ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ‘Culture’ ควรแปลว่า ‘วัฒนธรรม’ หรือ ‘พฤฒิธรรม’?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
"พระองค์วรรณฯ" พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ผู้ผูกศัพท์คำว่า "พฤฒิธรรม" ขึ้น แต่ไม่เป็นที่นิยม (ภาพจาก : Wikipedia)

‘Culture’ ควรแปลว่า ‘วัฒนธรรม’
หรือ ‘พฤฒิธรรม’?

ผมออกจะสงสัยอยู่นานแล้วว่า ก่อนหน้าที่เราจะใช้คำว่า “วัฒนธรรม” ซึ่งเป็นคำผูกใหม่จากภาษาสันสกฤตเมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 7 เราไม่มีคำอื่นใดใช้ในความหมายที่ใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษคำว่า “culture” อย่างที่ใช้แปลกันอยู่ในความหมายปัจจุบันเลยหรือ?

อันที่จริงแล้ว นอกจากคำว่า “วัฒนธรรม” ยังมีคำที่ใช้แปลศัพท์คำว่า culture อยู่อีกคำหนึ่งว่า “พฤฒิธรรม” แต่ก็เป็นคำที่ผูกขึ้นใหม่ในช่วงไล่เลี่ยกับคำว่าวัฒนธรรมนั่นแหละ แถมผู้ที่ควงศัพท์คำนี้ขึ้นมายังเป็นปราชญ์คนเดียวกับที่ผูกศัพท์คำว่าประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ รวมถึงอีกหลายๆ คำ อย่างพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ “พระองค์วรรณฯ” อีกด้วย

น่าสนใจว่า คำว่า “วัฒนธรรม” ซึ่งผมขอแปลจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตด้วยตนเองอย่างง่ายๆ ว่าหลักการ หรือหน้าที่ที่นำไปสู่ความเจริญ ในขณะที่คำว่า “พฤฒิธรรม” หมายถึงหลักการ หรือหน้าที่ที่มีการปฏิบัติอยู่เป็นนิตย์

ท้ายสุดก็อย่างที่ทราบกันว่า ผู้ผูกขาดอำนาจในขณะนั้นอย่างชนชั้นนำไทย เลือกที่จะใช้คำว่า วัฒนธรรมมากกว่า ส่วนคำว่าพฤฒิธรรมก็ค่อยๆ เลือนหายไปจนเกือบจะไม่ใคร่มีใครใส่ใจจดจำกันนัก

จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า ในสมัยหนึ่งคำอธิบายตามหลักสูตรการศึกษาไทย จะบัญญัติความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” (ที่หมายถึงการแปลความหมายจากคำว่า culture มากกว่าความหมายจากรากศัพท์ในภาษาสันสกฤต) ในทำนองที่ว่า คือธรรมเนียมปฏิบัติ หรือประเพณีอันที่ถูกต้องดีงาม ส่วนอะไรที่ไม่ดีนั้น ถือเป็นวัฒนธรรมไม่ได้

การให้ความหมายคำว่าวัฒนธรรม (culture) อย่างที่ว่านี้ดูจะผูกโยงอยู่กับความหมายของคำว่า “culture” ที่สุดแสนจะบรมเก่า อย่างความหมายในลัทธิโรแมนติกสกุลอังกฤษ ช่วงศตวรรษที่ 19 ที่หมายถึงอารยธรรมในอุดมคติของมนุษยชาติ อันมีความหมายไปในเชิงบวก เช่น งานของแมตธิว อาร์โนลด์ (Matthew Arnold, ค.ศ.1822-1888) นักคิดและนักวิจารณ์สังคมชาวอังกฤษ ซึ่งใช้งานคำว่า culture ในบทกวีความหมายของเขาว่า หมายถึงอุดมคติอันสูงสุดของมนุษย์ สำหรับในกลุ่มความคิดแบบนี้แล้วคำว่า culture คือคู่ตรงข้ามของสภาวการณ์ที่ไร้ระเบียบแบบแผน

แนวคิดอย่างที่ว่านี้พัฒนามาจากนิยามของคำว่า culture ในยุโรปที่เคยมีมาก่อนหน้านั้นอีกทอด เช่น ในงานของโธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ.1588-1679) หรือฌ็อง ฌาก รุสโซ (Jean-Jacque Rousseau, ค.ศ.1712-1788) ที่อธิบายความหมายของคำว่า culture คู่ตรงข้ามกับสภาวการณ์ตามธรรมชาติ

