น, การแสดง ฯลฯ ล้วนแต่ต้องทำใน “ฤดู” ของมัน ซึ่งก็คือนอกฤดูทำนา ด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นสังคมที่หาผู้ชำนัญการในเรื่องอะไรไม่ค่อยได้ ไม่มีคนที่เป็นพ่อค้าจริง, ศิลปินจริง, กวีจริง, ช่างจริง, นักกีฬาจริง, ครูจริง, แพทย์จริง, โหรจริง, หมอผีจริง ฯลฯ สักคน ยกเว้นแต่ในราชสำนักหรือเมืองหลวง (ยกเว้นนักบวชในพุทธศาสนา อันเป็นคนกลุ่มเดียวที่มีหลักประกันด้านอาหารมั่นคง)

การเก็บอาหารส่วนเกินไว้ใช้ในยามขาดแคลนนั้นทำได้ แต่การย้ายอาหารไปยังแหล่งที่ขาดแคลนกลับทำไม่ได้ ดังนั้น ภยันตรายใหญ่หลวงของชีวิตชาวนาในภูมิภาคนี้ก็คือทุพภิกขภัย อันอาจเกิดในวงกว้างหรือเฉพาะถิ่นด้วยเหตุของแมลงลง, น้ำท่วม, ฝนแล้ง, โรคระบาด ฯลฯ ซึ่งรัฐไม่อยู่ในฐานะจะช่วยอะไรได้เลย เพราะไม่มีหรือไม่ใช้ล้อ มีแต่ชุมชนเท่านั้นที่จะช่วยกันเองและช่วยตัวเองได้

รัฐที่ไม่มีล้อของภูมิภาคนี้ จึงเป็นรัฐที่มีอำนาจจำกัด เพราะช่วงเวลาที่จะใช้อำนาจมีเฉพาะเมื่อยังสามารถปล้นสะดมอาหารในท้องถิ่นได้เท่านั้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความถึงสงครามระหว่างรัฐเพียงอย่างเดียว แม้แต่อำนาจเหนือหัวเมืองของตนเองก็เช่นเดียวกัน หัวเมืองใดตั้งแข็งเมือง ก็ต้องปราบให้ได้ในหนึ่งฤดูที่ยังมีข้าวอยู่ในยุ้งฉางของชาวบ้าน หากปราบไม่ได้ก็ต้องยกกลับ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มบารมีของเจ้าเมืองที่ตั้งแข็งเมืองขึ้นไปอีก เพราะเมืองเล็กเมืองน้อยอื่นๆ จะพากันเข้าร่วมอีกมาก ราชธานียกกลับไปใหม่ก็ต้องเผชิญกับศัตรูที่เข้มแข็งขึ้น

ดังนั้น อำนาจของราชธานีเหนือหัวเมืองทั้งหลายจึงอยู่ที่อำนาจทางวัฒนธรรมเสริมด้วยศาสนา อันประกอบด้วยพิธีกรรมที่ประกอบขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เหมือนฉากละคร, การสาบานตน, การผูกขาดระบบเกียรติยศ, การตัดตอนความสัมพันธ์ระหว่างหัวเมืองต่างๆ และควบคุมความเติบโตของหัวเมือง ราชอาณาจักรอยุธยาจึงเป็นรัฐ “หัวเดียว” ไม่ต่างจากประเทศไทยปัจจุบัน

จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียน “ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า” ให้ความสำคัญสุดยอดแก่การทำเกษตรกรรม เพราะสังคมมนุษย์ที่เริ่มผลิตอาหารเองในสมัยดึกดำบรรพ์ ย่อมมีอาหารส่วนเกินสำหรับเลี้ยงดูคนที่ไม่ได้ผลิตเอง นับตั้งแต่กษัตริย์ไปจนถึงกวี, นักร้อง และนักประดิษฐ์ อารยธรรมที่สลับซับซ้อนจึงบังเกิดขึ้นได้

มองจากแง่นี้ สังคมไทยก้าวเข้าสู่การเกษตรกรรมมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้วก็จริง (ในที่ราบหุบเขาของโซเมีย หรืออาจก่อนนั้น) แต่อาหารส่วนเกินของเราไม่ถูกกระจายไปยังผู้คนกว้างขวางนัก เป็นเหตุให้ “ผู้ชำนัญการ” ของเราไม่มีโอกาสพัฒนาฝีมือไปได้ไกลนัก เพราะมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ก็ยังต้องหมดเวลาไปกับการผลิตอาหารอยู่นั่นเอง ส่วนที่ได้รับอุปถัมภ์จากชนชั้นสูง ก็มัวแต่เสียเวลาไปกับการยกยอปอปั้นเจ้านาย จนไม่มีเวลาประดิษฐ์หรือพัฒนาการประดิษฐ์ของตน

ล้อเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดอารยธรรมก็จริง แต่ล้อเฉยๆ ให้กำเนิดความเจริญได้ไม่มากนัก ถ้าไม่มีถนนและสะพาน ยกเว้นในภูมิประเทศที่ล้ออาจหมุนได้โดยไม่ต้องมีถนน เช่น ในเขตที่ราบค่อนข้างแห้งแล้ง เช่น ที่ราบตอนกลางของพม่าอันเป็นที่ตั้งราชธานีหลายแห่งของพม่าเอง

การที่ชนชั้นสูงไทยไม่นิยมนั่งบนพาหนะที่มีล้อ ก็เพราะเมื่อไม่มีถนน แทนที่จะได้นั่งวางสง่าอยู่บนรถ กลับหัวสั่นหัวคลอนจนเครื่องยศและหีบหมากหล่นกระจัดกระจายเป็นที่น่าสมเพช จึงต้องนั่งเสลี่ยง, คานหาม, วอ หรือแม้แต่ขี่คอคน

ส่วนในการเดินหรือขนส่งทางไกล วิธีที่เป็นไปได้และสะดวกสุดบนบกก็คือเดินเท้า เพราะจะขึ้นลงเขาและป่ารกชัฏก็ทำได้ง่ายสุด ส่วนตัวนายก็ขี่ช้างซึ่งปีนป่ายได้เก่งไม่แพ้คน

พ่อค้าทางไกลจากยูนนานและรัฐชาน ขนสินค้าทางไกลโดยใช้กองคาราวานล่อ-ลา แต่กษัตริย์อยุธยาจะตั้งกรมล่อ-ลาขึ้น เพื่อเลี้ยงไว้สำหรับการส่งกำลังบำรุงในยามสงครามก็ไม่คุ้ม เพราะสงครามไม่ใช่กิจที่เกิดทุกปีเหมือนการค้าทางไกล ในขณะเดียวกันพื้นที่ราบลุ่มชื้นแฉะอย่างภาคกลางของไทยก็ไม่เหมาะกับสัตว์ประเภทนั้นด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ปัจจัยทางภูมิศาสตร์อย่างเดียวไม่ใช่ตัวตัดสินเด็ดขาด เพราะกษัตริย์เชียงใหม่, หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ก็ไม่มีกรมล่อ-ลาในราชการเหมือนกัน

(ยังมีต่อ)