จิตต์สุภา ฉิน : อีก 10 ปีข้างหน้า เราจะกินอะไร ตอน 1 การผลิตเพื่อตอบโจทย์ปัจเจก

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

วัตถุประสงค์ของการกินหลักๆ ก็น่าจะเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้ร่างกายมีแรงพอที่จะปฏิบัติภารกิจในแต่ละวันได้ลุล่วง

แต่ที่ผ่านมาเรื่องกินสำหรับคนจำนวนมากไม่ได้มีฟังก์ชั่นแค่นั้น แต่ยังต้องแต่งเติมใส่ใจรายละเอียดเพื่อให้ร่างกายตักตวงประโยชน์จากอาหารที่ได้รับให้ได้มากที่สุด เกิดกลายมาเป็นทางเลือกในการกินอาหารที่หลากหลาย

ตั้งแต่การกินแบบ Fasting เพื่อควบคุมน้ำหนักและแฮ็กพลังร่างกาย

การกินซูเปอร์ฟู้ดเพื่อบูสต์ฟังก์ชั่นของสมอง การกินอาหารตามข้อมูลระดับดีเอ็นเอ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างการซ้อนภาพความจริงเสมือน AR และการทำโปรเจ็กต์แม็ปปิ้ง เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในระหว่างกิน ให้คนบนโต๊ะอาหารได้กินไปด้วย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอาหารจานนั้นๆ ไปด้วย

สำหรับมนุษย์ เรื่องกินจึงเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า “ความอิ่ม” มาโดยตลอด

พอโควิด-19 ระบาด ห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกหยุดชะงัก อุตสาหกรรมอาหารต้องปรับตัวขนานใหญ่ตามมาตรการป้องกัน ยังไม่พอ เรายังต้องเตรียมรับมือกับภาวะขาดแคลนจากปัญหาสภาพภูมิอากาศขั้นวิกฤตอีก

เป็นไปได้ว่าในอนาคต อาหารที่เราเคยกินกันในวันนี้หรือในอดีตที่ผ่านมาอาจจะหน้าตาไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว หรืออาจจะอันตรธานหายวับไปเลยก็ได้

 

บริษัทวิจัย Mintel ได้เปิดเผยรายงานเทรนด์ Food & Drink Global Trends 2030 ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าวงการอาหารในอีก 10 ปีข้างหน้า หลายอย่างน่าสนใจทีเดียว

Mintel บอกว่า อีก 10 ปีข้างหน้าเราจะปลูกอาหารของตัวเองกันมากขึ้น

ในช่วงล็อกดาวน์หลายๆ คนต่างงัดทักษะความเป็นเชฟมาโชว์ฝีมือกันเต็มที่

บางคนปลูกพืชผักเองเพราะไม่อยากออกไปซื้อข้างนอก ไหนจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องความสะอาดปลอดภัย แถมลดคาร์บอนฟุตปรินต์ที่เกิดจากการขนส่งได้อีกต่างหาก

เทรนด์นี้ทำให้คนอย่างฉันที่ปลูกอะไรไม่ตายก็เหี่ยวค่อนข้างหนักใจอยู่พอสมควร ถ้าฉันต้องปลูกอาหารกินเองแต่ปลูกอะไรก็ไม่รอดแล้วฉันจะเอาอะไรกิน

แต่เทคโนโลยีก็น่าจะช่วยคนอย่างฉันได้พอสมควร เพราะมีแก็ดเจ็ตชุดอุปกรณ์ออกใหม่ต่างๆ มาช่วยทำให้การปลูกผักสวนครัวเป็นเรื่องง่ายขึ้น

อย่าง Hamama Grow Kits แบรนด์อุปกรณ์ปลูกพืชผักใบจิ๋วที่มาในรูปแบบซอง เพียงแค่เราเทน้ำใส่ถาดแล้วแช่ซองเมล็ดพืชทิ้งไว้ รอประมาณ 7 วันก็สามารถเด็ดผักใบเขียวมาทำอาหารจานโปรดกินได้แล้ว

เมล็ดผักที่เลือกซื้อมาปลูกได้ก็อย่างเช่น ผักเคล บร็อกโคลี่ หอมใหญ่ ต้นอ่อนข้าวสาลี อะไรแบบนี้

ไปจนถึงเครื่องปลูกผักอัจฉริยะที่ตัวกระถางมีระบบปั๊มน้ำอัตโนมัติ หลอดไฟจำลองแสงแดดที่ช่วยเรื่องการสังเคราะห์แสง และระบบปรับอุณหภูมิ เหมาะสำหรับการปลูกในพื้นที่ปิด