ความหมายของ culture อย่างที่ว่านี้ดูจะทับซ้อนอยู่กับคำว่า civilization ซึ่งแปลว่าอารยธรรม จึงไม่น่าจะประหลาดใจเลยที่แนวคิดอย่างที่ว่านี้จะแบ่งแยก culture ออกเป็น high culture กับ low culture

อย่างไรก็ตาม การให้ความหมายอย่างที่ว่านี้ ดูจะผิดทิศผิดทางกับเจ้าของอำนาจในการอธิบายความคำว่า culture ตัวจริงหลังยุคศตวรรษที่ 20 ลงมา อย่างสายมานุษยวิทยา ซึ่งได้อธิบายความหมายของคำคำนี้แตกต่างออกไปอย่างมากเลยทีเดียว

ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา “culture” กลายเป็นคอนเซ็ปต์โดยรวมของการศึกษาทางด้านมานุษยวิทยา โดยเฉพาะทางฟากอเมริกันได้นิยามความหมายของ culture ในทำนองที่หมายถึงขอบข่ายความเป็นสากลของมนุษย์ (กลุ่มหนึ่งๆ) ที่สามารถจำแนก ถอดรหัส และสื่อสารต่อบุคคลอื่น ด้วยระบบสัญลักษณ์ต่างๆ จากประสบการณ์เฉพาะของแต่ละชุมชน

การนิยาม culture ทำให้นักมานุษยวิทยาสายอเมริกันจำแนกพื้นที่การศึกษาเกี่ยวกับ culture ออกเป็นสี่แขนงหลัก ได้แก่ มานุษยวิทยากายภาพ, ภาษาศาสตร์, มานุษยวิทยาวัฒนธรรม และโบราณคดี
culture ในความหมายอย่างใหม่นี้ดูจะสอดคล้องกับคำว่าพฤฒิธรรมมากกว่าคำว่าวัฒนธรรม เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักการแห่งความเจริญใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้น คำว่า “วัฒนธรรม” จึงเป็นตัวแทนของ “culture” ในความหมายอย่างเก่าของพวกยุโรป มากกว่าที่จะหมายถึงหลักการ หรือหน้าที่ที่จะนำไปสู่ความเจริญ ตามความหมายอย่างรากศัพท์

เพราะความหมายของคำว่า culture นั้นยังสัมพันธ์กับภารกิจของคนขาวในยุคล่าอาณานิคมอย่างแยกขาดกันได้ยากอีกด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การตัดสินของพวกยุโรปที่เข้าไปรุกรานแหล่งอาศัยของพวกอเมริกันอินเดียน โดยถือว่าตนเองมีอารยธรรม (civilization) ที่สูงส่งกว่า บาทหลวงชาวยุโรปบางคนยังถือว่าชาวพื้นเมืองเหล่านั้นไม่ใช่ “มนุษย์” เพียงเพราะว่าพวกเขาไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์เท่านั้นเองเสียด้วยซ้ำ

ความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” ในโลกภาษาไทยระยะแรกนั้นจึงมีลักษณะที่ฉาบฉวยเพราะหมายถึงเฉพาะ ความรู้ กิริยามารยาท และธรรมเนียมอย่างตะวันตก มากกว่าที่จะหมายถึง พฤติกรรม ชีวิตความเป็นอยู่ ระบบสัญลักษณ์ ความเชื่อ และอื่นๆ ที่คำว่าวัฒนธรรมควรจะหมายถึงอีกบานตะเกียง

ผมเข้าใจเอาเองว่า ก่อนที่เราจะประดิษฐ์คำว่าวัฒนธรรมขึ้นมาใช้ เราคงใช้คำอื่นในการอธิบายถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ลักษณะเชิงสัญลักษณ์ ความเชื่อของกลุ่มชนที่แตกต่างกันด้วยคำเก่าที่แตกต่างออกไป และแน่นอนว่าคงเข้ากันไม่ได้กับจริตของคำว่า culture ในภาษาอังกฤษ (อย่างน้อยที่สุดก็คงต่างออกไปในความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐเจ้าอาณานิคม กับผู้ถูกล่า)

ในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า ผู้หญิงเกล้ามวยผมตามภาษา”

คำว่า “ภาษา” ในที่นี้สัมพันธ์กับ “มอญ” ในวรรคข้างหน้าอย่างไม่ต้องสงสัย ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ก็อธิบายศัพท์คำนี้นอกเหนือที่หมายถึง การสื่อสารด้วยการพูด หรือเขียน โดยอ้างอิงจากพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ว่า “คนหรือชาติที่พูดภาษานั้นๆ เช่น มอญ ลาว ทะวาย นุ่งห่อมและแต่งตัวตามภาษา”

