วรศักดิ์ มหัทธโนบล : รีโนเวตวิถีจีนยุคใหม่

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ชีวิตที่ต้นทาง (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่พักอาศัยนี้มีประเด็นที่พึงทำความเข้าใจอย่างยิ่งก็คือว่า ที่พักอาศัยที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้คือห้องพักหรือห้องชุด มิใช่บ้านเดี่ยวหรือบ้านแถว (town house) เพราะหากเป็นประเภทหลังด้วยแล้วราคาก็ยิ่งสูง

ไม่เพียงเท่านั้น หากแม้นสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นห้องพัก หรือบ้านเดี่ยว หรือห้องแถว ทั้งหมดนี้กลับอาศัยได้สูงสุดไม่เกิน 90-99 ปี หรือต่ำสุด 70 ปีเท่านั้น เพราะในสังคมจีนถือว่าที่ดินเป็นของรัฐ

เหตุฉะนั้น การเป็นเจ้าของห้องพักของชาวจีนจึงมิได้หมายถึงการเป็นเจ้าของที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในความเข้าใจของสังคมไทยหรือสังคมอื่น

ในกรณีนี้จึงเท่ากับว่า แม้ชาวจีนจะมีงานที่ดีจนสามารถซื้อห้องพักได้ แต่การที่มิอาจเป็นเจ้าของได้สมบูรณ์จึงทำให้ชาวจีนตกอยู่ในภาวะที่ไม่มีความมั่นคงทางด้านจิตใจในเรื่องที่พักอาศัย อันเป็นภาวะที่ชาวจีนจะตระหนักและเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า ห้องพักหรือบ้านที่ตนอาศัยหลับนอนอยู่นั้นจะตกไปเป็นของรัฐในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน

และแม้ชาวจีนจะคุ้นชินกับภาวะเช่นนี้ (เพราะเลี่ยงไม่ได้) แต่ความคุ้นชินนี้จะเปลี่ยนไปทันทีหากมีอีกภาวะหนึ่งให้เปรียบเทียบ

นั่นคือ เมื่อชาวจีนรู้ว่านานาประเทศมิได้เป็นอย่างที่จีนเป็น ซ้ำยังมีช่องทางให้คนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่พักอาศัยได้โดยสมบูรณ์อีกด้วย อีกทั้งในหลายประเทศก็มิได้มีราคาสูงอย่างในจีน ข้อมูลนี้ย่อมทำให้เกิดแรงจูงใจให้ออกไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่ายังต่างแดนไม่มากก็น้อย ถึงแม้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ทำหรือไม่สามารถทำได้ก็ตาม

ส่วนที่ว่าที่พักอาศัยในจีนมีราคาสูงนั้น มีงานศึกษาบางชิ้นพบว่าราคาเฉลี่ยอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ของจีนที่คิดเป็นหยวนต่อ 1 ตารางเมตร จะเป็นดังนี้ ปักกิ่ง 62,957 หยวน, ฉงชิ่ง 10,432 หยวน, กว่างโจว 31,409 หยวน, เซี่ยงไฮ้ 54,615 หยวน, เซินเจิ้น 54,689 หยวน และเทียนสิน 25,116 หยวน

ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนกับเงินบาทจะอยู่ที่ 1 หยวนเท่ากับ 4.59 บาทโดยประมาณ

 

สภาพแวดล้อมทางสังคม

ชาวจีนอพยพไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดต่างก็ให้ข้อมูลตรงกันว่า ไม่ว่าจะมีอาชีพใดก็ตาม แทบทุกอาชีพล้วนถูกกดดันจากสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงทั้งสิ้น เช่น ถ้าประกอบอาชีพอิสระก็ต้องแข่งขันกับผู้ที่มีอาชีพเดียวกัน ถ้าเป็นพนักงานในภาคเอกชนก็ต้องแข่งขันกับเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง

สภาพเช่นนี้ทำให้ชาวจีนต้องขยันขันแข็งอยู่เสมอ หากความขยันขันแข็งลดกำลังลงอาจหมายถึงการถูกคู่แข่งหรือเพื่อนร่วมงานชิงตัดหน้าไปก่อน