มีตัวช่วยเยอะแบบนี้แล้วค่อยอุ่นใจได้หน่อยว่าเทรนด์ปลูกผักกินเองมาเมื่อไหร่ฉันก็จะสามารถทำได้อย่างคนอื่นเขาเหมือนกัน

 

เทรนด์ต่อมาพูดถึงการที่ผู้บริโภคในอนาคตจะไม่ต้องการอะไรที่ฟรีไซซ์อีกต่อไป เพราะแต่ละคนจะอยากได้ของที่เหมาะกับตัวเองเท่านั้น เฉพาะเจาะจงมาเพื่อฉันเท่านั้น

การบริโภคอาหารก็เหมือนกัน ต่อไปเราจะอยากมีส่วนร่วมในการกำหนดของที่เราใส่เข้าไปในร่างกายเพิ่มมากขึ้น

อย่างเช่น วัตถุดิบ กลิ่น รสสัมผัส คุณค่าทางสารอาหาร

ในขณะเดียวกันก็อยากจะเลี่ยงส่วนผสมบางอย่างที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ด้วย

คำตอบของความต้องการนี้ก็อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ของบริษัท Personalised Protein Co ที่ทำโปรตีนที่ออกแบบมาให้ลูกค้าแต่ละคนโดยเฉพาะ ลูกค้าต้องตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับตัวเองก่อน

จากนั้นบริษัทก็จะผลิตผงโปรตีนออกมาให้เหมาะสมกับความต้องการของคนคนนั้น

 

และมาถึงเทรนด์สุดท้ายคือเทรนด์ที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์

รูปแบบการบริโภคอาหารของมนุษย์เราจะต้องมีหุ่นยนต์มาข้องเกี่ยวด้วยในแบบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ในเมื่อหุ่นยนต์แพร่เชื้อใส่กันไม่ได้ หุ่นยนต์ก็เลยเป็นคำตอบที่ชัดเจนสำหรับภาคอุตสาหกรรมว่าจะต้องนำหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนทุกกระบวนการทำงานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ธุรกิจอาหารก็กำลังวิวัฒนาการไปในแนวทางนี้ด้วยเหมือนกัน

ประเทศจีนเดินหน้าเปิดรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในธุรกิจร้านอาหารมากขึ้น บริษัท Qianxi Robot Catering Group เปิดตัวร้านอาหารชื่อ FOODOM ในแถบมณฑลกวางตุ้งเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2020 พร้อมกับปักธงว่าเป็น “ศูนย์อาหารที่มีหุ่นยนต์เป็นผู้ให้บริการแห่งแรกของโลก”

พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นร้านอาหารที่มีหุ่นยนต์ 40 ตัวคอยให้บริการเป็นหลัก เช่น หยิบวัตถุดิบ ปรุงอาหาร เสิร์ฟอาหาร ศูนย์อาหารนี้รองรับลูกค้าได้มากถึง 600 คน เน้นเมนูอาหาร 3 ประเภท ได้แก่ ฟาสต์ฟู้ด สุกี้ฮอตพ็อต และอาหารจีน

ฟังแล้วอย่าเพิ่งดูถูกหุ่นยนต์ไปว่าจะทำอาหารออกมาอร่อยได้ยังไง เพราะหุ่นยนต์เหล่านี้ผ่านการเรียนรู้จากเชฟมาแล้ว หุ่นยนต์นี่แหละที่จะสามารถทำอาหารได้ตรงมาตรฐาน ถ้าอร่อยก็ออกมาอร่อยเหมือนกันทุกจานตามความคาดหวังเป๊ะ ไม่แกว่งไหวไปตามอารมณ์หรือสภาพความพร้อมของเชฟ

Qianxi Robot Catering Group ถือเป็นธุรกิจรายใหญ่ที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับร้านอาหารอัตโนมัติ เปิดร้านอาหารรวมร้านนี้เป็น 6 แห่ง

ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์ในศูนย์อาหารคือ ใช้พื้นที่ทำงานน้อยกว่าคน และทำอาหารได้เร็วกว่าคน

ทางบริษัทยังคาดว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะช่วยแก้ปัญหาความกังวลเรื่องโรคระบาด รวมทั้งยกระดับมาตรฐานของร้านอาหาร ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะอาดมากเป็นพิเศษด้วย

ยังมีเทรนด์อาหารแห่งอนาคตที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง

สัปดาห์หน้าเรามาต่อกันค่ะ