“ภาษา” ในบทกลอนของสุนทรภู่ยังชวนให้นึกถึงคำใน “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” หรือหนังสือนางนพมาศ ที่น่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 3 ซึ่งแบ่งแยกกลุ่มคนต่างๆ เป็น “ชาติภาษา” ไม่ใช่เชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์ อย่างศัพท์สมัยใหม่ พร้อมกับที่ชวนให้นึกถึงคำศัพท์โบราณ ที่อธิบายความหลากหลายของอยุธยา หรือกรุงเทพฯ ว่า มีผู้คนมากมายถึง 12 ภาษา อีกด้วย

ในภาษามลายู มีคำว่า “bahasa” ซึ่งก็แปลว่า “ภาษา” นั่นแหละ เพราะมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตเหมือนกัน

ที่น่าสนใจคือ เมื่อเติมคำว่า “ber-” เข้าไปข้างหน้าจะมีความหมายว่า มีภาษา สุภาพ มีวัฒนธรรม

หรือเมื่อเติม “per-” หรือ “per-, -an” เข้าไปก็จะแปลว่า ภาษิต มารยาทที่ดี หรือความสุภาพ

ในกรณีภาษาจึงเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชั้นสูง (ซึ่งเกี่ยวโยงอยู่กับอำนาจ) อย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งที่โดยรากศัพท์จากภาษาสันสกฤตคือ “ภาษ” แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับธรรมเนียม มารยาท หรือวัฒนธรรมใดๆ เลย เพราะแปลว่า การพูด หรือการกล่าว เท่านั้น

น่าสังเกตด้วยนะครับว่า คำว่า “ภาษา” ปรากฏอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลมลายู เขมร และไทย (ตั้งแต่อยุธยาเป็นต้นมา?) ทั้งหมดนี้ล้วนสะกดด้วย “ษ” ตามอย่างภาษาสันสกฤต ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ และพุทธแบบมหายาน ไม่ใช่ “ส” ตามอย่าง “ภาส” ในภาษาบาลี ที่มีความหมายเดียวกัน แต่สัมพันธ์อยู่กับกลุ่มพุทธศาสนาเถรวาท

ในขณะที่กลุ่มภาษาที่นับถือพุทธเถรวาทยังมีคำพื้นเมืองใช้เรียกตามอย่างดั้งเดิมของตนเอง เช่น คำว่า “อะเร่” ในภาษามอญ และคำว่า “ปาก” ในภาษาตระกูลไทลาว เป็นต้น

ลักษณะอย่างนี้คงแสดงให้เห็น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และเครือข่ายทั้งทางด้านการค้า และญาติวงศ์ “ภาษา” ในที่นี้ยังน่าจะเกี่ยวพันถึงความรู้ใหม่ ซึ่งคงจะเกี่ยวพันกับเครือข่ายของศาสนาพุทธมหายาน หรือพราหมณ์จากชมพูทวีปอยู่อีกด้วย

วิธีการจำแนกกลุ่มคน (ซึ่งเกี่ยวพันอยู่กับ “วัฒนธรรม” คือ “culture” อย่างแยกไม่ออก) ระหว่างพื้นเมืองอุษาคเนย์กับชาติตะวันตกยุคอาณานิคมจึงแตกต่างกันจนไม่สามารถถ่ายทอดความหมายแทนกันได้ เพราะคำว่า”ภาษา” ยังมีความหมายหลักอีกอย่างว่า การสื่อสาร ในขณะที่รากศัพท์ดั้งเดิมของคำว่า culture มาจากคำว่า cultura ในภาษาละติน ที่หมายถึงการทำเกษตรกรรมอย่างที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างเป็นแบบแผน

ความเข้าใจเรื่อง culture ของชนชั้นนำชาวสยาม (ซึ่งเป็นผู้นิยามความหมายของคำว่าวัฒนธรรม) จึงกระโดกกระเดกมาตั้งแต่ต้น เพราะไม่ใช่เรื่องที่ตรงกับจริต หรือโลกทัศน์ของพวกเขาอยู่แล้ว เห็นได้ชัดก็จากการที่พวกเขาชอบใจที่จะแปลคำว่า “culture” ว่า “วัฒนธรรม” ไม่ใช่ “พฤฒิธรรม”

เช่นเดียวกับที่พวกเขาดูจะไม่ชอบใจกับคำศัพท์อีกหลายคำที่พระองค์วรรณฯ ผูกขึ้นมา