สภาพแวดล้อมเช่นนี้จึงเป็นสภาพที่มีความกดดันสูง เป็นสภาพที่ทำให้ชาวจีนแทบทุกคนต้องตื่นตัวอยู่เสมอ ซึ่งควรกล่าวด้วยว่า สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกดดันเช่นนี้ในจีนเกิดขึ้นไม่เว้นแม้แต่คนที่เป็นข้าราชการอย่างเช่น ตำรวจ ทหาร พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ที่ทำงานในหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน

ยิ่งในภาคเอกชนจึงมิพักจะต้องกล่าวถึง

เหตุดังนั้น ชาวจีนอพยพที่เคยทำงานในภาคเอกชนจึงตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ว่า

ทั้งนี้ มีงานศึกษาบางชิ้นพบว่า สภาพเช่นนี้สะท้อนให้เห็นได้จากการที่ทุกคนมักจะทำงานล่วงเวลา จนเกิดแบบแผนการทำงานที่เรียกว่า 996

ซึ่งมีความหมายว่า ทำงานตั้งแต่เก้าโมงเช้าจนสามทุ่ม และทำงานหกวันโดยมีวันหยุดในวันอาทิตย์เพียงวันเดียว

แต่แบบแผน 996 นี้กลับขัดแย้งกับผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนที่พบว่า ในปี ค.ศ.2019 ชาวจีนทำงานเฉลี่ย 46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เจ็ดวัน) หรือ 6.5 ชั่วโมงต่อวัน

ที่ว่าขัดแย้งก็เพราะว่าเมื่อตัวเลขนี้ถูกรายงานออกมาก็ถูกตอบโต้จากคนทำงานชาวจีนทันทีว่าเป็นตัวเลขที่ถูกต้องจริงหรือ ในเมื่อข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่มิได้เป็นเช่นนั้น

ตัวอย่างความเห็นโต้แย้งที่ได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางคือความเห็นที่ว่า เจ้าตัวทำงานสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

แต่นั่นก็ยังมิใช่เวลาทำงานที่มากที่สุด

เพราะบางครั้งต้องทำงานถึงห้าทุ่มหรือเที่ยงคืน

ขณะที่บางครั้งก็ไม่ได้พักในวันหยุดประจำชาติ

งานศึกษาชิ้นดังกล่าวยังบรรยายต่อไปว่า จากสภาพดังกล่าวทำให้เกิดคำขวัญล้อเลียนการทำงานว่า “กินน้อยกว่าหมู ทำงานหนักกว่าวัว นอนดึกกว่าสุนัข ตื่นเช้ากว่าไก่”

ในขณะที่นักวิชาการจะเรียกว่า เศรษฐกิจแบบหยาดเหงื่อ (ฮั่นสุ่ยสิงจิงจี้) ที่หมายถึง องค์กรเลือกการเพิ่มเวลาทำงานของบุคลากรเพื่อประสิทธิภาพการผลิต การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการผลิตยังมีไม่สูงพอเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

การใช้แรงงานด้วยการเพิ่มเวลาทำงานเช่นนี้จึงเป็นเศรษฐกิจที่ใช้หยาดเหงื่อโดยแท้

 

สภาพแวดล้อมที่กล่าวมานี้สอดคล้องกับการให้ข้อมูลที่นักวิจัยได้รับในไทย ผู้ให้ข้อมูลนี้เป็นพนักงานหญิงชาวไทยที่ทำงานในสถาบันการเงินของจีนในกรุงเทพฯ เธอเล่าว่า องค์กรที่เธอทำงานอยู่มีพนักงานชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ ทุกคนต่างทำงานล่วงเวลาไม่ต่างไปจากที่กล่าวข้างต้น

แต่ที่พิเศษคือ องค์กรนี้ให้แรงจูงใจแก่พนักงานที่ทำงานล่วงเวลาด้วยการให้บริการอาหารมื้อเย็นอย่างดี ห้องออกกำลังกาย ห้องนอน และห้องอาบน้ำ เป็นต้น

แรงจูงใจนี้ได้ผลตอบรับที่ดี เพราะพนักงานจำนวนมากยอมที่จะทำงานล่วงเวลา ด้วยได้เงินล่วงเวลาและยังไม่ต้องเสียค่าอาหารมื้อเย็นอีกด้วย อีกทั้งอาหารที่หารับประทานเองอาจมีคุณภาพสู้ขององค์กรไม่ได้ ดังนั้น หากไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะไม่มีพนักงานคนใดปฏิเสธการทำงานล่วงเวลา

อย่างไรก็ตาม ชาวจีนอพยพต่างกล่าวตรงกันว่า ตอนที่ยังอยู่ที่จีนนั้นตนไม่มีความรู้สึกว่านั่นคือความกดดัน เพราะชาวจีนโดยทั่วไปจะคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมดังกล่าว และต่างเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่มีมานานหลายสิบปีนับจากที่มีการปฏิรูปและเปิดประเทศ

ยิ่งย้อนกลับไปยังอดีตที่ยาวนานนับพันปีด้วยแล้ว ชาวจีนเหล่านี้กลับรู้สึกว่า สภาพแวดล้อมที่ว่าสอดคล้องกับนิสัยขยันขันแข็งของชนชาติจีนมาตั้งแต่อดีตอยู่แล้ว ยิ่งในยุคปัจจุบันนี้หากไม่ขยันแล้วก็จะสู้คนอื่นไม่ได้ ทุกอย่างจึงดูเหมือนต้องดิ้นรนไปหมดทุกขณะทุกนาที

ชาวจีนอพยพมารู้สึกว่าสภาพเช่นนั้นคือสภาพที่กดดันก็ต่อเมื่อมาอยู่ในไทยแล้ว ประเด็นนี้จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า

 

ชีวิตทางวัฒนธรรม

วัฒนธรรมในที่นี้ใช้ในความหมายกว้าง กล่าวในทางแคบจะรวมถึงความคิดความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม จารีต ธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ต่างก็สะท้อนคุณค่าทางจริยธรรมและคุณธรรมทั้งสิ้น ซึ่งหากว่าตามความหมายนี้แล้วต้องนับว่าจีนเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมเฉพาะตนมายาวนานนับพันปี

แต่เนื่องจากในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองประเทศตั้งแต่ ค.ศ.1949 เรื่อยมานั้น วัฒนธรรมหลายด้านถูกปฏิเสธหรือถูกทำลายไป โดยเฉพาะช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรม ดังที่บทความนี้ได้เคยกล่าวไปแล้วในหัวข้อ “ชาวจีนภายใต้การพัฒนาสองกระแส” เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน

ครั้นเมื่อเข้าสู่ยุคปฏิรูปหลัง ค.ศ.1978 การฟื้นฟูและผ่อนคลายให้วัฒนธรรมเดิมได้มีที่ยืนกลับทำไม่ได้ทั้งหมด ที่ทำได้มักเป็นวัฒนธรรมหลักๆ ที่ชาวจีนสืบทอดมานาน ดังจะเห็นได้จากเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ (ตรุษจีน) เทศกาลชิงหมิง (เช็งเม้ง) เทศกาลกลางฤดูสารท (สารทจีนกับวันไหว้พระจันทร์) เป็นต้น

และที่ทำได้นั้นก็ทำได้โดยไม่มีการเซ่นไหว้ หรือมีแต่น้อยและมีขนาดใหญ่ไม่ใหญ่ (ดังที่เห็นในไทยผ่านชาวไทยเชื้อสายจีน) และทำโดยการรับประทานอาหารหรือขนมประจำเทศกาล ที่สมาชิกในครอบครัวจะอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน อันเป็นธรรมเนียมที่ชาวจีนให้ความสำคัญมาแต่อดีต

แม้ชีวิตทางวัฒนธรรมที่ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญก็คือพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีศพที่เรียกว่า กงเต๋อ (กงเต็ก) ที่แม้จะได้รับการฟื้นฟูแล้วก็ตาม แต่ก็มีราคาแพงถึงแม้จะมีขนาดของพิธีที่ไม่ใหญ่นักก็ตาม ยิ่งพิธีที่มีขนาดใหญ่ด้วยแล้วก็จะแพงมากขึ้น

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทางการจีนไม่ส่งเสริมพิธีกรรมที่มีความเชื่อที่เหนือจริง การตั้งราคาพิธีกรรมเอาไว้สูงก็เพื่อมิให้ชาวจีนเข้าถึงได้ง่ายนั้นเอง

—————————————————————————————————-
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง “ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย” โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป